[InArchive] ความรู้สึกเมื่อเข้าแสดงภาพยนต์ของ จำรัส สุวคนธ์

จำรัส สุวคนธ์ เป็นพระเอกหนังไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเริ่มแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือ เลือดชาวนา (2479) ของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เจ้าของฉายา “ฮอลลีวูดแห่งสยาม” ซึ่งแม้จะได้รับเพียงบทพระรอง แต่ก็สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชม โดยเฉพาะจากฉากร้องเพลง “ตะวันยอแสง” ที่ทำให้เขาแจ้งเกิดในฐานะหนังนักแสดงรูปหล่อเสียงเพราะ ในช่วงที่ภาพยนตร์เสียง หรือที่ขณะนั้นเรียกกันว่า “หนังพูด” ของไทย เพิ่งเข้ามาแทนที่ภาพยนตร์เงียบได้ไม่นานนัก 


จากนั้นจำรัสก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นพระเอกประกบคู่กับ มานี สุมนนัฏ ซึ่งขณะนั้นเป็นนางเอกอันดับหนึ่งของโรงถ่าย และเป็นนักแสดงที่โด่งดังระดับ “ดารา” คนแรกของไทย พวกเขาเริ่มแสดงคู่กันเรื่องแรกใน กลัวเมีย (2479) ต่อด้วยหนังเพลงเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดของโรงถ่าย เพลงหวานใจ (2480) และ หลอกเมีย (2481) ก่อนที่มานีจะลาวงการไปมีครอบครัว แม้จะแสดงด้วยกันแค่ 3 เรื่อง แต่สถานะของทั้งคู่ก็โดดเด่นและยิ่งใหญ่ จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นพระนางคู่ขวัญคู่แรกของวงการหนังไทย นอกจากนี้ในปี 2484 ยังปรากฏข่าวที่ทั้งคู่ยังได้รับเชิญจากบริษัทภาพยนตร์ในญี่ปุ่นให้ไปแสดงภาพยนตร์ร่วมกันที่โตเกียวอีกด้วย


ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ของ จำรัส สุวคนธ์ ได้แก่ ในสวนรัก (2481) ไม่เคยรัก (2483) และ น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ที่ต้องปิดกิจการลงเพราะผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ในปีดังกล่าว รวมทั้งเป็นผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายของ จำรัส สุวคนธ์ ซึ่งเสียชีวิตลงในช่วงสงครามโลกครั้งนั้น 


เลือดชาวนา เป็นผลงานการแสดงเพียงเรื่องเดียวของ จำรัส สุวคนธ์ ที่หลงเหลืออยู่ ในสภาพของเศษฟิล์มความยาวประมาณ 15 นาที ซึ่งหอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ โดยในสูจิบัตรของ เลือดชาวนา จำรัสได้เขียนบทความบอกเล่าที่มาและบรรยายความรู้สึกระหว่างที่แสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ด้วย หอภาพยนตร์จึงขอนำข้อเขียนของพระเอกหนังไทยผู้เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเขาท่านนี้ มาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้  


ภาพปก: ภาพถ่าย จำรัส สุวคนธ์ ในฉากร้องเพลง "ตะวันยอแสง" ของ เลือดชาวนา 

*InArchive เป็นเซกชั่นบทความที่หอภาพยนตร์นำข้อเขียนจากนิตยสารหรือหนังสือเก่า ซึ่งหอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ มาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา


_____________________________________________________________________



ภาพ: หน้าปกและข้อเขียนของจำรัส ในสูจิบัตรภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา (ข้อความในบทความนี้คงรูปแบบการสะกดตามต้นฉบับ)


ทุกครั้งที่ตามโรงภาพยนต์ มีการฉายภาพยนต์ไทยเรื่องใหม่ชนิดมีเสียงและไม่มีเสียง ข้าพเจ้าผู้หนึ่งไม่เคยให้ภาพยนต์ไทยเหล่านั้น ได้ผ่านสายตาของข้าพเจ้าไปเลย ทั้งนี้เนื่องจากความปีติยินดี ที่ได้เห็นความอุตสาหะของคนไทย อันได้พยายามสร้างภาพยนต์เหล่านั้นขึ้น ความสามารถของคนไทยที่ได้มานะบุกบั่นให้ประเทศได้เกิดมีอุตสาหะกรรมชนิดนี้ ขึ้นเทียมอาระยะประเทศทั้งหลาย โดยถือจุดมุ่งสำคัญคือ “ไทยต้องช่วยไทย”


และทุกๆ ม้วนของภาพยนต์ ที่ได้ผ่านสายตาของข้าพเจ้าไปตั้งแต่ต้นจนจบ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกในขนะนั้น ตามธรรมดาของผู้ที่ดู ได้พบเห็นของใหม่ๆ คือการ ติ, ชม, ทั้งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถจะแสดงได้ แต่โปรดรับทราบไว้ด้วยว่า การติชมของข้าพเจ้านี้ เปนแต่เพียงนึกไว้ในใจเท่านั้น แต่แล้วข้าพเจ้าก็นั่งดูจนจบ แล้วข้าพเจ้าก็มิได้ถือเอาการติชมที่ข้าพเจ้าได้นึกไว้ ในขณะที่นั่งดูนั้นเปนอารมณ์ต่อไป แต่มาเรื่อง “พญาน้อยชมตลาด” ซึ่งเปนภาพยนต์พูดของศรีกรุงสร้างขึ้น ทำให้ข้าพเจ้าอดชมและทึ่งในความสามารถของผู้สร้างภาพยนต์ และผู้แสดงเช่น “เม้ยเจิง” ซึ่งแสดงโดย นางสาวมานี สุมนนัฏ เสียมิได้ ต่อมาในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2478 คุณเชื้อ อินทรทูต ได้มาหาข้าพเจ้า ในนามของผู้แทนภาพยนต์เสียงศรีกรุง เพื่อขอให้ข้าพเจ้าเข้าแสดงภาพยนต์ ข่าวนี้ทำให้ข้าพเจ้าตกใจและตื่นเต้นมาก เพราะข้าพเจ้ามิได้เคยคิดหรือนึกเลยว่า ข้าพเจ้าจะมีโอกาสได้แสดงภาพยนต์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความสามารถในการแสดงภาพยนต์ ไม่มีอยู่ในตัวข้าพเจ้าเลย ฉนั้นเมื่อมาได้รับคำขอร้องเช่นนี้ และเปนเวลากระทันหันด้วยจึงทำให้ข้าพเจ้าบังเกิดความรู้สึกหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะว่าข้าพเจ้าเคยได้ยินและได้ฟังมามากว่า การแสดงภาพยนต์พูดไม่ใช่จะแสดงได้ง่ายๆ ผู้แสดงต้องเปนผู้ที่มีความสามารถพอทีเดียว เพราะถ้าผู้แสดงบกพร่องอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็จะเปนตราติดฟิล์มจวบจนชั่วชีวิตของฟิล์มนั้น และยิ่งกว่านั้นยังจะเปนช่องทางให้บริษัทผู้สร้างภาพยนต์ ถึงซึ่งความเสียชื่อเสียงด้วย ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2478 ข้าพเจ้าได้เคยรับคำชักชวน ให้เข้าแสดงภาพยนต์ของบริษัทภาพยนต์เงียบบริษัทหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิเสธความตั้งใจดีของท่านผู้ชักชวนนั้นเสีย ทั้งนี้ก็เพราะ ข้าพเจ้าไม่มั่นใจในความสามารถของข้าพเจ้านั่นเอง เพราะฉนั้นมาคราวนี้ก็ดี ข้าพเจ้าจึงได้ปฏิเสธคำเชื้อเชิญจากคุณเชื้อ เช่นเดียวกับที่เคยได้ปฏิเสธกับบริษัทภาพยนต์เงียบมาแล้ว คุณเชื้อได้พยายามกล่าวชี้แจง เพื่อให้ข้าพเจ้าคลายความข้องใจ ในเรื่องความสามารถและกรณีย์อื่นๆ จึงทำให้ข้าพเจ้ามีมานะที่จะลองพยายาม แสดงภาพยนต์ดูบ้าง และประกอบกับคุณเชื้อ ก็เปนผู้ที่สนิทสนมรักใคร่กับข้าพเจ้า มาเปนเวลานานด้วยจึงทำให้ข้าพเจ้าตกลงรับคำ


เมื่อกำหนดนัดมาถึง ข้าพเจ้าก็ได้ไปยังบริษัทภาพยนต์เสียงศรีกรุง และเมื่อได้พบกับเจ้าหน้าที่แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ทราบว่า ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้แสดงเปนตัว “นายเจือ” ในเรื่อง “เลือดชาวนา” ซึ่งท้องเรื่องมีทั้ง บทรัก โศก, ต่อสู้, และร้องเพลง ในบทต่างๆเหล่านี้ ทำให้ข้าพเจ้าเกือบจะหมดมานะ ทั้งนี้เพราะรู้สึกว่า เปนของยากที่สุดของข้าพเจ้าเสียแล้ว ในข้อที่ข้าพเจ้าไม่เคยแสดงภาพยนต์เลย แต่พอเริ่มก็ต้องมาแสดงชนิดที่ยากๆ ซึ่งเปนการแสดงเต็มที่ สำหรับผู้แสดงที่เคยชินมาแล้ว ในขณะที่ข้าพเจ้า เกิดความท้อถอยนี้ ความรู้สึกชนิดหนึ่ง ได้วิ่งสู่สมองว่า “ผู้อื่นทำไมเขาจึงกล้าแสดง โดยฉะเพาะผู้แสดงที่เปนสตรี ก็แล้วข้าพเจ้าเปนผู้ชายแท้ๆ และมั่นใจว่าคงจะมีความสามารถพอ ทำไมจึงมัวแต่ท้อถอยว่าจะแสดงไม่ได้” คำนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีมานะ รับเซ็นสัญญาเข้าแสดงทันที



ภาพ: ฉากการแสดงของจำรัส ในเศษฟิล์ม เลือดชาวนา ที่เหลืออยู่ 


เมื่อข้าพเจ้าได้รับบทการแสดง จากคุณเชื้อผู้แต่งเรื่องนี้ พร้อมกับคำสั่งว่า “การแสดงขอให้ใช้บทบาท ท่าทางธรรมชาติแท้ๆ สิ่งที่ระวังให้จงหนักก็คือ จำบทคำพูดให้แม่นยำ อย่าให้เสียใจความ ทั้งระวังกิริยาท่าทาง ประกอบให้อยู่ในกรอบของเรื่องจริงๆ ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดบกพร่องในเวลาถ่ายแล้ว ก็ย่อมหมายถึงการเสียเวลาอย่างมาก และการใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นในระดับสูงทีเดียว เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังเช่นนี้ ความหนักอกหนักใจ ก็ค่อยเสื่อมคลายลงไปบ้าง ข้าพเจ้าได้ไปหา เกษม มิลินทจินดา เพื่อนรัก และเล่าถึงความยุ่งยากลำบากใจให้ฟัง เกษมได้พูดให้ข้าพเจ้าเกิดความมานะ เกิดกำลังใจ และเขาพูดว่าเขาเองก็เคยได้รับความยุ่งยากลำบากใจ ในขณะที่เขากำลังทำภาพยนต์ในเรื่อง “เมืองแม่หม้าย” มาเหมือนกัน แต่งานของเขาก็ได้ผ่านพ้นไปโดยราบรื่น เมื่อได้ฟังคำพูดของเพื่อนรักเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าหายข้อลำบากใจ เพราะเมื่อเพื่อนรักของข้าพเจ้าทำได้ ข้าพเจ้าก็คงทำได้เช่นกัน


วันนัดซ้อมได้เวียนมาถึง ข้าพเจ้าได้ไปยังโรงถ่ายภาพยนต์เสียงศรีกรุง บางกะปิ ข้าพเจ้าได้ถูกแนะนำให้รู้จักกับราศรี เพ็ญงาม ผู้แสดงเปน “น้อย” นางเอกในเรื่อง การซ้อมได้เริ่มซ้อมตอนบทรัก ความลำบากยากใจได้บังเกิดขึ้นอีกขณะหนึ่ง เพราะบทรักนี้ต้องแสดงให้สนิทสนม มีการถูกเนื้อต้องตัวนางเอก ซึ่งข้าพเจ้ามิได้คุ้นเคยหรือรู้จักมาก่อนเลย ความลำบากยากใจนี้ มิได้เปนเพียงแต่ข้าพเจ้าคนเดียว ผู้อำนวยการและผู้กำกับการแสดง ก็มีความวิตกมากในข้อนี้


ในที่สุดกำหนดวันถ่ายก็ได้มาถึง ข้าพเจ้าย่างเข้าโรงถ่ายภาพยนต์เสียงศรีกรุงที่บางกะปิ ด้วยความตื่นเต้นที่ได้เห็นเจ้าหน้าที่และคนงานไม่น้อยกว่า 50 คน ซึ่งทุกคนล้วนแล้วอยู่ในลักษณะทำงานกันอย่างจริงจังกันทั้งสิ้น ข้าพเจ้าได้พยายามบังคับการตื่นเต้นทั้งหลาย ให้ห่างไกล รวบรวมความกล้า ให้เข้ามาแทนที่ เพื่อรอคอยกำหนดการถ่ายทำในเวลาต่อไป โปรดเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปนของใหม่ ในชีวิตของข้าพเจ้าทั้งสิ้น ขอท่านโปรดระลึกดูเถิดว่า ในเวลานั้นถ้าเปนท่านๆ จะมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง


มันเปนหนทาง เปนบรรใดคั่นแรก ที่ข้าพเจ้าได้ก้าวขึ้นไป ไม่ไว้ใจตนเองเลยว่า จะก้าวบรรใดขึ้นไปทีละคั่นจนถึงที่สุด หรือข้าพเจ้าจะถอยกลับลงมา การถ่ายการทำภาพยนต์ในครั้งหลังๆ ต่อมา ข้าพเจ้าค่อยรู้สึกคลายจากการตื่นเต้นทั้งปวง ข้าพเจ้าดีใจที่ได้กระทำงานสำเร็จลุล่วงไปสมกับที่เจ้าหน้าที่ควบคุมการถ่ายภาพยนต์ มีความไว้วางใจโดยไม่มีการเสียหายสิ่งใดเลย และปลาดใจตนเอง ที่มีโอกาศเข้าแสดงภาพยนต์พูดเรื่องเลือดชาวนา โดยสิ่งนี้มิได้คิดและนึกไว้เลย ข้าพได้พยายามอย่างสุดความสามารถ เท่าที่พอจะกระทำได้ ในการแสดงครั้งนี้ แต่ก็เปนของที่ทราบไม่ได้ว่า ความพยายามให้มีความสามารถ กว่าที่ผู้อื่นกระทำได้นี้จะดีกว่าเขาหรือจะเลวกว่านั้น ก็อยู่ในลักษณะ “นานาจิตตํ” ฉนั้นไม่มีอะไร นอกจากจะวิงวอนท่านผู้ได้ชมภาพยนต์พูดเรื่อง “เลือดชาวนา” ซึ่งมีข้าพเจ้าเปนผู้แสดงร่วมอยู่ ว่าถ้ามีสิ่งใด สิ่งหนึ่งในการแสดงของข้าพเจ้า ไม่สพอารมณ์ท่านแล้ว ขอให้ โปรดระลึกว่า เปน “ของใหม่” เทอญ



ภาพ: คู่ขวัญ จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฏ


_________________________________________

ที่มา: บทความเรื่อง ความรู้สึกเมื่อเข้าแสดงภาพยนต์ของ จำรัส สุวคนธ์ จากสูจิบัตรภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา