หลากความทรงจำ ถึง ส. อาสนจินดา

โดย เมธากุล ชาบัญ


เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “ส. อาสนจินดา ในความทรงจำ” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบศตวรรษของ ส. อาสนจินดา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวที ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2533 โดยมี ลูกสาว สมจินตนา อาสนจินดา และ หลานชาย ฉัตรชัย อาสนจินดา (เจอร์รี่ จากเพจ Just ดู It) ตัวแทนครอบครัวร่วมสนทนา


กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดนิทรรศการ “100 ปี ส. อาสนจินดา ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย” ที่จะพาไปพบกับเรื่องราวในแต่ละบทบาทของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ทั้งการเป็น “นักประพันธ์ผู้จองหอง” “นักแสดงกระดูกเหล็ก” และ “คนทำหนังผู้ทระนง” รวมทั้งชมสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับ ส. อาสนจินดา เช่น ข้าวของเครื่องใช้ชิ้นสำคัญ งานเขียน งานศิลปะ ภาพถ่ายหายาก ฯลฯ ที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ และที่ได้รับมอบจากครอบครัวอาสนจินดา เพื่อนำมาจัดแสดงในครั้งนี้โดยเฉพาะ


“คุณพ่อ” ในความทรงจำ



สมจินตนา อาสนจินดา เล่าย้อนถึงความทรงจำในอดีตว่าตนเองเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2493 ขณะที่ ส. เล่นละครเวทีเรื่อง “ดรรชนีนาง” ซึ่งเป็นผลงานแจ้งเกิด และตั้งแต่จำความได้ก็เห็นพ่อของตนเป็นผู้สร้างภาพยนตร์แล้ว ในสมัยนั้นเมื่อไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่ต่างจังหวัดก็จะไปกันเป็นแรมเดือนจนกระทั่งถ่ายทำแล้วเสร็จ โดยมี สมใจ เศวตศิลา ภรรยา คอยติดตามดูแล ส. อยู่ไม่ห่าง


ครอบครัวของ ส. อาสนจินดา มีความเป็นอยู่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามรายได้ของภาพยนตร์ที่สร้าง อย่างเช่นเมื่อครั้ง ส. สร้างภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งต่อเจ็ด (2501) จนสามารถทำรายได้ถึงหลักล้าน จึงนำเงินมาสร้างบ้านให้ลูก ๆ ได้อยู่ โดยในการทำภาพยนตร์แต่ละครั้ง ส. มักจะไปปรึกษากับ สมใจ ซึ่งบางครั้งเธอก็ไปปรึกษากับแม่ของเธอต่อถึงเรื่องทุนทำหนัง หรือไปเสนอขอทุนจากสายหนังตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งสมจินตนาได้มีโอกาสติดสอยห้อยตามไปด้วย เธอเล่าว่า สายหนังเหล่านั้นไว้ใจในตัวพ่อเธอ เธอไม่ทราบว่าในขณะนั้นผู้ใหญ่คุยอะไรกัน แต่ด้วยความที่สายหนังต่างไว้วางใจในตัว ส. จึงทำให้เขาได้เงินกลับมาทุกครั้ง


“แต่พอโตขึ้นมาหน่อย เวลาพ่อจะสร้างหนัง แม่ก็จะบอกพวกเราว่า พ่อจะสร้างหนังอีกแล้วนะ เดี๋ยวเราจะขายบ้านเพื่อเอาเงินไปสร้างหนัง พอเรางอแงไม่ให้ขาย แม่ก็บอกว่าของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้ แล้วก็ดุว่าอย่าให้พ่อรู้นะ เดี๋ยวพ่อจะหาว่าแช่ง เราจะต้องอวยพรให้พ่อ สุดท้ายขายหมด รถก็ขายหมด แต่พอหนังทำเงินพ่อก็ซื้อให้ใหม่” สมจินตนากล่าว


เมื่อถามว่า ส. ได้ปลูกฝังให้ลูก ๆ ทำงานในวงการภาพยนตร์ด้วยหรือไม่ สมจินตนาตอบว่า คาดว่าพ่ออยากให้เป็นเช่นนั้น แต่เนื่องจากพ่อเป็นคนดุ ลูก ๆ จึงต้องอาศัยการครูพักลักจำเท่านั้น ไม่มีใครกล้าถามอะไรจากพ่อ


“คุณปู่” ในความทรงจำ



ด้าน ฉัตรชัย อาสนจินดา เล่าว่าถึงแม้ตนเกิดหลังจาก ส. อาสนจินดา เสียชีวิตไปแล้ว 2 ปี แต่ก็ยังโตมากับเรื่องราวของ ส. ทั้งจากบทสนทนาของครอบครัวที่มักจะกล่าวถึงอยู่เสมอ ตลอดจนสิ่งของต่าง ๆ ในบ้าน อาทิ รางวัลต่าง ๆ บทภาพยนตร์ หนังสือที่ ส. เขียน โดยเฉพาะเล่มที่ชื่อว่า “เขาทำหนังกันอย่างไร?” ตลอดจนพิมพ์ดีดของ ส. ซึ่งฉัตรชัยชอบแอบเล่นอยู่บ่อยครั้ง หรือเรื่องราวจากพ่อของตน ที่ต้องเป็นคนคอยขับรถพา ส. ไปดูภาพยนตร์ตั้งแต่เย็นจรดมืดหลังจากว่างเว้นการทำงาน ซึ่งก็สะท้อนว่า ส. หายใจเข้าออกเป็นภาพยนตร์ จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ฉัตรชัยรักและหลงใหลในวงการภาพยนตร์ด้วย



“คือผมไม่ได้เคยเห็นเขา สัมผัสตัวเขา พูดคุยกับเขา แต่เรื่องเล่าจากญาติ ๆ น้า ๆ และพ่อเอง ทำให้เห็นรูปร่างของชายที่ชื่อ ส. อาสนจินดา ชัดเจนมาก ๆ ตั้งแต่เราเป็นเด็ก ทำให้เราภูมิใจกับการได้เป็นหลานของศิลปินแห่งชาติ” ฉัตรชัย กล่าว


“คู่รัก” ในความทรงจำ


นอกจากบทบาทในวงการบันเทิงที่เป็นที่จดจำแล้ว อีกหนึ่งภาพจำของ ส. อาสนจินดา คือการครองชีวิตรักที่เรียกได้ว่าเป็นคู่ทรหดกับ สมใจ เศวตศิลา ภรรยา ฉัตรชัยเล่าถึงผู้เป็นย่าให้ฟังว่า ในห้องนอนของคุณย่าจะมีหนังสือของ ส. อีกทั้งยังมีรูป ส. เก็บไว้ใต้หมอนด้วย และเมื่อฉัตรชัยมานอนกับย่า เธอก็มักจะเล่าเรื่องของ ส. ให้เขาฟังอยู่เสมอ


“เขารักนิรันดร์จริง ๆ นะ” สมจินตนา เสริมว่า ส. รักภรรยามาก ในขณะเดียวกัน สมใจ ก็รักและบูชา ส. มาก เป็นภรรยาที่คอยดูแลทุกอย่างให้สามี


“ผู้เป็นต้นแบบ” ในความทรงจำ


นอกจากนี้ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ซึ่งติดภารกิจในการถ่ายทำละครไม่สามารถมาร่วมงานได้ จึงได้เล่าเรื่องราวของ ส. อาสนจินดา ผ่านคลิปวิดีโอมาว่า ตนรู้จักกับ ส. จากการแสดงละครโทรทัศน์ร่วมกันจนสนิทสนมจากการอาสาขับรถรับส่ง ส. ไปทำงานกองถ่าย ซึ่งปกติ ส. ไม่ให้ใครขับรถนอกจากคนในครอบครัว



“ความทรงจำที่ประทับใจเกี่ยวกับป๋าคือ มีครั้งหนึ่งที่เราเล่นละครเวทีด้วยกันแล้วตัวที่เล่นคู่กับผมไม่มา ผมก็เลยบอกกับป๋าว่าผมจะเล่นแทนนะ แล้วให้คนที่เป็น double cast มาเล่นแทนผม เพราะเราสลับกันเล่นอยู่แล้วในแต่ละรอบ พอละครจบปุ๊บ ผมก็ไปนอนหนุนตักป๋าหลังเวทีแล้วบอกกับป๋าว่าคนดูจะว่าไงบ้างก็ไม่รู้ ป๋าบอกว่า คนดูจะว่าไงก็ไม่รู้แต่ป๋านับถือ นั่นคือพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทำให้ผมทำอะไรก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้ในสาขาการแสดงทั้งหมด” พงษ์พัฒน์ กล่าว


พงษ์พัฒน์ ได้เล่าถึงเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างการที่เขามักจะได้รับบทบาทให้แสดงในบทที่ ส. เคยเล่นไว้แล้วก่อนหน้านี้อยู่บ่อยครั้ง อาทิ ก๋ง จากละคร อยู่กับก๋ง (2548) จ่าดับ จากภาพยนตร์ 7 ประจัญบาน (2545) ผู้ใหญ่เขียน (พ่อขวัญ) จากภาพยนตร์ แผลเก่า (2557) ถึงแม้จะเป็นบทเดียวกัน แต่พงษ์พัฒน์เปิดเผยว่าเขามีวิธีเล่นที่ต่างจาก ส. เนื่องจากมีวิธีการแสดงและวิธีการคิดที่ต่างกัน อีกทั้ง ส. ยังเคยสอนเขาไว้ว่า การแสดงไม่ใช่การก๊อปปี้


“ผู้ให้” ในความทรงจำ


ในช่วงท้าย ปิยสุดา จันทรสุข เจ้าของและบรรณาธิการเฟซบุ๊กเพจและอดีตนิตยสารดาราภาพยนตร์ ซึ่งมาร่วมงานด้วย ได้กล่าวเสริมว่า ส. อาสนจินดา เป็นคนแรกที่พูดถึงสวัสดิการของนักแสดงเนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ก็เริ่มเห็นเพื่อนนักแสดงบางคนเมื่อชราภาพลงก็ไม่ได้รับการดูแล ส. จึงอยากให้เกิดการที่ศิลปินช่วยเหลือดูแลกันเอง โดย ส. ได้สั่งเสียกับตน และ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ให้จัดงานเพื่อระดมทุน จนนำไปสู่การนำเรียนคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ หลังจากนั้นคุณหญิงจึงได้นำเงินมาก่อตั้งเป็นกองทุนศิลปิน ซึ่งปัจจุบันก็คือ “มูลนิธิสวัสดิการศิลปินอาวุโส”


นอกจากนี้ในงาน ยังได้มีการฉายบางช่วงบางตอนของ รายการสโมสรชาวบ้าน เมื่อ พ.ศ. 2527 ที่ ส. อาสนจินดา เคยไปร่วมสนทนากับ โดม สุขวงศ์ ในช่วงที่รณรงค์ก่อตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ โดย ส. ได้พูดเชิญชวนให้ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ร่วมใจกันลงขันเพื่อสร้างหอภาพยนตร์แห่งชาติ และกล่าวถึงประโยชน์ของการมีหอภาพยนตร์ โดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์จึงได้กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ ส. พูดเมื่อ 37 ปีก่อน ปัจจุบันได้เกิดขึ้นจริงแล้ว



โดม เล่าต่อไปว่าในช่วงเริ่มทำโครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์ได้เจอบทความของ ส. อาสนจินดา ที่เขียนถึงการไปประชุมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมซึ่งได้ทุนจากยูเนสโก จึงคิดว่าท่านน่าจะเข้าใจความจำเป็นในการจัดตั้ง จึงติดต่อไปทางโทรศัพท์และท่านก็ตอบรับการเป็นกรรมการจัดตั้งโครงการทันที


“วันนี้ครบรอบ 100 ปี ชาตกาล มันเป็นเรื่องที่ต้องเฉลิมฉลอง เมื่อครู่นี้ครู ส. อาสนจินดา พูดว่าประโยชน์อย่างหนึ่งที่หอภาพยนตร์จะมีให้กับวงการภาพยนตร์คือเป็นเกียรติคุณของวงการภาพยนตร์ การจัดกิจกรรมฉลองแบบนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ใครไม่นึกไม่เป็นไรแต่หอภาพยนตร์ต้องนึกถึง ผมอยากบอกครู ส. ว่าท่านคงเห็นแล้ว หรืออย่างน้อยทายาททั้งหลายซึ่งเป็นจิตวิญญาณของครู ส. ก็ได้เห็นแล้วว่า หอภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในมรดกที่ท่านได้ให้ไว้กับวงการภาพยนตร์ไทย”



สำหรับนิทรรศการ “100 ปี ส. อาสนจินดา ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย” จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 – 16 มกราคม 2565 ที่โถงชั้น 5 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ตลอดช่วงนิทรรศการยังมีโปรแกรมฉายภาพยนตร์ผลงาน ส. อาสนจินดา อีกจำนวนมาก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.fapot.or.th/main/cinema/program/51