The Daughter of Japan รักข้ามชาติจากในจอสู่ชีวิตจริงของผู้บุกเบิกหนังพม่า

โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู 


แม้ปัจจุบันข่าวคราวของวงการภาพยนตร์พม่าอาจไม่เป็นที่รับรู้มากนัก แต่หากย้อนมองกลับไปในยุคบุกเบิกของภาพยนตร์ในภูมิภาคอาเซียน พม่านับเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและรุ่งเรืองไม่น้อยหน้าประเทศเพื่อนบ้านใด ๆ 


หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งคือภาพยนตร์อายุเกือบ 90 ปี เรื่อง The Daughter of Japan หรือ Japan Yin Thwe ซึ่งเพิ่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2562 ผลงานเรื่องนี้ถือเป็นประจักษ์พยานแห่งความยิ่งใหญ่ในอดีตของภาพยนตร์พม่า ทั้งในฐานะที่เป็นภาพยนตร์เสียงที่ร่วมทุนสร้างและถ่ายทำในต่างประเทศ  รวมทั้งเป็นหมุดหมายแห่งชีวิตของ อู ญี่ ปุ๊ (U Nyi Pu) หนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์พม่า


ภาพ: อู ญี่ ปุ๊ (ซ้ายสุด) ในภาพยนตร์เรื่อง The Daughter of Japan  ที่มา: Save Myanmar Film


แม้จะไม่ใช่ผู้สร้างภาพยนตร์พม่าสำเร็จเป็นรายแรก แต่ ญี่ ปุ๊ ก็ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่า” เขาเกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2443 ในยุคที่พม่ายังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  พ.ศ. 2461 เมื่ออายุได้ราว 18 ปี เขาได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัวด้วยการแสดงนำใน Love and Liquor  หนังเงียบเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ของพม่า สร้างโดย อู โอง หม่อง (U Ohn Maung)  ออกฉายในปี พ.ศ. 2463  ถัดมาในปี 2464 เขาได้แสดงภาพยนตร์เรื่องที่  2  ภายใต้การกำกับของ โอง หม่อง ชื่อ A girl namely Ma Nu from the village


จากพระเอกคนแรกของภาพยนตร์พม่า พ.ศ 2466 ญี่ ปุ๊ มีผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Jungle Creates Nostalgia  ด้วยวัยเพียง 23 ปี  ความสนใจและความสามารถด้านภาพยนตร์นี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ให้ครอบครัวของเขาตัดสินใจยกเลิกแผนการที่จะส่งเขาไปเรียนด้านธุรกิจที่ประเทศอังกฤษ และหันมาส่งเสริมให้ลูกชายเติบโตในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แทน ในปีดังกล่าว พ่อของเขาผู้เป็นเจ้าของบริษัท Myanmar Aswe ซึ่งดำเนินธุรกิจหลายอย่าง ได้ซื้อกิจการ The Burma Film Company ของ โอง หม่อง และหุ้นส่วน และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น A1 Film Company ซึ่งกลายมาเป็นสตูดิโอภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่และยืนยงที่สุดแห่งหนึ่งของพม่า 


กิจการสร้างภาพยนตร์เงียบของ Myanmar Aswe หรือ A1 Film ดำเนินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2470  เมื่อวงการภาพยนตร์ทั่วโลกค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากการสร้างภาพยนตร์เงียบเป็นภาพยนตร์บันทึกเสียง  จนเกิดหนังเสียงเรื่องแรกของพม่าขึ้นในปี พ.ศ. 2475 ได้ชื่อ Money can’t buy it สร้างโดยบริษัท Burma Imperial Film Company และถ่ายทำในอินเดีย ปัจจัยเหล่านี้ได้เป็นผลให้ A1 Film จำต้องพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือของบริษัทเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 


ปี พ.ศ. 2478  ญี่ ปุ๊ ได้เดินทางไปยังญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพยนตร์เสียงกลับมายังบริษัท อย่างไรก็ตาม เมื่อไปถึงและได้เรียนรู้วิธีการทำหนังเสียงของที่นั่น ญี่ ปุ๊ ได้เกิดแรงดลใจที่จะสร้างภาพยนตร์เสียงที่ญี่ปุ่น โดยเขาจะรับหน้าที่กำกับและร่วมแสดงกับน้องชายที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน เมื่อความคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว พวกเขาจึงได้ลงมือถ่ายทำ โดยร่วมงานกับ P.C.L (Photo Chemical Laboratory) Company สตูดิโอภาพยนตร์ของญี่ปุ่นที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นบริษัทโตโฮอันโด่งดัง 


ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อพม่าว่า Japan Yin Thwe และชื่อญี่ปุ่น Nippon Musume ก่อนที่ภายหลังเมื่อบูรณะใหม่จะใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Daughter of Japan  เนื้อเรื่องกล่าวถึงความฝันของสองพี่น้องหนุ่มชาวพม่า ที่เดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ขับเครื่องบินรวดเดียวจากโตเกียวมายังย่างกุ้ง  แต่แผนกลับไม่ดังหวัง เมื่อพี่ชายผู้เป็นนักบินกลับไปตกหลุมรัก เอมิ สาวญี่ปุ่น จนเกิดแตกคอกับน้องชาย เธอจึงจำต้องยอมตัดใจออกมาจากชายคนรัก เพื่อให้ความสัมพันธ์ของพี่น้องกลับมาดังเดิม และในระหว่างที่พวกเขากำลังปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ เอมิ ก็ทำได้เพียงแค่นอนรอฟังข่าวความสำเร็จของสองหนุ่มผู้กำลังลัดฟ้าจากญี่ปุ่นไปสู่พม่า สวนทางกับความตายที่กำลังย่างกรายเข้ามาเยือนเธอ



ภาพ: ทากาโอะ มิตซุโกะ ใน The Daughter of Japan  ที่มา: สูจิบัตรเทศกาล Southeast Asian Film Festival 1992 


บทบาทพี่ชายนั้นแสดงโดยตัว ญี่ ปุ๊  เอง ในขณะที่บทเอมิ ได้ดาราสาวชาวญี่ปุ่น ทากาโอะ มิตซุโกะ (Takao Mitsuko) มารับหน้าที่เป็นผู้แสดง อย่างไรก็ตาม ความรักระหว่างหนุ่มพม่ากับสาวญี่ปุ่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่ในชีวิตจริง ญี่ ปุ๊ ยังได้ประสบรักแรกพบกับสาวญี่ปุ่นอีกคนหนึ่ง เธอไม่ใช่นักแสดงชื่อดัง หากแต่เป็น *ญาติของเจ้าของร้านอาหารที่เขาใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ ชื่อ ซูซุกิ ทากาโกะ (Suzuki Takako) ซึ่งอายุน้อยกว่าเขาถึง 14 ปี พวกเขาทั้งคู่ได้ตกลงปลงใจแต่งงานกันในระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ และหอบหิ้วเอาความรักไร้พรมแดน กลับมายังพม่าพร้อมกับผลงานภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความรักระหว่างหนุ่มสาวสองสัญชาติ


การเกิดขึ้นของภาพยนตร์พม่าที่ร่วมสร้างกับญี่ปุ่น นับเป็นของแปลกใหม่ในสมัยนั้น พอ ๆ กับการที่หนุ่มพม่าแต่งงานกับสาวญี่ปุ่น เมื่อออกฉาย The Daughter of Japan  หรือ Japan Yin Thweจึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากแฟน ๆ ชาวพม่า ในขณะเดียวกัน ความรักในหนังที่พ้องพานไปกับความรักในโลกแห่งความจริง ได้ทำให้พวกเขาแยกไม่ออก จนพากันเข้าใจผิดว่าภรรยาสาวชาวญี่ปุ่นของพระเอกและผู้กำกับของเรื่องนั้น คือ เอมิ ในหนัง และต่างแวะเวียนมาที่หน้าบ้านของคู่รักต่างสัญชาติอย่างไม่ขาดสาย เพื่อหวังที่จะได้ยลโฉมเอมิตัวจริงของพวกเขาสักครั้ง 


แม้ความรักระหว่างนักบินหนุ่มกับเอมิใน The Daughter of Japan  จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ แต่การครองรักระหว่าง ญี่ ปุ๊ กับ เอมิ ในชีวิตจริงของเขานั้นยืนยาวมานานกว่าครึ่งศตวรรษ พวกเขามีลูกด้วยกันถึง 5 คน และผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาทั้งสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองพม่า สงครามกู้เอกราชของพม่า รวมถึงอุปสรรคนานาในวงการภาพยนตร์ โดย ญี่ ปุ๊ ได้ร่วมแสดงและกำกับภาพยนตร์อีกหลายสิบเรื่องมาจนถึงราวทศวรรษ 2510  และดำรงตำแหน่งประธานองค์การภาพยนตร์เมียนมาระหว่างปี 2512-2515 ก่อนจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2539  ในขณะที่ ทากาโกะ ผู้ที่แม้จะมีชื่อภาษาพม่าว่า ด่อ ซาน ยิ่ง (Daw San Yin)  แต่เธอก็ยังคงเป็นที่รู้จักและจดจำในนามว่า เอมิ ตราบจนบั้นปลายชีวิต 


ในช่วงหนึ่ง The Daughter of Japan เคยได้รับการเชื่อว่าไม่มีหลงเหลืออยู่แล้วทั้งที่พม่าและญี่ปุ่น จนกระทั่งในปี 2535  หอภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้ค้นพบฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้หนึ่งฉบับ และได้นำออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์เอเชียอาคเนย์ Southeast Asian Film Festival ที่ญี่ปุ่นในปีดังกล่าว ซึ่งนั่นทำให้ตำนานความรักทั้งในจอและนอกจอของหนุ่มพม่ากับสาวญี่ปุ่น อันกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการภาพยนตร์พม่า ได้รับการเปิดเผยออกมาให้เล่าขานกันอีกครั้ง 


ภาพ: ซูซุกิ ทากาโกะ กับ อู ญี่ ปุ๊ ในวัยชรา ที่มา: สูจิบัตรเทศกาล Southeast Asian Film Festival 1992 


ปัจจุบัน หอภาพยนตร์แห่งชาติญี่ปุ่นได้นำฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง The Daughter of Japan มาบูรณะใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  โดยได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจาก IMAGICA Lab รวมถึงหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของพม่า Save Myanmar Film ภาพยนตร์ฉบับบูรณะนี้ได้ออกฉายครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2562 นับเป็นภาพยนตร์เสียงที่เก่าแก่ที่สุดของพม่าที่ได้รับการค้นพบและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 


มีข้อมูลของพม่าระบุว่า ในอดีต ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยออกฉายในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2480 เวลาผ่านไป 84 ปี ในฉบับที่บูรณะขึ้นใหม่ The Daughter of Japan ได้เดินทางกลับมาฉายยังเมืองไทย เมื่อหอภาพยนตร์ได้เลือกเข้ามาอยู่ในโปรแกรม ASEAN Classic ในเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2564 ที่จัดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และจะนำออกฉายอีกครั้งที่โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมาของหอภาพยนตร์ วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 เวลา 13.00 น. 


การจัดฉายครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ชมชาวไทยจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของเพื่อนบ้านอาเซียนที่ใกล้ชิด ผ่านผลงานภาพยนตร์อันเก่าแก่ ซึ่งเต็มไปด้วยอุดมคติของความรัก แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ และจิตวิญญาณแห่งการกล้าเผชิญหน้ากับความฝันอย่างท้าทาย ตามที่ ญี่ ปุ๊ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนเสียชีวิตไม่กี่เดือนว่า 


“ผมสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาแด่หนุ่มสาวของเรา เพื่อช่วยให้พวกเขาได้เพิ่มพูนความรู้สึกแห่งการผจญภัย” 




สำรองที่นั่งชม The Daughter of Japan  รอบวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 เวลา 13.00 นได้ที่ https://www.fapot.or.th/main/cinema/view/1162


ข้อมูลประกอบการเขียน 

- สูจิบัตรเทศกาล Southeast Asian Film Festival 1992 


- รายงานข่าวการฉายภาพยนตร์ฉบับบูรณะที่หอภาพยนตร์แห่งชาติญี่ปุ่นเรื่อง “Iconic film set to be screened again after restoration” ของ The Myanmar Times  www.mmtimes.com/news/iconic-film-set-be-screened-again-after-restoration.html

บทความเรื่อง Japan Yin Thwe: A Film Directed by U Nyi Pu — A Study of U Nyi Pu’s Experiences in Japan in 1935  โดย Ei Thandar Aung  

*หมายเหตุ ข้อมูลในบทความนี้ระบุว่าตอนที่พบรักกับ ญี่ ปุ๊ ทากาโกะทำหน้าที่เป็นพนักงานคิดเงินในโรงแรม