โดย มานัสศักดิ์ ดอกไม้
เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย เมืองไทย ภัทรถาวงศ์
ปรับปรุงจากจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 24 ประจำเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2557
ต้นเดือนสิงหาคม 2557 น้องเจเจ หรือ เมืองไทย ภัทรถาวงศ์ ได้โทรศัพท์มาหากลางดึก ด้วยน้ำเสียงอันน่าตื่นเต้นว่า“พี่ครับพี่ เจอแล้วนะครับอาจารย์เสกสรร” หน่วยกู้หนังนึกครุ่นคิดในใจว่าใครกันไม่เคยได้ยินชื่อ “พี่ครับ พรุ่งนี้ผมจะเข้าไปหาพี่ตอนเช้าเลยนะ!”
วันรุ่งขึ้นน้องเจเจได้ยื่นบัญชีรายชื่อซึ่งเป็นผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ของอาจารย์เสกสรรมาให้หน่วยกู้หนังอ่าน ทำให้หน่วยกู้หนังได้ประจักษ์ว่า ทุก ๆ เพลงที่อาจารย์แต่งนั้น ล้วนบ่งบอกถึงความสามารถและความพิเศษ เช่น แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง เมืองในหมอก (2521) ที่นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ กล่าวว่า “ดนตรีประกอบทำให้บรรยากาศในหนังน่าสะพรึงกลัวมาก” หรือแต่งเพลงโฆษณาแฟลตปลาทองที่ยังอยู่ในความทรงจำมาถึงทุกวันนี้ บุคคลที่สามารถแต่งเพลงได้หลากหลายแนว แถมยังได้อารมณ์สุด ๆ ไม่เหมือนใคร หน่วยกู้หนังพร้อมน้องเจเจจึงรีบรุดเดินทางไปขอเข้าพบอาจารย์เสกสรร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา เมื่อได้พบและพูดคุยกับอาจารย์เสกสรร เราต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อาจารย์เสกสรร สอนอิ่มสาตร์ เป็นยอดศิลปินคนจริง”
อาจารย์เสกสรร สอนอิ่มสาตร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2481 ที่บ้านวงเวียนเล็ก เชิงสะพานพุทธ คุณพ่อชื่อนายชื้น คุณแม่ชื่อนางแจ่มจันทร์ สอนอิ่มสาตร์ มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน คนโตชื่อนายอำนาจ สอนอิ่มสาตร์ (นักพากย์หนังนามว่า “ขุนแผน” หรือ “ดุ่ย ณ บางน้อย” นักเล่าข่าวชื่อดัง) คนรองชื่อนายชูศักดิ์ สอนอิ่มสาตร์ และอาจารย์เสกสรรเป็นคนสุดท้อง อาจารย์เสกสรรจบการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนบำรุงวิชาและอำนวยศิลป์ ต่อชั้น ม. 6 ที่วัดราชบพิธ แล้วต่อ ม. 7-8 ที่โรงเรียนทวีธาภิเศกแต่ไม่จบ เพราะเอาชั่วโมงเรียนตรีโกณฟิสิกส์ไปซ้อมดนตรี อาจารย์เสกสรรเล่าว่าตอนอายุได้ 8 ขวบ ที่บ้านวงเวียนเล็กตรงหน้าบ้านจะเป็นลานบาทวิถี ซึ่งในตอนเย็นมักจะมีแผงหนังสือแบกับดินมาวางขาย มีอยู่วันหนึ่งที่ร้านได้วางขายหนังสือตำราดนตรีของพระเจนดุริยางค์สภาพหน้าปกที่เริ่มชำรุด ด้วยความที่อาจารย์มีความชื่นชอบในเรื่องของดนตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงตัดสินใจซื้อมาอ่าน แม้รู้ว่าซื้อมาอ่านยังไงก็อ่านไม่รู้เรื่อง อาจารย์ใช้เวลาศึกษาหนังสือเล่มนี้เกือบสามปีก็ยังไม่รู้เรื่อง แต่นั่นก็คือความทรงจำแรกในเรื่องดนตรีของอาจารย์เสกสรร ต่อจากนั้นจึงเริ่มหัดเขียนโน้ตเพลงด้วยตนเอง ซึ่งมีต้นแบบมาจากโน้ตในหนังสือเพลงสุนทราภรณ์ ซึ่งเขียนโดยครู ส. จิตมั่นคง และครูสุดใจ ศรีเบ็ญจา เป็นต้น
จนเมื่ออายุ 19 ปี ได้มีโอกาสพากย์หนังเป็นครั้งแรก โดยพี่ชายคือคุณอำนาจให้มาช่วยพากย์ภาพยนตร์เรื่อง เหนือเมฆ ฉายที่โรงหนังเฉลิมเกียรติ วงเวียนใหญ่ เมื่อปี 2501 จากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันอีก วัน ๆ ก็ได้แต่ขอยืมไวโอลินของรุ่นพี่มาสีเล่น จนมีเหตุทำให้ชีวิตต้องพลิกผัน เมื่อวันหนึ่งพี่สะใภ้ของอาจารย์เสกสรรที่เป็นนักพากย์นามว่า “ดารณี ณ วังอินทร์” มีเหตุไม่สามารถไปพากย์หนังได้เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ อาจารย์เสกสรรจึงได้มีโอกาสพากย์หนังแทน เป็นหนังอินเดียเรื่อง เผาหัวใจ ที่โรงหนังคาเธ่ย์ หลังจากเหตุการณ์นั้น อาจารย์เสกสรรได้รับโอกาสพากย์หนังแทนพี่ชายตามโรงหนังชั้นหนึ่งและชั้นสอง และได้เดินสายตระเวนพากย์หนังทั่วประเทศไทย อาจารย์เสกสรรได้สะสมประสบการณ์ กลเม็ดเคล็ดลับและไหวพริบในการพากย์หนัง จนได้มาพากย์หนังประจำในเครือนิวโอเดียน พากย์ทั้งหนังจีน หนังญี่ปุ่น หนังฝรั่ง จนได้พากย์หนังอินเดียประจำโรงหนังชั้นหนึ่งสมัยนั้นคือ บางกอกรามาและเฉลิมบุรี อาจารย์มักจะพากย์หนังคู่กับภรรยาของท่าน ซึ่งใช้นามแฝงว่า “ดวงดาว”
ในยุคที่ระบบการฉายภาพยนตร์เปลี่ยนผ่านจากหนัง 16 มม. พากย์สด มาสู่หนังระบบ 35 มม. บันทึกเสียงลงบนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ อาจารย์เสกสรรได้พากย์เสียง ไพรวัลย์ ลูกเพชร ในหนังดังเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง (2513) และอีกหลายเรื่อง เช่น มนต์รักจากใจ (2514) ลูกหลง (2519) ฯลฯ ตลอดระยะเวลาของการพากย์หนัง อาจารย์เสกสรรได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงควบคู่กันไปด้วย เริ่มที่ปี 2501 ได้รับการชักชวนจาก ทักษิณ แจ่มผล ดาราหนังชื่อดังในยุคนั้น ให้มาช่วยแต่งเพลงโฆษณาในหนังเรื่อง เมืองเถื่อน ทำให้อาจารย์เสกสรรได้รับโอกาสจากผู้สร้างหนังไทยหลายท่านให้แต่งเพลงโฆษณาอยู่เรื่อย ๆ เช่น เพลิงทรนง (2506) เจ็ดประจัญบาน (2506) แผ่นดินสวรรค์ (2508) ฯลฯ
ปี 2515 อาจารย์เสกสรรได้ร่วมกับเพื่อนคือ ประสิทธิ์ ชำนาญไพร และศักดิ์ พลวิวัฒน์ ก่อตั้งวงดนตรีเสกศักดิ์สิทธิ์ ทำเพลงไทยแนวชาโดว์หรือสตริงคอมโบ ประมาณปี 2517 จึงได้ไปเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสานที่สยามกลการจนจบหลักสูตร 2 ปี และได้เป็นคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี 2518-2523 ในช่วงนั้นอาจารย์เสกสรรยังรับแต่งเพลงโฆษณาสินค้าและทำอัลบั้มเพลงให้กับศิลปินนักร้องต่าง ๆ จนทำให้อาจารย์เสกสรรต้องชะลอการพากย์หนังและได้มารู้จัก เพิ่มพล เชยอรุณ ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ในยุค 70 และได้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เกือบทุกเรื่องของคุณเพิ่มพล เช่น ชีวิตบัดซบ (2520) เมืองในหมอก (2521) หลวงตา (ได้รับตุ๊กตาทองปี 2523 สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์) และได้แต่งดนตรีประกอบหนังไทยอีกหลายร้อยเรื่อง เช่น จินตะหรา (2516) สันติ-วีณา (2519) เพลงรักบ้านนา (2520) ข้างหลังภาพ (2528) ฯลฯ
ช่วงปี 2515-2523 ถือว่าเป็นยุคทองของอาจารย์เสกสรร ที่มีผลงานทางดนตรีแนวสตริงคอมโบครองวงการภาพยนตร์ไทยมากที่สุด อาจารย์เสกสรรได้ตรากตรำกับการทำงานตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปี มีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ไม่ต่ำกว่า 180 เรื่อง อาจารย์จึงได้ขอหยุดพัก โดยภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ทำเพลงและดนตรีประกอบคือ ผู้ชายชื่อต้น ผู้หญิงชื่อนุช (2535) แต่เมื่อปี 2543 บริษัทการ์ตูนมีเดียมาขอร้องให้แต่งเพลงอีก จึงต้องกลับเข้าห้องบันทึกเสียงอีกครั้งเพื่อแต่งเพลงการ์ตูนโมเดิร์นไนน์ ทางช่อง 9 ภาคภาษาไทย เช่น โดเรมอน โปเกมอน อาราเล่ ดราก้อนบอล โคนัน ฯลฯ จนปี 2547 ก็ต้องบอกลาเพราะสุขภาพไม่แข็งแรงจนได้วางมือจากงานทุกอย่างแล้ว
เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 อาจารย์เสกสรร สอนอิ่มสาตร์ ได้เสียชีวิตอย่างสงบ สิริอายุ 84 ปี แต่ผลงานของท่านยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนสืบไป
รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
1. รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) จากภาพยนตร์เรื่อง หลวงตา สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2523
2. รางวัลเพลงอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ จากเพลง “ไม่มีกรงขังสำหรับรัก” ขับร้องโดย วาสนา สิทธิเวช เมื่อปี 2523
3. รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ประจำปี 2524 จำนวน 3 รางวัล คือ เรียบเรียงเสียงประสานดีเด่น วงดนตรีดีเด่น และดนตรียอดเยี่ยม จากเพลง “น้ำตาดารา” ขับร้องโดย ดาวใจ ไพจิตร
4. เข้ารอบ 1 ใน 120 เพลง รางวัลเพลงอาเซียน ครั้งที่ 2 ณ ประเทศไทย เพลง “ตามรัก” และเพลง “รักครั้งสุดท้าย” เมื่อปี 2525
5. รางวัลแทร็คอวอร์ด ประเภทโฆษณายอดเยี่ยมแห่งปี จากเพลงโฆษณา “แฟลตปลาทอง” ประจำปี 2532