สมวงศ์ ทิมบุญธรรม จากตำรวจสู่ผู้กำกับหนังคู่กรรมคนแรก

ย้อนดูเส้นทางชีวิตอันน่าสนใจและไม่ค่อยมีใครล่วงรู้ของ สมวงศ์ ทิมบุญธรรม อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ไปร่ำเรียนวิชาภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่น ก่อนจะกลายมาเป็นผู้กำกับเรื่อง คู่กรรม ฉบับแรกของวงการภาพยนตร์ไทย

---------



โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

*ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 14  มีนาคม - เมษายน 2556


9 ปีที่แล้ว วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สมวงศ์ ทิมบุญธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม ฉบับแรกของโลกภาพยนตร์ไทยได้จากโลกนี้ไปอย่างเงียบ ๆ  


แม้ข่าวคราวการเสียชีวิตของเขาจะเป็นที่รับรู้อยู่ในวงแคบ ด้วยความที่เป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว และถอยห่างออกจากวงการมานานหลายปี แต่สำหรับหอภาพยนตร์ คุณสมวงศ์นับเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับเรามายาวนาน ทั้งเคยมอบฟิล์มภาพยนตร์มาให้เราเก็บอนุรักษ์ไว้จำนวนหนึ่ง และก่อนที่จะเสียชีวิต ยังได้สั่งเสียกับคุณอาภาวดี ทิมบุญธรรม ผู้เป็นคู่ชีวิตไว้ว่า หากวันใดที่ตัวเขาจากไป ให้นำสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ที่เขามีทั้งหมด มามอบให้แก่ คุณโดม สุขวงศ์ เพื่อนำมาเก็บรักษาดูแลไว้ที่หอภาพยนตร์ 


นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยกู้หนังของหอภาพยนตร์ได้มีโอกาสไปรับมรดกทางภาพยนตร์กรุใหญ่ ที่บ้านพักใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จากพินัยกรรมทางวาจาของผู้กำกับผู้ล่วงลับท่านนี้ ทั้งอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์และแถบบันทึกเสียง บทภาพยนตร์ รูปถ่ายเบื้องหลังการทำงาน ข่าวและคอลัมน์ต่าง ๆ จากหนังสือพิมพ์ที่เขาจัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพและถ่ายภาพยนตร์จำนวนหลายสิบเล่ม รวมทั้งประวัติชีวิตอย่างย่อที่เขียนด้วยลายมือของเขาเอง 


นอกจากสิ่งของเกี่ยวกับภาพยนตร์อันมีคุณค่า หอภาพยนตร์จึงมีโอกาสได้รับรู้เส้นทางชีวิตของ สมวงศ์ ทิมบุญธรรม ในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ผ่านคำบอกเล่าของภรรยาและเอกสารจำนวนมากของเขาเอง และพบว่าช่างเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และมีแง่มุมต่าง ๆ ที่สมควรได้รับการบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา  




ในช่วงเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ชีวิตของคุณสมวงศ์นั้นมีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญอยู่หลายเหตุการณ์ เขาเกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ช่วงชีวิตในวัยเด็กต้องเผชิญกับสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่ได้มาเยือนประเทศไทย จนครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ และให้เขาเข้าเรียนที่ ร.ร มงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่ จนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก่อนจะย้ายกลับมาเรียนที่ ร.ร. อัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ เมื่อหมดภัยสงคราม


หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยม คุณสมวงศ์ได้สมัครเข้าเรียนใน ร.ร. พลตำรวจนครบาล และได้เข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2494 มียศเป็นพลฯ พิเศษ ทำหน้าที่เสมียนเวรและสายสืบพิเศษประจำสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน โดยตัวเขาเองนั้น มีญาติเป็นนายตำรวจที่มีชื่อเสียง คือ พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ ผู้มีประวัติเป็นทั้งนักดนตรี นักเขียน นักแสดงภาพยนตร์ และคนสนิทของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์  


เพียงปีแรกที่รับราชการ คุณสมวงศ์ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประเทศ เขาและเพื่อนในกรมตำรวจได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ออกไปสู้รบกับฝ่ายทหารเรือ ซึ่งได้กระทำการจี้ตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเอาไว้ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือด โดยที่ตัวคุณสมวงศ์เองนั้นต้องเห็นภาพเพื่อนตำรวจถูกยิงตายไปต่อหน้า จากนั้นใน ปี พ.ศ. 2495 เขาได้จบหลักสูตรฝึกกระโดดร่มและอาวุธพิเศษ จาก ร.ร. ตำรวจฝึกอาวุธพิเศษและพลร่มค่ายเอราวัณ และได้ย้ายมาประจำหน่วยพลร่มยานเกราะ กก.3 บก. ยย. วังปารุสกวัน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2497 จึงได้ลาราชการไปศึกษาต่อเพื่อเลื่อนยศเป็นนายร้อยตำรวจ ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่น 1 ปี และเรียนเอกวิชาการตำรวจที่ Metropolitan Police Training School ณ กรุงโตเกียวอีก 1 ปี




จะเห็นได้ว่าช่วงชีวิตเริ่มต้นจนถึงวัยหนุ่มของเขาช่างอยู่ห่างไกลจากวงการภาพยนตร์อย่างสิ้นเชิง  เป็นเส้นทางที่ถูกขีดไว้ให้เติบโตขึ้นเป็นนายตำรวจมืออาชีพโดยแท้ แต่จุดเปลี่ยนก็มาถึงขณะที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นนี่เอง เมื่อ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้ไปราชการที่กรุงโตเกียว และมีคำสั่งให้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนิฮอน ในคณะศิลปศาสตร์ เอกวิชาการสร้างภาพยนตร์และการโฆษณา ด้วยเพราะมีความคิดที่จะตั้งแผนกภาพยนตร์ขึ้นในกองสวัสดิการกรมตำรวจ เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่องและภาพยนตร์สารคดีจากแฟ้มอาชญากรรม ออกเผยแพร่ทางโรงภาพยนตร์และโทรทัศน์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ศึกษาและให้ประชาชนได้รับชมเพื่อความบันเทิง ซึ่งนอกจาก พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์แล้ว คุณอาภาวดียังเล่าให้ฟังว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ได้แวะมาเยี่ยมเขาที่ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ทั้งยังกำชับว่า อย่าเกียจคร้าน ให้ตั้งใจเรียน


นั่นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสื่อภาพยนตร์ในสายตาผู้มีอำนาจระดับสูงของไทยในเวลานั้น ซึ่งหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ชื่อของ สมวงศ์ ทิมบุญธรรม อาจได้รับการจารึกอยู่ในอีกฐานะหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย แต่ทุกอย่างกลับพลิกผัน เพราะไม่นานหลังจากนั้น ฝั่งประเทศไทยได้เกิดการรัฐประหารขึ้นโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่งผลให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ตำรวจหน่วยยานเกราะอันเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของคุณสมวงศ์ถูกยุบ และโครงการจัดตั้งแผนกภาพยนตร์ของกรมตำรวจก็จำต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย




แม้เป้าหมายเดิมจะดับหายกลายเป็นเพียงความฝัน แต่คุณสมวงศ์ก็ยังคงมุมานะเรียนต่อจนกระทั่งจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2504 รวมทั้งยังได้ไปฝึกงานที่โรงถ่ายโตโฮ ซึ่งเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปี ข้อมูลจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ที่คุณสมวงศ์จัดเก็บไว้ชิ้นหนึ่งระบุว่า ที่โรงถ่ายโตโฮนี้ เขาได้เข้าไปเป็นผู้ช่วยของ ฮิโรชิ อินางากิ ผู้กำกับคนสำคัญของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักภาพยนตร์เรื่อง คนลากรถ (Rickshaw Man) ต่อมาได้ร่วมทำบทภาพยนตร์และช่วยกำกับการแสดงภาพยนตร์ญี่ปุ่น เรื่อง ราตรีในกรุงเทพ (Night in Bangkok) ซึ่งยกกองเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย และมีดาราไทยอย่าง ปริม ประภาพร และ เยาวเรศ นิสากร ร่วมแสดง


การร่ำเรียนทั้ง ภาษา วิชาตำรวจ และภาพยนตร์ทำให้คุณสมวงศ์ใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นนานร่วม 9 ปี ก่อนจะกลับมาเมืองไทยใน ปี พ.ศ. 2506 โดยเข้ามาทำงานเป็นหน่วยสืบราชการลับ ประจำการอยู่แถบพื้นที่ทางภาคอีสาน ในช่วงที่โลกกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามเย็น แต่แค่เพียงปีเดียวหลังจากนั้น เขาก็เลือกปิดฉากชีวิตตำรวจ ด้วยการลาออกจากราชการ และผันตัวเองเข้ามาสู่บทบาทพนักงานบริษัท โดยเริ่มจากการเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นให้กับบริษัท Metropol Travel Service Co., Ltd. ก่อนที่ปี พ.ศ. 2510 จะเข้ามาประจำอยู่ที่บริษัท Summit Industrial Corporation (Panama) ในหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการขายเป็นหลัก


แม้ในตอนนั้น สมวงศ์ ทิมบุญธรรม จะอยู่ในฐานะคนไทยเพียงไม่กี่คนที่จบการศึกษาด้านภาพยนตร์มาจากต่างประเทศ แต่เกือบสิบปีหลังกลับมาจากญี่ปุ่น ชื่อนี้กลับไม่เคยได้ปรากฏอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยเลยสักครั้ง กว่าจะได้เริ่มต้นชีวิตในเส้นทางนี้ เวลาก็ล่วงผ่านมาจนถึงปี พ.ศ. 2515 เมื่อ พล.ต.ต. บันเทิง กัมปนาทแสนยากร เจ้าของบริษัท จิรบันเทิงฟิล์ม ได้ส่งคนมาทาบทามเขาให้รับหน้าที่ผู้กำกับภาพยนตร์ที่กำลังเตรียมสร้างจากบทประพันธ์ยอดนิยมของทมยันตี  เรื่อง คู่กรรม ซึ่งเคยได้รับการนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์แล้วถึง 2 ครั้ง



ภาพ: สมวงศ์ ทิมบุญธรรม (ขวา) กับ นาท ภูวนัย (กลาง) พระเอก คู่กรรม (2516)


งานชิ้นแรกของคุณสมวงศ์จึงมาพร้อมกับความคาดหวังมหาศาลจากบรรดาแฟนหนังไทย ที่หวังจะได้เห็นเรื่องราวความรักของนายทหารญี่ปุ่นกับหญิงสาวชาวไทยขึ้นจอใหญ่เป็นครั้งแรก ข่าวการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการนำเสนอทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะ ทั้งประวัติการศึกษาของผู้กำกับหน้าใหม่ที่เรียนจบด้านภาพยนตร์มาจากญี่ปุ่น และความวุ่นวายในการหาผู้มารับบทนำ แรกเริ่มเดิมที ผู้สร้างได้มอบบทโกโบริให้แก่ มูงะ ทาเควากิ พระเอกญี่ปุ่นผู้ที่กำลังโด่งดังมากในเมืองไทยจากภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง ยูโด จนคนไทยพากันเรียกเขาว่า ซันชิโร่ ตามชื่อของตัวละครที่แสดง แต่กลับเกิดการประท้วงจากศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ด้วยเพราะกำลังอยู่ในกระแสการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นอย่างหนัก บทโกโบริจึงตกไปอยู่กับ นาท ภูวนัย ซึ่งมาจากการเสนอของคุณสมวงศ์เอง ส่วนบทของอังศุมาลินนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงจาก อัมพร กีรติบุตร ดาราสาวจากจุฬาฯ เป็น ดวงนภา อรรถพรพิศาล 


แม้ในใบปิดภาพยนตร์จะพบว่ามีชื่อผู้กำกับปรากฏอยู่ถึงสามคน นอกจากสมวงศ์ ทิมบุญธรรม ยังมี พร ไพโรจน์ และ มร.ติง ร่วมกำกับด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข่าวหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้นระบุว่า พร ไพโรจน์ เป็นเพียงผู้กำกับบท อีกทั้งเครดิตในภาพยนตร์ก็ขึ้นว่าเขาเป็นผู้ช่วยกำกับการแสดง ส่วน มร.ติง นั้น เนื่องจากผู้สร้างได้ร่วมสร้างกับบริษัทจากไต้หวัน เพื่อเป็นช่องทางในการนำไปขายสายหนังต่างประเทศ จึงได้มาเป็นผู้กำกับฉบับไต้หวันที่ใช้นักแสดงและบทภาพยนตร์ชุดเดียวกับฉบับไทย ยกเว้นบทของอังศุมาลินที่ให้ หวาเลียน นางเอกจากไต้หวันมาแสดงแทน โดยทั้งสองฉบับได้ถ่ายทำไปพร้อม ๆ กัน เมื่อถึงคิวถ่ายของฉบับใด ก็ใช้นางเอกและผู้กำกับจากฉบับนั้น



ภาพ: โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม (2516)


ดังนั้น หากพูดถึง คู่กรรม ฉบับแรกบนโลกภาพยนตร์ไทย จึงนับได้ว่า เป็นผลงานการกำกับของคุณสมวงศ์อย่างเต็มตัว นอกจากนี้เขายังเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกาว่า วดีวงศ์ ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากบทเดิมที่ทมยันตีเขียนเอาไว้ในนามปากกาว่า วิทวัส (เครดิตผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็น วดีวงศ์ – วิทวัส) และยังรับหน้าที่ออกแบบสร้างฉาก รวมทั้งไปควบคุมขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่นด้วยตนเองถึงฮ่องกง โดยเขาถึงกับตัดสินใจลาออกจากงานประจำอันมั่นคงที่มีรายได้เดือนละ 10,000 บาท ซึ่งถือว่ามากมายมหาศาลสำหรับยุคนั้น เพื่อให้มีเวลามาทุ่มเททำงานชิ้นนี้อย่างเต็มที่  


เมื่อออกฉายใน ปี พ.ศ. 2516 คู่กรรม ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีและนับว่าประสบความสำเร็จด้านรายได้อย่างที่ผู้สร้างคาดหวัง ทั้งยังได้รางวัลออกแบบฉากยอดเยี่ยม ซึ่งมาจากฝีมือของคุณสมวงศ์เอง นับตั้งแต่นั้น เขาจึงก้าวเข้าสู่โลกบันเทิงอย่างเต็มตัว โดยมีผลงานการกำกับและรับหน้าที่เขียนบท ทั้งภาพยนตร์เรื่อง ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์สารคดี รวมทั้งสิ้นประมาณ 25 เรื่อง เช่น  โรงแรมผี (2518)  ทางชีวิต (2519) เลือดสีน้ำเงิน (2520) สารคดีชุด 71 จังหวัดของประเทศไทย โดยกระทรวงมหาดไทย (2521) มัจจุราชผู้น่ารัก (2522) หักเหลี่ยมแดร็กคูล่า (2527) สิ้นสวาท (2529) เป็นต้น  


อย่างไรก็ตาม จากถ้อยคำของคุณอาภาวดีทำให้ทราบว่า ตลอดระยะเวลาที่อุทิศตัวให้กับงานภาพยนตร์อย่างเต็มความรู้ความสามารถ คุณสมวงศ์มักจะได้พบเจอกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้อื่น จนต้องเจ็บช้ำน้ำใจอยู่บ่อยครั้ง แต่นอกเหนือไปจากการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาของคนเหล่านี้ เส้นทางสายภาพยนตร์ก็ยังได้ทำให้เขารู้จักกับกัลยาณมิตรจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้ที่คอยส่งการ์ดอวยพรมาให้อย่างสม่ำเสมอ


แม้จะมีผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ออกมามากมาย สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เคยหายไปจากความสนใจของเขา ก็คือเรื่องราวของบทประพันธ์เรื่อง คู่กรรม ที่มักได้รับการนำกลับมาสร้างใหม่อีกหลายครั้ง ทั้งฉบับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ สังเกตได้จากข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ คู่กรรม ฉบับอื่นที่เขาจัดเก็บไว้ในแฟ้มส่วนตัว ซึ่งคุณอาภาวดีได้เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า เมื่อครั้งที่ รุจน์ รณภพ คิดจะสร้างภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม ขึ้นมาใหม่ ก็ได้เข้ามาปรึกษาคุณสมวงศ์ผู้มีประสบการณ์มาก่อน และได้ให้คุณสมวงศ์เขียนบทภาพยนตร์ คู่กรรม ให้ใหม่ด้วย แม้ภายหลังจะได้มีการปรับบทจนต่างไปจากเดิม




ปี พ.ศ. 2530 คุณสมวงศ์ได้รับหน้าที่เป็นผู้บริหาร บริษัท ริการ์โด  แล็บโบราทอรี่ หรือในชื่อเดิมคือสุทธิสารแล็บ รับดำเนินการขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่นทั้ง ล้างฟิล์ม พิมพ์ฟิล์ม บันทึกเสียงลงบนฟิล์ม นับเป็นแล็บแห่งที่ 4 ของเมืองไทยในเวลานั้น เป็นช่องทางให้ผู้สร้างหนังไทยสามารถลดต้นทุนการผลิตจากที่เคยต้องบินไปใช้บริการแล็บที่ต่างประเทศ แต่ริการ์โดแล็บกลับเปิดดำเนินการได้เพียง 3 ปี ก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากตลาดภาพยนตร์อยู่ในภาวะซบเซา งานนี้จึงนับเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ลำดับท้าย ๆ ของตัวเขาเอง ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2539  เขาจะเข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษาฝ่ายภาษาญี่ปุ่นที่บริษัท ไทยกุนเซ่ จำกัด เป็นการปิดฉากอาชีพด้านภาพยนตร์ที่เขารักอย่างเป็นทางการ  


เอกสารต่าง ๆ ของคุณสมวงศ์ นอกจากทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวบางส่วนในชีวิตของเขาดังที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น ยังเปิดเผยให้เห็นนิสัยใจคอและบุคลิกต่าง ๆ ของเขาเอง ทั้งความเอาจริงเอาจัง และความใส่ใจในอาชีพการงาน ประวัติลายมือของเขามีข้อความบ่งบอกให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นอยากให้วงการภาพยนตร์ได้รับการพัฒนาให้ได้ระดับมาตรฐานสากล และข่าวจากหนังสือพิมพ์จำนวนมากนั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะในแง่มุมของบทประพันธ์เรื่อง คู่กรรม ในโลกมายา ซึ่งยังอยู่ในความสนใจของผู้คนแม้กระทั่งในปัจจุบัน 


ภารกิจการรับมอบของของคุณสมวงศ์ ทิมบุญธรรม จึงนอกจากจะเป็นการนำสิ่งเกี่ยวเนื่องทางภาพยนตร์มาจัดเก็บเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง ยังทำให้ได้ค้นพบเรื่องราวของบุคคลซึ่งควรค่าแก่การบอกเล่า แต่กลับถูกละเลยหลงลืมไปในสายธารของกาลเวลา