เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ
เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เทศกาลภาพยนตร์สั้น (Thai Short Film & Video Festival) ได้จัดกิจกรรม “ชั้นครู 15: ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์” โดยเชิญ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ หนึ่งในคนทำหนังแนวทดลองร่วมสมัยคนสำคัญของไทย อาจารย์สอนภาพยนตร์ และศิลปินทัศนศิลป์ มาถ่ายทอดความรู้และบรรยายถึงเบื้องหลังแนวคิด วิธีการทดลอง และสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ขนาดสั้น ขนาดยาว ตลอดจนศิลปะภาพเคลื่อนไหวในแขนงอื่น ๆ
ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ เป็นศิลปินที่สร้างชื่อจากการทำหนังสั้นแนวทดลอง โดยตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เขาส่งผลงานเข้าประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ และหลาย ๆ เรื่องได้รับรางวัล ผลงานส่วนใหญ่ของเขา มักตีแผ่ความตึงเครียดและความขัดแย้งที่แฝงอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัย โดยนำเสนออย่างชัดเจนและท่วมท้นไปด้วยการทดลองภาพและเสียงที่หลากหลาย แต่สอดประสานเข้าด้วยกัน เช่น ภูเขาไฟพิโรธ (A Ripe Volcano), The Age of Anxiety, The Mental Traveller เป็นต้น นอกจากนี้ ผลงานของเขายังได้รับการคัดเลือกจากนิทรรศการศิลปะและเทศกาลภาพยนตร์มาแล้วอีกหลายแห่งทั่วโลก อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (International Film Festival Rotterdam), Images Festival ประเทศแคนาดา, Hirshhorn Museum and Sculpture Garden ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ
ตลอดสี่ชั่วโมง ไทกิได้ถ่ายทอดแง่มุม เบื้องหลัง ประสบการณ์ แรงบันดาลใจต่าง ๆ รวมทั้งแนวทางในการทำหนังลักษณะทดลองบนเส้นทางการทำงานกว่าหนึ่งทศวรรษของเขา และนี่คือส่วนหนึ่งของสรุปการบรรยายกิจกรรม “ชั้นครู 15: ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์”
เบื้องหลังแนวคิดของหนังสั้นแต่ละเรื่อง
“การที่คนดูจะเข้าใจหนังหรือตัวคนทำหนังได้ดี ต้องเข้าใจจักรวาลของคนทำก่อนว่า เขาหมกมุ่นอะไร ชื่นชอบสิ่งใด หรือชีวิตเขาโตมายังไง”
ไทกิกล่าวเปิดกิจกรรมต้อนรับผู้ชมถึงลักษณะของการบรรยายในครั้งนี้ว่า เหมือนเป็นการแชร์สมุดบันทึกส่วนตัวของผู้กำกับที่เวลาคิดงานเสร็จ จะทำการบันทึกสิ่งใดลงไป โดยในระหว่างการบรรยาย ไทกิได้ทำการคัดสรรผลงานหนังสั้นเรื่องเด่น ๆ ที่สร้างชื่อให้กับเขาทั้งหมด 4 เรื่อง ประกอบด้วย อุรุเวลา (Deathless Distance), ภูเขาไฟพิโรธ (A Ripe Volcano), The Age of Anxiety และ Shadow and Act มาจัดฉาย เพื่อเจาะลึกถึงผลงานแต่ละเรื่อง โดยอธิบายตามลำดับการจัดฉาย ดังนี้
ภูเขาไฟพิโรธ (A Ripe Volcano)
© Taiki Sakpisit
ภูเขาไฟพิโรธ เป็นผลงานหนังสั้นปี ค.ศ. 2011 ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขารัตน์ เปสตันยี หรือรางวัลที่มอบให้คนทำหนังสั้นระดับบุคคลทั่วไปของเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 15 ประจำปี พ.ศ. 2554 ผลงานที่ไทกิอธิบายว่า ต้องการถ่ายทอดความรู้สึกในช่วงการทำรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 โดยบอกเล่าผ่านสภาวะของผู้คน ณ สนามมวยราชดำเนิน
“เรื่องของแลนด์สเคปมักจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากไปสำรวจพื้นที่เพื่อทำงานอยู่เสมอ สำหรับการทำงานเรื่องนี้ จะมีอยู่สองสถานที่ที่รู้สึกว่าสำคัญ ที่แรกคือโรงแรมรัตนโกสินทร์ สถานที่ที่เวลามีเหตุการณ์การชุมนุมมักจะเป็นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งขัดขวางการเดินทางไปสู่พระราชวัง โรงแรมแห่งนี้จะมีความเป็น ‘สัญลักษณ์’ ที่เวลาเกิดเหตุการณ์ชุมนุมหลาย ๆ ครั้ง จะมีประชาชนเข้าไปหลบภัยหรือความรุนแรงอยู่ภายใน”
“ส่วนอีกที่ที่ผมนึกถึงซึ่งเป็นฉากหลังของ ภูเขาไฟพิโรธ คือสนามมวยราชดำเนิน ที่สร้างขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผมสนใจที่นี่ เพราะเมื่อก่อนสนามมวยจะเป็นพื้นที่เปิดโล่งแบบไม่มีหลังคาคล้าย ๆ สนามสู้รบแกลดิเอเตอร์ ไอเดียแรกที่อยากเข้าไปสองพื้นที่นี้ เพื่อหาร่องรอยของความรุนแรง”
“ด้วยความที่ผมทำงานทดลอง วิธีการคิดงานของผมจะประกอบด้วยการหาแนวคิด ธีม และแรงจูงใจ องค์ประกอบเหล่านี้ เหมือนเป็นเรื่องเล่าอย่างหนึ่งของเรา และการตั้งชื่อเรื่องสำหรับผม มันจึงสำคัญมาก เมื่อเราจับมวลอารมณ์ของการทำงานได้ เราจึงต้องพยายามหาชื่อที่มันสามารถถ่ายทอดมวลอารมณ์นั้นออกมาให้ใกล้เคียงที่สุด อย่างตอนทำเรื่องนี้ ช่วงนั้นผมอ่านหนังสือของ อองโทนิน อาร์โทด์ (Antonin Artaud) กวีและนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสแนวเหนือจริง ที่เคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับวินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh) ช่วงเวลาที่เขาตัดหูตัวเองและเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งมีกลอนอยู่ท่อนหนึ่งที่เขาเขียนว่า ‘A Ripe Volcano’ หรือภูเขาไฟที่มันอิ่มและสุกงอม เป็นชื่อที่เหมาะกับความรู้สึกของผมในช่วงเวลานั้น หรือของหลาย ๆ คนที่ภูเขาไฟในอกมันจวนจะระเบิด ผมสนใจสภาวะในช่วงก่อนที่มันจะระเบิดแบบนี้ พวกอารมณ์คุกรุ่นของมัน นั่นจึงเป็นที่มาของการทำเรื่อง ภูเขาไฟพิโรธ เพื่อสื่อถึงอารมณ์ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงใหญ่ ๆ บางอย่าง”
“สถานที่สองแห่งนี้ จึงเหมือนเป็นตัวละครหลักของงาน หลังจากได้เข้าไปในสนามมวย ได้เห็นพื้นที่จริง ๆ ว่ามีห้องอะไรบ้าง พอเข้าไปจริง ๆ ก็กะจะถ่ายภาพคนชกมวย แต่บังเอิญได้เห็นห้องหนึ่งเป็นห้องนวดให้นักมวย เพื่อเตรียมตัวก่อนขึ้นชกบนเวที ซึ่งห้องนี้เป็นห้องที่น่าสนใจมาก เพราะเตียงที่นั่งพักของนักมวยทั้งสองฝ่ายตั้งอยู่ห่างกันไม่มาก มันเลยทำให้เราเห็นความกดดัน กลิ่นเหงื่อที่ปนกับกลิ่นน้ำมัน พัดลมที่หมุน พวกนี้เป็นองค์ประกอบที่กระตุ้นประสาทการรับรู้ของผม ทำให้รับรู้ว่าในนั้นคือภูเขาไฟที่จวนจะระเบิด พอเรารู้ธีมที่ต้องการของเราว่า มันอยู่ในห้องนั้นแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องถ่ายคนชกมวยอีกต่อไปแล้ว มันรุนแรงและตรงเกินไป ถ้าสังเกตงานของผมมันจะไม่ตรงเลย มันจะไปแตะอารมณ์ของเหตุการณ์มากกว่า”
© Taiki Sakpisit
“หลังจากหาชื่อเรื่องที่สะท้อนถึงหัวใจของงานแล้ว ต่อมาผมก็พยายามหาดนตรีที่มันเหมาะกับงานชิ้นนั้น ๆ ในช่วงพัฒนาไอเดีย ภูเขาไฟพิโรธ ผมจะนึกถึงโอเปราเรื่อง ‘Tristan und Isolde’ ของริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) ที่มีพล็อตเกี่ยวกับรักที่ไม่สมหวังคล้าย ๆ เรื่อง โรมีโอและจูเลียต (Romeo & Juliet) ซึ่งวากเนอร์เป็นคนที่คิดค้นเรื่อง Sound Motif หรือเสียงที่มันเกิดขึ้นในตัวซ้ำ ๆ กัน อย่างในเรื่องนี้วากเนอร์จะคิด ‘Tristan chord’ ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่องที่มันสำคัญมาก มีนักทฤษฎีดนตรีคนหนึ่ง เคยวิเคราะห์ว่า มันเป็นคอร์ดที่ไม่คลี่คลาย เป็นคอร์ดที่กระตุ้นอารมณ์ไปเรื่อย ๆ ยาวนานตลอดทั้งเรื่อง จนกระทั่งไปจบตอนท้าย คล้าย ๆ กับการระเบิด”
“หากพูดถึงเรื่องเสียง นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ร่วมงานกับ โมรินางะ ยาสึฮิโร (MORINAYA Yasuhiro) ซึ่งหลังจากงานชิ้นนี้ เราก็ได้ร่วมงานกันเรื่อย ๆ ต่อมาเป็นอีกสิบปี ถือเป็นความสวยงามในการได้ค้นพบคู่หูในงานความคิดสร้างสรรค์ เขามีรสนิยมทางด้านดนตรีที่ดีอยู่แล้ว เขามาทางสายดนตรีทดลองและมีแพสชั่นในการตระเวนไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่ออัดเสียงดนตรีพื้นบ้านแต่ละประเทศ มีคลังเสียงฆ้องและกลองเป็นของตัวเอง หรือพวกเสียงที่มันสูญหายไปตามกาลเวลาเยอะมาก แล้วเขาก็เอามาใส่ใน ภูเขาไฟพิโรธ ซึ่งเป็นอะไรที่ลงตัวมาก ๆ”
The Age of Anxiety
© Taiki Sakpisit
The Age of Anxiety เป็นหนึ่งในผลงานหนังสั้นเรื่องสำคัญของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ที่ได้รับการกล่าวถึงจากผู้ชมทุกครั้ง ไม่ว่าจะได้รับการฉายกี่รอบ และได้รับรางวัลวิจิตรมาตรา จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หนังสั้นที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง โดยไทกิได้อธิบายถึงแรงบันดาลในการสร้างสรรค์หนังทดลองเรื่องนี้ว่า
“The Age of Anxiety เป็นงานที่สะท้อนสภาวะการเมืองของประเทศไทยเหมือน ภูเขาไฟพิโรธ แน่นอนว่าชื่อเรื่องต้องมาก่อน ตอนพัฒนาบท ผมนึกถึงบทกลอนชึ้นหนึ่งชื่อ 'The Age of Anxiety' ของ ดับเบิลยู เอช ออเดน (W. H. Auden) ซึ่งออเดนถ่ายทอดสภาวะของตัวละครหลาย ๆ คนที่อยู่ในบาร์เมืองนิวยอร์ก แต่บริบทรองคือเรื่องสงครามที่กำลังจะมาถึง เป็นชื่อที่ผมคิดว่าดีมาก ๆ มันคือช่วงเวลาแห่งการกระวนกระวายถึงการเปลี่ยนผ่าน ของอนาคตหรือหายนะที่กำลังจะมาถึง”
“พอได้ชื่อเรียบร้อยแล้ว มาถึงแรงบันดาลใจในช่วงหาเพลง ตอนนั้นผมได้มีโอกาสอ่านบทความชิ้นหนึ่งที่เขาพูดถึงวงเดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) ช่วงอัดชุด The White Album โดยเฉพาะเพลง ‘Helter Skelter’ ซึ่งในบทความนั้นบอกว่า มันเป็นเพลงที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวเพลงเฮฟวีเมทัล เนื่องจากขณะนั้น ยังไม่มีใครที่เล่นดนตรีหนักหน่วงแบบนั้น นักวิจารณ์ที่เขียนบทความชิ้นนั้นเขียนว่า เทคแรกของเพลงนี้ที่วงซ้อมกัน มีความยาวถึง 27 นาที ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็น 27 นาทีแห่งความฉิบหายทางโสตประสาท พอได้เจอคำนี้ ผมจึงปิ๊งไอเดียว่า ผมต้องทำหนัง 27 นาที ที่สามารถถ่ายทอดความหายนะทางโสตประสาทให้ได้ แต่ The Age of Anxiety ก็ไม่ได้ยาวเท่านั้น พอได้เจอคำนั้น จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้”
“แรงบันดาลใจอีกอย่างในการทำ The Age of Anxiety คือเพลง ‘On Sight’ ของคานเย เวสต์ (Kanye West) ที่เป็นซิงเกิลแรกของอัลบั้ม Yeezus ในปี ค.ศ. 2013 เพลงนี้ความน่าทึ่งของมัน คือการปะทะกันระหว่าง Sample และเสียงของ Synthesizer ของวงดาฟต์ พังก์ (Daft Punk) ที่มันหนักมาก หนวกหูมาก แล้วอยู่ ๆ เพลงก็มันผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการตัด Sample ที่มันเพราะมาก ๆ แทรกเข้ามาตรงกลาง เพลงนี้เป็นแรงบันดาลใจในเรื่องของโครงสร้างของการผสมผสานระหว่างความหนวกหูและความไพเราะ อย่างที่เห็นใน The Age of Anxiety ว่าช่วงแรกผมตั้งใจทำให้หนังมันช้ามาก ๆ ส่วนช่วงสองที่ตัดเร็ว ๆ คือช่วงเวลาของการปะทะกันระหว่างภาพและเสียง”
ภาพ: ปกอัลบั้ม Yeezus (2013) โดยคานเย เวสต์
© 2013 Def Jam Recordings, a division of UMG Recordings, Inc
“แน่นอนว่าการทำงาน คนทำต้องท้าทายตัวเอง รวมถึงท้าทายคนดูด้วย การที่ The Age of Anxiety เปิดเรื่องด้วยภาพของน้ำ เป็นความตั้งใจของผมที่ต้องการล้างสายตาคนดู เหมือนเอาน้ำยามาหยอดที่ตาก่อน ทำให้สายตาของคนดูชุ่มชื่น ก่อนที่หลังจากนั้นคนดูจะถูกปะทะด้วยภาพที่เหมือนถูกมีดแทงเข้าไปในดวงตาซ้ำ ๆ ช่วงภาพที่มันเร็ว จะมีความยาวไม่นาน แต่มีเกือบ 5,000 คัต ผมนั่งตัดทีละคัต ๆ อยู่ 2-3 คืน เป็นการทำงานที่เหมือนการสะกดจิตและบำบัดตัวเอง”
“ผมได้แรงบันดาลใจการล้างตามาจาก ซามูเอล เบคเกตต์ (Samuel Beckett) กวีและนักประพันธ์ละครชาวไอริช ที่บางทีในกลอนหรือนิยายของเขา เขาจะเล่นกับคำ ซึ่งแทบจะเป็นกราฟิกอยู่แล้ว คือมันอ่านไม่รู้เรื่องหรอก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดวางฟอนต์ โดยนักวิจารณ์คนหนึ่งบอกว่า การอ่านอะไรแบบนั้น คล้าย ๆ กับการนวดสายตาคนอ่าน ก่อนเข้าสู่ตัวเรื่อง”
© Taiki Sakpisit
“ช่วงทำ The Age of Anxiety เป็นช่วงที่ผมฟังเพลงแนวไซคีเดลิค (Psychedelic) เยอะมาก โดยเฉพาะเพลงของวงเดอะ บีช บอยส์ (The Beach Boys) ซึ่งเป็นวงที่อยู่ในยุคเดียวกับเดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) แน่นอนว่าแรงบันดาลใจได้มาจากหัวหน้าวง ไบรอัน วิลสัน (Brian Wilson) ซึ่งเขาเรียบเรียงเพลงออกมาดีมาก โดยเฉพาะเพลง ‘Good Vibrations’ ซึ่งความตั้งใจของการทำ The Age of Anxiety คืออยากให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์แบบไซคีเดลิค คือมันเหมือนเป็นความสุขของผมในการทำงาน เหมือนตัวเองเป็นภัณฑารักษ์ที่หาแรงบันดาลใจมาชุดหนึ่งและหมกมุ่นอยู่กับมัน จากนั้นพยายามกลั่นกรองงานออกมาจากแรงบันดาลใจชุดนั้น ซึ่งจริง ๆ แรงบันดาลใจมันไม่ต้องเกี่ยวข้องกันก็ได้ แต่ด้วยความที่ดนตรีมันคือภาษา แต่งานของเรามันคือการใช้ภาพและเสียงสื่อสารออกมาให้มากที่สุด เสียงเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจพวกนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ”
“ส่วนแรงบันดาลใจของงานด้านภาพ ช่วงแรกของ The Age of Anxiety ที่เป็นภาพเบลอ ๆ ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของช่างภาพเยอรมัน วูล์ฟกัง ทิลล์แมนส์ (Wolfgang Tillmans) ที่เป็นภาพซึ่งเกิดจากกระบวนการทางสารเคมีตอนล้างฟิล์ม และศิลปินเยอรมัน แกร์ฮาร์ด ริคช์เตอร์ (Gerhard Richter) ที่เป็นภาพของการผสมสี แล้วนำแปรงมาปาด หรืออย่างของมาร์ค รอธโก (Mark Rothko) ศิลปินอเมริกันที่หมกมุ่นอยู่กับทุ่งของสีมาก ซึ่งแรงบันดาลใจในผลงานของศิลปินเหล่านี้ มันจะปรากฎทั้งในช่วงต้นและท้ายของ The Age of Anxiety”
© Taiki Sakpisit
“ช่วงครึ่งหลังที่เป็นภาพหนังแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ จะเป็นภาพจากหนังหลาย ๆ เรื่องของไชโยภาพยนตร์ ซึ่งตอนดูคือชอบมาก รู้สึกว่ามันสะท้อนความเป็นไซคีเดลิค มีความเมา มีความเพ้อฝัน การข้ามไปมาระหว่างโลกของความเป็นจริงกับโลกของความฝัน และมันมีเรื่องของไสยศาสตร์เยอะ พอมานั่งดูอีกรอบได้เห็นอะไรบางอย่างที่ไปปรากฎอยู่ใน พญาโศกพิโยคค่ำ เยอะมาก เรื่องของดิน น้ำ ลม ไฟ หรือพลังที่เรามองไม่เห็น เรื่องของตัวละครถูกสะกดด้วยอำนาจบางอย่าง ทุกอย่างเกิดจากความชอบ จึงเอาหนังพวกนี้มาเป็นวัตถุดิบในการทำงาน”
Shadow and Act
© Taiki Sakpisit
Shadow and Act คือหนังสั้นที่พาผู้ชมไปสำรวจ ‘ฉายาจิตรกร’ อดีตร้านถ่ายรูปอันดับ 1 ของเมืองไทยที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2483 และเป็นสตูดิโอแห่งเดียวที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม มอบความไว้วางใจ เช่นเดียวกับงานก่อนหน้าของไทกิ ผลงานเรื่องนี้ได้ขับเน้นงานด้านภาพและเสียง เพื่อสะท้อนไปกับความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำกับสถานที่ อดีตและอนาคต องค์ประกอบต่าง ๆ ที่เขาทำการค้นคว้า ได้รับการนำเสนออย่างโดดเด่น จนสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ สาขารัตน์ เปสตันยี เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 24 ประจำปี พ.ศ. 2563
“จุดเริ่มต้นของ Shadow and Act เกิดจากการชวนของเพื่อนที่ทำงานหาสถานที่ในกองถ่ายหนัง เขาบอกว่ามันมีสตูดิโอร้างอยู่แถวเยาวราชซึ่งมีฟิล์มกระจกเยอะมาก สนใจไปดูกันไหม ก็เลยทำการรีเสิร์ชก่อนไป พอเข้าไปพบว่ามันเป็นสตูดิโอแบบฟิล์มกระจกที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีต แบบที่ผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองอย่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพล ถนอม กิตติขจร หรือจอมพล ประภาส จารุเสถียร ชอบมาใช้บริการ ผมเลยสนใจเรื่องของการที่ว่าเวลาถ่ายภาพบุคคล ตัวช่างภาพเขาดึงวิญญาณหรือตัวตนของแบบออกมาแบบไหน หรือเขามีวิธีการที่จะสื่อสารยังไง อย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะไม่ใช้บริการที่สตูดิโออื่นเลย เวลาถ่ายรูปที่มียศ มีเครื่องแบบ จะใช้บริการที่นี่ที่เดียว ซึ่งผมคิดว่า มันเหมือนการลุ่มหลงตัวเองในอีกมิติหนึ่ง”
“ด้วยตัวสตูดิโอที่ชื่อ ‘ฉายาจิตรกร’ ซึ่งแปลว่าเงาของศิลปิน เลยตั้งชื่อเรื่องว่า Shadow and Act องก์แรกที่เป็นภาพของสตูดิโอ มันก็คือเงา ส่วนองก์ที่สอง ผมสนใจเรื่องของสัตว์กลางคืน หรือ Nocturnal Animal ซึ่งช่วงนั้นได้ไปถ่ายสวนสัตว์ดุสิตก่อนที่จะปิดด้วย ซึ่งสวนสัตว์แห่งนี้ ถูกสร้างโดยจอมพล ป. มันมีความบังเอิญกันพอดี อย่างที่บอกว่า ผมสนใจเรื่องสัตว์กลางคืนผู้เป็นนักล่า ที่มันไปสะท้อนกับองก์แรกของบรรดาภาพผู้นำเผด็จการต่าง ๆ ที่อยู่ในสตูดิโอ”
© Taiki Sakpisit
“ตอนเขียนไอเดีย ผมพยายามจำลองสตูดิโอร้างแห่งนี้ ให้เสมือนกับซากสัตว์ที่ตายไปแล้ว เหมือนเรากำลังล่องเข้าไปในตัวของซากสัตว์ที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน ส่วนองก์สอง ผมสนใจที่สวนสัตว์พยายามจำลองสภาพแวดล้อมให้มันเหมือนกับสัตว์พวกนั้นอยู่ แต่มันก็จะมีสัญชาตญาณดิบที่ตอบรับกับองก์แรกในสตูดิโอถ่ายภาพ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของงานชิ้นนี้”
“ส่วนเรื่องดนตรี เป็นอีกครั้งที่ได้ร่วมงานกับโมรินางะ ยาสึฮิโร ที่เขาก็ทำงานไปอีกมิติหนึ่งเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เครื่องดนตรีต่าง ๆ ที่เหมือนเพลงเผ่าเวลาเรียกขับอารมณ์หรือวิญญาณบางอย่างก่อนออกไปสู้รบ”
ว่าด้วยผลงานขนาดยาวเรื่องแรก พญาโศกพิโยคค่ำ
© Taiki Sakpisit / 185 Films
หลังจากใช้เวลาพัฒนาโครงการมาหลายปี ปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา พญาโศกพิโยคค่ำ หรือ The Edge of Daybreak ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ได้มีโอกาสเข้าฉายอย่างเป็นทางการ โดยได้รับคัดเลือกให้ฉายเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกในสายประกวดหลัก Tiger Competition ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมกับคว้ารางวัลภาพยนตร์ชนะเลิศจากสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์นานาชาติ หรือ FIPRESCI Prize มาครอง ไทกิเริ่มต้นอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของผลงานเปิดตัวในฐานะผู้กำกับหนังยาวครั้งแรกว่า
“จริง ๆ ถ้าสังเกตจะเห็นความต่อเนื่องของผมมาตั้งแต่งานหนังสั้นยุคแรก ๆ ว่า จะมีองค์ประกอบบางอย่างที่ถูกผสมผสานจนออกมาเป็น พญาโศกพิโยคค่ำ โดยช่วงที่อยู่ในระหว่างการเขียนบท พญาโศกพิโยคค่ำ ผมสนใจบทละคร ‘Hamlet’ ของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ซึ่งมีนักวิจารณ์เคยกล่าวว่า เดนมาร์กที่เป็นเมืองฉากหลังของเรื่อง มันเป็นประเทศที่ร่างข้างในมันเน่าเปื่อย เต็มไปด้วยเชื้อโรค เต็มไปด้วยบาดแผล ผมเลยรู้สึกว่า นี่มันคือประเทศไทย ที่เป็นประเทศซึ่งเต็มไปด้วยปัญหา สิ่งนี้จึงเป็นไอเดียหลักของบทเรื่องนี้ อีกสิ่งที่นึกถึงคือ เสาหลักของเหตุการณ์หรือปัญหาบางอย่างของประเทศ คนมักจะพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ที่มันเป็นปัญหาเรื้อรัง ก็เลยกลับมานั่งนึกว่า เราจะเล่ายังไงให้เป็นตัวเรา ที่สะท้อนชีวิตและประสบการณ์เรา เพราะเราไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองขนาดนั้น แต่เราสัมผัสได้ถึงบางอย่างของความเจ็บปวดที่มันเกิด”
“ช่วงเขียนบท ผมอ่านหนังสือ ‘สันติปรีดี’ ของอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ในนั้นมีตอนหนึ่งที่เล่าถึงตอนที่ อ.ปรีดี พนมยงค์ หนีออกนอกประเทศ ได้มีทหารบุกรุกบ้านของท่านที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยากลางดึก แต่ท่านรู้ก่อน เลยกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยา หนีขี้นเรือที่รอรับท่าน แล้วมีทหารยิงปืนกลเข้าไปในบ้าน ท่านผู้หญิงพูนศุขเลยตะโกนว่า หยุดยิงได้แล้ว ในบ้านมีแต่ผู้หญิงกับเด็ก พอได้อ่าน ผมเลยนึกถึงการที่หลาย ๆ ครอบครัวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ต้องถูกพลัดพรากหรือถูกเนรเทศออกนอกประเทศ เพียงเพราะความคิดที่มันแตกต่างกัน ผมเลยอยากนำความรู้สึกนี้ มาเป็นหัวใจในเรื่องของอารมณ์ประเภทครอบครัวได้เจอหน้ากันครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะไม่ได้เจอกันอีก แล้วลองดูว่า ถ้าหากเป็นเราทำ จะถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมายังไง รวมถึงเรื่องของความเป็นเพศชาย ที่มันครอบงำผู้หญิงที่อยู่ในบ้าน”
© Taiki Sakpisit / 185 Films
“พอได้บทแล้ว เราก็มานั่งนึกว่า จะเล่าออกมายังไง ให้ยังเป็นตัวเรา ผมเลยนึกถึงเรื่องของ ‘อากาศ’ เหมือนผลงานก่อน ๆ ของเรา อากาศที่มันมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจคนในครอบครัว จึงนึกถึงปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เลยจำลองเรื่องของสุริยุปราคาขึ้นมา เป็นสุริยุปราคาที่มองไม่เห็น แต่ตัวละครรู้สึกและสัมผัสได้ เป็นปรากฎการณ์ที่เงามันครอบงำหรือปกคลุมบ้านหลังนี้ ซึ่งมันแผ่พลังอำนาจบางอย่าง หรือส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของตัวละคร ซึ่ง ‘อากาศ’ ที่ว่ามันสะท้อนสภาวะทางการเมืองของเรา เช่น พายุหมุน น้ำที่ค่อย ๆ หมุนวนลงไปในท่อ หรืออะไรที่เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างรอยที่อยู่บนเพดาน หรือเสียงหนูที่อยู่บนหลังคา ซึ่งพยายามที่จะถ่ายทอดอะไรที่มันอยู่ภายใน ให้แสดงผลออกมาภายนอก หนังก็จะเต็มไปด้วยอะไรอย่างนี้ ซึ่งช็อตพวกนี้ เราเขียนไว้ตั้งแต่อยู่ในบท พวกรายละเอียดน้อย ๆ อย่างรอยแตกที่อยู่บนฝาผนัง ฝ่ายอาร์ตก็จะทำให้มันเกิดขึ้นตามที่เราเขียนออกมา เราจะบอกฝ่ายอาร์ตอยู่เสมอว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันมีชีวิต ขณะที่ลมเปรียบเสมือนสามีของตัวละคร ที่มาพร้อมกลิ่น ก่อนที่มันจะเกิดพายุ”
“สำหรับเพลงที่ผมใช้ฟังระหว่างเขียนบทเรื่องนี้ ซึ่งช่วยทำให้ผมได้เข้าไปอยู่ในโลกของตัวละครมากยิ่งขึ้น อันแรกคืออัลบั้ม The Seer ของวงโพสต์ร็อกที่ชื่อว่า สวอนส์ (Swans) ที่นักวิจารณ์เพลงบอกว่า เพลงชุดนี้มันคือเสียงของพิธีกรรมทางงานศพ ซึ่งเป็นจุดจบของความเป็นมนุษย์ คืออัลบั้มนี้ มันเลอะเทอะ หนัก สกปรก และทรมานคนฟังมาก แต่ผมรู้สึกชอบมาก เพราะหนึ่งคือผมต้องการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกแบบนั้น โลกที่เต็มไปด้วยความน่าเกลียด น่ากลัว ความมืดมนของจิตใจ ความหายนะ ความชั่วร้าย ผมเลยรู้สึกว่าอารมณ์แบบนี้แหละ ถือเป็นสิ่งที่ผมต้องการในหนังเรื่องนี้ ชุดนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทที่ผมหยิบมาฟังบ่อยมาก ๆ ส่วนอีกชุดคือ Outside the Dream Syndicate ของ โทนี คอนราด (Tony Conrad) ซึ่งชุดนี้ผมชอบในความเป็นเผด็จการของซาวนด์ และเชื่อว่าความหนักของเครื่องดนตรีชุดนี้ ช่วยให้เราเขียนบทและสามารถใส่อะไรบางอย่างที่สะท้อนสภาวะของตัวละครขณะนั้นได้”
“ส่วนภาพสีขาวดำ เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเขียนบท โดยมาจากความรักในภาพขาวดำของช่างภาพหลาย ๆ คน ซึ่งความสำคัญของสีขาวดำในเรื่องนี้ คือการลดทอนบางอย่าง เพื่อให้มิติของจักรวาลต่าง ๆ ที่มันห่อหุ้มโลกของตัวละครเอาไว้อย่างพวกเท็กซ์เจอร์ โลเคชั่น หรือเงาที่มันมีชีวิต ทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”
© Taiki Sakpisit / 185 Films
“ความโดดเด่นอีกอย่างที่คนพูดถึง คือเรื่องของเสียง ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมร่วมงานกับ โมรินางะ ยาสึฮิโร ตอนที่ชวนเขามาทำ ก็ได้คุยเรื่องเพลงของทาเกะมิตสึ โทรุ (Takemitsu Toru) นักประพันธ์เพลงชาวญี่ปุ่นแนวอาวองการ์ด ซึ่งผมชื่นชมและหลงใหลในสไตล์เพลงของเขา ซึ่งมันสามารถสะท้อนปมด้านจิตวิทยาและความคิดของตัวละครที่อยู่ข้างในของตัวละครในเรื่องได้ ผ่านการใช้เสียงดนตรีที่เป็นอิเล็คโทร-อะคูสติก เช่น เสียงของโต๊ะหรือเสียงของธรรมชาติ ยาสึฮิโรบอกกับผมว่า เขาอยากร่วมงานกับเซนยาวา (Senyawa) นักดนตรีทดลองชาวอินโดนีเซียที่สร้างเครื่องดนตรีเป็นของตัวเอง คือวิธีการทำงานของสองคนนี้ ยาสึฮิโรจะเปิดหนังให้เซนยาวาดู เซนยาวาก็ทำการอิมโพรไวส์สด ๆ แล้วอัดไว้ ยาสึฮิโรก็จะนำวัตถุดิบเหล่านั้นมากลั่นกรองและส่งต่อมาให้ผมอีกที จากนั้นได้ ริศ-อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร นักออกแบบเสียง มาช่วยลดทอนและทำให้ทุกอย่างมันลงตัวเป็นระเบียบเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ถือเป็นส่วนผสมการทำงานที่ลงตัวมาก”
“สำหรับชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ ผมนึกไปถึงชื่อวงดนตรี ‘The Edge of Daybreak’ ที่ก่อตั้งกันโดยนักโทษในคุกที่ริชมอนด์ เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ตอนปี ค.ศ. 1979 ซึ่งผมไม่ได้สนใจแนวทางของดนตรีของวงเสียทีเดียว แต่สนใจลักษณะที่นักโทษทำวงดนตรี เพื่อปลดปล่อยจิตวิญญาณ ความทุกข์ กระทั่งอิสรภาพของเขาด้วยเสียงเพลง ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก จึงเลือกมาเป็นชื่อหนังภาษาอังกฤษ ในขณะที่ชื่อไทย พญาโศกพิโยคค่ำ ‘พญาโศก’ มันคือเพลงที่ใช้ในพิธีงานศพ ซึ่งสำหรับผมมันเป็นชื่อเรื่องอื่นไม่ได้ เพราะตั้งใจอุทิศให้วิญญาณของผู้สูญหาย ผู้ที่ถูกอุ้มหาย ผู้ที่ต้องลี้ภัยทางการเมือง ผู้ที่ต้องถูกพลัดพรากจากกันโดยระบบ เพลงนี้มันคือหัวใจของหนัง เพราะต้องการอุทิศให้กับจิตวิญญาณของนักสู้เหล่านั้น ทั้งที่อยู่ในคุกตอนนี้ หรือทั้งที่สูญหายไปในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย”
© Taiki Sakpisit / 185 Films
“ความท้าทายอย่างหนึ่งของผมในการทำเรื่องนี้ คือด้วยความที่เป็นผมทำหนังทดลองตัวคนเดียวหรือมีทีมงานแค่คนสองคนมาโดยตลอด สิ่งที่ผมรับรู้ก่อนจะทำ พญาโศกพิโยคค่ำ คือผมอยากร่วมงานกับคนที่เก่ง ๆ อย่าง จ๊ะเอ๋-ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ ที่เป็นตากล้อง หรือ ปอม-ราสิเกติ์ สุขกาล ฝ่ายอาร์ตของเรื่อง หรือแม้กระทั่งนักแสดงมืออาชีพอย่าง โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล เพื่อมีส่วนร่วมและเรียนรู้จากคนเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นความท้าทายสำหรับผม แต่เป็นความท้าทายสำหรับทีมงานคนอื่น ๆ ด้วย ที่อาจไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน แต่นั่นก็เป็นความสนุกสำหรับพวกเขาเหมือนกัน ด้วยความที่ผมทำงานสายทดลอง ความผิดพลาดคือสิ่งที่สวยงาม คือในกองถ่ายทุกคนจะเป๊ะมาก แต่เราเห็นว่าบางอย่างไม่มีอาจดีกว่า เราซึมซับการทำงานทุกอย่างเข้าด้วยกัน ถือเป็นประสบการณ์การทำงานที่ดีมากสำหรับผม”
‘หนังทดลอง’ กับการเข้าถึงผู้ชมหมู่มาก
ในช่วงท้ายของกิจกรรม ได้มีผู้ชมถามคำถามสำคัญเกี่ยวกับแนวคิดการทำหนังทดลองว่า จะทำอย่างไรให้ผลงานในลักษณะนี้อยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างคนทำกับกลุ่มคนดูได้มากที่สุด โดยไทกิกล่าวปิดท้ายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“อย่างที่ผมบอกว่าหนังทดลอง การตั้งชื่อเรื่องมันต้องตั้งให้น่าสนใจ เคยมีช่างภาพอเมริกันคนหนึ่งชื่อ อเล็ก โซธ (Alec Soth) บอกว่า เขาจะหมกมุ่นกับการตั้งชื่อหนังสือหรือนิทรรศการมาก ซึ่งจะเหมือนกับผม ที่จะมีไฟล์เอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยชื่อ สำหรับเอาไว้ตั้งชื่อผลงาน เวลาเราอ่านอะไรแล้วเจอชื่อที่ดี ๆ เราก็จะจดเก็บไว้เยอะมาก เมื่อมันถึงเวลา เราจะกลับไปเปิดไฟล์นั้น เพื่อดูว่าชื่อไหนที่มันเหมาะกับอารมณ์หรือเนื้อหาของงานชิ้นนั้น ๆ คล้าย ๆ กับการจดบันทึกในชีวิตประจำวัน เวลาเราอ่านอะไร เราฟังอะไร ก็จะจดเอาไว้ หากมีการตั้งชื่อเรื่องที่ดี คิดว่าสามารถทำให้ผลงานของเราเข้าถึงคนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับหนังทดลอง ชื่อมันต้องสะท้อนอะไรบางอย่าง เพื่อให้เห็นถึงหัวใจของตัวงานได้”
“การทำหนังทดลอง คนที่ทำถือเป็นคนดูคนแรก หนังทดลองไม่จำเป็นต้องดูรู้เรื่อง ผมมักจะบอกนักศึกษาของผมอยู่เสมอว่า อย่าไปใส่ใจกับการที่คนอื่นบอกเราว่า ‘หนังของคุณดูไม่รู้เรื่อง’ การทำหนังทดลองมันควรใช้สัญชาตญาณ ความรู้สึก หรือสิ่งที่เราไม่รู้ในการทำ ความไม่รู้ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก บรรดากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำหนังให้ดูรู้เรื่องมาจากอุตสาหกรรมฮอลลีวูด ซึ่งจริง ๆ เราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น”
“ภาพยนตร์มันเป็นมากกว่าความบันเทิง เป็นเครื่องบำบัดหรือเครื่องเยียวยารักษาจิตใจอย่างหนึ่ง มันสามารถให้อะไรได้มากกว่าความสุขชั่วคราวและมีคุณค่ากับชีวิตมากไปกว่านั้น เราควรจะทำในสิ่งที่เราเชื่อและหนักแน่นในความคิดของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทำและเชื่อในการทำงานของผมเสมอ”