พิพิธภัณฑ์และภาพยนตร์

โดย วิมลิน มีศิริ

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 68 ประจำเดือน มีนาคม - เมษายน 2565


พิพิธภัณฑ์ คือ สถานที่เก็บรวบรวม จัดแสดงสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม หรือความรู้อื่น ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาและให้ความเพลิดเพลิน ซึ่งพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกนิยมใช้ภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ เช่นภาพยนตร์มาประกอบการจัดแสดงนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์กันแพร่หลายมากขึ้น รวมถึงพิพิธภัณฑ์บางแห่งมีบทบาทในการเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์อีกด้วย โดยคอลัมน์ห้องสมุดฯ ชวนอ่านหนังสือ 2 เล่ม ที่นำเสนอประเด็นหลักเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และภาพยนตร์ 


The Museum as a Cinematic Space 


เรามารู้จักหนังสือเล่มแรก The Museum as a Cinematic Space: The Display of Moving Images in Exhibitions งานเขียนของ Elisa Mandelli ประกอบด้วยเนื้อหาที่ผ่านการศึกษาวิเคราะห์ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงเทคนิค โดยบริบทของการศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนมีแนวคิดว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ และให้ความสำคัญต่อการตั้งคำถามว่า ส่วนประกอบของอุปกรณ์กลไกภาพยนตร์เข้าไปอยู่หรือจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร อุปกรณ์เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการวางผังพื้นที่งานพิพิธภัณฑ์หรือไม่ รวมถึงกำหนดรูปแบบใหม่ของการสื่อสารและการส่งผ่านความรู้ ตลอดจนความสัมพันธ์กับผู้ชมอย่างไร เช่น วิเคราะห์การใช้อุปกรณ์ชมภาพเคลื่อนไหวด้วยเครื่องมิวโตสโคป (Mutoscopes) ที่ติดตั้งในห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ Imperial War Museum ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924-1938 




อีกประเด็นหนี่งผู้เขียนนำเสนอวิวัฒนาการของการใช้ภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ เป็นสื่อสำหรับจัดแสดงนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาความหมายว่า ภาพเคลื่อนไหวแทรกซึมเข้ามาและทำให้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผู้เขียนวิเคราะห์กรณีศึกษา เช่น นิทรรศการที่ออกแบบโดยกลุ่มศิลปินอาว็อง-การ์ด (Avant-Garde) ในยุคศตวรรษที่ 20 เช่น EL Lissitzky, Frederick Kiesler ลักษณะผลงานของศิลปินกลุ่มนี้แสดงให้เห็นถึงแนวทางการผสมผสานภาพเคลื่อนไหวให้เข้ากับห้องจัดแสดงนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ โดยออกแบบให้สอดคล้องกับรูปแบบของภาพยนตร์ ด้วยวิธีการนำภาพออกสู่สายตา การตัดต่อการเคลื่อนที่ของภาพในพื้นที่นิทรรศการ อีกตัวอย่างหนึ่งของกรณีศึกษา คือการนำเสนอภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ Museum of Science and Industry ยังคงมีลักษณะการเล่าเรื่องเป็นรูปแบบภาพยนตร์ด้านการศึกษาที่เวียนฉายกันในโรงเรียน 


นอกจากนั้นผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อ “พิพิธภัณฑ์” ต้องควบบทบาทคล้ายเป็น “โรงภาพยนตร์” ตัวอย่างที่พิพิธภัณฑ์ Imperial War Museum มีการฉาย Big Picture Show เพื่อแสดงเรื่องราวให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสประสบการณ์ของสงครามผ่านระบบเสียง การฉายทั้งภาพเคลื่อนไหวผสมผสานกับภาพถ่าย ส่วนพิพิธภัณฑ์ Musée de l’Armée มีพื้นที่จัดแสดง Historical Charles de Gaulle มีการฉายภาพยนตร์ประวัติของ Charles de Gaulle รัฐบุรุษที่นำเสรีฝรั่งเศสในการต่อสู้กับนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตัวอย่างการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งนี้สามารถนำเสนอเรื่องราวผ่านภาพเคลื่อนไหวและเสียงประกอบนิทรรศการที่กระตุ้นความรู้สึกร่วมของผู้ชม มีรูปแบบร่วมสมัย น่าตื่นเต้น ประทับใจ และกระตุ้นให้ผู้เข้าชมเกิดมโนภาพที่ทำให้นึกถึงบรรยากาศมืดสลัวเสมือนดูหนังในโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ผู้เขียนได้อธิบายการใช้ประโยชน์อุปกรณ์ที่สื่อสารตอบโต้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ โดยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้โสตทัศนูปกรณ์และวิธีการออกแบบภาพยนตร์ ให้มีความเชื่อมโยงกับวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง อันสอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรมของผู้ชม โดยคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญ คือกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้ชมอันเป็นพันธกิจหลักของงานพิพิธภัณฑ์ และเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมด้วย



ภาพ: การฉาย Big Picture Show ที่พิพิธภัณฑ์ Imperial War Museum

ที่มา: www.iwm.org.uk/events/big-picture-show



Museum Movies


หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ห้องสมุดฯ อยากแนะนำให้อ่านกัน คือ Museum Movies: The Museum of Modern Art and the Birth of Art Cinema เขียนโดย Haidee Wasson หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือการนำเสนอความเป็นมาในยุคแรกเริ่มและบทบาทของห้องสมุดภาพยนตร์ (Film Library) ประจำพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (The Museum of Modern Art หรือ MoMA) แห่งนครนิวยอร์ก ผู้เขียนเริ่มต้นเนื้อเรื่องด้วยการอธิบายถึงจุดเปลี่ยนทัศนคติของชาวอเมริกันที่มีต่อภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษ 1930 จากเดิมที่ภาพยนตร์เป็นเพียงสื่อเพื่อการค้าและความบันเทิง เปลี่ยนมาสู่บทบาทในฐานะสื่อสุนทรียศาสตร์ที่สะท้อนคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งห้องสมุดภาพยนตร์เมื่อ ค.ศ. 1935 ให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ เพื่อรวบรวมและเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ ตลอดจนจัดแสดงภาพยนตร์ที่เสี่ยงต่อการสูญหายให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม ซึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่มีกิจกรรมและดำเนินงานทั้งบทบาทของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ โรงภาพยนตร์ และห้องสมุดภาพยนตร์ ดังนั้นจึงมีการผสมผสานหลักการ แนวคิด และทฤษฎีทั้งในเชิงศิลปะหลากแขนง ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม โดยระยะแรกห้องสมุดภาพยนตร์ได้เริ่มนำภาพยนตร์ฟิล์ม 16 มม. มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมการจัดนิทรรศการ ซึ่งการชมภาพยนตร์เน้นวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา 




นอกจากนี้ผู้เขียนได้เล่าถึงภารกิจหลักของห้องสมุดภาพยนตร์แห่ง MoMA ในการยกระดับสถานะความมั่นคงทางการเงิน ความน่าเชื่อถือขององค์กรให้เป็นที่เข้าใจและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานอื่น ๆ และภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้มีอุปการะคุณด้านศิลปะ ผู้ใจบุญ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ดารานักแสดง หน่วยงานภาครัฐ นักวิจารณ์ นักสะสมภาพยนตร์ ผู้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการเชิงพาณิชย์ องค์กรชุมชนด้านการศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ห้องสมุดภาพยนตร์ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งความอยู่รอดขององค์กรและพนักงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนการบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานของห้องสมุดภาพยนตร์ในฐานะองค์กรศิลปะภาพยนตร์ที่มีบทบาทเป็นทั้งผู้เก็บรวบรวมภาพยนตร์ จัดแสดงภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันและสัญชาติอื่น


สำหรับในแง่การปรับแผนทำงานของห้องสมุดภาพยนตร์ ผู้เขียนได้เล่าว่าห้องสมุดภาพยนตร์ขับเคลื่อนด้วยเงินทุนที่มาจากการบริจาค เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องเงิน และอาคารสถานที่ที่เอื้อต่อการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ ดังนั้นห้องสมุดภาพยนตร์จึงพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ที่แท้จริงของห้องสมุดภาพยนตร์ที่มีต่อองค์กร ด้วยวิธีปรับการดำเนินงานของห้องสมุดภาพยนตร์ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการให้เงินทุนที่มูลนิธิกำหนด และเป็นไปตามเป้าประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) คือการสร้างสรรค์ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา อันเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก รวมถึงการดำเนินงานศิลปะภาพยนตร์ควบคู่ไปกับการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ให้ก้าวไปสู่องค์กรเพื่อการศึกษาระดับชาติ อีกทั้งต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดนิทรรศการภาพยนตร์ด้วย ส่วนปิดท้ายของหนังสือเล่มนี้เป็นภาคผนวกที่รวบรวมบัญชีรายชื่อโปรแกรมการจัดฉายภาพยนตร์ที่ MoMA ช่วงปี ค.ศ. 1934-1949   


สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือทั้งสองเล่ม สามารถมาอ่านได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี เปิดให้บริการให้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 10.00 น. - 17.00 น. ไม่เสียค่าใช้บริการ