ภัยของมณีจันทร์

เนื่องในวาระที่หอภาพยนตร์ได้ร่วมคัดเลือกชุดภาพยนตร์ไทยเพื่อจัดฉายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ Netflix ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้นคือ ทวิภพ ฉบับ Director’s Cut ผลงานที่ได้รับการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างกว้างขวางของ สุรพงษ์ พินิจค้า หอภาพยนตร์จึงขอนำบทความเรื่อง “ภัยของมณีจันทร์” ที่ ชญานิน เตียงพิทยากร ได้เขียนขึ้น หลังได้มาร่วมชมการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกของหอภาพยนตร์ เมื่อปี 2555 และตีพิมพ์ลง “วารสารหนังไทย” ฉบับที่หอภาพยนตร์จัดทำขึ้นในปีดังกล่าว  มาเผยแพร่อีกครั้ง  สำหรับผู้ที่สนใจอ่าน “ความเห็นหลังชมภาพยนตร์” ในโรงหนังเมื่อ 10 ปีก่อน ของนักวิจารณ์ร่วมสมัย  ควบคู่ไปกับการได้ดู ทวิภพ บนช่องทางออนไลน์ในปัจจุบัน


โดย ชญานิน เตียงพิทยากร

ที่มา: วารสารหนังไทย ฉบับที่ 16 เดือนมิถุนายน 2555


ทวิภพ ฉบับ Director’s Cut ออกฉายให้สาธารณชนได้รับชมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555 ที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา ในอาณาบริเวณของหอภาพยนตร์แห่งชาติ


น่าเสียดายว่า ‘สาธารณชน’ ในที่นี้หมายถึงจำนวนผู้ชมเพียง 5 คน ที่ได้เดินทางมาร่วมรับชมประสบการณ์ของหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกแห่งชาติไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งสำหรับผมแล้วถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ภาพยนตร์ฉบับผู้กำกับนี้ได้ฉายเป็นครั้งแรก ในรอบเวลาเกือบ 8 ปี นับตั้งแต่การฉายครั้งแรกในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกับการเข้าฉายของ ทวิภพ ฉบับโรงภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2547


สิ่งที่ทำให้ ทวิภพ ของ สุรพงษ์ พินิจค้า ยังคงได้รับการพูดถึงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การรื้อโครงสร้างของหนังสือต้นฉบับชนิดขุดรากถอนโคนเท่านั้น หากแต่สิ่งที่เพิ่มเติมและถูกขับเน้นขึ้นมาให้เห็นเด่นชัดในท้องเรื่องนอกจากความรัก ระหว่างมณีจันทร์กับหลวงอัครเทพวรากรแล้ว หนังเรื่องนี้มีเอกลักษณ์และเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานอันใหญ่หลวง ทั้งการนำเสนอที่ยอกย้อน ซับซ้อน และคมคายในบางประเด็น และเนื้อหาบางช่วงตอนที่ชี้หน้าวิพากษ์สังคมไทยอย่างไม่มีเจตนาแม้เพียงนิดที่จะปกปิดการตั้งคำถามด้วยน้ำเสียงคุกคามของตน นั่นยังไม่รวมถึงความคิดอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมอันเข้มข้นผ่านการนำเสนอผ่านภาษาภาพยนตร์อันแยบคาย (ต่างจากภาพยนตร์ในกลุ่มนี้จำนวนมาก ซึ่งขาดคุณสมบัติด้านนี้) อันเป็นอีกปัจจัยซึ่งทำให้หนังเรื่องนี้ใกล้จะได้ครองสถานะ ‘อมตะ’ ในอีกไม่กี่เพลา

 

‘ฉบับผู้กำกับ’ ของ ทวิภพ ของสุรพงษ์ ไม่ใช่แค่หนังที่เพิ่มนั่นนิด เติมนี่หน่อย เพียงให้พอเป็นกระษัยหายอยากสำหรับแฟนคลับเดนตาย (จนกลายสภาพเป็นหนังที่ไม่รู้จะทำให้ยาวเกินจำเป็นไปเพื่ออะไร) เพราะนอกจากตัวหนังจะขุดรากถอนโคนของนวนิยายต้นฉบับไปแล้วโสดหนึ่ง ภาพยนตร์ฉบับผู้กำกับนี้ได้กระชากเอาสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ความเรียบง่ายของเรื่องเล่าแบบเป็นเส้นตรงของฉบับฉายโรงภาพยนตร์ออกมาอย่างวิปลาสอัศจรรย์ - หากจะพูดให้ง่ายและสรุปให้ชัดเจนในประโยคเดียวก็คือ มันได้เปลี่ยนหนังเรื่องนี้ไปอย่างสมบูรณ์

 

สำหรับผม ทวิภพ ฉบับนี้ได้กลายสภาพเป็น ‘ทรัพย์ทางวัฒนธรรม’ ที่ช่วยให้เราได้มองเห็นวิธีการมองและตีความประวัติศาสตร์ รวมถึงวาทกรรมอันว่าด้วย ‘การอ่านประวัติศาสตร์’ ที่แฝงซ่อนอยู่ในสังคมไทยได้อย่างแหลมคม – ไม่ว่าคุณสมบัตินี้จะเกิดจากความตั้งใจหรือความไม่เจตนาของผู้สร้างก็ตามที


สูงสง่าแบบมณีจันทร์




ผมไม่ได้อ่านหนังสือต้นฉบับของ ‘ทมยันตี’ เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จาก ทวิภพ ฉบับผู้กำกับอย่างชัดเจนคือ ภายใต้ความมลังเมลืองของประวัติศาสตร์และโลกที่มีช่องกาลเวลาอันต่อเชื่อมกันของมณีจันทร์ หนังเรื่องนี้ได้ปอกและลอกเอาความงดงามสูงสง่าแบบมณีจันทร์ออกมากองอยู่ที่พื้น จนเหลือเพียงเนื้อในอันเปลือยเปล่าให้เราได้เพ่งพินิจพิจารณาอย่างละเอียด


มณีจันทร์ในฉบับภาพยนตร์เป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ ร่ำเรียนเขียนอ่านจบการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส และทำงานที่สถานกงสุลไทยในกรุงปารีส ปัจจัยดังกล่าวล้วนชี้นำให้เราคิดไปว่าเธอต้องเป็นผลผลิตชั้นยอด เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ความคิดก้าวหน้าท้าทายจารีต แต่เมื่อเราได้พิเคราะห์เธอไปเรื่อย ๆ เราก็จะพบว่าสุดท้ายแล้ว เธอก็เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบชนชั้นนำไทย ที่ยึดติดอยู่กับวาทกรรมที่ยึดเอาจิตวิญญาณแบบชาตินิยมและกษัตริย์นิยมไว้เป็นแกนกลางของทุกสิ่งที่ก่อกำเนิดให้เกิดประเทศไทยขึ้นมา และยิ่งดูจากสิ่งที่เธอแสดงออกเมื่อชีวิตพลิกผัน มณีจันทร์เป็นทุกอย่างที่ชนชั้นกลางค่อนสูงของไทยเป็น โดยที่ตัวเธอเองก็ไม่เคยต่อต้านหรือตั้งคำถามกับมัน


ข้อบ่งชี้เหล่านี้มีอะไรบ้าง? เราสรุปได้แน่ชัดอย่างหนึ่งตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง (ไม่ว่าจะเป็นฉบับโรงภาพยนตร์หรือฉบับผู้กำกับ) ว่ามณีจันทร์นั้นเหยียดประเทศของตน คำว่าประเทศของมณีจันทร์นั้นหมายถึงความเป็นไทยแบบร่วมสมัย เธอมองว่ามันช่างไม่มีความเป็นไทยเอาเสียเลย (“เรามีทุกอย่างที่ตะวันตกมี เราเป็นทุกอย่างที่ชาวตะวันตกเป็น เรากินทุกอย่างที่ตะวันตกกิน เราชอบทุกอย่างที่ตะวันตกบอกให้ชอบ เราอยากเป็นเขาแล้วก็ปฏิเสธที่จะเป็นเรา” - นี่คือส่วนหนึ่งจากบทพูดของเธอต่อหลวงอัครเทพวรากรในครั้งแรกที่พวกเขาเจอกัน) แต่ในขณะเดียวกันด้วยความเป็น ‘มนุษย์ทันสมัย’ ของเธอ มณีจันทร์ไม่กล้าพอที่จะยอมรับ (หรืออาจเรียกได้ว่า “ขยะแขยงเกินกว่าที่จะยอมรับ”) ว่าเธอพาตัวเองเนียนไหลไปกับสังคมโบราณสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อย่างสนิทใจ – สังคมแบบที่ตะวันตกนิยามว่าสุดแสนจะป่าเถื่อน และ barbaric




มณีจันทร์รับรู้ความเป็น “สมัยใหม่” ของตนเอง (เธอเลือกภาษาไทยเพื่ออธิบายสถานการณ์ของตนเองแบบผิด ๆ ถูก ๆ และชวนสับสนด้วยซ้ำไป) แต่ก็ดูถูกเหยียดหยามความเป็นสมัยใหม่รอบตัวนั้น เธอไม่เคยสำรวจความคิดของตนว่ามาจากพื้นฐานของสิ่งที่ถูกตีตราว่า barbaric อยู่อย่างเต็มเปี่ยม (“เขาเรียกว่าหอไอเฟล สูงเท่าภูเขาทองแน่ะ”) ไม่ว่าจะเป็นการเทความเชื่ออย่างหมดใจให้กับวาทกรรมเรื่องการเสียดินแดน เรื่องการถูกมหาอำนาจจากตะวันตกรุมรังแกจากทุกทิศทุกทาง เธอไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่พึงระลึกว่าวาทกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นการตีความและ ‘นิพนธ์’ เชื่อมโยงเรื่องราวโดยคนในยุคหลังเหตุการณ์เพื่อผลทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง และสิ่งที่เสียดเย้ยอย่างยิ่งคือ มณีจันทร์ดูเหมือนจะไม่รู้เลยว่าเธอกำลังเอาวาทกรรมที่ตนสมาทานถือศีลอยู่ในใจ ไปสวมทับให้กับคนในอดีต


หากมองเพียงผิวเผิน มณีจันทร์ดูเหมือนเพียงแค่ทำนายอนาคตให้กับเหล่าชายร่างกำยำ ไม่สวมเสื้อแสนไร้เดียงสาสองคนได้ฟังว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ในภายภาคหน้า เธอรู้สึกเหมือนกับตัวเองแค่บอกว่าต่อไปเราจะเสียดินแดน ต่อไปเราจะเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปอีกเป็นร้อยปี เพื่อที่พวกเขาจะได้เตรียมการรับมือเสียแต่เนิ่น ๆ แต่เธอไม่ได้ทำเพียงแค่การบอกข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา หากแต่ข้อความที่ออกจากปากเธอนั้นเต็มไปด้วยข้อคิดเห็นและอคติอย่างไม่มีอาการเหนียมอาย (เพราะเธอไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งเหล่านั้นคือข้อคิดเห็นและอคติ)

 

กลับกลายเป็นว่าเวลาผ่านจากเหตุการณ์ในทวิภพมาจนข้ามศตวรรษ มณีจันทร์ได้แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ก้าวไปไกลกว่าอาการเกลียดกลัวตะวันตกแบบสมัยยุคล่าอาณานิคมเลย แต่กลับอยู่ในสถานะที่คล้ายคลึงกันอย่างพิสดาร และนี่คือความสูงสง่าแบบมณีจันทร์ คือสิ่งที่ถูกคัดสรร เคี่ยวกลั่นให้มลังเมลือง งดงาม อลังการอย่างถึงที่สุดในท้องเรื่องทวิภพ และขุนนางแห่งยุคบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ตื่นตระหนกกับสิ่งที่เรียกว่าตะวันตกก็รับเอากรอบคิดแบบประวัติศาสตร์นิพนธ์ซึ่งมณีจันทร์นำมาเผยแพร่ มาสวมทับกับตนเองได้สนิทอย่างน่าสยดสยอง

 

และใน ทวิภพ ของ สุรพงษ์ พินิจค้า ยังพาให้เรื่องราวไปไกลยิ่งกว่านั้น เพราะความรักระหว่างมณีจันทร์กับหลวงอัครเทพวรากร แทบไม่มีแง่มุมในเชิงชู้สาว หากแต่เป็นความรักที่เกิดขึ้นด้วยการหล่อหลอมอุดมการณ์ของคนสองภพ ที่คนหนึ่งใฝ่ฝันถวิลหาถึงอดีต ในขณะที่อีกคนหนึ่งกระสันจะหยั่งรู้อนาคต โดยหาได้รู้ไม่ว่าสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นอนาคตนั้น ไม่ได้แปลกพิสดารไปกว่ายุคสมัยที่เขามีชีวิตอยู่เลยแม้แต่น้อย


“สมบัติล้ำค่า” แบบมณีจันทร์




ฉากสำคัญที่ทำให้ ทวิภพ ฉบับผู้กำกับเปลี่ยนตัวเองไปอย่างสิ้นเชิงจากฉบับโรงภาพยนตร์ คือฉากที่เล่าถึง “สมบัติล้ำค่า” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - อันเป็นผลจากการสลับลำดับเวลาของเรื่องอย่างสิ้นเชิงในฉบับนี้ ที่ทำให้นัยของเรื่องเผยตนขึ้นมาอย่างชัดเจน ไม่ซุกซ่อนอยู่อย่างสงบเสงี่ยม หรือมีความหมายตายตัว เหมือนการเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงแบบฉบับฉายโรง


ฉากห้องหนังสือดังกล่าวนับเป็นฉากที่โดดเด่นมากในหมู่ผู้ชมที่ชื่นชอบ ทวิภพ ฉบับนี้ (นอกเหนือจากฉาก “คนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละหกบรรทัด” และหอไอเฟล ณ แม่น้ำเจ้าพระยา) ในฉบับโรงภาพยนตร์มันปรากฏตัวขึ้นในช่วงท้ายของเรื่อง แต่ฉบับผู้กำกับเลือกที่จะโยกมันขึ้นมาไว้ตั้งแต่ช่วงยังไม่ทันจบครึ่งเรื่องแรกดีนัก ความ ‘โดด’ ของมันทำให้เราได้มีโอกาสสังเกตอย่างพินิจว่ามันยอกย้อนอยู่ในตัวเองอย่างไร แปลกที่แปลกทางอย่างไร และเป็นคำอธิบายที่ผิดที่ผิดทางอย่างไร ต่างจากการเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ ที่ความหมายของฉากนี้ปรากฏขึ้น หลังจากหนังได้พาเราไปตื่นตระหนกกับอำนาจและความกักขฬะของชาติตะวันตกกันจนอกสั่นขวัญแขวน และทำให้ความหมายของฉากนี้ไปไม่ได้ไกลกว่าการตีความว่านี่คือ “พระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทย”


ห้องหนังสือที่ถูกอธิบายว่าเป็นสมบัติล้ำค่า และเป็นคลังอาวุธทางปัญญาของไทยในยุคล่าอาณานิคม ถูกเล่าด้วยน้ำเสียงที่สอดคล้องกับฉากสำคัญในช่วงต้นเรื่อง เมื่อมณีจันทร์เดินทางมาหาพ่อเป็นครั้งแรกหลังทราบเรื่องการค้นพบเอกสาร ‘วัวอียา’ ของทางฝรั่งเศส พร้อมกับเพื่อนนักประวัติศาสตร์อีกสองคนที่กำลังหายใจอยู่ในห้องนั้น ฉากนี้ม้วนตัวจบด้วยวลีของหนึ่งในเพื่อนนักประวัติศาสตร์ (“บางกอกมีนไทม์ เท่มั้ยล่ะ?”) หลังจากเขาเปิดหน้าต่างออกไปให้เห็น ‘วัดพระแก้ว’ ในฐานะ ‘ลองติจูดที่ 0 องศา’ ก่อนโลกนี้จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่ามาตรฐานเวลากรีนิช (ฉากนี้สำคัญกับสถานะของบันทึกวัวอียาที่ถูกขยายความอย่างมีนัยสำคัญในฉบับผู้กำกับอย่างยิ่ง ซึ่งจะอธิบายต่อไป)


ถึงหนังจะเสไปใช้คำอธิบายถึง ‘สมบัติล้ำค่า’ ด้วยสิ่งอื่น แต่ความเปลี่ยนแปลงของหลวงอัครเทพวรากร คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เห็นว่าวลีดังกล่าวแท้จริงแล้วหมายถึงพระมหากษัตริย์ไทย เช่นเดียวกับการที่มณีจันทร์อธิบายสถานะของพระมหากษัตริย์ในยุคปัจจุบันว่า “นี่คือสิ่งเดียวที่ทำให้รู้สึกว่าเรายังเป็นเราอยู่” เมื่อถูกคุณหลวงท้วงถามขึ้นกลางปล้องว่า “เรายังมีพระเจ้าแผ่นดินไหม”

 

กรอบคิดเรื่องพระมหากษัตริย์ (หรือสถาบันกษัตริย์) เป็น ‘สมบัติล้ำค่า’ ของรัฐนั้นไม่มีอยู่ในการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตัวหนังเองก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตลอดการสนทนาอย่างจริงจังครั้งแรกระหว่างมณีจันทร์กับหลวงอัครเทพวรากร และพระยาราชไมตรีนั้น ทั้งสองฝ่ายโต้ตอบซักถามกันด้วยกรอบคิดคนละรูปแบบอย่างสิ้นเชิง แต่ถูกเคลือบไว้ด้วยพื้นฐานความคิดที่ลวงว่าทุกคนในที่นั้นกำลังพูดถึงสิ่งเดียวกัน นั่นคือบางกอก หรือประเทศไทยทั้งประเทศนั่นเอง (นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรอบคิดในสมัยรัชกาลที่ 4 – ยึดถือตามตัวภาพยนตร์ - ที่ตกทอดมาสู่มณีจันทร์ได้อย่างสมบูรณ์เพียบพร้อม)




หลวงอัครเทพวรากรใช้คำว่า ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ ในความหมายนัยเดียวกับหนังสืออย่าง ‘สี่แผ่นดิน’ นั่นคือแผ่นดินใด ๆ จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการปกครองของพระมหากษัตริย์ หากสิ้นซึ่งการปกครองของพระมหากษัตริย์แล้วก็เท่ากับสิ้นแผ่นดินหรือสิ้นชาติ เท่ากับสยามพ่ายแพ้ต่อมหาอำนาจตะวันตก กษัตริย์คือเจ้าของแผ่นดิน ไม่ใช่ “สมบัติ” ของประชาชนหรือพสกนิกร ในกรอบคิดแบบมณีจันทร์และไทยปัจจุบัน คุณหลวงและเหล่าขุนนางสยามในยุคนั้นไม่แสดงออกให้เห็นซึ่งความคิดทำนองที่ว่าสยามหรือไทยรอดพ้นจากเงื้อมมือตะวันตกมาได้ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพดังที่สังคมไทยปัจจุบันใช้เป็นคำอธิบายประวัติศาสตร์


สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อคุณหลวงได้พูดคุยกับมณีจันทร์มากเข้า เขาก็รับเอาระบบคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของมณีจันทร์ไปได้อย่างแนบสนิท ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในฉากที่เขาบริภาษกงสุลโอบาเรย์ เมื่อครั้งที่กงสุลกักขฬะผู้นี้ปรี่ตนเข้าไปขวางขบวนเสด็จของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยถ้อยคำคล้ายกับที่ปัจจุบันเราใช้บริภาษใครก็ตามที่เราเชื่อว่าเขาเหล่านั้น ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ - เมื่อหนังดำเนินมาถึงจุดนี้ เราต่างก็ลืมไปหมดแล้วว่ากรอบคิดเรื่อง “สมบัติล้ำค่า” ถูกพูดผ่านปากตัวละครที่เป็นมนุษย์ยุคปัจจุบันเท่านั้น


‘กระจก’ ของมณีจันทร์

 



ข้อหนึ่งที่ผู้ชมน่าจะจดจำได้จาก ทวิภพ ฉบับนี้คือสถานะอันเลื่อนไหลของ ‘กระจก’ ที่พามณีจันทร์ท่องกลับไปยังสมัยรัชกาลที่ 4 จนเกิดเรื่องราวใหญ่โตขึ้นดังที่ได้ทดลองอ่านจากอีกมุมไปในสองหัวข้อก่อนหน้านี้ เพราะเราจะไม่ได้เห็นมณีจันทร์พาร่างทะลุกระจกไปอย่างเต็มสติ ไม่ว่าจะอยู่ช่วงเวลาใดของเรื่อง แต่ทุกครั้งที่เธอข้ามผ่านเวลามักจะเกิดขึ้นขณะที่เธอนอนหลับ ราวกับร่าง (หรือวิญญาณ) ถูกดูดกลับไปมาโดยที่เธอไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย


ครั้งแรกที่กระจกปรากฏตัวในหนังคือฉากที่มณีจันทร์เดินเข้าไปในสถานกงสุลไทย ณ กรุงปารีส ภาพกระจกแตกเป็นเสี่ยงประดับเรียงรายวางตนเป็นเพียงฉากหลัง แต่ภาพสะท้อนจากกระจกแตกนั้นย่อมวิปลาสด้วยการหักเหอันผิดเพี้ยนของแสง เธอจึงได้เห็นคนในอดีตโผล่ร่างมาเดินเปลือยอกเคี้ยวหมากให้ตระหนกเล่นเพียงชั่วขณะ ระหว่างรับฟังการแถลงเรื่องบันทึกวัวอียา เมื่อกลับถึงบ้านและได้ใช้ชีวิตร่วมกับกระจกมากมายเธอจึงได้เดินทางข้ามเวลาอย่างสมบูรณ์


ไม่เพียงแต่กระจกเป็นบาน ๆ บนโต๊ะเครื่องแป้ง หรือที่ประดับประดาเป็นของตกแต่งอยู่รอบบ้าน แต่การที่บ้านของมณีจันทร์ตั้งอยู่ในทิศที่มองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างชัดเจน ได้ทำให้มันกลายสภาพเป็นอภิมหาคันฉ่อง แม่น้ำสายนี้ (หรืออาจชี้เฉพาะได้ว่า‘ชื่อ’ของมัน) น่าจะเป็นกระจกบานที่แสดงพลานุภาพของมันได้รุนแรงที่สุด จนทำให้การย้ายร่างกลับไปมาของมณีจันทร์ไม่อยู่ในสถานะที่เธอจะควบคุมอะไรได้ จนกว่าจะถึงฉากหอไอเฟลตั้งตระหง่านที่กระตุกให้เธอตระหนักอะไรได้บางอย่าง เธอจึงเลือกที่จะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับอดีตอีกกระทั่งสิ้นสุดเหตุการณ์ ร.ศ. 112




กระจกนั้นมีไว้สะท้อน แต่สำหรับมณีจันทร์กระจกทำหน้าที่ให้เธอได้สัมผัสกับอดีต เธอมองอดีตจากมุมมองประวัติศาสตร์นิพนธ์เต็มรูปแบบ เธอลงไปสัมผัสกับอดีตด้วยชุดคำอธิบายประวัติศาสตร์เท่าที่เธอรู้ แรกเริ่มเธอทำหน้าที่แค่ทำนายอนาคต พูดอะไรที่หลายคนในยุคนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระหาความน่าเชื่อถือไม่ได้ แต่เมื่อหลวงอัครเทพวรากรเริ่มคล้อยตามชุดคำอธิบายของมณีจันทร์ สาวเจ้าก็ได้ลงไปคลุกคลีกับอดีตมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เห็นการทูตของอังกฤษในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง ได้เห็นความสุดโต่งไร้ยางอายของโอบาเรย์ผู้เป็นกงสุลฝรั่งเศส กระทั่งเมื่อเธอถูกหลวงอัครเทพวรากรพาไปงานเลี้ยงเธอก็กลายเป็นคนที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ชาติไปในบัดดล


ในฉบับผู้กำกับ มีฉากหนึ่งซึ่งสำคัญมากที่ถูกตัดออกจากฉบับฉายโรงภาพยนตร์ เมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (หรือ ‘วังหน้า’ ของรัชกาลที่ 4) ได้เสด็จมายังงานเลี้ยงดังกล่าวเพื่อ ‘แนะนำ’ พระโอรสให้กับเหล่าผู้คนที่มีความเกี่ยวดองกับฝรั่งเศสในงาน ก่อนจะเสด็จกลับในระยะเวลาอันสั้น


นี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่มณีจันทร์มองเห็นด้วยเพียงหางตา และอาจไม่ได้ครุ่นคิดกับมันมากนักเพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างฉับไว ความสำคัญของฉากนี้อยู่ตรงที่ว่า หากมณีจันทร์ได้คิดตรึกตรองนัยสำคัญของการเสด็จครั้งนี้ ชุดคำอธิบายว่าด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่เธอยึดถือมาตลอดจะถูกทุบทำลายลงทันที เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการประนีประนอมกับตะวันตกที่ถูกอธิบายด้วยวาทกรรม ‘เสียส่วนน้อย เพื่อรักษาส่วนใหญ่’ แต่การที่คนระดับวังหน้านำพระโอรสมา ‘ฝากเนื้อฝากตัว’ กับตะวันตกนั้นแสดงให้เห็นถึงการสยบยอมในระดับที่ไม่อาจละเลยได้


การสัมผัสประวัติศาสตร์ในแบบมณีจันทร์ และแบบของใครก็ตามที่ยึดถือคติความเชื่อแบบเดียวกับการนิพนธ์ประวัติศาสตร์ของไทยในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้สร้างชุดความคิดที่สามารถอธิบายทุกสิ่งได้อย่างรอบด้าน ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยปัญญาญาณของคนรุ่นหลังที่มองย้อนกลับไปยังอดีต การอ่านประวัติศาสตร์กระแสหลักจึงมีลักษณะคล้ายการส่องกระจกเพื่อพินิจพิศเพ่งดวงหน้าของตน เราอธิบายได้ไม่ยากเย็นนักหรอกว่าหน้าตาของเรามีรูปร่างอย่างไร ลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากผู้อื่นอยู่ตรงไหน ตำหนิต่าง ๆ แฝงเร้นซ่อนตัวอยู่ตรงจุดใด แต่สำหรับประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง เราสามารถอ่านมันด้วยวิธีคิดแบบนี้แล้วได้คำตอบสุดท้ายที่ลงตัวจริงหรือ?


ความคาดหวังของประวัติศาสตร์ที่ถูกนิพนธ์ขึ้นอย่างแยบยลแหลมคม และขจัดเอากลิ่นเชื้อของความเถื่อนต่ำแบบชาวป่า ไร้อารยะแบบประเทศโลกที่สาม ไม่ได้ต้องการให้เราเพียงสัมผัสมันผ่านสายตากับการรับรู้ แต่กระตุ้นให้เรารู้สึกว่าถ้าเกิดย้อนอดีตไปได้ เราคงทำอะไรดี ๆ ให้กับประเทศชาติได้มากมายเหลือคณานับเพราะเรารู้จุดบอดทุกอย่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรารู้กลยุทธและวิธีการสกปรกของตะวันตก เรารู้ว่าใครเป็นตัวละครสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและความสูญเสียของรัฐ เสมือนกับการส่องกระจกแล้วมองเห็นสิวอยู่บนใบหน้า ใครบ้างจะไม่อยากเอานิ้วมืองาม ๆ ของตนไปกำจัดมันทิ้งเสียให้พ้นสายตา


‘วัวอียา’ - บันทึกของมณีจันทร์




นอกจากพล็อตสั้น ๆ ส่วนที่เล่าถึงสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อเรื่องอีกส่วนที่ถูกตัดออกไปจากฉบับโรงภาพยนตร์คือการเล่าถึงที่มาของ ฟรองซัวส์ ซาเวียร์ เจ้าของบันทึกวัวอียาในฉบับผู้กำกับได้ขยายความสัมพันธ์ระหว่างซาเวียร์กับมณีจันทร์อย่างพิสดารใหญ่โต จนอาจบอกได้ว่าเขาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับหลวงอัครเทพวรากร ในฐานะชายหนุ่มที่ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับมณีจันทร์มากที่สุดในเรื่อง


ที่ต้องบันทึกและขยายไว้ ณ ที่นี้ก็คือ เขาไม่เพียงแต่รับฟังสิ่งที่มณีจันทร์เล่า แต่ยังบันทึกมันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร กระทั่งตกมาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงคนรุ่นหลังในเรื่อง

 

บันทึกวัวอียานี้แทบจะเกิดจากปากของมณีจันทร์ ซาเวียร์เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของเธอ โดยระบุไว้หลายต่อหลายสิ่งที่เธอเล่าเกี่ยวกับอนาคต (ปัจจุบัน) รวมถึงสิ่งที่เธอประสบพบเจอเมื่อเธอได้เดินทางข้ามกาลเวลา และยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หนังให้เราเห็นชัดเจนแค่ช่วงที่บันทึกเรื่องหอไอเฟลที่ตั้งตระหง่านคร่อมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ช่วงหนึ่งหนังก็ให้เห็นภาพมณีจันทร์เล่าเหตุการณ์ 9/11 ให้ซาเวียร์ฟังน่าคิดเหลือเกินว่าเธอเล่าเหตุการณ์นั้นเพื่อจุดประสงค์ใด



ภาพ: เอกสารวัวอียาที่ผู้กำกับ สุรพงษ์ พินิจค้า มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์ 


หนังไม่เพียงแต่ขยายช่วงเวลาระหว่างมณีจันทร์กับซาเวียร์ในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ยังให้มณีจันทร์ได้พบกับลูกหลานที่สืบทอดเชื้อสายโดยตรงในโลกยุคปัจจุบัน พร้อมคำอรรถาธิบายชุดใหญ่ถึงรากเหง้าของซาเวียร์ ว่าเขาเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษที่เป็นข้าของสมเด็จพระนารายณ์ ที่อพยพไปตั้งรกรากอยู่ที่ฝรั่งเศสก่อนที่ซาเวียร์จะได้กลับมายังสยามอีกครั้ง จุดนี้ทำให้เนื้อเรื่องของ ทวิภพ ฉบับนี้ไปไกลยิ่งกว่าที่ใคร ๆ คิด เพราะนั่นเท่ากับว่าหากจะเทียบการตระหนักรู้ถึง ‘ความเป็นไทย’ ของตน ซาเวียร์มีความเป็นไทยมากกว่ามณีจันทร์ และสามารถเชื่อมโยงตนเองเข้าหาอดีตกับประวัติศาสตร์ของสยามได้มากและเปี่ยมมิติยิ่งกว่ามณีจันทร์เสียอีก


‘วัวอียา’ จึงเป็นบันทึกที่เกิดจากน้ำหมึกของชาวตะวันตกที่สืบรากมาจากความเป็นไทยอย่างเข้มข้นยาวนาน จากเรื่องเล่าของหญิงสาวชาวสยามแห่งโลกอนาคต ที่ไม่เคยมองตัวเองหรือแผ่นดินของตนเองว่าเป็นไทยเลย แต่กลับจะกลายเป็นข้อเขียนที่อณูของความเป็นไทยแผ่ซ่านออกมากรุ่นกร้านยิ่งกว่าเอกสารบทบันทึกประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารใด ๆ - นี่จึงเป็นบันทึกที่ทั้งวิปลาส อัศจรรย์ เหนือคำบรรยาย ล้มล้างตรรกะวิธีวิทยาใด ๆ ทั้งหมดจนสิ้น (ไม่เฉพาะเพียงแค่ในตรรกะเรื่องเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่มักเล่าเนื้อเรื่องให้ดำเนินเป็นเส้นตรงตามลำดับก่อนหลัง) บันทึกวัวอียาจึงจำต้องถูกตีตราให้เป็นนิยายเพ้อฝัน ไร้สาระ และเก็บเข้ากรุไว้เพื่อรอวันที่ใครต่อใครจะลืมการมีอยู่ของมันไปจนสิ้น 


สถานะของมันถูกตีกลับไปสู่การเป็นเพียงกระดาษห่อหมากฝรั่งรูปหอไอเฟล ซึ่งไม่มีค่าวิเศษวิโสอะไรสำหรับคนในยุคปัจจุบัน ต่างจากประวัติศาสตร์ซึ่งถูกนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเรื่องเล่าฉบับทางการ ซึ่งแท้จริงแล้วสถานะของมันก็เปรียบเป็นบันทึกจากน้ำคำ ความคิด และทัศนคติของ ‘คนจากโลกอนาคต’ แบบเดียวกับวัวอียา


‘ประวัติศาสตร์’ แบบมณีจันทร์ - และคนอื่น ๆ




ประเด็นใหญ่และสำคัญที่สุดที่ ทวิภพ ฉบับนี้แสดงให้เห็น คือการฉายให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับประวัติศาสตร์ได้อย่างยอกย้อนชวนตั้งคำถาม เรื่องราวของมณีจันทร์ได้บอกเราว่าอย่าอาจหาญยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เพราะผลลัพธ์ที่กระทบต่อกันมาเป็นลูกโซ่จะใหญ่โตมโหฬารชนิดไม่มีใครคาดคิดไปถึง มันใหญ่อย่างกับหอไอเฟลเลยล่ะ แม่มณีถึงได้ช็อคสิ้นสติขนาดนั้น


ทวิภพ ฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องการปล่อยอดีตให้เป็นอดีตเพียงชั้นเดียวโดยอาศัยปัจจัยของพล็อตประเภทเจาะเวลาหาอดีตเท่านั้น แต่ยอกย้อนด้วยสถานะของเหล่าตัวละครสำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่ต่างทำมาหากินกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะมณีจันทร์ที่เรียนจบประวัติศาสตร์ มาจนถึงบิดาของนางและเหล่าสหายที่ก็ทำหน้าที่อยู่ในกลุ่มสาขาวิชาเดียวกัน ดังนั้นการยื่นมือเข้าไปแตะต้องหรือยุ่งเกี่ยวกับอดีตจึงไม่ได้มีความหมายเพียงนัยตรง แต่นัยประหวัดของมันหมายถึงการ ‘อ่าน’ ประวัติศาสตร์


บทเรียนของมณีจันทร์หลังจากเธอพลั้งมือแทงกงสุลโอบาเรย์ จึงไม่ใช่แค่บทเรียนของหญิงสาวหัวสมัยใหม่พูดไทยไม่ชัดที่อาจหาญจองหองเปลี่ยนแปลงอดีต แต่สำหรับการอ่านประวัติศาสตร์แล้วการกระทำของมณีจันทร์นั้นไม่ต่างกับการอธิบายประวัติศาสตร์สยามช่วงอาณานิคมที่ขุดรากถอนโคนวาทกรรม ‘เสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่’ ของ ธงชัย วินิจจะกูล การอธิบายประวัติศาสตร์ ‘ที่เพิ่งสร้าง’ ของการเมืองไทยร่วมสมัยชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือการอธิบายวิถีอำนาจของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลใหญ่หลวงต่ออำนาจของสถาบันกษัตริย์ไทยช่วงสงครามเย็นของ ณัฐพล ใจจริง ในทัศนะของ ทวิภพ คนเหล่านี้ต้องได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดเช่นเดียวกับมณีจันทร์ ด้วยข้อหาอาจเอื้อมแตะต้องประวัติศาสตร์ฉบับทางการ


ทวิภพ ฉบับนี้ปิดเรื่องด้วยคำพูดของบิดาของมณีจันทร์ และสิ่งที่เขาสรุปนั้นก็คือ ประวัติศาสตร์ที่มณีจันทร์คุ้นเคย ประวัติศาสตร์ที่ตัวเขาเองคุ้นเคย ประวัติศาสตร์ที่เพื่อนนักประวัติศาสตร์ด้วยกันคุ้นเคย และมันก็คือสิ่งเดียวกับประวัติศาสตร์ที่ ‘เรา’ คุ้นเคย และสะดวกใจที่จะอยู่กับมัน มันคือประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างให้อหังการกันเองในหมู่คนเล็กๆ ของสังคมโลกและสิ่งที่เรายอมรับได้ก็คือสภาวะไร้การเปลี่ยนแปลง (status quo) ของชีวิตปัจจุบัน เพราะเราต่างเลือกอธิบายที่มา รากเหง้า และการดำรงอยู่ของเราเอง ณ ขณะนี้ด้วยชุดความคิดว่าด้วยพระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์กับบรรพบุรุษในกาลก่อนที่ตกทอดมาจากการร่ำเรียนเขียนอ่านประวัติศาสตร์ฉบับทางการซึ่งถูกนิพนธ์ขึ้นมาเป็นความจริงหนึ่งเดียว


หลวงอัครเทพวรากรทุ่มเถียงทะเลาะกับพระยาราชไมตรีตั้งแต่ฉากแรก ๆ ของเรื่องด้วยซ้ำ ฝ่ายแรกเห็นว่าควรใช้วิธีการแบบสุดโต่ง radical เพื่อต่อกรกับมหาอำนาจตะวันตก ส่วนฝ่ายหลังเห็นว่าวิธีการประนีประนอมนั้นเหมาะสมกว่า และฉากการประชุมของบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ระดับรัฐมนตรีทั้งหลาย ก็เห็นได้ชัดเจนว่าการโอนอ่อนให้กับมหาอำนาจ (เน้นหนักที่กรณีของเบาว์ริง) นั้นไม่ได้เกิดด้วยพระปรีชาสามารถหรือมองการณ์ไกลของพระมหากษัตริย์ แต่มาจากสภาวะของสงครามและสถานการณ์ที่บีบให้จำต้องเลือกทางที่เหลือเพียงทางเดียว การอธิบายแต่งเติมเสริมความเห็นเข้าไปเป็นบทสรุปในช่วงท้ายเรื่องนั้นคือมุมมองจากบิดาของมณีจันทร์คนเดียวเท่านั้น




นี่คือความลำพองในฐานะนักประวัติศาสตร์ ที่เลือกอธิบายประวัติศาสตร์โดยอาศัยความเห็นสำเร็จรูปผสมเข้ากับข้อเท็จจริง และเชื่ออย่างสนิทใจว่านี่คือคำอธิบายที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบด้านจนสามารถสถาปนาให้เป็นความจริงได้ เราเห็นความภาคภูมิและหลงลำพองนี้ได้ทั้งจากน้ำเสียงของมณีจันทร์กับบิดาของนาง รวมถึงมิตรสหายของผู้เป็นพ่อที่พูดเรื่องบางกอกมีนไทม์นั้นด้วย


มณีจันทร์เลือกดึงตัวเองออกจากเรื่องของอดีตและประวัติศาสตร์ เมื่อเธอได้ตระหนักว่าหมกมุ่นกับมันมากจนเกินควรและส่งผลลัพธ์ออกมาเป็นหอไอเฟล เธอจึงเลือกปล่อยให้ตัวละครในอดีตเหล่านั้นเผชิญชะตากรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง และกลับไปหาพวกเขาเพื่อหลอมรวมอุดมการณ์ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเร้นตนออกจากการเข้าไปยุ่งเกี่ยวอันใหญ่หลวงในทุกกรณี คล้ายกับลักษณะของการ ‘ปล่อยวาง’ ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาสำคัญให้นอนแน่นิ่งอยู่บนหน้ากระดาษหรือวัสดุบันทึกของพงศาวดาร เพราะสำหรับสังคมไทยแล้วการค้นพบคำอธิบายใหม่สำหรับอดีตเป็นเรื่องที่สะเทือนการดำรงอยู่ของมนุษย์ในสังคมอย่างร้ายแรง เพราะนั่นเท่ากับว่าเรากำลังลงมือใช้หลักฐานข้อเท็จจริงที่ค้นพบใหม่ขุดลงไปถึงรากที่ค้ำจุนประเทศนี้ไว้ และกำลังจะได้คำอธิบายหรือมุมมองอื่นต่อรากที่เรากำลังจะขุดค้นลงไปพบในอีกไม่ช้า


สำหรับผู้ที่เชื่อประวัติศาสตร์กระแสหลัก ความพยายามจะลงไปสำรวจรากในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ด้วยประการทั้งปวง เพราะไม่เพียงแต่จะสั่นคลอนต่อคำอธิบายที่สาธยายความเป็นมาของชนชาติไว้อย่างใหญ่โตเป็นมหากาพย์ มันยังจะสั่นคลอนความภาคภูมิใจและความอหังการของวิชาชีพและแขนงการศึกษาที่ถูกยกให้เป็นผู้กุมคำอธิบายเบ็ดเสร็จของชนชาติไปในคราวเดียวกัน และไม่เพียงเท่านั้น มันยังจะทำลายสิ่งที่ถูกสถาปนาให้เห็นว่าเป็นความจริงลงอย่างย่อยยับจนไม่อาจเก็บกู้มาประกอบสร้างใหม่ได้ในเร็ววัน การค้นพบว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้มีเพียงหน้าเดียว คำอธิบายเดียว หรือวิเคราะห์วิจารณ์ได้จากมุมมองเดียว เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศนี้


การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ชุดคำอธิบายที่ถูกยกขึ้นหิ้งว่าเป็นสัจนิรันดร์ และสภาวะไร้การเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคน จึงเป็นทางเลือกที่พวกเขา (และพวกเรา) อิ่มเอมกับมันมากที่สุด ไม่ว่าหลักฐาน ข้อเท็จจริง หรือวิธีการมองประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ จะปรากฏตัวขึ้นอย่างสม่ำเสมอพร้อมกับเวลาที่ค่อย ๆ เดินหน้า และไม่ว่าบริบทต่าง ๆ ของสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน กระทั่ง ‘ความจริงหนึ่งเดียว’ นั้นไม่อาจใช้อธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลอีกต่อไป



ภาพ: ฉลองพระองค์รัชกาลที่ 4 ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ถ่ายทำเรื่อง ทวิภพ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)