‘’เศรษฐีอารมณ์ขัน” สมพงษ์ ตรีบุบผา

โดย ประสงค์ สว่างสุข

ที่มา จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 39 พฤษภาคม-มิถุนายน 2560


“ถ้าทำงานที่ไหน 2 ปี แล้วไม่มีอะไรดีขึ้นให้ลาออกเลย” นี่คือ คติประจำใจที่ทำให้ชีวิตชายคนหนึ่งพลิกผันจากผู้บอกบทภาพยนตร์ สู่การเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แนวตลกที่ทำให้ผู้คนรู้จักจนหนังสือพิมพ์ ตั้งฉายาว่า “ผู้กำกับเศรษฐีอารมณ์ขัน” เขาคือ สมพงษ์ ตรีบุบผา คอลัมน์ กลุ่ม-อาชีพ-คนรักฟิล์มภาพยนตร์จะพาท่านไปรู้จักเรื่องราวของเขาในจดหมายข่าวฉบับนี้


เข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ได้อย่างไร


ตอนนั้นผมไม่ได้เรียนหนังสือ ฐานะทางบ้านยากจน ก็เลยมาหา คุณวิเชียร วีระโชติ ผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นญาติโดยแม่ของคุณวิเชียรเป็น พี่สาวแม่ผม ก็ได้มาฝึกงานที่กองถ่ายเรื่อง วีรบุรุษเมืองใต้ โดยเริ่มตำแหน่ง กางร่มให้กล้องถ่ายหนัง ตอนนั้นยังเป็นฟิล์ม 16 มม. และก็ขยับมาเป็น ตำแหน่งวัดระยะฟุต ระยะห่างนักแสดงกับกล้องผมวัดด้วยสายตาจนมีความ แม่นยำ ต่อมาก็ได้เป็นผู้ช่วยกล้อง ช่างภาพ แล้วผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปเป็น ลูกศิษย์ของ พันคำ (พร้อมสิน สีบุญเรือง) โดยทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับ บอกบท จัดเสื้อผ้า ก็มีเรื่อง มนุษย์ทองคำ กำกับโดย ส.อาสนจินดา พรายดำ (2507) ในม่านเมฆ (2509) นางกวัก (2512) ทิวาหวาม (2517) โอ้ลูกรัก (2519) และมีเรื่อง คุณครูคนใหม่ (2518) ผมได้แสดงเป็นตัวประกอบครั้งแรก 



ภาพ: สมพงษ์ ตรีบุบผา (กลาง) ในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง "ยุ่งนักรักซะเลย" (2529)


เริ่มกำกับภาพยนตร์ได้อย่างไร


จริง ๆ แล้วผมกำกับเรื่องแรกคือเรื่อง ภาพเธอ แต่กำกับไม่จบ มีปัญหาบางอย่าง และต่อมาผมก็เข้าไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของ ส. เนาวราช ที่ ค่ายศรีสยามโปรดักชั่น ของ สาธิต คล่องเวสสะ อยู่ 2 ปี ผมคิดจะลาออก แต่ทางผู้ใหญ่ได้ให้โอกาสโดยให้ผมเป็นผู้กำกับ เรื่อง กามเทพเล่นกล เป็นหนังแนวตลกแสดงโดยยอดชายกับนัยนา ตอนนั้นผมยังเป็นผู้กำกับน้องใหม่ แล้วหนังมาเข้าช่วงตรุษจีนพอดี ไม่น่าเชื่อหนังผมเป็นแชมป์ เก็บเงินได้ 3 ล้าน ในปี พ.ศ. 2519 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง ค่าดูตอนนั้นก็มี 5 บาท 7.50 บาท และ 12 บาท แถมยังได้ตุ๊กตาเงินอีกด้วย พอดีเกิดปัญหาทางวัดดีดวดซึ่งเก็บศพคุณพ่อผมไว้จะทำการล้างป่าช้า ผมจึงต้องหาเงินไปย้ายศพคุณพ่อไปที่วัดโคกเสือ อำเภอเสนา อยุธยา โดยไม่มีเงินเลย ผมก็เลยคิดจะสร้างหนังเป็นของตัวเองจึงนำรถยนต์ไปจำนำ พอได้เงินมาก็ไปซื้อฟิล์มถ่ายหนังและได้บอกไปทางสายหนังว่าจะสร้างหนัง แล้วก็ได้เงินมาทำฮวงจุ้ยให้พ่อและถ่ายหนังเรื่อง ไอ้คุณเฉิ่ม ฉายปี 2520 ในนาม ตรีบุบผาฟิล์ม เป็นหนังแนวตลก เปิดไตเติ้ลเรื่องด้วยภาพวาดการ์ตูนประกอบเพลงฝีมือของอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง รายได้ก็ดีเหมือนกัน 


หลังจากนั้นมีผลงานกำกับเรื่องอะไรอีกบ้าง 


ต่อมาผมได้กำกับ เทพบุตรต๊ะติ๊งโหน่ง แสดงโดย เด่น เด๋อ เทพ และลลนา สร้างโดย ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ฉายปี 2520 เหมือนกัน โดยดารา ตลกทั้ง 3 คน ผมไปหาที่ห้องอาหารดารา อยู่ถ.เพชรบุรีตัดใหม่มีผู้ใหญ่บอก ไม่เอาดาราตลก ไม่ดัง อยากได้ดาราแสดง ผมก็บอกเลยถ้าไม่มีตลก 3 คนนี้ ผมก็ไม่กำกับ สุดท้ายก็ยอมผม เทพบุตรต๊ะติ๊งโหน่ง ทำให้ผมมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแล้วก็ส่งผลให้ตลกคาเฟ่บูมขึ้นมากจนหนังสือพิมพ์ตั้งฉายาให้ผม เศรษฐีอารมณ์ขัน สมัยนั้น หนังสือพิมพ์เขาก็ตั้งฉายาให้กับท่านอื่น เช่น เศรษฐีตุ๊กตาทอง-วิจิตร คุณาวุฒิ สุภาพบุรุษศิลปิน-พันคำ ศิลปินกระดูกเหล็ก-ส. อาสนจินดา ผมก็ได้กำกับเรื่องต่อมา วัยเสเพล (สรพงศ์/เนาวรัตน์) ทรามวัยใจเด็ด (สรพงศ์/มยุรา) กามเทพหัวเราะ (วิฑูรย์/ลลนา) สองเรา (วิฑูรย์/นันทนา) กิ่งทองใบตำแย (เทพ เทียนชัย/ เนาวรัตน์) เป๋อจอมเปิ่น (เทพ/สุพรรษา) เฉยแหลก (เด่น-เด๋อ-เทพ-จุ่มจิ๋ม/ เนาวรัตน์) ซูเปอร์เก๋าส์ (เพชร/อาภาพร) กุ๊กมือเก่า (ทูน/มนฤดี) เขยบ้านนอก (พร้อมพงษ์/จารุณี) ยุ่งนักรักซะเลย (พร้อมพงษ์/จารุณี) ตะลุยโรงหมอ (ยุรนันท์/สินจัย) เฉิ่ม เฉิ่ม (ติ๊ก ชีโร่/แคทรียา อิงลิช)




มีอะไรจะฝากถึงหอภาพยนตร์บ้าง


ก็ทำดีแล้วนะครับ ช่วยกันเก็บประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ ไทยแต่ว่ารายละเอียดข้อมูลมันยังมีอีกเยอะมากมายที่ยังเก็บไม่ถึงอีกมากและก็ต้องเข้าให้ถึง ผมยังจำได้การไปถ่ายทำหนังมันลำบากกว่าสมัยนี้มาก ต้องมีใจรักจริง ๆ สมัยก่อนคนทำหนังผู้คนเขามองรังเกียจว่าเต้นกินรำกิน ไม่ค่อย มีเงิน พูดถึงคำว่า “อารมณ์ขัน” ตอนนี้ผมไม่ชอบแล้วให้เหลือแต่คำ “เศรษฐี” อย่างเดียวน่าจะดี (หัวเราะ) ก็อยากจะฝากถึงเด็กกำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ด้วย ให้เคารพคนรุ่นเก่าไว้เป็นครูบาอาจารย์ก็จะดี 


--------------


เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 “สมพงษ์ ตรีบุบผา” คนทำหนังที่เคยสร้างเสียงหัวเราะและความสุขให้แก่แฟน ๆ หนังไทย โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2520 ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ หอภาพยนตร์ขอร่วมไว้อาลัยด้วยการจัดฉายภาพยนตร์ผลงานของสมพงษ์ ตรีบุบผา เพื่อระลึกถึงความทรงจำที่ได้สร้างให้กับแฟนภาพยนตร์ไทย ในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2565 นี้ โดยท่านสามารถ <<คลิก>> เพื่อดูโปรแกรมจัดฉาย