แผลเก่า บูรณะใหม่ นานแค่ไหนก็ยังประทับใจอยู่เสมอ

โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

 ปรับปรุงจากจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 47 ประจำเดือนกันยายน - ตุลาคม 2561


หลังจากประสบความสำเร็จจากการบูรณะภาพยนตร์เก่าเรื่อง สันติ-วีณา เมื่อ พ.ศ. 2559 ซึ่งทำให้สาธารณชนได้มีโอกาสชื่นชมภาพยนตร์เรื่องสำคัญในอดีต และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์และบูรณะภาพยนตร์ที่สามารถฟื้นฟูภาพที่เสื่อมสภาพให้กลับสวยสดงดงามและสมบูรณ์เหมือนเดิมได้อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2561 นี้


หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ภูมิใจนำเสนอผลงานการบูรณะภาพยนตร์ไทยเรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งยังคงประทับอยู่ในใจผู้ที่เคยได้ชมและสร้างปรากฏการณ์จนกลายเป็นตำนานเล่าขานมาจนปัจจุบัน นั่นคือ แผลเก่า ฉบับเชิด ทรงศรี ผลงานที่ได้รับการยกย่องอยู่เสมอว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของไทย


จากอมตะนิยายของ ไม้ เมืองเดิม สู่แผ่นฟิล์ม




แผลเก่า เป็นบทประพันธ์เรื่องแรกในนามปากกาว่า “ไม้ เมืองเดิม” ของ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา นักเขียนคนสำคัญของไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2479  เนื้อหานั้นบอกเล่าถึงโศกนาฏกรรมความรักระหว่าง ขวัญ กับ เรียม หนุ่มสาวบ้านทุ่งบางกะปิ ที่ถูกกีดกันด้วยเหตุที่พ่อของทั้งคู่เป็นศัตรูกัน  นอกจากเรื่องราวที่กินใจผู้อ่าน สำนวนโวหารแบบนักเลงลูกทุ่งอันแปลกแปร่งไปจากนิยายไทยเรื่องอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ได้ทำให้ แผลเก่า ประสบความสำเร็จอย่างเกรียวกราว และกลายจุดเปลี่ยนในเส้นทางนักเขียนของ ก้าน พึ่งบุญณ อยุธยา ผู้ซึ่งล้มเหลวมาตลอดจนเกือบจะล้มเลิกอาชีพนี้ไป ให้ได้โด่งดังขึ้นในฐานะ “จ้าวแห่งนิยายลูกทุ่ง” ด้วยนามปากกาว่า ไม้ เมืองเดิม นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ความเป็นที่นิยมของ แผลเก่า ทำให้ปี พ.ศ. 2483 “บูรพาศิลป์ภาพยนตร์” บริษัทสร้างภาพยนตร์ในยุคแรก ๆ ของไทย ได้นำ แผลเก่า มาสร้างเป็นภาพยนตร์ขาวดำ 35 มม. พากย์สด นำแสดงโดย สมพงษ์ จันทรประภา และ อบเชย ชุ่มพันธุ์ กำกับโดย พรานบูรพ์ ผู้ได้แต่งเพลงประกอบเรื่องคือ เคียงเรียม สั่งเรียม และขวัญของเรียม ซึ่งโด่งดังอย่างมาก โดยเฉพาะเพลงขวัญของเรียมนั้นได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จินตภาพของ แผลเก่า แจ่มชัดขึ้นราวกับเป็นส่วนหนึ่งของนิยาย


ต่อมา ปี พ.ศ. 2497 บูรพาศิลป์ภาพยนตร์ได้นำ แผลเก่า กลับมาสร้างอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์สี 16 มม. พากย์สด นำแสดงโดย ชีพ ชูพงษ์ (ท้วม ทรนง) และ พรทิพย์ โกศลมัชชกิจ กำกับโดย อรรถ อรรถไกวัลวที โดยได้เพิ่มเติมเนื้อเรื่องในตอนต้น ให้เรียมกลับชาติมาเกิดใหม่ และพบเจอกับวิญญาณของขวัญนั่งเป่าขลุ่ยอยู่ใต้ต้นไทร ก่อนที่เธอจะได้ล่วงรู้ถึงเรื่องราวในอดีตชาติของตน นอกจากนั้น แผลเก่า ยังได้รับการนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ โดยคณะละครนาฏศิลปสัมพันธ์ นำแสดงโดย กำธร สุวรรณปิยะศิริ และนันทวัน เมฆใหญ่ กำกับโดย ทัต เอกทัต ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2507 


ว่ากันว่า แผลเก่า ทั้งสามฉบับนี้ ล้วนได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ชม และส่งผลให้ตำนานความรักของขวัญเรียมนั้น ไม่เคยตายไปจากการรับรู้ของสังคมไทย แต่ไม่มีฉบับไหนเลยที่จะประสบความสำเร็จอย่างลือลั่นไปทั้งพระนครและต่างจังหวัด เทียบเท่ากับฉบับที่ เชิด ทรงศรี นำมาสร้างใหม่ในอีกหลายปีต่อมา


เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก





ก่อนสร้าง แผลเก่า เชิด ทรงศรีได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับเงินล้านคนหนึ่งของวงการ เขาเริ่มมีผลงานสร้างภาพยนตร์ในนามว่า เชิดไชยภาพยนตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ประเดิมด้วยเรื่อง  โนห์รา จากนั้นจึงผลิตผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ เมขลา (2510) อกธรณี (2511) พญาโศก (2512) ลำพู (2513) คนใจบอด (ภาพยนตร์การกุศล - 2513) พ่อปลาไหล (2514) ทั้งหมดนี้เป็นผลงานภาพยนตร์ 16 มม. พากย์สด ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมของวงการหนังไทยมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และทุกเรื่องล้วนแต่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ พ่อปลาไหล นั้นทำรายได้ทุบสถิติหนังไทยในยุค 16 มม. อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานั้นคือภาวะขาลงของภาพยนตร์ในระบบนี้ เมื่อภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มได้เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมของผู้ชมอีกครั้ง


ท่ามกลางผู้กำกับหนัง 16 มม. มากมายที่ต้องปรับตัวและผันไปสร้างหนัง 35 มม. เชิด ทรงศรี ได้ตัดสินใจเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาวิชาการภาพยนตร์เพิ่มเติม ด้วยความหวังว่าจะกลับมาสร้างหนังไทยให้ดูทันสมัยเหมือนหนังฝรั่ง แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้น เมื่อเขาสังเกตเห็นสังคมอเมริกันที่ผู้สูงอายุถูกแยกให้ออกมาอยู่ตามลำพัง ทำให้หวนคิดถึงย่าของตน และขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงามของชนบทไทยที่เขาเคยซึมซับมาในวัยเด็ก สำนึกอันแรงกล้าที่เกิดขึ้นมาระหว่างที่อยู่อย่างเปล่าเปลี่ยวในต่างแดนนี้ ได้ฉุดให้เชิดเปลี่ยนแปลงแนวทางในการสร้างภาพยนตร์ไปสู่ปณิธานอันตั้งมั่นว่า ภาพยนตร์ที่เขาสร้างจะต้องแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์และคุณค่าความเป็นไทย และเรื่องที่อยู่ในใจของเขาคือ แผลเก่า อมตะนิยายลูกทุ่งของ ไม้ เมืองเดิม ที่เคยสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาแล้วถึง 3 ครั้ง 


เมื่อกลับมาเมืองไทย เชิดได้ตระเตรียมวางแผนเพื่อปูทางไปสู่การสร้าง แผลเก่า ด้วยการสร้างหนังรักและหนังตลกตามกระแสนิยมเรื่อง ความรัก (2517) และ พ่อไก่แจ้ (2519) เพื่อนำกำไรมาเป็นทุนสร้างหนังแนวย้อนยุคและจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอันเป็นปัจจัยที่พร้อมจะขาดทุน นอกจากนี้เขายังได้ไปซื้อภาพยนตร์ แผลเก่า ฉบับปี พ.ศ. 2497 เพื่อนำมาศึกษา ทั้งยังพากเพียรค้นคว้าข้อมูล และเขียนบทที่เพิ่มเติมเนื้อหาและรายละเอียดจากโครงเรื่องของ ไม้ เมืองเดิม เพื่อให้สะท้อนสภาพความเป็นไทยทั้งวิถีชีวิต คติธรรม การละเล่นและเพลงพื้นบ้าน รวมไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ออกมาได้มากและสมจริงที่สุด 


ในด้านนักแสดง เชิดได้เอาจริงเอาจังในการคัดเลือกผู้ที่เขามองเห็นว่าเหมาะสมกลมกลืนกับบทบาท ทั้งนางเอกหน้าใหม่คือ นันทนา เงากระจ่าง และดาราที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วอย่างสรพงศ์ ชาตรี, ส.อาสนจินดา, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, สุพรรณ บูรณะพิมพ์ และเศรษฐา ศิระฉายา ที่เขาประชาสัมพันธ์ว่า “5 ดาราตุ๊กตาทอง ยอมตัดผมสั้น” ในขณะที่เพลงประกอบภาพยนตร์อันเป็นจุดเด่นของหนังและละคร แผลเก่า มาทุกฉบับ เชิดยังคงใช้บทเพลงของพรานบูรพ์ที่แต่งไว้ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2483 แต่ขณะเดียวกัน ก็ประพันธ์เพลง “ลำนำแผลเก่า” ขึ้นใหม่ด้วยตนเอง และนำเพลง “แสนแสบ” ที่ ชาลี อินทรวิจิตร แต่งขึ้นจากแรงบันดาลใจในการอ่านนิยายของไม้ เมืองเดิม มาประกอบเรื่องไว้ด้วยกัน


ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า แผลเก่า เป็นผลงานที่ เชิด ทรงศรี พิถีพิถันและทุ่มเทมากที่สุดในชีวิต ตามคำขวัญที่เขาตั้งขึ้นอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่เป็นดั่งธงชัยของภาพยนตร์ว่า “เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก” 


อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของ แผลเก่า ฉบับเชิด ทรงศรี กลับเริ่มต้นด้วยการที่ไม่มีผู้ค้าภาพยนตร์รายใดยอมรับซื้อเลย ไม่เว้นแม้กระทั่งใบปิดโฆษณา จน แผลเก่า เริ่มออกฉายสู่สายตาสาธารณชนเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ความดีงามที่เชิดได้อุทิศตนสร้างขึ้นมาให้ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้นั้น จึงค่อยได้รับการตอบแทนเป็นดอกผลแห่งความสำเร็จอย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เมื่อ แผลเก่า ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง จากกรุงเทพฯ แผ่ขยายไปยังต่างจังหวัด ราวกับผู้ชมนั้นโหยหาความสงบร่มรื่นและวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่ห่างหายไปจากสังคมไทยซึ่งเต็มไปด้วยวิกฤตทางการเมืองมายาวนาน จนสร้างประวัติศาสตร์ทำรายได้ชนะเลิศภาพยนตร์ทุกชาติที่เคยมาฉายในเมืองไทย รวมแล้วกว่า 13 ล้านบาท และจุดกระแสให้ภาพยนตร์แนวถวิลหาอดีตนั้นกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง


ไม่เพียงแต่เฉพาะในเมืองไทย ปี พ.ศ. 2524 แผลเก่า ยังได้ข้ามพรมแดนไป “สำแดงความเป็นไทยต่อโลก” จริง ๆ สมดังปณิธานอันท้าทายของเชิด จากการผลักดันของ โทนี เรย์นส์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ โดย แผลเก่า เดินทางไปฉายที่ London Film Festival เป็นที่แรก ในวาระครบรอบ 25 ปีของเทศกาล จากนั้นจึงได้เข้าร่วมประกวดในมหกรรมภาพยนตร์ Festival des 3 Continents ณ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศสในปีเดียวกัน และประกาศศักดาคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้ ต่อมา แผลเก่า ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 360 หนังคลาสสิกของโลกของ Museum of the moving image in London กับ นิตยสาร Sight & Sound


นับแต่นั้น เชิด ทรงศรี ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ต่างชาติให้การยอมรับมากที่สุด ผลงานเรื่องต่อ ๆ มาของเขาต่างได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอย่างสม่ำเสมอ แผลเก่า จึงมีฐานะเป็นดั่งชนวนแห่งความรุ่งโรจน์ในเส้นทางการเป็นผู้สร้างงานศิลปะของ เชิด ทรงศรี ไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นกับ ไม้ เมืองเดิม และเปรียบเสมือนใบเบิกทางให้เขาได้บรรลุถึงอุดมการณ์อันแรงกล้าอย่างแท้จริง


การกลับมาของแผลรักที่ลืมไม่ลง




แม้จะผ่านไปนานแค่ไหน แต่ปรากฏการณ์ของ แผลเก่า ฉบับเชิด ทรงศรี นั้นยังคงฝังอยู่ในความประทับใจของผู้ชมอย่างไม่เสื่อมคลาย เรื่องราวและเลือดเนื้อลมหายใจของตัวละครที่เขาสร้างไว้ได้กลายเป็นอมตะและเป็นที่จดจำในวงกว้างมากยิ่งกว่าฉบับนิยายของ ไม้ เมืองเดิม จนทำให้ไม่ว่าภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ฉบับใดก็ตามที่นำ แผลเก่า มาสร้างซ้ำหลังจากนี้ ล้วนแต่มีภาพยนตร์ฉบับ เชิด ทรงศรี เป็นต้นแบบทั้งสิ้น 


หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้รับมอบฟิล์มเนกาทีฟภาพยนตร์แห่งความทรงจำของคนไทยเรื่องนี้จากเชิด ทรงศรี มาเก็บรักษาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จนกระทั่ง พ.ศ. 2549 เมื่อได้นำฟิล์มเนกาทีฟนี้ออกมาพิมพ์ใหม่เพื่อนำไปจัดฉายในงานเทศกาลวัฒนธรรมไทย Tout à fait Thaï ในฝรั่งเศส จึงพบว่าภาพนั้นเริ่มออกเป็นสีเขียว อันเป็นสัญญาณแสดงถึงการเริ่มเสื่อมสภาพ เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะนำฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้มาบูรณะ เมื่อวันหนึ่งที่งบประมาณและเทคโนโลยีต่าง ๆ ถึงพร้อม 


เวลาผ่านไป ภายหลังความความสำเร็จจากการบูรณะภาพยนตร์ที่เคยหายสาบสูญเรื่อง สันติ-วีณา ใน พ.ศ. 2559 หอภาพยนตร์จึงได้เลือก แผลเก่า ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ มาเป็นภาพยนตร์เรื่องต่อไปที่จะนำไปบูรณะ ด้วยเพราะอาการเสื่อมสภาพที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน รวมทั้งคาดหวังว่า ความทรงจำอันยิ่งใหญ่ที่ผู้ชมมีต่อภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ จะทำให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์และสื่อโสตทัศน์ ที่จะช่วยปกปักรักษาและพลิกฟื้นภาพประทับใจในวันวานให้กลับมางดงามเหมือนเดิม


โครงการบูรณะภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 โดยยังคงใช้บริการแล็บ L’Immagine Ritrovata ประเทศอิตาลี ที่เคยบูรณะเรื่อง สันติ-วีณา แตกต่างตรงที่คราวนี้หอภาพยนตร์เป็นผู้สแกนฟิล์มเนกาทีฟทั้งภาพและเสียงเองด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของหอภาพยนตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้มากขึ้น และเป็นการได้เรียนรู้เทคนิคการสแกนภาพยนตร์เพื่อใช้ในการบูรณะจากบริษัทมาตรฐานโลกอย่าง L’Immagine Ritrovata 


อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของการบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการปรับสีภาพ (Color Grading) ให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด อันเป็นปัญหาของแล็บบูรณะต่างประเทศที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับสีผิวและสีธรรมชาติต่าง ๆ ในหนังไทย  โดยเจ้าหน้าที่ของหอภาพยนตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขและทำสีเป็นแนวทางส่งให้ทางแล็บ ซึ่งจำเป็นต้องอ้างอิงจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง เลือดสุพรรณ ที่ เชิด ทรงศรี สร้างต่อจาก แผลเก่า รวมไปถึงภาพยนตร์สารคดี เบื้องหลังการทำการ์ตูน สุดสาคร พ.ศ. 2522 ของ ปยุต เงากระจ่าง ที่มี นันทนา เงากระจ่าง ปรากฏอยู่ เพื่อใช้สีผิวที่เห็นในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ มาเป็นต้นแบบในการปรับสีผิวของเธอใน แผลเก่า


หลังจากใช้เวลา 1 ปีเต็ม กระบวนการในการบูรณะ แผลเก่า ฉบับเชิด ทรงศรี ก็ได้เสร็จสิ้นลง และได้ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของเชิด ทรงศรี ผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

ภาพ: ภาพบรรยากาศการจัดฉายแผลเก่า ฉบับบูรณะใหม่รอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ที่โรงภาพยนตร์สกาลา

-------------------------------------------

ในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเสียชีวิตของ เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์จะนำภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ฉบับบูรณะใหม่มาจัดฉายอีกครั้งพร้อมกับ เพื่อน-แพง อีกหนึ่งภาพยนตร์ของเชิด ทรงศรี ที่หอภาพยนตร์ สนใจสามารถดูรายละเอียดสำรองที่นั่งได้ที่

แผลเก่า รอบเวลา 13.00 น. สำรองที่นั่งได้ที่ www.fapot.or.th/main/cinema/view/1364

เพื่อน-แพง รอบเวลา 15.30 น. สำรองที่นั่งได้ที่ www.fapot.or.th/main/cinema/view/1365