โลกภาพยนตร์ของ เศรษฐา ศิระฉายา

โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

 ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 69 ประจำเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน 2565


การเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ของ เศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2554 ผู้มีความสามารถรอบด้าน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการบันเทิงไทย ไม่เพียงแต่ในแวดวงดนตรี ที่เขานับเป็นตำนานผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง หรือแวดวงโทรทัศน์ ในฐานะพิธีกรและดาราละครที่ผู้ชมคุ้นหน้ามายาวนาน หากแต่ในด้านภาพยนตร์นั้น เขาก็มีบทบาทสำคัญด้วยผลงานการแสดงมากกว่า 120 เรื่อง

 

เศรษฐา ศิระฉายา เริ่มเข้าสู่โลกภาพยนตร์จากการที่เขาและเพื่อน ๆ วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ (The Impossibles) ได้รับการชักชวนจาก เปี๊ยก โปสเตอร์ ให้มาร่วมบรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โทน ที่เปี๊ยกเป็นผู้กำกับเรื่องแรก ในปี 2513 หลังจากที่พวกเขาเพิ่งคว้าถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศในการประกวดวงสตริงคอมโบครั้งแรกในปีก่อนหน้า 




หลังจากนั้น ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ ที่มีเศรษฐาเป็นนักร้องนำ ได้กลายเป็นวงดนตรีที่ทำเพลงประกอบให้ภาพยนตร์ไทย รวมถึงร่วมแสดงอีกหลายเรื่อง เช่น ดวง (2514) สวนสน (2514) หนึ่งนุช (2514) ระเริงชล (2515) สายชล (2516) ฯลฯ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2518 เศรษฐาจะได้รับการชักชวนจาก จุรี โอศิริ ให้มาแสดงภาพยนตร์อย่างจริงจังครั้งแรก โดยได้รับบทนำเป็นหนุ่มเจ้าสำราญในเรื่อง ฝ้ายแกมแพร


ฝีมือการแสดงของเศรษฐาโดดเด่นจนทำให้เขาสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม มาครองได้ทันที ประกอบกับ ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์ ประกาศยุบวงอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา นั่นทำให้เขาเปลี่ยนจากนักร้องชื่อดังกลายเป็นดาราเนื้อหอมที่มีผู้สร้างติดต่อไปร่วมแสดงมากมาย ทั้งบทร้าย บทดี บทตลก โดยเฉพาะในตำแหน่ง “เพื่อนพระเอก” ที่เขามักกล่าวเสมอว่า ตนเองครองบทนี้เป็นขาประจำ ทั้งกับ สรพงศ์ ชาตรี, กรุง ศรีวิไล, ไพโรจน์ สังวริบุตร ฯลฯ 


เศรษฐา ศิระฉายา นับเป็นดาราหลักคนหนึ่งในทศวรรษ 2520 ที่มีผลงานมากมาย เช่น แผลเก่า (2520) พ่อม่ายทีเด็ด (2520) รักคุณเข้าแล้ว (2520) เก้าล้านหยดน้ำตา (2520) พ่อจ๋า (2523) ยอดรักผู้กอง (2524) เพชฌฆาตหน้าเป็น (2525) ครูสมศรี (2529) ฯลฯ แต่เรื่องที่โดดเด่นที่สุดคือ ชื่นรัก (2522) ซึ่งเขาได้รับบทพระเอก ประกบคู่กับ อรัญญา นามวงษ์ นางเอกชื่อดังที่เขาเคยร่วมแสดงในบทสมทบมาหลายครั้ง แต่ความใกล้ชิดจากการรับบทนำครั้งนี้ ได้ทำให้ทั้งคู่กลายมาเป็นคู่รักในชีวิตจริงและครองคู่กันมายาวนาน ตราบจนเขาสิ้นลมหายใจ


นอกจากนี้ในช่วงดังกล่าว เศรษฐายังได้ทำงานเบื้องหลัง เช่น เลดี้ฝรั่งดอง (2526 – ผู้ช่วยกำกับ) แม่ยอดกะล่อน (2526 – ผู้ช่วยกำกับ) รักสองต้องหาม (2528 – ผู้กำกับและลำดับภาพ) พ่อมหาจำเริญ (2528 – ผู้กำกับ) ฯลฯ ต่อมา แม้วงการภาพยนตร์จะมีการผลัดใบใหม่ จนเขาหันไปมีผลงานทางโทรทัศน์เป็นหลัก แต่เศรษฐาก็ยังมีงานแสดงภาพยนตร์ออกมาอยู่เป็นระยะ เรื่องท้าย ๆ ได้แก่ บิ๊กบอย (2553) ขรัวโต อมตะเถระกรุงรัตนโกสินทร์ (2558) รวมถึงบทพระยาละแวกใน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 และ ภาค 4 ปี 2554 




บทบาททางภาพยนตร์อีกด้านของ เศรษฐา ศิระฉายา คือการเป็นกรรมการบริหารหอภาพยนตร์ ระหว่างปี 2555-2557 ที่เขาได้ให้คำปรึกษา รวมทั้งให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ที่หอภาพยนตร์จัดขึ้น เช่น คอนเสิร์ตหนังไทยในเสียงเพลง ปี 2556 โดยเศรษฐาเคยกล่าวถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ ไว้ในกิจกรรมลานดารา ที่เขามาประทับรอยมือรอยเท้าเป็นดาวดวงที่ 150 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2557 ว่า


“ภาพยนตร์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสังคม เพราะว่ามันเป็นศิลปวัฒนธรรมที่เข้าใกล้ชิดคนได้มากที่สุด แล้วมีพาวเวอร์มากในการที่จะเปลี่ยนแปลงความนึกคิดต่าง ๆ ดูภาพยนตร์ก็สามารถเปลี่ยนความคิดได้ สิ่งเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญมาก ภาพยนตร์ที่ทางหอภาพยนตร์ได้ดำเนินการเก็บไว้ จะเป็นทรัพย์สินที่ทรงคุณค่ามากที่สุดของประเทศ ทำให้เราได้เห็นวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาติที่ผ่านมา... เพราะว่าประเทศจะอยู่ได้ก็ต้องมีทั้งเรื่องของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และที่สำคัญมากคือเรื่องของวัฒนธรรม ภาพยนตร์นี่เป็นวัฒนธรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดของประเทศอย่างหนึ่ง”  


ติดตามโปรแกรมฉายผลงาน เศรษฐา ศิระฉายา ในเดือนมิถุนายน 2565 นี้ ได้ที่ ((คลิก))