เส้นทางนักพากย์ของ ไกวัล วัฒนไกร

ไกวัล วัฒนไกร เป็นบุคคลสำคัญของวงการนักพากย์ในเมืองไทย นอกจากจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการพากย์ตัวละครเด่นในการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังหลายเรื่อง เขายังมีประสบการณ์พากย์หนังไทยและต่างประเทศในหลายรูปแบบมาอย่างโชกโชน เนื่องในวาระการจากไปของเขาในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 หอภาพยนตร์จึงขอนำบทสัมภาษณ์ที่คุณไกวัลเคยเล่าถึงจุดเริ่มต้นและเรื่องราวการพากย์หนังบางช่วงบางตอนของชีวิต จากจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ เมื่อปี 2558 มาลงให้ได้อ่านกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการร่วมไว้อาลัย และขอร่วมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณไกวัล วัฒนไกร มา ณ ที่นี้

---------- 


โดย ประสงค์ สว่างสุข

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 30 ประจำเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2558


กลุ่ม-อาชีพ-คนรักฟิล์มภาพยนตร์ ฉบับนี้เป็นเรื่องราวของ ไกวัล วัฒนไกร ทายาทวิกหนังวัฒนไกรภาพยนตร์  ซึ่งชีวิตพลิกผันจากคนฉายหนังมาเป็นนักพากย์หนังกลางแปลงและโรงหนังชั้นสอง จนก้าวไปเป็นนักพากย์การ์ตูนทางช่อง 9 และได้รับรางวัลดีเด่น ในการผลิตผลงานสื่อมวลชนประเภทนักพากย์ภาพยนตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2529


อยากให้เล่าความเป็นมาของชื่อ วิกหนังวัฒนไกรภาพยนตร์

เริ่มมาจากพ่อของผมคือ นายจำริต วัฒนไกร เป็นคนก่อตั้ง เมื่อก่อนพ่อผมเป็นครูสอนหนังสือ ตอนหลังมาทำงานที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี พอเจอคอเดียวกันก็ได้ร่วมหุ้นซื้อเครื่องฉาย ตั้งชื่อ สามชุกภาพยนตร์ เป็นเครื่องฉาย 16 มม. สักพักใหญ่ ๆ ก็มาตั้งวิกหนังวัฒนไกรภาพยนตร์ ตอนนั้นยังใช้หลังคา สังกะสี เก้าอี้ไม้ ผมเรียน ปวช. ที่เทคนิคกรุงเทพ มีหน้าที่ไปเอาใบปิดที่เฉลิมกรุงส่งกลับมาที่บ้าน ส่วนแม่ผมเป็นคนไปบุ๊คหนัง (การติดต่อสายหนังเพื่อนำหนังมาฉาย – ผู้เขียน) มาฉาย เก็บค่าดูผู้ใหญ่ 1 บาท เด็ก 1 สลึง



ภาพ: นายจำริต วัฒนไกร (คนซ้ายสุด) บิดาของ ไกวัล วัฒนไกร เจ้าของ สามชุกภาพยนตร์


เริ่มมาพากย์หนังได้อย่างไร

ตอนนั้นเห็นนักพากย์รู้สึกมีคุณค่ามากเลย เพราะสมัยนั้นหนังไม่มีเสียงต้องทำทุกอย่าง เคยไปฉายพร้อมกัน 2 จอ จอของเราชายจริงหญิงมีหนวดพากย์คนเดียว อีกจอหนึ่งชายจริงหญิงแท้ รู้สึกจะฉายเรื่อง แสนพยศ พี่อ๋องหรือกามนิตน้อย แกพากย์คนเดียว คนดูไม่ได้ดูหนัง มาดูคนพากย์ จอเราชนะขาดเลย เราก็ยืนดูอยู่ ทำไมเขาเก่งจัง อยากจะเป็นนักพากย์บ้าง โรงเรียนปิด ผมกลับมาช่วยงานที่บ้าน พอดีมีงานที่อำเภอศรีประจันต์ เขาเช่าเครื่องฉายกับจอไปตั้งอย่างเดียว ส่วนหนัง เช็คเกอร์จะนำมาจากกรุงเทพฯ ผมไปกัน 3 คน ตอนเย็นก็มีคนเอาหนังมาวางไว้ เรื่อง ศึกมอฮอก หนังอินเดีย พอถึงเวลาฉายประมาณสามทุ่ม ผมก็เรียกคนที่เอาฟิล์มมาวาง บอกได้เวลาพากย์แล้วครับ เขาบอกพากย์ไม่เป็น ส่งหนังอย่างเดียว ฉิบหายแล้ว นักพากย์แถวนั้นก็มีแต่พี่เสริมที่อยู่อำเภอท่าช้าง จะติดต่อกันก็ไม่สะดวก คนดูปูเสื่อเต็มไปหมด เพื่อนผมบอก เฮ้ย เอ็งพากย์เลย วันนั้นพากย์เรื่องแรกในชีวิต บทไม่เคยดูไม่เคยอ่าน ตอนนั้นเดือนกุมภาพันธ์อากาศหนาวแต่ผมพากย์ไปเหงื่อแตกไป แต่ก็ไปรอดได้ โชคดีที่ผมเป็นคนอ่านหนังสือไว


เคยพากย์หนังเรื่องอะไรบ้าง

ที่พอจะจำได้ก็เรื่อง จ้าวสุริยา (Kings of the Sun) เป็นหนังที่ผมชอบมาก สามทหารเสือกับป่ามหาภัย หนังที่บ้านซื้อไว้ หนังอินเดีย เช่น รอยรัก, รอยมลทิน หนังไทยก็ กำแพงเงินตรา, 16 ปีแห่งความหลัง, จอมโจรมเหศวร, ดอกอ้อ พากย์เสียงมิตร ชัยบัญชา ผมก็ได้ไปพากย์โรงหนังชั้นสอง สำโรงรามา ปากน้ำรามา กรุงสยามสะพานใหม่ ตอนนั้นคู่พากย์มี 2-3 คน ก็มีพี่ตุ้ม สจีรัตน์, หนู โรสลาวัลย์ ที่ตอนนี้พากย์อยู่พันธมิตร แล้วก็ได้มาเป็นนักพากย์การ์ตูนฟรีแลนซ์ที่ช่อง 9  เรื่องที่ทำชื่อเสียงคือ ดราก้อนบอล พากย์เป็นผู้เฒ่าเต่า และหนัง ไอ้มดแดง พากย์เป็นทาเคชิ


อยากฝากอะไรถึงหอภาพยนตร์

ผมเป็นนักพากย์มาตั้งแต่วัยรุ่นจนตอนนี้ก็ 63 ปี ผมก็อยากจะให้มีการเผยแพร่วิชาการพากย์ภาพยนตร์ให้แก่เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการพากย์ภาพยนตร์ ทั้งพากย์หนังที่ไม่มีเสียงโดยต้องทำเอฟเฟ็กต์ด้วย พากย์คนเดียวและการพากย์คู่ การพากย์หนังทำให้เราเป็นได้ทุกตัวแสดง พระเอก นางเอก ผู้ร้าย ตัวตลก ภูติผีปีศาจ เราสามารถเป็นใครก็ได้ แต่ตอนชีวิตจริงเราเป็นไม่ได้ ความรู้สึกของผมถ้าทำให้คนมาเสพงานของเราแล้วเขารับรู้ความรู้สึกของเราได้ ผมก็ดีใจ ผมคิดว่าเป็นการสร้างกุศลอีกวิธีหนึ่ง



ภาพ: ไกวัล วัฒนไกร (แถวล่างซ้ายสุด) เมื่อครั้งมาร่วมกิจกรรมภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ ที่หอภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558