ทิลดา – ดิอานา – อภิชาติพงศ์ “ชั้นครู” ในความทรงจำที่หอภาพยนตร์

โดย ก้อง ฤทธิ์ดี 

 ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 69 ประจำเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน 2565

 

กิจกรรม Masterclass หรือ “ชั้นครู” ครั้งสำคัญของหอภาพยนตร์ในปีนี้ เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ 25-26 กุมภาพันธ์ เป็นงาน Masterclass สามงานสุดเข้มข้นด้วยเนื้อหา ต่อเนื่องกันในช่วงเวลาสองวัน เริ่มจากชั้นครูของดาราชาวสกอตแลนด์ ทิลดา สวินตัน ในวันที่ 25 ตามมาด้วยผู้กำกับชาวไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และโปรดิวเซอร์จากโคลอมเบีย ดิอานา บุสตามานเต ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ โดยงานชั้นครูทั้งสามงาน เกิดขึ้นในโอกาสที่ภาพยนตร์เรื่อง Memoria ของอภิชาติพงศ์ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมืองไทย โดยทีมงานพาทั้งดารานำแสดงและโปรดิวเซอร์ของหนังมาร่วมงาน และถือโอกาสร่วมมือกับหอภาพยนตร์จัด Masterclass เพื่อเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ของคนทำหนังระดับโลกให้ผู้ชมชาวไทย 


งาน Masterclass ทั้งสามงานได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากผู้ชมอย่างที่ผู้จัดไม่ได้คาดคิดมาก่อน ถึงขั้นเกิดปัญหาในการจองตั๋ว ทั้งนี้เพราะมาตรการเว้นระยะห่างที่ทำให้จำนวนที่นั่งลดน้อยลง และความสนใจล้นหลามจากผู้ชมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  


หอภาพยนตร์ขอรายงานสรุปเนื้อหาคร่าว ๆ และบรรยากาศของงานเป็นบันทึกความทรงจำไว้ (วิดีโอบันทึกภาพงานชั้นครูของ ทิลดา สวินตัน สามารถรับชมได้ทางช่อง YouTube ของหอภาพยนตร์ ที่ <<คลิก>>)


Masterclass 

Tilda Swinton 

Acting, Being, Shape-shifting 




งานชั้นครูของ ทิลดา สวินตัน ในชื่อ “Acting, Being, Shape-shifting” (“การแสดง การเป็น การเปลี่ยนรูปร่าง”) ถือเป็นไฮไลต์ของกิจกรรมในช่วงสองวัน เพราะเป็นโอกาสหายากยิ่งที่ดาราระดับโลกที่มีผลงานต่อเนื่องยาวนานและหลากหลายที่สุดคนหนึ่งในโลกภาพยนตร์ร่วมสมัย จะมานั่งคุยเล่าประสบการณ์และตอบคำถามผู้ชมอย่างเต็มอิ่มถึงสองชั่วโมง 


กิจกรรมนี้ ผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับ ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ เมื่อขึ้นเวที ทิลดาเริ่มทักทายด้วยการย้อนเล่าการมาเยือนตึกสรรพสาตรศุภกิจของหอภาพยนตร์ ตั้งแต่ครั้งที่ยังอยู่ในระหว่างก่อสร้างและหลังคายังไม่เสร็จดี หลังจากนั้นเธอสร้างเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ด้วยการบอกว่าเธอไม่อยากพูดถึงเรื่อง “การแสดง” เพราะเธอไม่ได้มองตัวเองว่าเป็น “นักแสดง” แต่มองว่าเธอเป็น “คนทำหนัง” (filmmaker) และจริง ๆ แล้วตั้งแต่เป็นนักศึกษา เธอไม่ได้อยากเป็นนักแสดง แต่อยากเป็นนักเขียนมากกว่า คำพูดนี้แสดงให้เห็นถึงปรัชญาการทำงานของทิลดา ที่มองตัวเองว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งในกระบวนการสร้างสรรค์ของงานภาพยนตร์ แนวคิดนี้ก่อตัวขึ้นในช่วงต้นของการเป็นนักแสดงของเธอ โดยเฉพาะการร่วมงานกับผู้กำกับหนังทดลองชาวอังกฤษ เดเร็ก จาร์มาน ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนคู่คิดและศิลปินที่เติบโตและแผ้วถางวงการหนังอิสระในอังกฤษด้วยกันในทศวรรษที่ 1980  


บทสนทนาที่ทิลดาพูดถึง เดเร็ก จาร์มาน เป็นหัวใจของการสนทนาในวันนั้น ทิลดาเล่าถึงบรรยากาศของวงการภาพยนตร์อิสระอังกฤษที่เบ่งบานด้วยความคิด และการผลัดใบของคนทำหนังรุ่นใหม่ที่แสวงหาหนทางอันแตกต่างไปจากผู้กำกับอังกฤษระดับปรมาจารย์ที่สร้างวิหารอันตระหง่านไว้ก่อนหน้า การตื่นตัวทางศิลปะในทศวรรษที่ 80 ยังมีแง่มุมทางการเมืองและสังคม เพราะเป็นทศวรรษของนายกรัฐมนตรี มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และพรรคอนุรักษนิยม ที่ไม่ค่อยเห็นค่าของงานศิลปะและภาพยนตร์ การต่อสู้เรียกร้องไม่ว่าจะในแง่เนื้อหาของหนังหรือในแง่การให้ทุนศิลปิน นำมาซึ่งการเติบโตทางความคิดของคนในวงการศิลปะจำนวนมาก รวมทั้งทิลดาและจาร์มาน ที่ร่วมกันทำหนังที่ท้าทายออกมามากมาย เช่น Caravaggio (1986), The Last of England (1987) War Requiem (1989) และอื่น ๆ อีกมาก


จากนั้น ทิลดาพูดถึงงานแสดงของเธอในหนังฮอลลีวูด อันเป็นงานที่ทำให้เธอเป็นที่จดจำของคนดูหนังทั่วโลก เช่น  บทแม่มดขาวใน The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005) และ ดิ แอนเชียน วัน ใน Doctor Strange (2016) ซึ่งทิลดาเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชม เมื่อเธอบอกว่าการแสดงในหนังเหล่านี้ไม่มีอะไรแตกต่างแม้แต่นิดเดียวจากการแสดงของเธอในหนังอาร์ตหรือหนังทดลอง เพราะในทุกบทบาท เธอเชื่อในการนั่งลงและสนทนากับผู้กำกับเพื่อค้นหาความหมายและการเดินทางของตัวละคร ทิลดาบอกว่า เธอไม่เคย “ค้นคว้าตัวละคร” หมายถึงไม่เคยศึกษาบุคคลในชีวิตจริงเพื่อเอามาปรับในการแสดง แม้แต่ในบทบาททนายคนแกร่งในหนังเรื่อง Michael Clayton (2009) เธอก็ไม่เคยไปศึกษาทนายจริง ๆ ว่ามีบุคลิกหรืออิริยาบถอย่างไร แต่เธอใช้สิ่งที่เรียกแบบทีเล่นทีจริงว่า “deep disguise” หรือการปลอมตัวแบบลึกจนจับไม่ได้


ทิลดายังพูดถึงมิติทางการแสดงอื่น ๆ เช่น การใช้เสียง การสร้างแบ็กกราวนด์ของตัวละครเพื่อสร้างสำเนียงพูดเฉพาะ และการพยายามไม่ใช้ “เทคนิค” ในการแสดง นอกจากนั้นเธอยังเล่าถึงโครงการโรงหนังเคลื่อนที่ที่เธอเคยผลักดันในสกอตแลนด์เมื่อหลายปีก่อน (ใกล้เคียงกับโครงการรถโรงหนังของหอภาพยนตร์) และยังพูดถึงโรงเรียนมัธยมทางเลือกที่เธอร่วมก่อตั้งในสกอตแลนด์ ทั้งนี้เพราะนอกเหนือจากเรื่องภาพยนตร์ การศึกษาเป็นประเด็นที่เธอให้ความสนใจต่อเนื่องและลงมือทำอย่างจริงจัง 


ทิลดาปิดท้ายด้วยการพูดถึงความสำคัญของการดูหนังในโรงภาพยนตร์ และเมื่อพิธีกรเอ่ยถึงปรัชญาของหอภาพยนตร์ที่ว่า “Cinema Enlightens” เธอจึงพูดย้ำถึงปรัชญาที่เทียบเคียงกันได้ของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) ที่ว่า “Film Forever” เป็นการส่งท้ายชั้นครูของเธอให้อยู่ในความทรงจำของผู้ชมตลอดไป


Masterclass

Diana Bustamante 

A World Apart, But Same Boat



โปรดิวเซอร์ชาวโคลอมเบีย ดิอานา บุสตามานเต เป็นแม่งานเบื้องหลังคนสำคัญที่ปั้นภาพยนตร์ Memoria และดูแลการถ่ายทำที่ประเทศโคลอมเบียจนสำเร็จ ชั้นครูของ ดิอานา ดำเนินรายการโดย เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล เป็นโอกาสให้เธอเล่าประสบการณ์ของคนทำหนังอิสระในโคลอมเบีย การบริหารจัดการ การพยายามสร้างอัตลักษณ์ของหนังและของประเทศที่ไม่โดนเหมารวมว่าเป็นดินแดนของยาเสพติดและความรุนแรง รวมทั้งการเรียกร้องกฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 


ดิอานาเล่าถึงการทำงานในภาพยนตร์หลายเรื่องของเธอ เช่น The Wind Journeys (2009), Crab Trap (2009) และ La sirga (2012) ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อยในสถานที่ห่างไกล และเสนอภาพของประเทศโคลอมเบียในแบบจริงจัง ไม่ปรุงแต่ง หรือที่เธอเรียกว่า “Periphery Film” (ภาพยนตร์ชายขอบ) ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตุว่า ภาพของประเทศโคลอมเบียเคยถูกนำเสนอผ่านหนังจากคนทำหนังชาติอื่นที่หยิบเอา “ภาพจำ” ของประเทศอเมริกาใต้แห่งนี้มาขยายเป็นหนังดรามาหรือหนังอาชญากรรม เช่น Maria Full of Grace (2004) หรือ Our Lady of the Assassins (2000) แต่ดิอานาเล่าว่า หลังจากกลางทศวรรษที่ 2000 เมื่อโคลอมเบียออกกฎหมายใหม่ที่ช่วยส่งเสริมเงินทุนให้คนทำหนัง ทำให้เกิดหนังโคลอมเบียที่เล่าเรื่องอันหลากหลายโดยผู้กำกับหน้าใหม่ที่ช่วยกันสร้างความคึกคักให้กับวงการที่เคยซบเซา


ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ดิอานาโปรดิวซ์เป็นหนังอิสระทุนไม่สูง “พวกเราสามารถทำงานแบบคล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด บางครั้งเหมือนกับพวกเรามาเล่นสนุกกันมากกว่า” ถึงเธอจะเล่าเช่นนั้น แต่หนังหลายเรื่องของเธอได้ไปเปิดตัวที่เทศกาลใหญ่ ๆ ในยุโรป ดิอานาบอกว่า การเปิดตัวหนังที่ต่างประเทศเป็นทางหนึ่งในการสร้างความตื่นเต้นและยกระดับความสำคัญของหนังโคลอมเบียให้คนในประเทศได้รับรู้ 


สำหรับ Memoria ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับทุนจากกองทุนและบริษัทต่าง ๆ จากกว่า 10 ประเทศ ดิอานาบอกว่า วิธีการทำหนังแบบนี้อาจจะช้ากว่า ซับซ้อนกว่า เพราะต้องใช้เงินทุนจากหลายแหล่งนำมารวมกัน แต่วิธีโปรดิวซ์หนังแบบนี้จะทำให้คนทำหนังมีอิสระและสามารถสร้างงานตามวิสัยทัศน์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ต่างจากระบบการทำงานแบบอเมริกันที่นายทุนให้เงินมาทำหนังทั้งหมด แต่มีสิทธิ์ควบคุมคนทำงานอีกที “อิสระในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หนังที่เราทำสุดท้ายแล้วต้องเป็นหนังของเรา”


Masterclass 

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

Memory of Filmmaking




กิจกรรมชั้นครูโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Memoria เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงาน โดยอภิชาติพงศ์เลือกใช้รูปแบบมาสเตอร์คลาสเป็นการสนทนากับผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยอีกสองคน ได้แก่ สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ (ซึ่งเป็นผู้ช่วยคู่บุญของอภิชาติพงศ์มายาวนาน) และ ณฐพล บุญประกอบ คนทำหนังสารดคี


เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผู้ชม เพราะในระหว่างสองชั่วโมงของการพูดคุย อภิชาติพงศ์เปิดเผยกระบวนการทำงานและวิธีคิดอย่างละเอียด โดยเฉพาะในการเตรียมงานหนังเรื่อง Memoria มีการแสดงภาพสมุดบันทึกส่วนตัว ภาพสเกตช์ รวมทั้งภาพคอนเซปต์ของวัตถุต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพยนตร์ ที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุด คือคลิปวิดีโอบันทึกการคัดเลือกนักแสดง ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ อีกทั้งยังมีคลิปในระหว่างการถ่ายทำ ขณะอภิชาติพงศ์กำลังกำกับการแสดงของ ทิลดา สวินตัน อันแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงานและการสร้างความเข้าใจในบทบาทและอารมณ์ของตัวละคร ทวีคูณความยากเข้าไปอีกตรงที่ว่าหนังเรื่องนี้มีทีมงานที่พูดภาษาสเปน และมีบทพูดที่ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและสเปน (ด้วยเหตุที่มีการเปิดเผยวัตถุดิบอันมีความเป็นส่วนตัวเหล่านี้ ทำให้งานมาสเตอร์คลาสนี้ไม่สามารถถ่ายทอดออนไลน์ได้)


อภิชาติพงศ์เริ่มต้นด้วยการพูดถึงการจดบันทึกความฝัน ว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างหนึ่งในการหาแรงบันดาลใจสำหรับภาพยนตร์ เพราะ “ความฝันเหมือนการดูภาพยนตร์แบบหนึ่ง” การจดบันทึกระหว่างการเดินทางท่องไปในโคลอมเบียก่อนหน้าจะทำหนังเรื่อง Memoria เป็นการบ่มเพาะความคิดและมองหาเรื่องเล่าจากดินแดนที่เขายังไม่คุ้นเคย ส่วนในแง่มุมสนุก ๆ อภิชาติพงศ์ยังบอกว่า เขาพิถีพิถันมากกับการเลือกปากกาที่จะใช้จดไดอารี และสามารถใช้เวลาเป็นชั่วโมงในร้านเครื่องเขียนเพื่อเลือกด้ามที่ถูกใจที่สุด


อภิชาติพงศ์พูดถึงการเลือกโลเกชัน ความชอบในบรรยากาศที่ดู “บ้าน ๆ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั้งในหนังเรื่องก่อน ๆ และใน Memoria เขายังพูดถึงการคัดเลือกนักแสดง ซึ่งนอกเหนือจากฝีมือหรือบุคลิก ผู้กำกับชาวไทยยังพูดถึงการเลือกนักแสดงจากใบหน้าและการแสวงหา “สายตานิพพาน” อันหมายถึงใบหน้าที่ชวนมองแต่แฝงด้วยความโศกเศร้าลึก ๆ เป็นใบหน้าที่ผู้ชมสามารถจับจ้องและรับรู้ถึงความรู้สึกได้เมื่อปรากฏบนจอใหญ่ อภิชาติพงศ์บอกว่านักแสดงชาวโคลอมเบียใน Memoria ทั้งทิลดาเอง และ ฆวน ปาโบล เออร์โรโก ต่างก็มีสายตาแบบนั้น ในตอนท้ายอภิชาติพงศ์ยังเล่าถึงฉากใน Memoria ที่ทีมงานเซตเพื่อถ่ายทำ เป็นฉากใหญ่ที่สุดท้ายแล้วกลับไม่ได้ถูกใช้ในหนัง ทั้งนี้เพราะ “การตัดทิ้ง” เป็นส่วนหนึ่งกระบวนการสร้างสรรค์ และในบางครั้งมันไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไมฉากบางฉากถึงถูกตัดทิ้ง และฉากอื่น ๆ ยังคงอยู่ 


ถึงแม้อภิชาติพงศ์จะเคยจัดงานชั้นครูที่หอภาพยนตร์มาแล้ว (ไม่นับ Masterclass ที่เขามีในประเทศอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน) แต่งานเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นงานชั้นครูที่ผู้กำกับชั้นนำของไทยคนนี้ เปิดกว้าง เป็นกันเอง และร่วมแบ่งปันแรงบันดาลใจกับผู้ชมอย่างเป็นที่น่าจดจำ  


--------------------------------------

สำหรับท่านที่ต้องการรับชม Masterclass ของ ดิอานา บุสตามานเต และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล รวมถึง Tilda Swinton 

ท่านสามารถมารับชมได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ที่เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00 น. - 17.00 น. (ปิดวันจันทร์)