Shara: ตัวตน เวทมนตร์ และวิญญาณนิยมของ นาโอมิ คาวาเสะ

เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

ภาพปกโดย © kumie inc. All rights Reserved.


เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2565 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก x Cinema Lecture” จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Shara ฉบับฟิล์ม 35 มม. ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ประจำปี ค.ศ. 2003 ผลงานของ นาโอมิ คาวาเสะ ผู้กำกับหญิงมือรางวัลชาวญี่ปุ่น พร้อมการบรรยายพิเศษหลังจบภาพยนตร์โดย ดร.ไกรวุฒิ จุลพงศธร อาจารย์ด้านภาพยนตร์ ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาและมีงานเขียนวิชาการเกี่ยวกับนาโอมิ คาวาเสะอย่างต่อเนื่อง


ตลอดระยะเวลากว่าสองชั่วโมง ดร.ไกรวุฒิ บรรยายถึงบริบทและรูปแบบการทำงานของนาโอมิ คาวาเสะ โดยไล่เรียงตั้งแต่ผลงานในยุคแรก ๆ จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจถึงแนวคิดที่เป็นหัวใจหลักของผู้กำกับหญิงคนสำคัญของวงการหนังญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น และนี่คือส่วนหนึ่งของสรุปการบรรยายหลังการฉายภาพยนตร์เรื่อง Shara 


(บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Shara)



ผลงาน สถานที่ และตัวตนของ นาโอมิ คาวาเสะ


แม้จะโลดแล่นบนเส้นทางการทำงานมายาวนานกว่าสามทศวรรษ แต่ผลงานของนาโอมิ คาวาเสะ กลับมีโอกาสฉายในไทยแบบวงจำกัด และเป็นที่คุ้นตาเฉพาะนักดูหนังสายเทศกาลหรือนักศึกษาสาขาภาพยนตร์ ผลงานของเธอเคยเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ในไทยเพียงแค่ 3 เรื่องเท่านั้น คือ The Mourning Forest (2007) และ Sweet Bean (2015) ที่เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น และ True Mothers (2020) ผลงานเรื่องแรกที่ได้รับการจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทย



นาโอมิ คาวาเสะ เริ่มต้นเส้นทางการทำงานจากเป็นคนทำหนังสารคดี ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้กำกับประเภทเล่าเรื่อง โดย Suzaku (1997) เป็นผลงานที่ส่งให้เธอสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้กำกับอายุน้อยที่สุดที่สามารถคว้ารางวัลกล้องทองคำ (Caméra d'Or) หรือรางวัลยอดเยี่ยมที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์มอบให้แก่ผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับหน้าใหม่ 


นาโอมิ คาวาเสะ เกิดและเติบโต ณ เขตการปกครองนาระ เมืองที่ในอดีตเมื่อกว่าหนึ่งพันปีก่อน เคยได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ด้วยความที่เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ผลงานในยุคแรก ๆ ของเธอ จึงมักขับเน้นประเด็นความปรัมปรา วัฏจักรชีวิต และการเวียนว่ายตายเกิด โดยขับกล่อมผ่านทัศนียภาพอันอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ไพศาลของธรรมชาติที่ล้อมรอบจังหวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสำรวจรากเหง้าของพื้นที่กำเนิดของตัวเธอเองอีกด้วย ทั้งจากเรื่อง Suzaku (1997), Firefly (2000), Shara (2003), The Mourning Forest (2007) และ Hanezu (2011)  


หลังจากนั้น นาโอมิ คาวาเสะ ได้ขยายขอบเขตการทำงาน โดยเดินทางไปสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ณ เมืองอื่น ๆ ทว่ายังคงไว้ซึ่งประเด็นที่เป็นหัวใจหลักของผลงาน เช่น เรื่องราวความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มนุษย์กับธรรมชาติ ความรักของหนุ่มสาว การเรียนรู้สัจธรรมชีวิตผ่านสิ่งมหัศจรรย์ที่อยู่ในธรรมชาติ อาทิ Nanayo (2008) ผลงานที่เธอเดินทางมาถ่ายทำที่ประเทศไทย Still the Water (2014) ผลงานที่สำรวจเรื่องราวของบรรพบุรุษซึ่งมีรากเหง้าจากเกาะแห่งหนึ่ง Sweet Bean (2015) เรื่องราวการเรียนรู้คุณค่าของชีวิตผ่านกรรมวิธีการทำขนมโดรายากิไส้ถั่วแดง เป็นต้น

 


การมาถึงของ นาโอมิ คาวาเสะ ถือได้ว่าสร้างความแตกต่างแก่วงการหนังญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ทั้งจากบทบาทการเป็นผู้กำกับหญิงที่ทำงานแบบอิสระ เปิดบริษัทหนังเป็นของตัวเองและได้รับเงินทุนหลักบางส่วนจากค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างชาติ รวมทั้งการเป็นคนทำหนังจากภูมิภาคที่ไม่ได้เป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรม ซึ่งในอดีตภาพรวมของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น มักมีภาพจำเป็นภาพของผู้กำกับชายที่ทำงานภายใต้ระบบสตูดิโอจากเมืองใหญ่ ๆ อย่างโตเกียวหรือโอซากา และถึงแม้ว่าในช่วงหลังจะมีจำนวนของผู้กำกับหญิงญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยลายเซ็นที่ชัดเจนที่ปรากฏผ่านผลงานต่าง ๆ ตลอดจนสถานะพิเศษบางอย่างที่เธอเรียกแทนตัวเองว่า “เป็นคนทำหนังจากเมืองนาระ” จึงทำให้เธอโดดเด่น แตกต่าง และยังคงได้รับความสนใจจากแวดวงภาพยนตร์โลกอยู่เสมอ       


Shara  และงานภาพที่เปรียบดั่งการร่ายเวทมนตร์สะกด

 

© kumie inc. All rights Reserved.


หนึ่งในสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ Shara ที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ผ่านหลาย ๆ ฉาก โดยเฉพาะฉากเต้นรำในเทศกาลชาระประจำปี ฉากสำคัญที่ถ่ายแบบลองเทก (Long Take) ในช่วงท้ายเรื่อง คืองานภาพ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดผ่านกล้องที่เคลื่อนไหวในลักษณะแฮนด์เฮลด์เกือบทั้งเรื่องของ ยูตากะ ยามาซากิ ผู้กำกับภาพมากประสบการณ์ ผู้เคยฝากผลงานเด่น ๆ อย่าง After Life (1999) และ Distance (2001) ผลงานกำกับของ ฮิโรคาสึ โคเรเอดะ


กลวิธีในการสร้างภาพของ นาโอมิ คาวาเสะ ใน Shara คือการสานต่อแนวทางการเล่าเรื่องในลักษณะสัจนิยม ด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องอย่างสารคดี เพื่อบันทึกภาพให้ใกล้เคียงต่อความเป็นจริงมากที่สุด โดยเลือกใช้ภาพแบบลองเทก และให้กล้องอยู่ในระดับหัวไหล่ ด้านหลัง หรือด้านข้างของนักแสดง เพื่อสร้างอารมณ์ให้ผู้ชมจดจ่อและเฝ้าสังเกตตัวละครไปตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งจะมีโอกาสน้อยครั้งมาก ๆ ที่กล้องจะถ่ายเข้าไปให้เห็นตัวละครแบบชัด ๆ ซึ่งต้องเป็นจังหวะที่สำคัญมาก ๆ 


โดยเฉพาะกับฉากสำคัญของเรื่องอย่างฉากเปิดที่ตัวละครชุนและเคย์ วิ่งไปตามตรอกซอกซอยของหมู่บ้าน การที่กล้องเคลื่อนไหวไปตามจังหวะสัมผัสของตัวละคร ขณะที่ตัวละครใช้มือแตะไปตามกำแพงหรือเสาไฟฟ้าในย่านที่ตัวเองอาศัย ราวกับเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งหรือเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวละคร สิ่งนี้คือสิ่งที่คาวาเสะพยายามนำเสนอให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมข้าง ๆ กับตัวละครไปตลอดเวลา จนทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ตัวละครต้องเผชิญ เสมือนว่าเราอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับตัวละครและเห็นโลกของพวกเขาทั้งใบ  

 

© kumie inc. All rights Reserved.


ขณะเดียวกัน ความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือสายตาของกล้องที่ไม่ได้เจาะจงไปที่ร่างกาย วัตถุ เพศ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะแตกต่างจากงานเรื่องอื่น ๆ ของผู้กำกับหญิงที่ผู้ชมส่วนหนึ่งมักจะท่องเป็นสูตรว่า หนังของผู้กำกับหญิงมักจะมีสายตาแบบ Female Gaze ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับ Male Gaze แต่หนังเรื่อง Shara ไม่ใช่อย่างนั้น บรรดาซีนสำคัญต่าง ๆ ที่อยู่ในหนัง มักจะเป็นซีนที่เกี่ยวกับการมารวมตัวกันของคนกลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งการรวมตัวกันนี้ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าสามารถทำให้ตัวละครก้าวข้ามผ่านความเจ็บปวดและเดินหน้าได้ต่อไป 


สิ่งที่น่าสนใจ คือหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีมุมมอง (Point of View) แทนตัวละครใดตัวละครหนึ่งเป็นพิเศษ บางช็อตก็จะมีช็อตที่ลอยอยู่บนฟ้า หรือมีการปรับความเร็วของภาพให้ช้าลง เป็นความคลุมเครือที่คาวาเสะเล่นกับภาพ ซึ่ง ดร.ไกรวุฒิ ได้นำเสนอว่า ภาพยนตร์เรื่อง Shara นั้น มีมุมมองแบบภาพยนตร์ (Kino Eye) ของมันเอง คือ มีทั้งมุมมองแบบสารคดี (Documentarian) เป็นทั้งหนังเล่าเรื่อง (Fictional) บทกวี (Poetic) มีความเป็นมนุษย์ (Human) รวมทั้งความเป็นวิญญาณ (Animistic) อยู่ในนั้น เป็นมุมมองที่หนังกำหนดให้คนดูมองผ่านสายตาภาพยนตร์ของมัน และกลายเป็นสิ่งที่โดดเด่นมาก ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ 


วิญญาณนิยมในภาพยนตร์ของคาวาเสะ

 

ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง Hanezu (2011)

© kumie inc. All rights Reserved.


องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ปรากฏในผลงานแทบทุกเรื่องของ นาโอมิ คาวาเสะ คือกลิ่นอายเรื่องความเชื่อและไสยศาสตร์ ดร.ไกรวุฒิ ได้นำกรอบแนวคิดเรื่อง “วิญญาณนิยม” หรือ “Animism” มาใช้อธิบายถึงผลงานเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะกับ Shara ที่มีเนื้อเรื่องหลักว่าด้วยการหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาของตัวละครหนึ่ง


“วิญญาณนิยม” ตามความหมายของพจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ด หมายถึง “ความเชื่อว่า พืช วัตถุ และสิ่งธรรมชาติ เช่น ภูมิอากาศนั้นมีวิญญาณอาศัยอยู่ หรือความเชื่อว่ามีพลังที่จัดการและควบคุมจักรวาลนั้น” โดยความเชื่อประเภทนี้ มีพื้นฐานมาจากแนวคิดแบบลัทธิความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ชินโต” ซึ่งเชื่อว่ามีเทพหรือวิญญาณสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ใบหญ้า อันเป็นสิ่งที่คาวาเสะนำเสนอแบบเน้นย้ำอยู่เสมอผ่านงานภาพในหนังของเธอเกือบทุกเรื่องว่า ทุก ๆ อย่างราวกับมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเพียงแค่หยดน้ำ แสงแดดของพระอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งลมที่พัดใบไม้ไหว  


ดร.ไกรวุฒิ อธิบายเสริมว่า วิญญาณนิยมในหนังของคาวาเสะ สามารถแบ่งออกได้อีกสองแนวคิด คือ วิญญาณนิยมในภาพยนตร์ (Cinematic Animism) กล่าวคือ การใช้ภาษาของภาพยนตร์เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงชีวิตของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีผู้ศึกษาศาสตร์ด้านนี้มาตั้งแต่ยุคภาพยนตร์แรกเริ่มในช่วงปี ค.ศ. 1910-1920 โดยมองว่าภาพยนตร์เป็นสื่อที่ปลุกชีพสิ่งที่มันถ่ายขึ้นมา หากในชีวิตจริง เราเดินผ่านดอกไม้เฉย ๆ ก็จะเป็นเพียงแค่ดอกไม้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เลนส์ของกล้องไปถ่ายเจาะจงที่ดอกไม้ ดอกไม้นั้นก็เหมือนมันมีชีวิตขึ้นมา อย่างเช่นในเรื่อง Shara ที่ได้ดูไป ภาษาภาพที่ตากล้องถ่าย เขาถ่ายเหมือนสิ่งของทุกอย่างที่อยู่บนจอมันมีชีวิตจริง ๆ เป็นความพยายามของคาวาเสะในผลงานทุก ๆ เรื่อง ที่พยายามออกแบบให้สิ่งที่ปรากฏอยู่บนจอ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เสมือนมันมีลมหายใจและมีชีวิตอยู่ข้างในนั้น


ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง The Mourning Forest (2007)

© kumie inc. All rights Reserved.


ส่วนแนวคิดที่สอง คือวิญญาณนิยมใหม่ (New Animism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นักมานุษยวิทยาหันไปหาแนวคิดหรือความเชื่อดั้งเดิมตามประเพณีนิยม โดยมองหาแง่บวกของวิญญาณนิยมภายใต้สังคมร่วมสมัย เพื่อนำมาต่อกรและท้าทายกับแนวคิดของโลกสมัยใหม่ ต่างจากการมองแบบสมัยก่อนที่มองว่าเป็นเรื่องที่งมงายหรือคร่ำครึ รวมทั้งเป็นแนวคิดที่ใช้เพื่อทำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะเคารพผู้อื่น ไม่ว่าผู้อื่นนั้นจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ตาม เช่น การสั่งห้ามตัดต้นไม้ทำลายป่า เนื่องจากป่านี้เป็นป่าที่ชาวบ้านกราบไหว้บูชา ก็จะนำแนวคิดนี้มาโต้ตอบกับพวกเหล่านายทุนที่จะแปรรูปต้นไม้ในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งในหนังของคาวาเสะหลาย ๆ เรื่อง จะมีตัวละครยกประเด็นพวกนี้ตอบโต้หรือต่อรองกับการมีชีวิตแบบใหม่ ๆ ของสังคมร่วมสมัย เช่น ตัวละครในเรื่อง Shara แม้จะเผชิญกับปัญหาที่ไม่ใช่เชิงทุนนิยมอะไร เป็นเรื่องสากลอย่างการสูญเสีย แต่ตัวละครก็ใช้แนวคิดแบบวิญญาณนิยม เพื่อให้ตัวเองก้าวข้ามผ่านอุปสรรคและเดินหน้าต่อไปได้ในโลกสมัยใหม่ อย่างเช่น การเต้นรำในประเพณีท้องถิ่น การอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตาตอนคลอดลูก หรือการที่ตัวละครพ่อเขียนหมึกตัวอักษรคำว่า Darkness และ Light 


แนวคิดวิญญาณนิยมนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเป็นเอกลักษณ์มาก ๆ จนกลายเป็นจุดเด่นทั้งในแง่ของสไตล์และเนื้อหา ในผลงานแทบทุกเรื่องของ นาโอมิ คาวาเสะ เป็นแนวคิดที่เธอเชื่อและเคารพเรื่องพวกนี้จริง ๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่เธอได้มาจากยายของตัวเอง 

 

© kumie inc. All rights Reserved.


“ยายคือคนที่สอนให้ฉันเคารพ พระอาทิตย์ ไฟ และอาหาร ฉันถูกเลี้ยงมาให้เชื่อในความสัมพันธ์แบบเวทมนตร์กับธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบตัวฉัน ฉันยังเคารพต่อทุก ๆ สิ่งที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ในแง่หนึ่งความคิดเหล่านี้ คือผลผลิตจากประสบการณ์ของยาย มันคือสิ่งที่สร้างฉันขึ้นมา” 


“มนุษย์เป็นเพียงตัวประกอบในภาพยนตร์ของฉัน ฉันนำเสนอธรรมชาติให้รับบทบาทหลัก เพราะฉันต้องการให้ผู้ชมรับรู้ถึงความรู้สึกว่า ธรรมชาติกำลังให้พรกับเรา หรือทำให้เราหวาดกลัว ซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกแบบที่มนุษย์ในอดีตรู้สึกถึงธรรมชาติ ฉันอยากให้ผู้ชมเข้าใจ ถึงการอยู่เคียงคู่กันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติในหนังของฉัน”




หมายเหตุ - ภาพยนตร์เรื่อง Shara ฉบับฟิล์ม 35 มม. จะจัดฉายอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2565 เวลา 15.35 น. ณ โรงภาพยนตร์ House Samyan ห้างสรรพสินค้า Samyan Mitrtown ติดตามรายละเอียดการฉายได้ที่ https://www.facebook.com/housesamyan