อรรถพร ไทยหิรัญ "คนจร ฯลฯ" ที่มาก่อนกาล

เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ 


ศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2565 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมภาพยนตร์สโมสร “คิดถึง คนจร ฯลฯ - 10 ปี อรรถพร จรจากไกล” จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง คนจร ฯลฯ ฉบับฟิล์ม 35 มม. ภาพยนตร์ที่ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญให้แก่วงการภาพยนตร์ไทย ทั้งการเป็นหนังทุนอิสระที่มีดาราร่วมแสดงอย่างคับคั่ง และเป็นหนังนอกกระแสเรื่องแรก ๆ ที่ได้โอกาสฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องสุดท้ายของอดีตนักแสดงเด็ก อรรถพร ไทยหิรัญ 


หลังจบภาพยนตร์ ได้มีการร่วมพูดคุยกับ ยุวดี ไทยหิรัญ ผู้เป็นทั้งแม่และผู้อำนวยการสร้าง รวมทั้งเป็นผู้มอบฟิล์มคนจร ฯลฯ ให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์ และ นาตยา ทองก้อน ผู้จัดการกองถ่าย ถึงที่มาที่ไปและเบื้องหลังการถ่ายทำของภาพยนตร์เรื่องนี้ และนี่คือส่วนหนึ่งของการสนทนาในวันนั้น  


จากนักแสดงเด็กมากฝีมือสู่คนทำหนังไอเดียบรรเจิด


ภาพ: อรรถพร ไทยหิรัญ ในบทของ “อะเดล” จากภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ (2528) 


“อู๋เข้าสู่วงการครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง น้ำพุ (2527) ได้รับการคัดเลือกจากคุณยุทธนา มุกดาสนิท แล้วไปเรียนคอร์สการแสดงต่อกับ อ.รัศมี เผ่าเหลืองทอง แรก ๆ ส่วนตัวยุเองไม่สนับสนุนให้เขาเข้าวงการ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงที่เขากำลังจะสอบเข้าช่างภาพ และรู้อยู่แล้วว่าถ้าลองเล่นหนังหรือเข้าวงการตั้งแต่เด็ก อาจจะมีอะไรบิดเบี้ยวไปตามวันเวลา และคิดว่าการทำงานในวงการนี้มันค่อนข้างเหนื่อย อยากให้เขาเรียนหนังสือให้จบก่อน จะทำอะไรต่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พอได้เล่น น้ำพุ หลังจากนั้นก็ยาวเลย” ยุวดี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการแสดงหนังของอรรถพร ซึ่งขณะนั้นเขามีชื่อเดิมว่า ปุยฝ้าย ไทยหิรัญ  


ผีเสื้อและดอกไม้ น่าจะเป็นงานที่ทำให้เขารู้สึกเพลิดเพลินกับการแสดงมากที่สุด มีคนเขียนชื่นชมการแสดงของเขาลงหนังสือพิมพ์เยอะ หลังจากนั้นก็มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ ตอนนั้นมีโอกาสได้ไปดูการทำงานที่กองถ่ายบ้าง ซึ่งที่กองเขาจะถ่ายกันแบบสมจริง มีการให้มุดเข้าไปใต้ท้องรถไฟและต้องรีบคลานออกมาขณะที่รถไฟเคลื่อนที่ ด้วยความที่เขาเป็นคนสนุกสนานเฮฮาอยู่แล้ว จึงคิดว่าเขาน่าจะชอบงานแสดง และจากการที่เขาไปกองถ่ายกับยุตั้งแต่เด็ก ๆ คงจะมีการเก็บเล็กผสมน้อย จนสั่งสมเป็นความชอบของตัวเองไปเรื่อย ๆ” ยุวดีกล่าวเสริมถึงการทำงานของอรรถพรในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ (2528) ผลงานที่สร้างชื่อให้กับอรรถพรในบทของอะเดล


“อู๋เขาเป็นคนดูหนังหลายแบบ ตอนอยู่ด้วยกันก็จะมีแลกเปลี่ยนกัน เพราะเราอยู่ด้วยกันแค่สองคน ตอนเด็ก ๆ ไปดูหนังที่โรงด้วยกันตลอด แต่พอโตขึ้น เขาก็ไม่ชวนเราแล้ว ล่าสุดที่จำได้ว่าเคยแนะนำให้ยุดู คือเรื่อง Memento ยุอาจไม่ได้ชี้นำช่องทางในการทำงานให้เขา เพราะเราเห็นทุกอย่างในกองถ่ายมาด้วยกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กลัวที่สุดคือ กลัวการสนับสนุนเขามากกว่า เพราะถ้าเราสนับสนุนเขามากเกินความสามารถที่เขามี มันจะทำลายชีวิตเขาเปล่า ๆ ถ้าเขาอยากได้ เขาต้องฝ่าฟันไปเอง อย่างการทำหนังเรื่อง คนจร ฯลฯ ตอนนั้นอู๋เขาอยู่อังกฤษ เรียนคอร์สฟิล์มสั้น ๆ อยู่ที่นั่น เขาก็โทรมาว่า อู๋น่าจะทำได้แล้วนะ คนอื่นเขาก็ทำกันได้แล้ว”


“ตอนนั้นอู๋เขาบอกว่า อยากเล่าเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งประมาณนี้ ยุเลยบอกว่าที่ออฟฟิศมีเรื่องเยอะแยะเลย อู๋ลองเอาไปอ่านดูก่อน ตอนนั้นส่งไปให้เขาดูสองเรื่อง คือ “ความรักคือยาพิษ” กับ “คนจร” เขาบอกเขาชอบเรื่องหลังมากกว่า ตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า “คนจรหมอนหมิ่น” เป็นบทที่คุณชูชัย องอาจชัย และคุณวิลักษณา เขียนขึ้นมา พอเขาเอาไปพัฒนาต่อ เขาบอกว่าจะตัดเหลือแค่คำว่า “คนจร” ได้ไหม ซึ่งไอเดียแรกของบทเรื่องนี้ เป็นไปตามตอนจบในหนัง ที่ต้องการสื่อถึงความไม่พอดีของคนในสังคม การเอารัดเอาเปรียบที่แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเอาเปรียบคนไร้บ้านหรือคนที่สติไม่ดี ความหมายที่คิดในบทร่างแรกคือแค่นี้ นอกนั้นเขาก็ไปจินตนาการต่อของเขาเอง”


 

ภาพ: ฉากเปิดของภาพยนตร์เรื่อง คนจร ฯลฯ (2542) 


ก่อนจะมาเป็นผลงานอันแสน “พิเศษ” และ “มาก่อนกาล” 


แม้จะได้รับการขนานนามว่าเป็นภาพยนตร์ไทยนอกกระแสเรื่องแรก ๆ ที่ได้โอกาสฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป แต่ก่อนหน้านี้ยุวดีได้พยายามนำ คนจร ฯลฯ ไปเสนอขายตามค่ายหนังต่าง ๆ แต่ท้ายสุดก็ได้รับคำปฏิเสธกลับมา “เขาบอกว่างานที่อู๋ทำไม่ตอบโจทย์ผลประโยชน์ของเขามาก เลยขอไม่ซื้อดีกว่า ยุคิดว่ายังไงมันก็ต้องทำให้จบอยู่แล้ว ตัวเลขจึงลากไปใกล้ ๆ สิบล้าน แม้ผู้ซื้อจะกลัว แต่เราก็ต้องทำงานนี้ให้สำเร็จไปด้วยดี ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไงก็ตาม”



ภาพ: เร แม๊คโดแนลด์ ในบทของ “แดง” จากภาพยนตร์เรื่อง คนจร ฯลฯ (2542) 


แม้การเล่าเรื่องของอรรถพรใน คนจร ฯลฯ จะมีลักษณะด้นสดและเลื่อนไหลราวกับว่า ไม่จำเป็นต้องใช้บทสำหรับการถ่ายทำ แต่จริง ๆ แล้ว บทภาพยนตร์ของ คนจร ฯลฯ มีการบอกเล่าเรื่องราวอย่างละเอียด โดยยุวดีกล่าวอธิบายในส่วนนี้ว่า “บทเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดมีประมาณเกือบร้อยหน้า แต่ก็เข้าใจว่าการทำหนังหรือละครอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ออกมาส่วนใหญ่ส่วนจะมาจากจินตนาการของผู้กำกับ ตอนนั้นยุเห็นหนังก็รู้สึกว่าแปลก ๆ นะ ซึ่งพูดไม่ได้เพราะเราให้บทเขาไปแล้ว เขาก็ต้องทำให้สำเร็จ แม้มันจะแปลกจากคนอื่น แต่ไม่รู้สึกตกใจในส่วนของเนื้องาน จะตกใจเรื่องที่เงินเริ่มหมดบัญชีมากกว่า (หัวเราะ)” 


“ด้วยอาชีพของเรา จะเห็นคนที่เด็กกว่าเราตลอดเวลา พวกแนวคิดไม่จำเป็นต้องมาคิดแบบเราหรอก จะถูกหรือผิด เราไม่ใช่คนตัดสิน ถ้าหนังได้เงิน เขาก็สามารถเดินต่อไปได้ และถึงแม้หนังจะไม่ได้เงิน อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้ว่า คน ๆ นี้คือคนที่ทำหนังเป็น แม้จะไม่มีอะไรการันตี ไม่ว่าจะใบประกาศนียบัตรว่าเขาจบที่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เขามี คือเขามีวิชาชีพที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เด็กจนโต เรื่อง คนจร ฯลฯ นี่เป็นเหมือนประกาศนียบัตรส่วนตัวของเขาว่า ในรสนิยมและความชอบของเขา เขาสามารถทำแบบที่เขาต้องการได้จริง ๆ”



ภาพ: ยุวดี ไทยหิรัญ


บรรยากาศในกองถ่าย คนจร ฯลฯ


อีกหนึ่งวิทยากรในวันนั้น คือ นาตยา ทองก้อน ผู้จัดการกองถ่าย ผู้เคยมีประสบการณ์ทำงานในกองถ่ายละครกับยุวดีมาก่อน โดยนาตยาได้ร่วมแบ่งปันความทรงจำถึง คนจร ฯลฯ ว่า “จริง ๆ ก่อนหน้านี้ทำละครมาโดยตลอด อาจเคยไปช่วยอายุตอนทำเรื่อง ต้องปล้น พอพี่อู๋จะทำเรื่องนี้ อายุเลยปล่อยให้ไปทำเลย ด้วยความที่รู้จักกับพี่อู๋ตั้งแต่เข้ามาทำงานแรก ๆ แล้ว และเราก็เป็นเหมือนน้องสาวเขา พอเห็นนักแสดงในเรื่อง ก็งงเหมือนกันว่าเขาหามาได้ยังไง อาจจะรู้จักแค่บางคน เช่น พี่นก-ฉัตรชัย, ปูเป้-รามาวดี, เม้าท์ซี่-เบญจวรรณ, อาสุเชาว์, อาไกรลาศ ส่วนเร นี่รู้แค่ว่าเขาเป็นเพื่อนรุ่นน้องของพี่อู๋ คนอื่น ๆ รอบตัวนี่ไม่รู้จักเลย ไม่ว่าจะ ส้ม-อมรา หรือป้ากมล ฉัตรเสน ตอนนั้นคือกลัวมาก ไม่เคยบอกอายุเลยว่า เหมือนอายุผลักเราลงไปทะเลเลย (หัวเราะ) ซึ่งเวลาเรากลัว เราก็จะนิ่ง เมื่อเรานิ่ง ทุกคนก็ไม่กล้าพูดกับเราแล้ว”


ภาพ: นาตยา ทองก้อน (ซ้าย) และ ยุวดี ไทยหิรัญ (ขวา)


“ด้วยความที่เรายังเด็ก ตอนทำงานก็จะงง ๆ ว่า มุมกล้องอะไรของมัน เอะอะ ๆ ก็ POV อะไร ๆ ก็ POV (Point of View หรือมุมกล้องที่แทนสายตาของตัวละคร ขณะเกิดเหตุการณ์บางอย่าง - ผู้เรียบเรียง) พอเป็นทุกวันนี้ ทุกคนก็ใช้มุมกล้องแบบนี้กันหมด ไหนจะ Steadicam ที่เขาใช้ กล้องที่เขาเหวี่ยง ในวันนั้นที่เราเด็ก บางอย่างเราอาจจะไม่เข้าใจเขา แต่ส่วนหนึ่งที่เรารู้ คือรู้ว่าเขาเป็นคนเก่ง และหนังเรื่องนี้ คือสิ่งเขารีดความสามารถของเขาเอาออกมาใช้หมดแล้ว ตอนทำงานมันอาจจะหนักนิดหน่อย เพราะมันมีแต่ซีนกลางคืน ซึ่งถ่ายต่อเนื่องกันทุกวันเกือบสิบวัน เริ่มตั้งแต่สี่โมงเย็น เลิกหกโมงเช้า แต่มันก็เต็มไปด้วยความสนุก แม้จะมีบางเรื่องที่ทำให้เราต้องหยุดถ่ายกลางคัน แต่โชคดีตรงที่ผู้ใหญ่นั้นรักพี่อู๋ เพราะเขาคุยได้กับทุกคน เขาเป็นคนนอบน้อม งานที่ออกมาดีเพราะทุกคนช่วยเหลือเขา อย่างงานออกแบบเสื้อผ้า ใครจะไปคิดว่าคนทำคือ พี่โหน่ง-ปริญญา มุสิกมาศ ซึ่งใน พ.ศ. นั้น คือดังมาก ยุคเก้าศูนย์ นี่เขาคือเบอร์หนึ่งของวงการเลย ตอนนั้นไปบ้านพี่โหน่ง เพื่อเลือกเสื้อผ้าด้วยกัน เราก็งงว่า ตำรวจอะไรทำไมต้องใส่ชุดสะท้อนแสงเลื่อม ๆ สีทอง ไหนจะเรื่องกล้องที่เขาได้เบอร์ใหญ่ ๆ อย่างพี่ระวิ และพี่เดชา ซึ่งพี่อู๋ ก็คุยกับพี่ ๆ ทั้งสอง เรื่องมุมกล้องต่าง ๆ ว่าอยากได้แบบนี้ ๆ นะ ถึงเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่โตจากพวกเรามาก แต่เขาก็ฟังและทำตามที่พี่อู๋ขอทุกอย่างเลย ทั้งมุมกล้อง POV หรือมุมกล้องแบบ CCTV การออกกองถ่ายเรื่องนี้ ถือว่าได้ประสบการณ์มาก ๆ”



ภาพ: เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกแบบโดยนักออกแบบเครื่องแต่งกายชื่อดัง ปริญญา มุสิกมาศ 


“สำหรับปัญหาระหว่างการกำกับนักแสดงน่ะมีแน่ ๆ แต่คนที่พี่อู๋เอามาเล่นเป็นกลุ่มที่เขารู้จักกันอยู่แล้ว เวลาพูดอะไรเขาก็จะมองไปในทางเดียวกัน อย่างคนที่เป็นแรงงานต่างด้าว เขาก็อยู่ในแก๊งพี่อู๋ คือเราก็สงสัยว่า คนที่ไม่เคยแสดงหนัง มันจะเล่นได้เหรอ มันจะราบรื่นไหม แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี เพราะความเป็นธรรมชาติที่พี่อู๋ไปคุยกับเขา นักแสดงในเรื่องเลยไม่ได้เกิดความเกร็งเวลาถ่าย ส่วนเบอร์ใหญ่ ๆ อย่าง พี่นก-ฉัตรชัย หรือ อาสุเชาว์ นี่เขาก็สนิทกับพี่อู๋อยู่แล้ว เคยทำละครเรื่อง “คำมั่นสัญญา” ด้วยกันที่ค่ายยูม่า ส่วนวิธีการกำกับนั้นของพี่อู๋นั้น เกิดจากอะไรหลายอย่าง ทั้งจากการบรีฟของพี่อู๋เอง หรือเกิดจากบุคลิกและธรรมชาติของนักแสดงคนนั้น ๆ เช่นตัวละครที่ชื่อ “แดง” ของเร ก็เกิดจากการผสมกันของสองสิ่งนี้”


03.45 น. ผลงานลำดับถัดมาที่ไม่ได้ถูกสร้าง 



ภาพ: เร แม๊คโดแนลด์ จากตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง 03.45 น. ผลงานที่ไม่ได้ถูกสร้างของ อรรถพร ไทยหิรัญ 


ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่อง คนจร ฯลฯ จะไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ แต่อรรถพรมีความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์ผลงานลำดับถัดมาในชื่อ 03.45 น. โดยยุวดีได้เล่าถึงโครงการภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “อู๋เขามาคุยบอกว่าอยากทำหนังเรื่อง 03.45 น. ยุเลยบอกให้เขาทำบทมาให้ดูก่อน เขาก็ไปชวนคนนั้นคนนี้มาคุย ยุก็แนะนำไปบ้าง ซึ่งก็ไม่ถูกใจอู๋เขาสักที จากนั้นเขาก็มาขอเงินไปทำทีเซอร์ ยุก็บอกเขาไปตามตรงว่า การที่ คนจร ฯลฯ ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ เป็นเรื่องยากมากที่จะหาเงินก้อนที่สองตามที่เขาต้องการ อู๋ก็รับฟังแล้วบอกว่า ถ้าทำบทเสร็จแล้ว แม่ก็ลองเอาไปขายดูก่อน เดี๋ยวเราค่อยเริ่มทำก็ได้ พอวันเวลาผ่านไป อู๋ไปช่วยงานยุที่กองถ่ายบ้าง ไปเที่ยวบ้าง ไปหาประสบการณ์ในชีวิตบ้าง ซึ่งอู๋เขาก็จะบอกเสมอว่า การที่อู๋ไม่ได้เรียบจบอะไรมา แม่ไม่ต้องเสียใจหรอก เพราะที่อู๋ใช้เงินไป มันเป็นความรู้มากมายที่อู๋ได้มา จนกระทั่งเขาเสียชีวิตไป”


อรรถพร ไทยหิรัญ ในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจสำคัญแก่คนทำหนังรุ่นหลัง


 

ภาพ: อรรถพร ไทยหิรัญ ขณะถ่ายทำภาพยนตร์ 


ในช่วงถามตอบช่วงท้ายของกิจกรรม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมถามคำถามหรือแชร์ความรู้สึกถึง คนจร ฯลฯ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ผู้กำกับหนังไทยอิสระที่มีผลงานออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติมาแล้วหลายแห่ง คือหนึ่งในผู้ชมที่ได้ร่วมแบ่งปันความทรงจำถึงอรรถพร ไทยหิรัญ ในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจสำคัญแก่เขา โดยธัญสก เล่าว่า “ผมเป็นแฟนหนังของพี่อู๋มาตั้งแต่มัธยม เวลานั้นผมทึ่งมาก ๆ ว่า ประเทศไทยมีหนังแบบนี้ด้วย มันล้ำมาก ขณะที่เราพูดถึงเรื่อง นางนาก, ฝัน บ้า คาราโอเกะ หรือว่า เรื่องตลก 69 แต่ คนจร ฯลฯ คือยิ่งใหญ่มาก มันพูดเรื่องชนชั้น เรื่องการต่อสู้ หรือความเป็นชาติที่หลากหลาย ซึ่งจนบัดนี้ไม่เคยเจอหนังเรื่องไหนที่เล่าได้ล้ำแบบนี้มาก่อน ตอนมัธยมผมดูเรื่องนี้ทุกรอบที่เทศกาล Bangkok Film Festival จำได้ว่ามีคนดูอ้วกด้วย เพราะกล้องมันเหวี่ยงมาก เป็นตำนานมากว่า เป็นหนังไทยที่คนดูแล้วอ้วก แต่ทุกครั้งที่ดูเรื่องนี้ จะรู้สึกว่าเราไม่สามารถเจออะไรแบบนี้ได้อีกแล้ว”



ภาพ: อรรถพร ไทยหิรัญ ขณะให้สัมภาษณ์ในงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง คนจร ฯลฯ ณ เทศกาลภาพยนตร์ Bangkok Film Festival วันที่ 19 กันยายน 2542 


“ต่อมาตอนเข้าเรียนที่จุฬาฯ พอเข้าปีหนึ่งปุ๊บ จะจัดฟิล์มคลับ ผมก็นึกถึงหนังเรื่องนี้ก่อนเลย อยากนำมาฉายที่มหาวิทยาลัยมาก ตอนที่ไปขอหนังมาฉายและได้เจอพี่อู๋ ก็บอกพี่อู๋ว่า ถ้าพี่จะทำหนังเรื่องต่อไป ผมอยากร่วมงานกับพี่นะ ตอนนั้นพี่อู๋กำลังจะทำเรื่อง 03.45 น. เขามีถ่ายโปสเตอร์ที่ตรงทางใต้ดินของจุฬาฯ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ทำให้รู้จักเขามากขึ้น”


“คือผมแค่อยากจะบอกคุณยุวดีว่า แม้เขาจะเรียนไม่จบ หรืออาจมองว่าเขาไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่เขาเป็นแรงบันดาลใจอย่างมากให้กับหลาย ๆ คน อยากให้ภูมิใจในตัวเขา”




ภาพยนตร์เรื่อง คนจร ฯลฯ จะจัดฉายอีกครั้งในเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 เวลา 15.30 น. วันครบรอบ 10 ปีที่ อรรถพร ไทยหิรัญ ได้จรจากไกล สำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/view/1480


ชมบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ที่ https://fb.watch/evvl8_X7Gu/