รำลึกหลังฉาก “มือปืน” กับ รณ ฤทธิชัย และ ชาลิตา ปัทมพันธุ์

โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2565 หอภาพยนตร์ได้มีโอกาสต้อนรับ รณ ฤทธิชัย และ ชาลิตา ปัทมพันธุ์ นักแสดงภาพยนตร์ไทย ที่ได้เดินทางมาร่วมสนทนาหลังการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง มือปืน ที่ทั้งคู่ร่วมแสดงนำ 


มือปืน ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2526 ภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นผลงานการกำกับที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดเรื่องหนึ่งของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ “ท่านมุ้ย” ผู้กำกับคนสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย และยังถือเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของ สรพงศ์ ชาตรี พระเอกผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทั้งร่วมอำนวยการสร้างและรับบทบาทหลักเป็น จ่าสมหมาย อดีตทหารผ่านศึกขาพิการ ผู้ประกอบอาชีพช่างตัดผมบังหน้า แต่เบื้องหลังกลับเป็น “มือปืน” ฆ่าคนเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว โดยการจัดฉายครั้งนี้ เป็นการฉายเนื่องในโปรแกรมรำลึกการจากไปของ สรพงศ์ ชาตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา 


การร่วมงานครั้งแรกกับท่านมุ้ย


 


มือปืน เป็นผลงานเรื่องแรกที่ รณ ฤทธิชัย ได้ร่วมงานกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า จริง ๆ แล้ว เขาได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านมุ้ย และคลุกคลีอยู่กับสรพงศ์ในวัง มาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2520 รวมทั้งเคยถูกมอบหมายให้ไปฝึกดำน้ำ เพื่อเตรียมถ่ายทำเรื่อง ใต้ฟ้าสีคราม แต่สุดท้ายไม่ได้สร้าง ระหว่างนั้น เขาได้มีผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นออกฉายจนเป็นที่รู้จัก เช่น คนกลางแดด (2522) นายฮ้อยทมิฬ (2523) ฯลฯ ก่อนจะถูกท่านมุ้ยเรียกตัวให้มารับบท สารวัตรธนู นายตำรวจเจ้าของฉายา “ไอ้มือดำ” ตัวละครสำคัญ ผู้เป็นคู่ตรงข้ามกับจ่าสมหมาย ในภาพยนตร์เรื่อง มือปืน 

“ตอนที่ถ่ายเรื่อง มือปืน ผมอยู่กับท่านตั้งแต่ตอนที่เขียนบท ท่านเอาคาแรคเตอร์ของสารวัตรมือปราบจริงๆ สามคน มารวมกันตอนที่ท่านเขียนบทสารวัตรธนู” รณ ฤทธิชัย กล่าว


“หนังของท่านไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตามแต่ ตอนที่เขียนบทท่านก็พยายามที่จะเอาส่วนหนึ่งของชีวิตจริงของตัวละครมาใส่ แล้วก็ให้คนที่เล่นศึกษา ผมไปอยู่ที่กองปราบที่โชคชัยสี่ ไปอยู่ 3 เดือน ร่วมประชุมกับเขาด้วยแต่ว่าเราไม่ได้แต่งตํารวจ เราแต่งครึ่งท่อน คนไม่เคยเป็นตํารวจจะไม่รู้ว่าเวลาวิทยุถึงกัน มันต้องใช้วอ มันใช้โค้ดหมดเลย ผมเองก็ไม่เคยใช้โค้ดเพราะฉะนั้นก็ต้องไปเรียนต้องไปฟัง” 

 



ในขณะที่ ชาลิตา ปัทมพันธุ์ นั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องแรกที่ได้ร่วมงานกับท่านมุ้ยเช่นกัน หากแต่ยังเป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอด้วย โดยเธอได้รับบทเป็น นิด น้องของอดีตภรรยาจ่าสมหมาย ผู้อาสาเข้ามาช่วยดูแลเขากับลูก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของเรื่อง 


ชาลิตาเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาแสดงเรื่องนี้ว่า ขณะนั้นเธอเป็นนักศึกษาปีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง วันหนึ่ง ขณะกำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบ เพื่อนร่วมห้องที่เป็นนางเอกละครของมหาวิทยาลัย ได้ชวนเธอไปเป็นเพื่อนในการเทสต์หน้ากล้องคัดตัวนักแสดงภาพยนตร์เรื่อง มือปืน แต่เพื่อนของเธอนั้นไม่สามารถพูดคำหยาบตามบทของ นิด ได้ เธอจึงได้โอกาสลองอ่านบทแทน รวมทั้งแสดงท่าทางให้เหมือนเด็กสาวชาวบ้านตามบุคลิกตัวละคร ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นเธอที่ได้รับเลือกให้มาแสดงบทนี้ 


 


“ถ้าพูดถึงคาแรคเตอร์ ท่านมุ้ยก็จะบอกมึงไม่ใช่เด็กมหาลัย มึงเป็นเด็กมีปัญหาทั้งเรื่อง ไม่ได้เรียนหนังสือ ทั้งเรื่องปัญหาครอบครัว แล้วก็จะเป็นเด็กขี้โมโห เพราะมีความเก็บกดอยู่ในอารมณ์ของตัวเอง” ชาลิตา หรือ จ่อย กล่าวถึงบทบาทการแสดงแรกของเธอในโลกภาพยนตร์ 


เมื่อถามถึงฉากที่ยากที่สุดสำหรับการเป็นนักแสดงหน้าใหม่ ชาลิตาได้ยกตัวอย่างฉากที่เธอทะเลาะกับ สาธิต ลูกชายของจ่าสมหมาย เพราะไม่ยอมเชื่อฟัง เธอบอกว่า ฉากนี้ถูกกำหนดมาว่าสาธิตต้องร้องไห้ ตอนแรกตามบทเธอแค่ดุด่าและตวาด แต่ผ่านไปหลายเทค สาธิตก็ยังไม่ร้องไห้ จนท่านมุ้ยกำชับว่าเป็นหน้าที่ของเธอที่ต้องส่งอารมณ์ให้นักแสดงเด็กที่เข้าฉากด้วยกันร้องไห้ตามบทให้ได้ สุดท้ายเธอจึงต้องยอมตี จนสาธิตร้องไห้ออกมาได้จริง ๆ อย่างที่เห็นในภาพยนตร์ 


“สำหรับนักแสดง ท่านมุ้ยไม่ช่วยทุกอย่าง ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง อีกฉากคือฉากที่พี่เอก (ชื่อเล่นของสรพงศ์ ชาตรี – ผู้เรียบเรียง) อุ้มสาธิตขึ้นไปบนสะพาน แล้วเขาร้องไห้ ที่บอกว่า ลูกทหารต้องอดทน ฉากนั้นเขาก็ไม่ร้องไห้เหมือนกัน ท่านมุ้ยก็บอกไปเรียกไอ้จ่อยมา ไอ้เอกมึงไม่ต้องจัดการ ไปเรียกไอ้จ่อยมันมาเดี๋ยวมันจัดการให้มึงได้ พอจะเข้าฉาก จ่อยบอกว่าถ้าร้องไห้ไม่ออกเดี๋ยวจะโดนตี ขณะที่ถ่ายจ่อยยืนอยู่หลังกล้อง เด็กก็พยายามหันมามองว่า จ่อยจะเข้ามาหรือยัง มันจะมาตีไหม จ่อยก็ทําท่าแบบว่าเดี๋ยวจะเข้าไปตี เขาก็เลยร้องไห้ นี่ก็เป็นวิธีกำกับของท่านมุ้ย” 


 


รณ ฤทธิชัย ได้กล่าวเสริมถึงเรื่องนี้ว่า “อย่างฉากในโรงพยาบาลที่เอกเอาปืนจ่อหัวผม เราถ่ายดึกตีสามตีสี่ก็ยังถ่ายกันอยู่ บางทีอารมณ์มันไม่ออก เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยกัน จ่าสมหมายบังคับให้สารวัตรธนูบอกลูกเขาว่าเขาไม่ใช่โจร ไม่ใช่คนฆ่า ฉากนั้นเอกมันกระแทกปืนใส่หูผมนะปับๆ ได้ยินกันไหมครับ นี่คือการส่งอารมณ์โดยใช้ลักษณะของการแสดงช่วย ถ้าสมมุติว่าเกรงใจกัน จ่อปืนไว้เฉย ๆ อารมณ์มันไม่มาหรอก มันเลยกระแทกตุ้บ ๆ เจ็บนะ แต่อารมณ์มันออกเลย สีหน้าแววตาเราจะออก ต้องยอมรับว่าท่านมุ้ยอัจฉริยะเรื่องนี้ ท่านพยายามที่จะให้ตัวละคร ต้องมีความเข้าใจแล้วต้องส่งอารมณ์กันได้”


นอกจากนี้ ชาลิตา ยังเล่าว่า ท่านมุ้ยทรงพิถีพิถันจนถึงวินาทีสุดท้าย โดยในยุคที่ภาพยนตร์ยังฉายด้วยฟิล์มนั้น หนังแต่ละเรื่องจะแบ่งฟิล์มออกเป็นหลายม้วน ในวันที่ฉาย มือปืน รอบแรก แม้ฟิล์มม้วนแรก ๆ จะเริ่มฉายแล้ว แต่ท่านมุ้ยยังทรงพยายามตัดต่อแก้ไขฟิล์มม้วนหลัง ๆ ให้ดีที่สุด จนสรพงศ์ต้องมาบอกว่า ไม่ได้แล้วท่าน หนังกำลังจะเข้าม้วนต่อไปแล้ว ซึ่งรณได้ขยายความเพิ่มถึงแนวคิดในการทำงานของท่านมุ้ยว่า 


“มันจะต้องเป็นภาพที่ดีที่สุด เพราะหลังจากที่มันเป็นฟิล์มแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ ละครวันนี้เราเล่นอาจจะไม่ดี เราสามารถแก้ไขได้ตอนหน้า แต่หนังหลังจากมันเป็นฟิล์มแล้ว ฉายแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านบอกว่ากูยอมเสียทุกอย่าง ยอมเสียเวลา ยอมเสียฟิล์ม ยอมเสียเงิน เพราะอย่าลืมว่ายิ่งถ่ายนานเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายมันยิ่งสูงขึ้น ท่านยอมเสียทุกอย่างเพื่อต้องการให้ภาพออกมาให้มันดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เพราะฉะนั้นหนังท่านมุ้ยแต่ละเรื่อง ผมเชื่อว่าเป็นหนังที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องมือปืน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดูเมื่อไหร่ก็ประทับใจ มันมีอรรถรส มีทั้ง บู๊ ดราม่า มีทั้งตลกให้เราผ่อนคลาย” 



 ภาพ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่หอภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ. 2561


สำหรับกระแสตอบรับจากผู้ชมที่มีต่อ มือปืน รณ ฤทธิชัย ได้เล่าให้ผู้ชมเห็นภาพว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่พอออกจากโรงไปแล้วตามคิว ก็ได้กลับมาฉายใหม่เพราะคนยังรอดูกันแน่นอยู่ ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ แต่ในต่างจังหวัดก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เขาเล่าว่า ตนมีเพื่อนเจ้าของหนังเร่อยู่ที่อุบลราชธานี จึงได้รับการชักชวนให้มาโชว์ตัวในวันที่ฉาย มือปืน แบบหนังล้อมผ้า แต่คนมาดูจนล้นถึงขั้นที่ต้องเอาผ้าที่ล้อมบริเวณฉายออก นอกจากนี้ มือปืน ยังได้ไปฉายที่งาน Cairo International Film Festival ประเทศอียิปต์ ซึ่งเขาได้เดินทางไปร่วมกับท่านมุ้ย เมื่อฉายจบ ผู้ชมต่างปรบมือประทับใจ และมีบุคคลสำคัญคือ ทาเร็ค ชารีฟ นักแสดงชาวอียิปต์ ลูกชายของ โอมาร์ ชารีฟ ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ที่ชื่นชอบจนมาขอจับมือกับเขา และชวนไปร่วมงานด้วยกัน 


“เขาอยากได้ผมไปเล่นหนังเขา เพียงแต่ว่าเราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็เลยไม่มีโอกาสได้ร่วมแสดงกับเขา แต่ก็ถือว่าหนังเรื่อง มือปืน สามารถที่จะทําให้คนต่างชาติที่ได้ดู มีความชื่นชม อันนี้ก็ถือว่า เป็นความภาคภูมิใจของนักแสดง อย่างผม อย่างจ่อยนะครับ”


 


ความทรงจำถึง สรพงศ์ ชาตรี


 


แม้จะเข้าฉายในปี 2526 แต่นักแสดงทั้งสองท่านต่างบอกว่า จริง ๆ แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มถ่ายทำตั้งแต่ปี 2524 เมื่อถามว่า อะไรเป็นเหตุให้ใช้เวลาในการสร้างถึง 2 ปี คำตอบที่ได้รับคือ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคิวที่แน่นของ สรพงศ์ ชาตรี ที่ในเวลานั้นขึ้นแท่นเป็นพระเอกอันดับหนึ่งของเมืองไทย ทำให้เขาต้องรับงานถ่ายทำถึง 3 เรื่องในวันเดียวกัน และใช้ชีวิตกินนอนอยู่บนรถยนต์เป็นหลัก

 

“รถคันนั้นเป็นทุกอย่างในชีวิตของพี่เอก กิน นอน แล้วก็พาไปนู่นมานี่ คือไม่แทบจะไม่ได้กลับบ้าน ดังนั้นบางซีนที่ถ่ายหนังนะคะ จ่อยกับพี่เอกไม่อยู่ด้วยกัน ถ่ายคนละที ก็ค่อยมาตัดต่อเป็นซีนเดียวกัน” ชาลิตาเล่าย้อนถึงการทำงานกับสรพงศ์ 


“แล้วมันจะมีบางฉากในเรื่องที่พี่เอกเขาสอนจ่อย เช่นฉากที่เราไปเจอปืน แล้วรู้ว่าเขาเป็นมือปืน ฉากนั้นจ่อยร้องไห้ พี่เอกก็เลยบอกว่าใครตาย แกบอกจ่อยว่า การร้องไห้มันมีหลายวิธีนะ แต่วิธีที่ร้องไห้แบบนี้ มันต้องมีคนตาย แต่อันนี้มันไม่มีคนตาย


“แล้วพี่เอกแกก็สอน คือด้วยความที่เราไม่เคยเล่นหนัง จะไม่รู้ว่าพอแบบเขาเอาภาพระยะกลาง ภาพระยะใกล้ เวลาเขาเปลี่ยนกล้องหรือเขาปรับแสงระหว่างฉาก คราวนี้ตาเรามันไม่ต่อเนื่องแบบที่ถ่ายมาเมื่อกี้ ว่าร้องไห้แล้วไประดับไหน พี่เอกเขาขนาดนี้เลยนะ คือต้องจำว่าเราร้องไห้มาระดับไหน เช่น ถ้าร้องไห้ระดับกลาง วิธีพี่เอกคือ ก้มหัวลง ให้เลือดลงไปในตาระดับหนึ่ง พอพร้อมขึ้นมา สเลทตีปั๊บ แอ็คชั่นพี่เอกก็ต่อเนื่องได้เลยว่าร้องไห้มาแล้วนิดนึง แต่ถ้าระดับเยอะขึ้น คือพี่เอกก็จะไปหกสูงเลย ให้เลือดตกหัว ก็จะเป็นการร้องไห้มาหนักมาก 


“พี่เอกเขาจะสอนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ แกบอกว่า จะร้องไห้หรือว่าทำอะไร ต้องคิดให้ดี ๆ นะ ก่อนที่จะไปถึงการถ่ายทํา เพราะว่าความรับผิดชอบของนักแสดงเมื่อถ่ายออกไปแล้ว ฟิล์มมันจะอยู่อย่างนั้น แล้วเราจะดีหรือเราจะเป็นคนชุ่ย หรือเราจะเป็นคนที่ไม่รับผิดชอบต่อบทนั้น ๆ มันจะอยู่กับเราตลอดไป พี่เอกจะสอนอย่างงี้เสมอ คืออย่าเห็นบทแล้วเอามาพูดโดยที่ไม่ทําความเข้าใจ”



 

ในขณะที่ รณ ฤทธิชัย ในฐานะเพื่อนนักแสดงรุ่นเดียวกัน เกิดปีเดียวกัน มีอาจารย์คนเดียวกัน และสนิทสนมกันมาตั้งแต่เริ่มเข้าวงการ รวมทั้งได้ร่วมงานกันบ่อยครั้ง ได้กล่าวถึงเพื่อนรักตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสนทนาว่า ดู มือปืน จบแล้ว ก็ยังรู้สึกว่า สรพงศ์ยังคงอยู่ และกล่าวยกย่องว่าเป็นปูชนียบุคคลของวงการที่เกิดมาเพื่อเป็นดาราจริง ๆ เป็นอัจฉริยะในยุคที่ยังไม่มีโรงเรียนการแสดง หากแต่ใช้ประสบการณ์ชีวิตและการเรียนแบบครูพักลักจำ


“ผมถึงบอกว่าเอกนี่เก่ง เพราะอะไร เพราะวันหนึ่งเขาเล่นหนังสามเรื่อง แต่สามารถจับคาแรคเตอร์ของแต่ละเรื่องได้ ขนาดผมเล่นเรื่องเดียว ยังต้องพยายามศึกษาและฝังตัวเองให้ได้ ละลายพฤติกรรมของ รณ ฤทธิชัย ออก แล้วเอาสารวัตรธนูเข้ามาหาตัวเองแทน”


เมื่อถามถึงการทำงานระหว่างสรพงศ์กับท่านมุ้ย รณ ฤทธิชัย เล่าว่า “พอว่างจากถ่ายหนังของคนอื่น ด้วยความที่ท่านเป็นคนที่นอนดึก เอกว่างจะเข้าไปหาท่านสองต่อสองเลย เพราะเอกเหมือนลูกศิษย์คนโปรด เหมือนลูก เข้าไปในวังตอนไหนก็ได้ ส่วนใหญ่ก็จะคุยเรื่องบทหนัง คาแรคเตอร์ของของตัวที่จะเล่น เพราะฉะนั้นเอกจะได้ตรงจุดนี้มากกว่าคนอื่น 


“อันไหนที่เอกเขาไม่เข้าใจหรือเขายังไม่ลึกพอ เขาก็จะถามว่าท่านต้องการยังไง ต้องการให้บทนี้มันออกมายังไง เวลาเขาถาม เขาจะถามเกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกของตัวละคร”




ด้าน ชาลิตา แม้จะร่วมแสดงด้วยกันใน มือปืน แค่เรื่องเดียว แต่หลังจากนั้นเธอได้ทำงานเป็นเลขาฯ ส่วนตัวของท่านมุ้ย ทำให้ได้ติดต่อกับสรพงศ์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงท้ายของชีวิต ชาลิตาได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสรพงศ์กับท่านมุ้ยที่ผูกพันมามายาวนานว่า 


“พี่เอกจะไปหาท่านทุกสัปดาห์ค่ะ จะเป็นธรรมเนียมของพี่เอกเลย ไม่ว่างานจะยุ่งมากน้อยขนาดไหน หรือว่าเวลาไหนก็แล้วแต่ที่พี่เอกพอจะมีเวลา ก็คือไปหาท่าน แล้วเวลาเจอเราที่ไหน ถ้าเผื่อมีเรื่องอะไรที่แบบไม่ผ่าน ไม่ผ่านในเรื่องของการปฏิบัติตัวหรือว่าในเรื่องของงาน พี่เอกก็จะสอนอยู่เสมอ


“พี่เอกกับท่านมุ้ยจะพูดอยู่เรื่องหนึ่งที่เหมือนกันตลอดเลยค่ะ คือการแสดงก็เหมือนการสวมหัวโขน เมื่อสวมเข้าไปแล้ว จะต้องเป็นตัวละครตัวนั้น แต่เมื่อมันหมดเวลาของตัวโขนนั้น ถอดออกแล้ว ต้องกลับมาเป็นตัวเองให้ได้ ถ้าถอดหัวโขนแล้วไม่กลับมาเป็นตัวเอง ก็จะไม่สามารถเป็นนักแสดงได้ เพราะถ้าคุณจะเป็นนักแสดง คุณต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเป็นนักแสดงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง อันนี้คือ สูญสิ้นการเป็นนักแสดงแล้ว”