* InArchive เป็นเซกชั่นบทความที่หอภาพยนตร์นำข้อเขียนจากนิตยสารหรือหนังสือเก่า ซึ่งหอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ มาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
โดย อัศศิริ ธรรมโชติ
ที่มา: นิตยสาร หนัง ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2517
ถ้าไม่นับเป็นตัวเงิน แต่พูดกันถึงด้านชื่อเสียง
เปี๊ยกโปสเตอร์ (สมบูรณ์สุข นิยมศิริ) จัดเป็นผู้สร้างหนังไทยคนหนึ่ง
ซึ่งประสบผลสำเร็จ เพราะเพียงแค่เปิดฉากครั้งแรกก็ถึงกับทำให้คนรุ่นก่อนเก่าในวงการอันเก่าแก่นี้
ต้องพากันสำรวจตรวจตนเองกันเป็นพัลวัน ทัศนะเช่นว่ารอยทางเก่า ๆ
ที่เคยเหยียบย่ำยังไม่ถึงกาลที่จะเปลี่ยนใหม่ ก็ค่อย ๆ
หันเหเปลี่ยนไปในแนวเดียวกันกับเขา
อารัมภบท
เขามีอะไร - เปี๊ยกโปสเตอร์
ก่อนสร้างหนัง เขาเป็นเพียงคนเขียนรูปไปฝึกงานที่บริษัทไดเอะของญี่ปุ่นอยู่เพียง
120 วัน กับอีกเศษ ๆ หากหนังเรื่องแรกที่เขาสร้างรวยทั้งเงินล้านและการยกยอ
สื่อมวลชนพูดถึงกันอย่างกว้างขวางและนักวิจารณ์ต่างก็ลงความเห็นว่า เปี๊ยก
คือผู้เปิดประตูของหนังไทยให้หลุดออกไปจากดินแดนสนธยา เรียกว่า ถ้าคำยกย่องเป็นกล่องของขวัญ
ก็คงจะล้นเต็มลานบ้านอย่างที่เขาควรภาคภูมิและกระหยิ่มใจ และจากในบัดนั้นมาจนถึงในบัดนี้
เปี๊ยกโปสเตอร์ ก็สร้างหนังออกมาปีละเรื่องจาก 2513 ถึง 2517 รวมด้วยกัน 5 เรื่อง
นับแต่ โทน ถึง คู่หู ในปัจจุบัน
เราอาจจะตั้งคำถามขึ้นในฐานะขาประจำ ผู้ติดตามผลงานของเขามาโดยตลอดได้ว่า เวลานี้
เปี๊ยกโปสเตอร์ ยืนอยู่ตรงไหน บนเส้นทางของหนังไทยปัจจุบัน?....
เขากำลังก้าวไปข้างหน้า - ถอยหลังกลับ หรือว่ากระทืบเท้ากับที่? แน่ละ
ก่อนจะตอบคำถามข้อนี้ได้ เราก็ต้องมองย้อนหนังของเขาขึ้นไป
นับตั้งแต่เรื่องแรกระเรื่อยลงมาจนถึงเรื่องล่าสุด ก็มีเรื่อง โทน, ดวง, ชู้, เขาสมิง และ คู่หู
2513
โทน : ก้าวแรกที่หลุดจากแดนสนธยา
ไชยา สุริยัน / อรัญญา นามวงศ์ : แสดงนำ / รายได้ : เกินทุนสร้างบานตะไท
“ผมไม่เคยยุ่งกับเรื่องหนังมาก่อน โทน เป็นโอกาสเดียวของผมที่จะพิสูจน์ว่าผมจะทำหนังต่อได้หรือไม่ ถ้าล้มเหลวผมก็คงหายไปจากวงการนี้เลย แล้วก็กลับไปเขียนโปสเตอร์อย่างเคย!”
เปี๊ยกทำหนังเรื่องนี้ในนามของ สุวรรณฟิล์ม
ที่ค่อนข้างปลอดโปร่งทางเศรษฐทรัพย์จับจ่าย การที่จู่ ๆ
เพื่อนฝูงก็โยนเงินทุนส่วนมหึมามาให้สร้างหนังอย่างไว้ใจนั้น ทำให้เขาเกิดความพยายามอย่างถึงที่สุด
โทน ประดุจห้องทดลองที่จะชี้ความสามารถ และบอกอนาคตบนทางสายนี้
จึงผลักดันให้เขาสร้างงานอย่างพิถีพิถัน ผลก็เป็นหนังไทยที่ได้มาตรฐานเกินประสบการณ์ของเขาอย่างไม่น่าเชื่อ
ทั้งนี้เนื้อหาของ โทน ก็ไม่ใช่แปลกใหม่มีส่วนคล้าย ๆ กับหนังไทยอีกหลาย ๆ เรื่องด้วยซ้ำ คือเป็นเรื่องชีวิตที่ค่อนข้างโลดโผนของเด็กหนุ่มบ้านนอกที่เสงี่ยมตนกับสาวสังคมบางกอกที่ออกจะยะโส มีทั้งบทบู๊ บทรัก ผิดหวังและสมหวังเคลียคลอกันไป
หากสิ่งที่ทำให้ โทน กลายเป็นพลุลูกใหม่ของหนังไทยร่วมสมัยเดียวกันนั้นก็คือลีลาการสร้าง การถ่ายทำ หรือการกำกับการแสดงของเปี๊ยกโปสเตอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวใหม่และเป็นแนวทางที่ทำให้นักสร้างหนังไทยทั้งหลายยึดเป็นฐานบันไดไต่หลุดออกมาจากโลกสนธยาที่ทำท่าว่าจะพากันงมงายไปอีกนับชั่วอนันตกาล โทน มีอะไรที่เป็นสิ่งใหม่สมัยนั้นอันทำให้ชื่อเสียงของเปี๊ยกโปสเตอร์ โดดเด่นมายืนอยู่แนวหน้าของบรรดานักสร้างทั้งเก่าใหม่ อันนี้เราก็พอจะแยกแยะอธิบายกันได้เป็นสามประการคือ
ประการที่หนึ่ง โทน ไม่มีคำว่าน้ำเน่าที่นักวิจารณ์หนังขนานนามไว้ให้ในระยะนั้น คือไม่มีลักษณะส่วนเกินที่เป็นการยัดเยียดหรือออกนอกลู่ทางของเนื้อหา ไม่มีนางอิจฉาที่ปัญญาอ่อน และไม่มีพระเอกที่จะเอาชนะอะไร ๆ ก็ได้ง่ายไปเสียหมดทุกอย่าง ส่วนนางเอกที่อ่อนเดียงสาเหมือนอย่างกับว่าพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกทิศไหนก็ไม่มีวันจะรู้นั้น ก็ไม่มีอยู่ใน โทน ดาวร้ายบ้าบอก็ไม่เฉียดมาใกล้ แม้บทตลก โทน ก็จะมีสังข์ทอง สีใส ตลกอยู่แต่ในร่องรอยของเนื้อหา เท่ากับว่าเป็นการกำกับการแสดงที่เป็นแนวใหม่ ท้าทายนักสร้างที่ติดอยู่ในกรอบเก่าอย่างผู้ริเริ่มสร้างสรรค์
ดังจะเห็นว่า ทุกฉากทุกตอนของ โทน นั้น ได้ผ่านการสำรวจศึกษาจากเปี๊ยกมาพอสมควร เราจึงเห็นหนังเป็นไปได้และมีเหตุผลใกล้กับความเป็นจริง อย่างเช่นว่า ทำไมพระเอกถึงมีนิสัยเช่นนั้นด้วยเหตุผลอันใดทำให้นางเอกหลงรักหรือการบุกเข้าไปในรังร้ายของพระเอก พระเอกใช้วิธีการอย่างไรจึงจะไม่เหลือเชื่ออย่างนี้ เป็นต้น โทนจึงผิดกับหนังไทยเด็กเล่นที่มีอยู่กล่นเกลื่อนในยุคที่นักวิจารณ์หนังต้องทำงานกันอย่างชนิดฟาดฟันเชือดเฉือนกันไม่ไว้หน้า
ประการที่สอง เทคนิคการสร้าง การถ่ายทำของ โทน เปี๊ยกได้ใช้ศิลปะของการตัดต่อภาพเพื่อลดความเยิ่นเย้อ เหยียดยาวเหมือนทางรถไฟไร้ทิศทางของหนังไทยนั้นให้น้อยลงมา และในขณะเดียวกันก็กระชับรัดให้แน่นเพื่อไปสู่เป้าหมายของเรื่อง
ฉากลิเก และเครื่องประดับอันเรืองรองเป็นท้องพระโรงของเสนามุขอมาตย์นั้นไม่มี ความเป็นจิตรกรทำให้เปี๊ยกมีพื้นฐานพอควรในการสร้างฉากให้สมจริง มีส่วนลึกและระยะต่อเนื่องที่ดี ถึงการแต่งกายของดาราผู้แสดงก็อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ การจัดองค์ประกอบของสีแสงก็เริ่มมีกลางวันกลางคืนอย่างที่หนังไทยเรื่องอื่น ๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญ ซึ่งเปี๊ยกได้เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องแสงนี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการถ่ายหนังของเขานั้นเป็นการลงทุนในด้านแสงมากที่สุด
นอกจากนี้ โทน ยังเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ใช้สีคอนทรัสต์แยกความแตกต่างของเหตุการณ์ อาทิ การย้อนระลึกนึกถึงภูมิหลังของตัวละคร เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำให้ โทน เด่นจริง ๆ ก็เห็นจะได้แก่ การใช้เทคนิคมุมกล้อง และเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบในภาพ
เปี๊ยกไม่เพียงแต่ทำให้กล้องมีหน้าที่บันทึกภาพ
แต่ทำให้มีบทบาทในด้านการแสดงด้วย เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้สำแดงออกทางใบหน้า ดวงตา
และความรู้สึกของดาราผู้แสดงเริ่มมีความสำคัญเหนือท่าตีโพยตีพายนับแต่นั้นมา
ประการที่สาม บทเจรจาของหนังไทยที่มักจะไร้ประโยชน์เช่นบทที่เป็นลักษณะของการอภิปราย โต้วาที หรือพูดจาพิรี้พิไรเลอะเทอะ ก็ปรากฏว่าไม่มีอยู่ในหนังของเปี๊ยก โทน เป็นบทสนทนาที่เป็นลักษณะธรรมชาติเข้ากับภาพที่ปรากฏ สั้นกะทัดรัดและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินเรื่อง
ลักษณะทั้งสามประการดังว่านี้ เป็นสิ่งที่เปี๊ยกโปสเตอร์ได้ดึงคำว่าน้ำเน่าออกไปจากหนังไทยได้สำเร็จ และเท่ากับว่าได้ทำลายรูปแบบของการละครในหนังไทยให้ลดน้อยลงไปได้มากด้วย โทน จึงเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ท้าทายของเก่า สิ่งที่ท้าทายที่สำคัญและควรจะจดจำกันเอาไว้ก็คือ การใช้ทุนทางโฆษณาน้อยและพล็อตเรื่องที่ให้นางเอกถูกข่มขืนจนเสียความบริสุทธิ์ ก่อนตกถึงมือพระเอกนั้นก็นับว่าเป็นที่น่าสยดสยองพองเกล้าของนักสร้างหนังหัวโบราณอยู่มากมายทีเดียว
โทน ยังเหลือคราบไคลของเก่าให้เรามองเห็นอยู่บ้างคือ เนื้อหาหลายรสและน้อยสาระประโยชน์ ทำให้วิธีการดำเนินเรื่องบางครั้งต้องยึดรูปแบบเก่า ๆ ทั้งนี้เพราะกันการไม่ต้อนรับจากคนดู และเพื่อความไม่ประมาทก็จำเป็นต้องอาศัยดาราเก่า สอดใส่เพลงร้องให้ต้องสมัยนิยม กระนั้น โทน ก็นับเป็นหนังไทยตัวอย่าง พบกับความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำยกย่อง เป็นแนวทางใหม่ที่เกิดขึ้นในแนวทางเก่า เป็นเหมือนปรอทที่หยั่งความมั่นใจให้กับผู้สร้างหนังไทยอีกหลายคนต่อมา ดังนั้น โทน จึงเป็นเท้าก้าวแรกที่ล่วงพ้นแดนสนธยาอย่างแท้จริง
2514
ดวง : ก้าวต่อมาที่ท้าทายมากขึ้น
ไพโรจน์ ใจสิงห์ / วนิดา อมาตยกุล แสดงนำ / รายได้ : เกินทุนพอสมควร
“ผมเคยได้รับบทเรียนมาก่อนตอนถ่ายเรื่อง โทน ...ดาราเขาไม่ค่อยมีเวลาให้เราแต่ถ้าเป็นผู้แสดงใหม่....เขาก็มีเวลาให้เราอย่างเต็มที่”
กล่าวกันว่า เปี๊ยกพล๊อตเรื่อง ดวง ขึ้นโดยหยิบเอาสิ่งเล็กสิ่งน้อยจากสังคมรอบตัวมาปะติดปะต่อกันเข้า เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มบ้านนอกเข้ามาแสวงโชคในนครหลวง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามดวง หรือโชคชะตาของมนุษย์ที่ไม่มีใครอาจกำหนดได้ ดวง มีลักษณะก้าวล้ำหน้าเหนือกว่า โทน ทางด้านเทคนิคหรือรูปแบบของหนังที่เปี๊ยกเริ่มชำนาญมากขึ้นแต่เนื้อหานั้นก็ยังไม่ต่างจากหนังไทยทั่วไป คือเอาสาระไม่ค่อยจะได้นัก ดวง จะเป็นการแสดงปรัชญาของโหราศาสตร์หรืออันใดก็ไม่รู้ได้ รู้แต่ว่าเป็นการดำเนินเรื่องที่ง่าย ๆ ใช้เหตุผลอธิบายแต่น้อย ๆ เพราะเรื่องยุ่งยากทั้งหมดถูกสรุปลงตรงที่ดวงชะตาของแต่ละคน สิ่งเล็กสิ่งน้อยในสังคมที่เปี๊ยกนำมาปะติดปะต่อกันนั้น จึงไม่ได้สะท้อนอะไรให้เห็นกันอย่างจริงจัง เนื้อหาจึงไม่อาจจะยกย่องกันได้ ก็คล้าย ๆ กับ โทน เรื่องแรกที่หนักไปทางบันเทิงเสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม ดวง มีสิ่งที่เด่นให้พูดถึงกันถึง 2 ประการ
ประการแรก การท้าทายที่มากขึ้นยิ่งกว่า โทน ด้วยการใช้ดาราผู้แสดงนำเป็นดาราใหม่ทั้งคู่ จากคำบอกเล่าของเปี๊ยกถึงวัตถุประสงค์ของการใช้ดาราใหม่ ดังที่วางไว้ข้างบนนั้น ก็เป็นข้อยืนยันอย่างดีว่าเปี๊ยกต้องการงานที่พิถีพิถัน มากกว่าจะให้ความสำคัญของดารา เป็นความเชื่อมั่นที่ไม่ค่อยปรากฏกับผู้สร้างหนังไทยในระยะนั้น ว่าไปแล้ว โทน นับเป็นรากฐานอันสำคัญที่สร้างความมั่นใจให้กับเปี๊ยก ดูเหมือนเปี๊ยกจะมั่นใจอย่างมากว่าเขาสามารถที่จะพลิกเส้นทางของหนังไทยให้ดีขึ้นด้วยฝีมือของเขาเอง
ประการต่อมา คือเทคนิคการสร้างที่โตวันโตคืนมาจาก โทน จะสังเกตได้ว่า ดวง มีฉากไตเติ้ล มุมกล้อง การจัดองค์ประกอบของภาพ และการตัดต่อรวบรัดดีเด่นกลมกลืนยิ่งกว่า โทน นอกจากนี้ก็มีการใช้ฉากธรรมชาติได้อย่างมีบรรยากาศและสวยงาม
“ครั้งสุดท้ายจากดวง...ธรรมชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทสร้างความคิด ความประทับใจให้กับเขาด้วยความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนของคนที่เขียนรูปเป็นแล้วก็รู้จักศิลปะ สัมผัสความงามจากบรรยากาศในแง่มุมที่ประหลาดและผิดแผกแตกต่างกันแทบทุกช่วงเวลาในธรรมชาติได้...”
ดวง ประสบความสำเร็จทางรายได้เช่นเดียวกัน
แต่ไม่มากเท่า โทน เพราะระยะนี้เป็นระยะที่ผู้สร้างหนังโดยทั่วไปเริ่มจะไหวตัว และปรับปรุงงานของตนกันมากขึ้น
แต่ข้อสำคัญนั้นอยู่ที่เนื้อหาของ ดวง ที่ไม่น่าสนใจเท่าที่ควร
และเนื้อหานั้นก็ไม่มีอะไรเหนือไปกว่าหนังไทยด้วยกันในขณะนั้น
ถึงจะดูเอาสนุกก็ไม่สนุกเท่า โทน
อย่างไรเปี๊ยกโปสเตอร์
ก็ยังยืนอยู่แถวหน้าที่นักสร้างทั้งหลายพากันจับตามอง
2515
ชู้ : ปรากฏการณ์ใหม่ของหนังไทยอายุครึ่งศตวรรษ
มานพ อัศวเทพ / กรุง ศรีวิไล / วันดี ศรีตัง : แสดงนำ / รายได้ : เท่าทุน
“ผมไม่ชอบอยู่กับความเก่า”
หลังจากที่เดินทางมาได้ครึ่งศตวรรษพอดี นับแต่นางสาวสุวรรณเมื่อ
2465 ถึง ‘ชู้’
ผลงานชิ้นที่ 3 ของเปี๊ยกโปสเตอร์ ปรากฏการณ์ใหม่ของหนังไทยก็ได้เกิดขึ้นไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนจะได้เคยท้าทายคนดู
และท้าทายทั้งทุนกำไรเท่ากับหนังไทยเรื่อง ชู้ มาก่อน
นักวิจารณ์หนังชื่อดังของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ถึงกับกล่าวว่า เปี๊ยกบ้าจี้กระโดดไกลเกินไปเสียแล้ว
ชู้ สำหรับเปี๊ยกเอง นับเป็นเรื่องแรกที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นทั้งผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับการแสดง ถ้าจะคิดกันในแง่ที่ว่าเขามุ่งหวังที่จะกอบโกยผลกำไร ซึ่งมันก็จะต้องเป็นของเขาอย่างถนัดมือแล้วเขาก็คงจะสร้างหนังที่กอบโกยผลกำไรให้เขาได้ไม่ยาก เราอย่าลืมว่าตอนนั้นชื่อเสียงของเขากำลังเปรื่องปร่างอยู่ในฐานะผู้กำกับแนวหน้าของหนังไทย แต่ประวัติศาสตร์ของหนังไทยนั่นแหละที่จะต้องจารึกว่า เขามิได้ฉกฉวยประโยชน์ที่จะทำเช่นนั้น เขาไม่ได้วนเวียนอยู่กับสิ่งเก่า ๆ หรือชื่นชมหลงใหลอยู่แต่ในสิ่งที่เขาทำมาแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างคึกคักและชักจะกว้างขวางของหนังไทยในระยะนั้น มันล่อตาล่อใจให้เขาคิดทดลองศิลปะมากกว่าจะกอบโกยเงิน ชู้ ไม่เพียงแต่เป็นก้าวใหม่ของเปี๊ยกแต่เป็นก้าวใหม่ของโลกหนังไทยด้วย
ชู้ สร้างจากโครงเรื่องของ “จำลักษณ์” ไม่ใช่เปี๊ยกแต่งเองเหมือนอย่าง โทน กับ ดวง โทน กับ ดวง เรื่องเบา ๆ หลายรสแบบซึ่งดิ้นหลุดยังไม่พ้นจากรากเหง้าเก่า ๆ ผิดกับ ชู้ ดวง กับ โทน เป็นอาณานิคมของหนังไทยยุคเก่า ในขณะที่ ชู้ เป็นอิสระจากพันธะทั้งปวง
ชู้ เป็นเรื่องชีวิตหนัก รักสามเส้าของชายสองหญิงหนึ่งท่ามกลางทะเลและเกาะเปลี่ยว ประมวลได้ว่าจาก ชู้ เปี๊ยกโปสเตอร์ ได้สร้างสิ่งใหม่ ๆ ไว้ให้กับวงการหนังไทยดังนี้
1. เนื้อหา
เรื่องแรกที่ใช้ผู้แสดง 3 - 4 คน และดำเนินเรื่องอยู่เฉพาะกับผู้แสดงสามคนกับธรรมชาติท้องทะเลล้วน ๆ เป็นการดำเนินเรื่องที่คล้ายกับลักษณะของเรื่องสั้นที่สะท้อนแง่มุมใดแง่มุมเดียว เท่ากับว่าเปี๊ยกกล้าทำลายแนวคิดเก่า ๆ ของหนังไทยที่ว่าจะต้องใช้ดารามาก ๆ มีเนื้อหาหลายรสหลายแบบคละเคล้ากันไป ชู้ ได้แสดงถึงสัญชาตญานของมนุษย์ ถึงความละโมบ ความใคร่ ความอ่อนแออันเป็นธาตุแท้ของมนุษย์อย่างมีเหตุผล ใกล้กับความเป็นจริง
2. เทคนิคการสร้าง
เมื่อเรื่องของ ชู้ ผิดกับ โทน และ ดวง ดังเนื้อหาที่กล่าว เปี๊ยกก็จะต้องใช้เทคนิคการสร้างการถ่ายทำให้แตกต่างกันไปด้วยนั่นคือ ความก้าวหน้าของศิลปะในหนังไทย ชู้ ไม่ใช่ของง่ายกับผู้แสดงน้อยตัวและกับธรรมชาติซ้ำซาก ซึ่งจะต้องใช้ศิลปะดึงดูดความสนใจของผู้ชมไว้ได้ตลอดเวลา เปี๊ยกจึงได้ใช้ความพยายามทางเทคนิคการสร้าง การถ่ายทำเพื่อจะหลีกพ้นจากความซ้ำซาก และความรู้สึกที่จะเบื่อหน่ายดังจะเห็นได้ว่า ชู้ มีมุมกล้องกับการจัดน้ำหนักของภาพที่สามารถมองทะลุเกาะแก่ง และความเวิ้งว้างของอ่าวที่เงียบเหงามีบรรยากาศสัมผัส กล้องได้ทำหน้าที่สร้างความตื่นตาใจกับธรรมชาติของทะเล ควบคู่ไปกับพฤติกรรมของตัวละคร ฉากและการแต่งกายของผู้แสดงก็ทำได้สอดคล้องสมจริงกับบรรยากาศเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ
3. การดำเนินเรื่อง
เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่ปรากฏในหนังไทยเรื่องอื่นมาก่อน คือการย่นย่อเรื่องด้วยศิลปะการตัดต่อภาพที่รวดเร็วที่มีประสิทธิภาพแสดงความหมายต่าง ๆ ด้วยภาพ ชู้ เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ใช้ภาพที่ปรากฏบนจอบอกเล่าเรื่องอย่างแท้จริง “กว่าครึ่งชั่วโมงแรกของ ชู้ ไม่มีการบรรยายเป็นคำพูด หรือตัวอักษรใด ๆ”
4. เพลงประกอบ
ชู้ เป็นหนังเรื่องแรกที่ทำเพลงประกอบ (Background Music) โดยฝีมือของคนไทย คือ ประสิทธิ์ พยอมยงค์ (ก่อนหน้านั้น ใช้แผ่นเสียงเพลงสากลเปิดประกอบ)
ชู้ ประสบความสำเร็จมาก ด้านชื่อเสียงการยกย่อง แต่ทางรายได้ไม่สำเร็จด้วยอาจกล่าวได้ว่าเนื่องมาจากความไม่คุ้นชินต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา ของเหล่าบรรดาผู้ให้ความสนใจกับหนังไทยที่เคยคุ้นอยู่กับรูปแบบเก่า ซึ่งก็เป็นของธรรมดาที่ ชู้ จะต้องประสบปัญหากับการต่อสู้กับสิ่งที่ครอบคลุมมานานนับสิบ ๆ ปี
และ ชู้ เองก็มิได้สมบูรณ์แบบหรือหมดจดงดงามไปเสียทุกอย่าง เราจะสังเกตได้ว่า ชู้ มีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง เป็นต้นว่า
1. การดำเนินเรื่องในช่วงหลังซึ่งรวบรัดเกินไป คือไม่ค่อย ๆ คลายปมของเรื่อง แต่มารวบรัดคลายลงรวดเดียวในช่วงชุดท้าย ทำให้การดำเนินเรื่องที่ราบเรียบมาแต่ต้น สับสนชุลมุน บางตอนในช่วงหลังนี้บางทีก็อ่อนเหตุผลไม่สมจริง
2. เนื้อหาที่แคบเกินไป แม้จะเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งเก่า ๆ อย่างตรงกันข้ามแต่เนื้อหานั้นก็ยังไม่ขยายกว้างที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมหรือคนส่วนใหญ่เป็นชีวิตรักของเอกชนที่แคบ ๆ ไม่จำเป็นต่อการรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ สาระของ ชู้ ที่ไม่ให้อะไรกับปัญหาอันจำเป็นของสังคม ชู้ จึงไปไม่กว้างและคุณค่าลดน้อยลง
กระนั้น ชู้ ก็ต้องถูกบันทึกลงไว้กับประวัติของหนังไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันให้ศิลปะของหนังไทย เดินเข้าใกล้ความจริง ดังปรากฏว่ามีหนังไทยที่ได้มาตรฐานอีกไม่น้อยเรื่องเกิดตามหลังมา
2516
เขาสมิง : ก้าวแรกที่หันกลับ
อุเทน บุญยงค์ / ภาวนา ชนะจิตร : แสดงนำ / รายได้ : ขาดทุนบานตะไท
“ก็คุณเล่นมายิงกันหน้าโรง
แล้วใครล่ะครับจะมาดูหนัง”
‘เขาสมิง’ เป็นเรื่องของการผจญภัยของชายหนุ่มพเนจร กับกลุ่มมหาวายร้ายในท่ามกลางหลุมบ่อพลอย เป็นเรื่องที่สองที่เปี๊ยกเป็นผู้อำนวยการสร้างและเป็นเรื่องแรกที่ขาดทุนย่อยยับอย่างคาดไม่ถึง อะไรเป็นสาเหตุ?
คำตอบของเปี๊ยกมีอยู่แล้วข้างต้น คือเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา เขาสมิง ที่เปี๊ยกหมายไว้จะให้เป็นเรื่องบู๊ตื่นเต้นในหนังเรื่องแรกของเขา มันกลับมาบู๊ตื่นเต้นจริง ๆ อยู่หน้าโรงหนัง เหตุการณ์ของบ้านเมืองในช่วงนั้นทำให้ เขาสมิง หกคะเมนล้มคว่ำอย่างแก้ไขอะไรไม่ได้
ทีนี้ถ้าเรามายกเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาออกไปเสีย หนังของเปี๊ยกเรื่องนี้จะทำเงินได้หรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องน่าคิด แม้จะเป็นก้าวแรกที่เขาถอยหลังกลับหันมาสร้างในแนวทางเก่าที่เขาเคยได้เงินมา ก็ยังแน่ใจไม่ได้ว่า เขาสมิง จะทำเงินได้ใกล้กับสองเรื่องแรก ทั้งนี้เพราะ...
1. บรรยากาศของหนังไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างกว้างขวาง เกิดผู้สร้างที่ตื่นตัวหรือมือใหม่ ๆ เข้ามาเป็นคู่แข่งขันของเปี๊ยกมากมาย
2. เขาสมิง เป็นเนื้อหาที่ไม่มีสาระนักนอกจากรัก ชกต่อย และฆ่าฟันกันตามประสามนุษย์ในหนัง เปี๊ยกไม่ได้แสดงความโลภ ความลุ่มหลงของคนในคุณค่าของวัตถุอย่างเด่นชัดจริงจัง เปี๊ยกแสดงทั่ว ๆ ไป มากกว่าจะให้หนักแน่นเป็นแก่นแท้ของเรื่อง จึงดูเป็นเรื่องธรรมดา จะดูเอาสาระก็ไม่ได้ ดูเอาสนุกก็ไม่ค่อยจะมี
3. เป็นหนังที่มีเทคนิคการสร้างย่ำแย่ที่สุดในบรรดาหนังของเปี๊ยกทั้งหมด เขาสมิง เปี๊ยกเสนอแนวง่าย ๆ ไม่ใช้ลูกเล่นของศิลปะอย่างที่เคยทำมา คำว่าคราวนี้เปี๊ยกจะมีอะไรใหม่ก็กลายเป็นหมัน เปี๊ยกหันกลับไปย่ำซ้ำรอยเดิมที่เคยผ่านมา แต่ก็ยังมีความกล้าอยู่บ้างที่ใช้ดาราใหม่เป็นพระเอก ซึ่งก็ไม่ใช่ของแปลกอะไรแล้วในระยะนั้น
4. ศรัทธาของนักดูหนังในระดับหนึ่ง หรือตลอดจนนักวิจารณ์หนังมีอยู่กับเปี๊ยกมาก
เขาสมิง เท่ากับสิ่งที่ลบล้างความศรัทธาของบุคคลดังกล่าวนี้
เราอาจสันนิษฐานได้ว่า สาเหตุที่เปี๊ยกหันหลังกลับเป็นเพราะหวาดผวามาจากชู้เกี่ยวกับปัญหาทุนสร้าง เปี๊ยกในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งรับผิดชอบทุกอย่างก็จะต้องหวาดผวาเป็นธรรมดา ค่าที่ว่าอุตสาหกรรมงานศิลปะอย่าง ชู้ ที่มีแต่คำยกยอปอปั้นนั้น เสี่ยงต่อการล่มจมเพราะสูญเสียแรงงานเปล่า การยืนอยู่ตรงกลางระหว่างคำว่าศิลปะกับการค้าให้สอดคล้องกับสังคมไทยนั้น จะต้องผลิตงานอย่าง โทน หรือ ดวง อย่าเพิ่งก้าวไกลเกินไปเอาไว้ให้มั่นคงก่อน....เปี๊ยกคงจะคิดอย่างนั้น แล้วหันหลังกลับไปยืนอยู่ในที่ ๆ คิดว่ามั่นคงปลอดภัย
แล้วเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา ก็ทำลายความมั่นคงปลอดภัยของเปี๊ยกโปสเตอร์ ลงอย่างราพณาสูร
2517
คู่หู : กระทืบเท้าเพื่อรอเวลาก้าวต่อไป
ไพโรจน์ ใจสิงห์ / อุเทน บุญยงค์ / ศันสนีย์ สมานวรวงศ์ : แสดงนำ / รายได้ : กำลังจะรวย
“ตอนนี้ผมกำลังกรอบเต็มที่”
หลังจากพลิกฟื้นขึ้นจากการหกคะเมนเพราะเหตุการณ์ของบ้านเมืองแล้ว เปี๊ยกก็เริ่มต้นทีละเล็กละน้อย พร้อมกับการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป สร้าง คู่หู ขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่ง
‘คู่หู’ เป็นหนังง่าย ๆ ซึ่งเปี๊ยกกล่าวว่าเน้นหนักไปทางเทคนิคการถ่ายทำมากกว่าด้านอื่น เป็นหนังที่ดูกันเพื่อเอามันหรือความสนุก มากกว่าจะเอาสาระน่าคิดเกี่ยวกับเรื่องของชายตาบอด อาชีพขายหมากฝรั่งกับครูพละ ที่ต้องพาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับแก๊งโจรลักพาคนไปเรียกค่าไถ่ ดูแล้วก็ได้เฮฮากันเท่านั้น แต่จาก คู่หู จะเห็นว่าเปี๊ยกมิได้ทิ้งฝีมือเสียเลยทีเดียว เขายังผลิตงานที่เป็นศิลปะประณีตและไร้พิษภัย ดังจะเห็นได้สองประการดังนี้
ประการที่หนึ่ง เทคนิคการสร้างการถ่ายทำ ที่ยังสร้างความตื่นเต้น สนใจ ไม่เบื่อหน่ายให้กับผู้ชมได้มากเท่านักสร้างทั่วไป อย่างเช่น การตัดต่อภาพ, จังหวะของการย้อนภูมิหลังของเหตุการณ์ เขายังรักษาความเป็นหนึ่งเอาไว้ได้ในด้านนี้ อาทิ การใช้ลูกเล่นต่าง ๆ เพื่อแสดงทักษะของชายตาบอด การหัดตีลูกปิงปอง, ความแม่นยำในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ เป็นต้น ส่วนไตเติ้ลก็ดูแปลกใหม่ แม้ว่าจะยืดยาดอยู่สักหน่อยหรืออีกอย่างการใช้โลเคชั่นง่าย ๆ มาสอดใส่เข้ากับเพลงประกอบให้สอดคล้องมีชีวิตชีวา เหตุการณ์ของเรื่องก็แสดงออกอย่างไม่หมดเปลือก แต่ยังทิ้งให้คนดูคิดต่อไปอีกด้วย
ประการที่สอง การกำกับการแสดง เปี๊ยกยังกำกับการแสดงได้เก่ง ได้มีการศึกษาสำรวจมาอย่างค่อนข้างละเอียดรอบคอบ เราจึงมองเห็นแง่ของความเป็นไปได้สมจริงและดูด้วยความสนุกสนานกับสิ่งที่เขาปรุงแต่งขึ้น สมกับความมุ่งหมายของเขา คู่หู รู้สึกว่าจะเป็นเรื่องที่เปี๊ยกกำกับการแสดงได้ดีที่สุด
ถ้าจะพูดไปแล้ว สองประการนี้ก็เป็นแนวถนัดของเปี๊ยก ซึ่งเห็นกันมาแล้วในเรื่องก่อน ๆ แต่เนื้อหานั้นก็ยังไม่มีอะไร เทคนิคส่วนใหญ่ก็ยังคงเดิม ครั้งนี้จึงเท่ากับว่า สองขาที่เคยทรุดฮวบถึงขั้นวัดพื้นลงกับ เขาสมิง นั้น กำลังลุกขึ้นมาใหม่ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องกระทืบย่ำเพื่อย้ำความแน่ใจ ที่จะก้าวต่อไปเมื่อได้จังหวะ คู่หู เรื่องล่าสุดนี้จึงไม่ต่างอะไรกับเรื่อง โทน และ ดวง ซึ่งเคยทำเงินให้เขามาแล้ว
คู่หู (2517)
สรุป เปี๊ยกโปสเตอร์ อยู่ที่ไหน ?
จากทั้งหมด 5 เรื่อง และ 5 ปี ของเปี๊ยกโปสเตอร์ เราจะสรุปกันที่ตรงนี้เลยว่า เขายืนอยู่ตรงไหน ?....บนแนวทางของหนังไทยหลังจากที่เขาได้กรุยทางมาร่วมระยะเวลา 5 ปี....เขาย่ำซ้ำอยู่กับที่? ก้าวไปข้างหน้า หรือว่าหันหลังกลับ ?
ตอบได้เลยว่า เวลานี้ เปี๊ยกโปสเตอร์ กำลังย่ำซ้ำอยู่กับที่หลังจากที่ได้ถอยหลังมาแล้วจาก เขาสมิง พูดง่าย ๆ เขาต้องกระทืบเท้าอยู่กับที่ เพื่อรอความมั่นคงในการจะก้าวต่อไปใหม่
เขาจะต้องก้าวต่อไป เพราะเขาได้เคยก้าวมาแล้ว ก็ต้องให้ระยะเวลากับเขาสักหน่อย แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่า
1. เขาจะยืนขึ้นอย่างมั่นคงได้หรือไม่?
2. ปัญหาทุนสร้าง
3. ความแน่ใจ
สองข้อสุดท้าย จะไม่มีปัญหาถ้าหากว่าเปี๊ยกประสบความสำเร็จในข้อแรกแต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อเขาพบกับความสำเร็จในข้อแรก ตัวอย่างเช่น หนังเรื่อง คู่หู ทำเงินได้ดีแล้ว เขาจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร จึงจะไม่ได้ถอยหลังกลับมาอีก อันนี่ซิ น่าสนใจศึกษา
โชน บุนนาค และ เปี๊ยกโปสเตอร์ ในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง ชู้
ส่งท้าย เปี๊ยกโปสเตอร์ จะก้าวต่อไปได้อย่างไร
เมื่อเราหันไปดูหนังทั้งหมดของเขาจากเรื่อง โทน ถึง คู่หู ความจริงอย่างหนึ่งซึ่งเราต้องยอมรับก็คือว่า เปี๊ยกเป็นผู้มีความสามารถในเทคนิคการสร้างหนัง และอันนี้เปี๊ยกก็ยอมรับว่า เขาร่ำเรียนมาโดยตรง ส่วนด้านการกำกับการแสดงนั้น ในฐานะศิลปินผู้เขียนรูป เขาได้เปรียบในการเป็นผู้คิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ และมีพรสวรรค์ในการประกอบสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เข้ากันได้อย่างเรียบง่าย เปี๊ยกจึงเป็นนักกำกับการแสดงที่ทำให้ผู้แสดง ๆ ออกเป็นธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ท่าทางและความรู้สึกในอารมณ์ เป็นนักสร้างหนังที่มีความรู้ทางด้าน ภาพ แสง เสียง หรือมีความรู้พอที่จะหยิบยืมและว่าจ้างความสามารถของคนอื่นในแต่ละด้านเหล่านี้มาช่วยทำให้หนังของเขาดี ตัวอย่างเช่น เขาเลือก น้ำเงิน บุญหนัก ให้เป็นผู้แสดงแบบให้แก่ วันดี ศรีตรัง ในหนังเรื่อง ชู้ เป็นต้น
มีอยู่อย่างเดียวที่เปี๊ยกโปสเตอร์ขาด และเราจะเห็นว่าเป็นจุดอ่อนของหนังทุกเรื่องของเขา นั่นคือนำบทประพันธ์มาทำเป็นหนัง ดูเหมือนว่าเปี๊ยกจะเคยพูดไว้ว่า เขาไม่อยากจะซื้อบทประพันธ์ของใครมาทำหนัง เกรงว่าจะสร้างได้ดีไม่เท่า หรืออีกอย่าง ขาดเงินทุนที่จะซื้อเรื่องและไม่ชอบอ่านหนังสือ นั่นหมายความว่า เปี๊ยกกำลังปฏิเสธสิ่งที่จะทำให้เขาเป็นนักสร้างที่ก้าวหน้า
เพราะเราปฏิเสธได้หรือว่าศิลปะของหนังนั้น จะต้องไม่เดินควบคู่ไปกับศิลปะการประพันธ์ หนังส่วนมากที่พบกับความสำเร็จโด่งดังในโลกนี้ ก็ล้วนแต่สืบเนื่องมาจากจินตนาการของนักเขียนเรืองนามทั้งสิ้น ไม่มีหรอกที่ผู้สร้างหนังจะสามารถอยู่รอดได้ด้วยเรื่องที่ตนเองเขียนหรืออาจจะอยู่ได้ก็ในบางครั้ง ส่วนมากก็จะล้มลุกคลุกคลาน ด้วยอยู่ในกรอบอันจำกัด ไม่สามารถล้ำหน้าไปได้เลย
เท่าที่ผ่านมาเนื้อหาของหนังที่เปี๊ยกสร้างมักจะอ่อนในสาระหรือไม่ค่อยจะให้ข้อคิดสติปัญญากับผู้ชมเท่าไรนัก เป็นต้นว่าเรื่อง ดวง โทน เขาสมิง คู่หู หรือแม้แต่ ชู้ หากเปี๊ยกก็โด่งดังมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ ก็เพราะการสร้างหนังที่มีศิลปะ มีความละเอียดประณีต เป็นผู้นำในเทคนิคหรือรูปแบบของการสร้างอย่างไม่มีใครเหมือน ถ้าหากสมมุติว่าเปี๊ยกจะหันมาสนใจกับบทประพันธ์ที่ดี ๆ หรือวรรณกรรมที่มีคุณค่า ซึ่งก็มีอยู่เยอะในเมืองไทย เปี๊ยกก็จะมีความสำคัญมีคุณค่ากับวงการหนังไทยมากกว่านี้ ด้วยวรรณกรรมหรือบทประพันธ์ที่ดี ๆ นั้น มักจะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหรือการต่อสู้กันทางสติปัญญาของมนุษย์ ให้ข้อคิดอย่างกว้างขวาง อันเป็นประโยชน์ทางสังคม และนำมนุษย์ในสังคมให้ไปสู่วิถีชีวิตที่ดีกว่า เปี๊ยกโปสเตอร์จึงน่าจะสรรหาบทประพันธ์ หรือวรรณกรรมที่ดี ๆ อย่างนี้มาทำหนังตามรูปแบบและวิธีการของเปี๊ยกเอง ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นได้ เปี๊ยกก็จะต้องก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงเป็นแน่นอน ไม่แต่เท่านั้น ยังเป็นการช่วยกันผลักดันหนังไทยให้ขึ้นมามีบทบาทรับใช้สังคมในฐานะสื่อสารมวลชนที่มีคุณค่าและความรับผิดชอบ อย่างที่เปี๊ยกได้กล่าวไว้ในหนังสือฟิล์มว่า “ถ้าผมมีอิสระ อยากทำหนังสะท้อนความเลวร้ายของคนที่น่าเห็นใจ โดยเฉพาะเรื่องของเด็ก ๆ”
ในทางกลับกัน ถ้าเปี๊ยกยังไม่ให้ความสนใจในบทประพันธ์ดี ๆ หรือก้มหน้าก้มตาแต่งเรื่องขึ้นมาเองอยู่อย่างนี้ ก็หมายความว่า กิจการที่เปี๊ยกจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงนั้น ยังเป็นเรื่องยากและก็คงจะถอยกลับมากระทืบเท้าอยู่ร่ำไป และเมื่อรอยเท้านั้นย่ำบ่อย ๆ หรือกระทืบบ่อย ๆ เข้า สักวันหนึ่งมันก็คงเกิดหลุดบ่อ เป็นน้ำเน่ากักขังตัวเองให้ก้าวไปข้างไหนไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดายแทน
แต่สิ่งที่เราอยากจะตั้งคำถามไว้ตรงบรรทัดสุดท้ายนี้ก็คือว่า เปี๊ยกโปสเตอร์นั้นจะใช้เวลากระทืบเท้าไปอีกนานเท่าไร?
นิตยสาร หนัง เป็นนิตยสารภาพยนตร์รายเดือน จัดทำขึ้นโดย โดม สุขวงศ์ และ อัศศิริ ธรรมโชติ กับกลุ่มเพื่อนที่เพิ่งจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากร่วมกันทำนิตยสารภาพยนตร์รายสัปดาห์ชื่อ แมงมุม มาได้ 4 ฉบับ โดยนิตยสารหนังฉบับแรก วางแผงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2517 และผลิตออกมาได้เพียงฉบับเดียวเท่านั้น