รถไฟสายภาพยนตร์

โดย ก้อง ฤทธิ์ดี 

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 71 ประจำเดือน กันยายน - ตุลาคม 2565

คอลัมน์แนะนำหนังสือในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ฉบับนี้ ชวนอ่านตำราและหนังสือภาพว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างม้าเหล็กกับแผ่นฟิล์ม ในช่วงเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก ผู้สนใจสามารถมาศึกษาได้ที่ห้องสมุดฯ เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.30 น. – 17.30 น. ณ หอภาพยนตร์


From Steam to Screen: Cinema, The Railways and Modernity 

เขียนโดย Rebecca Harrison




งานศึกษาเข้มข้นว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างระบบรถไฟกับภาพยนตร์ในประเทศอังกฤษ ในฐานะที่ทั้งสองเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สร้างอิทธิพลทั้งทางกายภาพและการรับรู้โลก และช่วยผลักดันยุคแห่ง “ความสมัยใหม่” ให้ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปีที่ภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้นในโลกใน ค.ศ. 1895 ไปจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด


หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างภาพยนตร์และระบบรถไฟ ทั้งในเชิงกายภาพของการเคลื่อนที่และการ “พาผู้โดยสารไปยังสถานที่อื่น” ผ่านจอหนังและผ่านความสามารถของภาพยนตร์ในการย่นย่อและแปลงมิติพื้นที่และเวลา ผู้เขียนสำรวจอิทธิพลอันซ้อนทับกันระหว่างรถไฟกับภาพยนตร์ในการสร้างสังคมยุคใหม่ และการที่ประวัติศาสตร์การรถไฟและประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในอังกฤษ เปิดทางสู่ประเด็นอื่น เช่น ชนชั้น เพศ และความล่มสลายของจักรวรรดิ 


ตัวอย่างของหนังที่ผู้เขียนใช้เพื่อวิเคราะห์ ส่วนใหญ่มาจากยุคหนังเงียบ หนังข่าว เรื่อยมาถึงยุคหนังเสียงจนถึงประมาณปี ค.ศ. 1948 เช่น The Great Train Robbery (1903) หนังเงียบอันโด่งดังว่าด้วยการปล้นรถไฟ The Flying Scotsman (1929) ที่พูดถึงเสรีภาพของหญิงสาวกับการเดินทางด้วยรถไฟ และ The Red Shoes (1948) ที่นางเอกต้องโดยสารรถไฟตลอดเวลา 


From Steam to Screen: Cinema, the Railways and Modernity อาจจะเป็นหนังสือกึ่งวิชาการที่หนักหนาสักหน่อย แต่เป็นงานศึกษาที่ลุ่มลึกและครอบคลุมประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างรถไฟกับภาพยนตร์ได้ทุกแง่มุม


Hollywood Trains, Edited 

เขียนโดย J.C. Suares




ชวนชมหนังสือภาพสวยงามและมีเสน่ห์ ไม่มีตัวหนังสือเยอะ คนอ่านไม่เครียด เพียงดูภาพและอ่านแคปชันเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถเข้าใจและหวนระลึกถึงหนังคลาสสิกที่ใช้ฉากบนรถไฟได้มากมายหลายเรื่อง 


Hollywood Trains เป็นหนังสือภาพขาวดำ พิมพ์กระดาษมันมีคุณภาพ แต่ละหน้าโชว์ภาพจากหนัง ประกอบด้วยคำบรรยายหนึ่งย่อหน้า เล่าถึงฉากที่หยิบยกมาอันเกี่ยวข้องกับรถไฟ แนวคิดของหนังสือเล่มนี้คือการเล่าประวัติศาสตร์หนังผ่านฉากรถไฟ อันเป็นยานพาหนะที่ถูกนำเสนอในหนังยุคแรก ตั้งแต่หนังคาวบอยต้นแบบของ จอห์น ฟอร์ด อย่าง The Iron Horse (1924) เซซิล บี. เดอมิลล์ สร้างฉากรถไฟที่อลังการยิ่งกว่าใน Union Pacific (1939) และหนังแอ็กชันที่ทำให้รถไฟและคนงานรถไฟเป็นฮีโร่อย่าง The Trains (1964) กำกับโดย จอห์น แฟรงเกนไฮเมอร์ และนำแสดงโดย เบิร์ต แลงคาสเตอร์ภาพสวย ๆ ในหนังสือเล่มนี้ยังมาจากฉากรักวาบหวิวใน North By Northwest (1959) ของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก และฉากสนทนาใน Strangers on a Train (1951) โดยผู้กำกับคนเดียวกัน นอกจากนี้ยังมี East of Eden (1955) หนังอมตะนำแสดงโดย เจมส์ ดีน กับฉากโหนรถไฟอันโด่งดัง From Russia With Love (1963) หนังเจมส์ บอนด์ ยุค ฌอน คอนเนอรี ที่มีทั้งฉากบู๊และฉากรักบนรถไฟ และแน่นอนว่าต้องมีฉากซุ่มวางระเบิดรถไฟกลางทะเลทรายจาก Lawrence of Arabia (1962)