สตีเวน สปีลเบิร์ก บทและบริบท

โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 73 ประจำเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2566


เดือนมกราคมนี้หอภาพยนตร์จะจัดฉายหนังรอบพิเศษ 3 เรื่องของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ได้แก่ The Fabelmans (2022), The Sugarland Express (1974) และ Always (1989) นอกเหนือจากชมภาพยนตร์และร่วมเสวนา เราขอชวนผู้ชมมาร่วมค้นหาแรงบันดาลใจ เจาะบริบทความเป็นมาของตัวตนและบทวิเคราะห์งานของผู้กำกับอเมริกันคนสำคัญคนนี้ ผ่านหน้าหนังสือหลายเล่มในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี 


สถานะของสปีลเบิร์กในสายตาผู้ชมส่วนใหญ่ คือคนทำหนังที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ หนังของเขาจำนวนมากตลอดชีวิตการทำงานเกือบ 50 ปี เป็นหนังประเภท blockbuster ทำเงินมหาศาลทั่วโลก พูดง่าย ๆ ว่าเขามักถูกมอง (ในแบบดาด ๆ) ว่าเป็นคนทำหนังเชิงพาณิชย์ ดูได้จากความดังอมตะระดับโลกของหนังอย่าง Jaws (1975), Raiders of the Lost Ark (1981) และ Jurassic Park (1993) แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความยิ่งใหญ่และอิทธิพลของสปีลเบิร์ก รวมทั้งประเด็นความสนใจอันหลากหลายในหนังของเขาอย่าง Schindler’s List (1993), Amistad (1997), Munich (2005) ทำให้นักเขียน นักวิชาการ และนักวิจารณ์จำนวนมากโดยเฉพาะในอเมริกา ศึกษางานของเขาจากมุมมองที่จริงจัง ผ่านทฤษฎีและแว่นของภาพยนตร์ศึกษาในหลากหลายแขนง 


หนังสือในห้องสมุดของหอภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับสปีลเบิร์กนับได้เกิน 10 เล่ม ทั้งที่หนักหน่วงในเนื้อหาและที่เป็นหนังสือรวบรวมผลงานพร้อมภาพประกอบสวย ๆ วันนี้เราขอหยิบบางเล่มมานำเสนอในที่นี้




เล่มแรกเป็นงานภาษาไทย “สตีเวน สปีลเบิร์ก: พ่อมดฮอลลีวูด” นัยนา รัตนวรรณ แปลจากงานภาษาอังกฤษของ ทอม พาวเวอร์ เล่มนี้พิมพ์มาตั้งแต่ปี 2549 แต่ถือได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดีมากสำหรับผู้ที่สนใจชีวประวัติและการก้าวเข้ามาเป็นคนทำหนังของสปีลเบิร์ก รวมทั้งมีเกร็ด ข้อมูล อุปสรรค และเบื้องหลังหนังหลายเรื่องในครึ่งชีวิตแรกของสปีลเบิร์ก ตั้งแต่ Jaws ถึง The Color Purple และ Schindler’s List 


เรื่องเล่าที่น่าสนใจ เช่น การที่คนดูจำนวนหนึ่งไม่พอใจที่สปีลเบิร์กถูกเลือกมากำกับ The Color Purple หนังชีวิตของคนผิวดำ และถึงกับมีบทความเสียดสีว่านี่คือ Spielberg’s Close Encounter of the Third World เป็นการล้อชื่อหนังของเขา และกระทบกระเทียบว่าสปีลเบิร์กคือคนขาวร่ำรวยที่ต้องมาทำหนังของคนยากคนจน (หรือคนจาก “โลกที่สาม”) แทนที่จะหาผู้กำกับผิวดำหรือคนที่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมคนผิวสีมากกว่ามารับผิดชอบ นอกจากนี้หนังสือยังสอดแทรกประวัติชีวิตของสปีลเบิร์ก และหาความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องส่วนตัวกับการแสดงออกในหนังของเขา เช่น ประเด็นครอบครัว การแต่งงานและการหย่าร้าง สตีเวน สปีลเบิร์ก: พ่อมดฮอลลีวูด หนาเพียง 90 หน้า อ่านรวดเดียวจบได้สบาย ๆ น่าเสียดายเสียด้วยซ้ำ ว่าหนังสือน่าจะหนากว่านี้และเล่าถึงหนังของเขาได้มากกว่านี้อีกหน่อย




เล่มถัดมาทั้งหนาทั้งหนัก Spielberg: A Retrospective เป็นหนังสือแบบตั้งโต๊ะที่จะอ่านก็ดีหรือจะดูรูปเฉย ๆ ก็ได้ และรับรองว่าแฟนสปีลเบิร์กคงฟิน คนเขียนคือ ริชาร์ด ชิคเกิล นักวิจารณ์หนังคนดังของนิตยสาร Time ที่เคยได้สัมภาษณ์สปีลเบิร์กหลายครั้งและนำมาเรียบเรียงใหม่ในที่นี้ โดยมีตัวสปีลเบิร์กเองมาเขียนคำนำให้ 


หนังสือแบ่งบทตามหนังของสปีลเบิร์กแต่ละเรื่อง ตั้งแต่ Duel (1973) หนังเรื่องแรกที่ทำฉายทางโทรทัศน์ ไล่มาทีละเรื่อง ๆ จนถึง War Horse (2011) แต่ละบทจะเป็นการผสมระหว่างคำพูดของสปีลเบิร์กเอง สอดประสานไปกับบทวิเคราะห์วิจารณ์จากผู้เขียน และมีภาพประกอบทั้งสีและขาวดำมากมายสำหรับหนังทุกเรื่อง ริชาร์ด ชิคเกิล ออกตัวตั้งแต่ต้นว่า ส่วนตัวแล้วเขาชอบหนังสปีลเบิร์กแทบทุกเรื่อง แต่ถึงกระนั้น นี่ไม่ใช่หนังสืออวยยศอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะผู้เขียนพูดตรงไปตรงมาถึงหนังที่ตัวเองไม่ชอบหรือคิดว่าสปีลเบิร์กทำไม่สำเร็จ เช่น Always ที่ชิคเกิลเห็นว่ามัน “แบน” เกินไป และสปีลเบิร์กเองก็เหมือนจะยอมรับในคำตำหนินี้ แต่แน่นอนว่า หนังสือเล่มนี้เข้มข้นและละเอียดลออมากในการบรรยายและวิเคราะห์ถึงหนังแต่ละเรื่อง รวมถึงการแสดง สไตล์กำกับ และเบื้องลึกเบื้องหลัง เช่น มหากาพย์กว่าที่หนังเรื่อง A.I. (2001) จะได้สร้าง หรือการปรับแก้บทของเรื่อง The Terminal (2004)




หนังสือเล่มที่สามที่อยากแนะนำ อาจจะเหมาะกับคนที่จริงจังด้านภาพยนตร์ศึกษา Children in the Films of Steven Spielberg เป็นหนังสือรวบรวมบทความ มี เอเดรียน โชเบอร์ และ เด็บบี โอลสัน เป็นบรรณาธิการ  ตามที่ชื่อหนังสือว่าไว้ นี่คืองานที่เจาะลึกไปถึงตัวละครเด็กในหนังของสปีลเบิร์กในมิติที่แตกต่างกันผ่านหนังของเขาหลายเรื่อง ทับซ้อนไปกับการศึกษาเรื่องครอบครัว การหย่าร้าง และมุมมองที่หนังสปีลเบิร์กมีต่อตัวละครผู้ใหญ่ มีบทที่ว่าถึงตัวละครเด็กใน Close Encounter of the Third Kind และ E.T. รวมทั้งวิวัฒนาการและบาดแผลทางอารมณ์ของตัวละครเด็กในหนังอย่าง Hook (1991) หรือ The Color Purple และ Minority Report (2002) รวมทั้งการศึกษาความตื่นตาตื่นใจผ่านสายตาเด็กใน Jurassic Park (1993) 


นอกจากหนังสือที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ยังมีงานศึกษาเกี่ยวกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกหลายเล่มในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี 


ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.30 น. - 17.30 น. ไม่เสียค่าเข้าชม ค้นหาหนังสือและภาพยนตร์ได้ที่ <<คลิก>>