ย้อนมองอดีตของงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน

โดย ฝ่ายอนุรักษ์

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 73 ประจำเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2566 


ในสมัยที่บ้านเมืองเรา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตสังคมนอกบ้านของผู้คน ในสมัยก่อนผู้คนที่ต้องการไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ตื่นตาตื่นใจนอกบ้าน พร้อมกับจับจ่ายซื้อของ เขาไปที่ไหนกัน คำตอบก็คือ งานเทศกาลหรืองานประจำปีประจำถิ่น ทั้งเทศกาลตามประเพณี เช่น งานสงกรานต์ งานเข้าพรรษา งานปีใหม่ งานลอยกระทง และงานเทศกาลที่ทางราชการหรือหน่วยงานรัฐหรือเอกชนจัดขึ้นตามวาระ เช่น งานออกร้านการกุศล งานวัด (โดยเฉพาะงานวัดระดับชาติ เช่น งานวัดสระเกศฯ หรืองานภูเขาทอง) งานวันชาติ งานวันรัฐธรรมนูญ งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา งานออกร้านประจำปีของสมาคมหรือองค์กร เช่น งานวชิราวุธ งานกาชาด ตลอดไปจนถึงงานแสดงการละเล่นที่เร่มาจากต่างประเทศ เช่น คณะละครสัตว์ คณะกายกรรม 


แม้จะไม่มีทุกวัน แต่ก็จัดกันเป็นวาระตลอดทั้งปี การไปเที่ยวดูงานเทศกาลเหล่านี้จึงกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมเมืองเช่นกัน


ในบรรดางานเทศกาลดังกล่าวนี้ มีงานหนึ่งที่เป็นงานประจำปีซึ่งผู้คนในสังคมไทยยุคก่อนรู้จักกันดีและนิยมไปร่วมงานทุกปี นั่นคือ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ซึ่งนับเป็นงานประเภทออกร้านจำหน่ายสินค้า แสดงนิทรรศการ และการละเล่น จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นงานระดับชาติ มีโรงเรียนทั่วประเทศมาร่วมกิจกรรม นับเป็นงานเทศกาลอย่างที่เรียกได้ว่ามหกรรม เพราะความใหญ่โตและกว้างขวางของงาน ผู้ที่มีความทรงจำกับงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนที่จัดต่อเนื่องนี้ มีทั้งเด็กนักเรียนจากทั่วประเทศที่มีส่วนร่วมโดยตรง เช่น ต้องเป็นตัวแทนโรงเรียนไปประจำสถานที่ออกร้าน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนจากต่างจังหวัดที่มีส่วนร่วมในการทำผลงานที่โรงเรียนจะส่งไปแสดงและได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งแรกในชีวิต รวมถึงผู้คนอีกจำนวนมากที่เป็นครูบาอาจารย์ ผู้ปกครอง ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่เดินทางไปเที่ยวชมงานนี้ปีแล้วปีเล่า 


แม้จะมีช่วงเวลาที่หยุดชะงักจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปรกติ และปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายครั้ง แต่งานกิจกรรมภายใต้ชื่องานศิลปหัตถกรรมนักเรียนยังคงถูกจัดต่อเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน คอลัมน์คลังอนุรักษ์ฉบับนี้ได้คัดสรรส่วนหนึ่งของภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมานำเสนอเพื่อแสดงภาพของกิจกรรมนี้ในอดีต และเพื่อให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในวงการการศึกษาไทยผ่านภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้


งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2455 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นผู้ริเริ่มจัดขึ้น ด้วยทรงมีพระราชปณิธานเพื่อแนะนำชักจูงให้เด็กชายหญิงในสมัยนั้น เอาใจใส่ ใฝ่ฝึกหัดศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นทางเลี้ยงอาชีพต่าง ๆ ให้เกิดความชำนาญ เกิดการสร้างสรรค์ชิ้นงานซึ่งก่อให้เกิดรายได้ โดยหวังผลให้เด็กทั้งหลายในสมัยนั้นซึ่งกำลังนิยมในการเป็นเสมียนหรือข้าราชการลดน้อยลง และหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นในการพัฒนาบ้านเมืองเช่นกัน


คอลเลกชันสำหรับให้บริการของหอภาพยนตร์มีภาพยนตร์บันทึกงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนหลายเรื่องในช่วงระหว่างปี 2495-2515 ส่วนหนึ่งจะเป็นภาพยนตร์ข่าวบันทึกเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน และอีกส่วนหนึ่งซึ่งถ่ายทำเป็นสารคดี โดยหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการเอง ซึ่งมักจะบันทึกภาพบรรยากาศของงาน กิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนผู้เข้าร่วมทั้งบรรดานักเรียน และประชาชนทั่วไปซึ่งให้ความสนใจเข้าชมงาน


ภาพยนตร์บันทึกงานศิลปหัตกรรมนักเรียน ประจำปี พ.ศ. 2495



ภาพ: บรรยากาศงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปี 2495


ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดทำโดยแผนกโสตและทัศนศึกษา กองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา ถ่ายและลำดับภาพโดย บุญทิพย์ ประกาศ-วุฒิสาร น้องชายของ แท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติด้านภาพยนตร์ โดยการจัดงานในครั้งนั้น นับเป็นครั้งที่ 4 ที่กระทรวงศึกษาธิการฟื้นฟูการจัดงานขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2492 หลังจากที่ต้องหยุดจัดไปนานถึง 25 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2467 เพราะบ้านเมืองเริ่มไม่อยู่ในสภาวะปรกติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2468 ต่อเนื่องมาถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 


ภาพยนตร์เริ่มต้นถ่ายให้เห็นตั้งแต่หน้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยมีป้ายข้อความกำกับอยู่ที่ชื่องานว่า ผู้ใหญ่ 2 บาท นักเรียนในเครื่องแบบ 1 บาท จากข้อมูลประวัติการจัดงานพบว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจำหน่ายบัตรผ่านประตูจึงทำให้มีรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดงาน หลังจากนั้นจึงปรากฏให้เห็นพิธีสำคัญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเปิดงานและทอดพระเนตรการฝีมือนักเรียน ถัดมาเป็นการแสดงฝีมือของนักเรียนผู้ใหญ่ในร้านกองการศึกษาผู้ใหญ่ การแสดงศิลปหัตถกรรมประเภทต่าง ๆ ของนักเรียน และส่วนสำคัญที่กินเวลาส่วนใหญ่ของภาพยนตร์ คือการแสดงกลางแจ้งเกี่ยวกับประเพณีพื้นเมืองและตำนานโบราณของนักเรียนจังหวัดต่าง ๆ เช่น เพชรบุรี, ร้อยเอ็ด, สุรินทร์, เชียงราย ฯลฯ โดยมีข้อความกำกับไปตลอดทั้งเรื่อง 


หอภาพยนตร์ได้รับมอบภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2528 ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณค่าในฐานะเป็นหลักฐานทางภาพเคลื่อนไหวของงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบ ในขณะเดียวกันยังเป็นบทบันทึกถึงศิลปหัตถกรรมและประเพณีพื้นบ้านต่าง ๆ รวมถึงความสามารถของนักเรียนไทยในยุคที่เพิ่งประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2494 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เพิ่มเรื่องหัตถศึกษาหรือการฝึกหัดอาชีพและการประกอบอาชีพเข้ามาเป็นองค์สี่แห่งการศึกษา จากเดิมที่มีแค่พุทธิศึกษา จริยศึกษา และพลศึกษา 


งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน 3-9 ธันวาคม 2502



ภาพ: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรกิจกรรมในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปี 2502


ภาพยนตร์ซึ่งไม่ปรากฏข้อมูลผู้สร้างเรื่องนี้ เริ่มบันทึกภาพงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 22 ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน จากนั้นเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจกรรมที่จัดขึ้นในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเสาวภา และโรงเรียนเพาะช่าง ท่ามกลางนักเรียนและประชาชนที่เข้าชมงานจำนวนมาก โดยมีกิจกรรม เช่น เด็กนักเรียนฝึกหัดแกะสลัก การแสดงขับรถยนต์ที่ผลิตขึ้นเอง การแสดงฟ้อนรำ การแสดงสวนสนาม ห้องแสดงงานปั้นและภาพวาด ห้องแสดงเครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน ในเวลากลางคืนมีการประดับไฟโดยรอบบริเวณโรงเรียน มีการแสดงพลุและดอกไม้ไฟ มีตัวอักษรไฟวิ่งมีข้อความทรงพระเจริญเนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันพระราชสมภพ นอกจากนั้นยังบันทึกภาพการประดับไฟตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ เช่น ป้อมมหากาฬ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ภูเขาทองอย่างสวยงาม ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าสถานศึกษาที่เข้าร่วมงานในสมัยนั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่โรงเรียนในสายการศึกษาสามัญเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสายอาชีวะ เช่น โรงเรียนเพาะช่าง และโรงเรียนเสาวภา ที่เป็นสถานที่ร่วมจัดงานหลายครั้ง และมีส่วนสำคัญในกิจกรรมต่อเนื่องยาวนานหลายปี


พิธีมอบธงประจำหน่วยขององค์กรเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย



ภาพ: พิธีมอบธงประจำหน่วยขององค์กรเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปี 2515


ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ข่าวช่อง 3 บันทึกภาพเหตุการณ์วันที่ 1 ธันวาคม 2515 ในพิธีรับมอบธงประจำหน่วยขององค์กรการเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ ในงานกรีฑาและแสดงศิลปะหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 35 ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจคือ แสดงให้เห็นบทบาทงานด้านการเกษตรที่มีความสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากเริ่มมีการส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2510 มาจนถึงงานในปี 2513 ซึ่งมีประเด็นหลักของงานว่า “การศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ” โดยแบ่งออกเป็นเขตงานต่าง ๆ เช่น เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขตคหกรรม เขตพณิชยกรรม และเขตเกษตรกรรม ซึ่งถือว่างานเกษตรกรรมถูกให้ความสำคัญทัดเทียมกับงานอื่นเป็นครั้งแรก


นักเรียนประชาบาลแห่งจังหวัดนครสวรรค์



ภาพ: การแสดงละครของนักเรียนประชาบาล จังหวัดนครสวรรค์


ภาพยนตร์ที่ยังไม่ปรากฏปีสร้างเรื่องนี้สันนิษฐานว่าสร้างโดยหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มจากไตเติล “โดย นักเรียนประชาบาล แห่งจังหวัดนครสวรรค์” และ “ณ สนาม ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย” เป็นบันทึกการแสดงละครของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาล จังหวัดนครสวรรค์ บริเวณสนามหน้าตึกยาวของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งมีการสร้างฉากประกอบการแสดงอย่างสวยงาม โดยละครที่เหล่านักเรียนประชาบาลทำการแสดงนั้น สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องสังข์ทอง เด็ก ๆ ทำการแสดงอย่างน่ารัก เป็นที่สนใจของผู้ชมที่ห้อมล้อมอย่างคับคั่งอยู่รอบบริเวณจัดการแสดง ต่อจากนั้นจึงปรากฏไตเติล “ขณะนั้น พม่าได้สระสมกำลังไว้ในเมืองเชียงใหม่เป็นอันมาก” และป้ายโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ซึ่งมาจัดการแสดงละครจำลองการรบระหว่างไทยกับพม่า ผู้แสดงแต่งกายเป็นชุดทหารโบราณ ขี่ม้าทำการแสดงการเดินทัพ และการทำพิธีก่อนออกสนามรบทำศึกสงคราม ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากภาพการแสดงละครของเด็กนักเรียนประถมบริเวณหน้าตึกยาวของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ดูแปลกตาในปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังให้ความสำคัญกับการบันทึกภาพการแสดงละครของนักเรียนในระยะใกล้ ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างจากผู้ชมในสมัยนั้นที่ต้องรายล้อมอยู่ภายนอกบริเวณลานการแสดง กล้องที่บันทึกภาพย้ายตามจุดที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่องไปตามฉากต่าง ๆ ทำให้สามารถสังเกตรายละเอียดต่าง ๆ ของการแสดงละครกลางแจ้ง เช่น ฉากละคร เครื่องแต่งกาย การแสดง และบุคลิกลักษณะของผู้แสดงได้อย่างชัดเจน 


ปัจจุบัน งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนได้เปลี่ยนเป็นงานชุมนุมสำคัญในการประกวดทักษะด้านต่าง ๆ ทั้งวิชาการ ศิลปะ และการงานอาชีพ สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมไปถึงกลุ่มการศึกษาพิเศษต่าง ๆ โดยจัดการแข่งขันต่อเนื่องหลายเดือน ตั้งแต่ระดับจังหวัด และระดับภาค ส่วนงานที่จัดในระดับชาตินั้น จัดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายในปี 2534 ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งพิเศษเนื่องในปีเฉลิมฉลอง 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ และได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือเริ่มการจัดงานขยายไประดับภาคทั่วประเทศ เพื่อเป็นการกระจายโอกาสให้เยาวชนในส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสเข้าชมงานอย่างกว้างขวาง โดยใช้ชื่องานว่า “งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ฉลอง 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ” โดยให้ทุกกรมในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันจัดงานต่อเนื่องต่อมา จนต้องหยุดชะงักไปอีกครั้งหลังจากที่มีการปฏิรูปการศึกษาและมีการยุบรวมหลายหน่วยงานเข้าด้วยกันเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษา และกรมวิชาการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งมอบการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนแก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้รับผิดชอบ และได้ริเริ่มกลับมาจัดงานอีกครั้งในปีการศึกษา 2550 นับเป็นงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 57 และใช้แนวทางการจัดงานไปสู่ระดับจังหวัดและภูมิภาคต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


ภาพยนตร์บันทึกภาพงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนที่นำเสนอในบทความนี้อยู่ในการอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ ผู้สนใจสามารถเข้ามาสืบค้นและรับชมได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.30 น. - 17.30 น. (หยุดวันจันทร์) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชม