เรียบเรียงโดย กรณินทร์ ขันตี
นักศึกษาฝึกงาน ฝ่ายเผยแพร่ หอภาพยนตร์
เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้มีโอกาสจัดกิจกรรม "14 ปี October Sonata รักที่รอคอย" เนื่องในวาระที่ภาพยนตร์เรื่อง October Sonata รักที่รอคอย ผลงานภาพยนตร์ไทยที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมและนักวิจารณ์เมื่อปลายปี 2552 ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2565 หอภาพยนตร์จึงได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาจัดฉายขึ้นจอใหญ่อีกครั้ง ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์
หลังจบภาพยนตร์ ได้มีการร่วมพูดคุยกับ สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับภาพยนตร์ และ ก้อย - รัชวิน วงศ์วิริยะ นักแสดงนำผู้รับบท “แสงจันทร์” ตัวละครที่เป็นแกนสำคัญและภาพจำของเรื่อง ถึงเบื้องหลังและแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจบการสนทนา ก้อย - รัชวิน วงศ์วิริยะ ได้มาร่วมประทับรอยมือรอยเท้าเป็นดาวดวงที่ 195 บนลานดารา อมตนุสรณ์แห่งดาราภาพยนตร์ไทยเนื่องในวาระพิเศษนี้ด้วย และนี่คือส่วนหนึ่งของการสนทนาในวันนั้น
บทหนังรักที่ “เฝ้ารอ” ถึง 10 ปี
ก่อนหน้านี้ สมเกียรติ์ วิทุรานิช เคยฝากผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเอง เรื่อง ฝากฝันไว้เดี๋ยว จะเลี้ยวมาเอา (2535) หลังจากเรื่องแรกนี้ สมเกียรติ์จึงได้เริ่มต้นหาแรงบันดาลใจเพื่อที่จะสร้างบทภาพยนตร์เรื่องต่อไป แต่กว่าจะออกมาเป็นภาพยนตร์ในฉบับเสร็จสมบูรณ์ สมเกียรติ์ต้องใช้เวลาในการรอถึง 10 ปี กว่าทุกอย่างจะลงตัวทั้งเนื้อหา นักแสดง รวมถึงทีมงานที่ทำให้ภาพยนตร์เป็นอย่างที่ตั้งใจ โดยสมเกียรติ์ได้เล่าว่า
“จริง ๆ บทเรื่องนี้เขียนขึ้นมานานมากแล้ว ตั้งแต่หลังจากทำหนังเรื่องแรกเสร็จ ตอนเริ่มต้นเขียนเรื่องนี้มันมี 2-3 จุดที่บอกตัวเองเอาไว้ว่าสิ่งที่เรารู้จักดีที่สุด สิ่งที่เราชอบที่สุดมีอะไรบ้าง มันยังเป็นอะไรที่กระจัดกระจาย แล้วเอาสิ่งเหล่านั้นมามองดูว่าเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง แน่นอนมันมีแรงบันดาลใจจากนิยาย “สงครามชีวิต” ของศรีบูรพา และสิ่งที่คุ้นเคย หรือต้องการให้เป็นบันทึกเหตุการณ์ที่ตัวเองผ่านพบมาด้วย หรือว่าต้องการให้หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผมยังเด็กจนถึงโตขึ้นมา”
นอกจากได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง “สงครามชีวิต” ของ ศรีบูรพา หนังสือที่รักมากที่สุดเล่มหนึ่ง สมเกียรติ์ต้องการใช้เหตุการณ์ทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของเดือนตุลาในช่วงทศวรรษ 2513 - 2520 เป็นฉากหลัง ในขณะที่ชื่อภาพยนตร์สมเกียรติ์ได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลง "Moonlight Sonata" ของบีโธเฟน และต้องการให้มีคำว่า “ตุลา” อยู่ในชื่อเพื่อสื่อถึงฉากหลังของเรื่อง
“ก็อย่างที่ว่า เริ่มต้นมาก็ต้องเอาเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ในชีวิตที่มันอิมแพ็คสูง ๆ มา แน่นอนอิมแพ็คแรกที่รู้สึกเลยคือการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา ความรู้สึกของคนเหมือนกับโลกแตก ไม่ต้องหลับต้องนอน คุยกันแต่เรื่องนี้ ก็เลยอยากให้หนังเรื่องหนึ่งสามารถที่จะเอาสิ่งที่บางคนอาจจะลืมไปแล้วเอากลับมา จริง ๆ สิ่งที่ตั้งใจไว้เลยนะว่าเรื่องนี้ถ้าทำแล้วคนเข้าไปค้นดูของเก่า ๆ ไปศึกษาภาพยนตร์ไทยในยุคมิตร ชัยบัญชา หรือหันมาอ่านหนังสือของศรีบูรพา หรือมาหาข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองในช่วงเวลานั้น ต้องการให้หนังเรื่องนี้จุดประกายให้คุณไปหาอะไรต่อเท่านั้นเอง”
“ตอนเริ่มเขียนก็รู้ว่าถ้าเกิดเราไปทางใดทางหนึ่งหรือไปทางการเมืองไปเลยก็คงไม่มีใครอยากสร้างแน่นอน ก็เริ่มต้นมาด้วยว่าให้มาเป็นหนังรักให้มีความประทับใจและให้เหตุการณ์ใหญ่ ๆ เหล่านี้เป็น Background ของเรื่อง ตอนแรกทุนสร้างค่อนข้างจะเยอะเพราะมันมีฉากใหญ่ ๆ เยอะ พอเริ่มไม่ได้เงินทำ เรารู้สึกว่าเราจะต้องลดความต้องการของตัวเองลงแล้วทำให้มันมินิมอลที่สุด” สมเกียรติ์อธิบายถึงที่มาของการประสานเรื่องโรแมนติกเข้ากับภาพใหญ่ของประวัติศาสตร์จากประสบการณ์ของตัวเอง
สิ้นสุดการ “รอคอย”
สมเกียรติ์ได้เล่าถึงช่วงเวลาที่บทหนังของเขาถูกค่ายหนังปฏิเสธมาอย่างยาวนาน แต่ในระยะเวลา 10 ปีนี่เอง สมเกียรติ์ยังคงใช้เวลาบ่มเพาะบทหนังรักของเขาอยู่เรื่อย ๆ ก่อนที่จะได้มีโอกาสไปเสนอกับ ณภัทร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ของบริษัท NGR ผู้ล่วงลับ หลังจากที่เคยร่วมงานด้วยกันมาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง มะหมา 4 ขาครับ (2550)
“ส่วนหนึ่งที่เรื่องนี้ได้ทำคือ เปีย-ธีรวัฒน์ รุจินธรรม ช่วยเหลือมาก จำได้เลยว่าเจอเปียแล้วเขาถามว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ ผมบอกว่าเสนอเรื่องไปให้พี่ณภัทรอ่าน แล้วพี่ณภัทรยังเฉย ๆ อยู่ ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ผมรู้สึกว่าผมถูกปฏิเสธมาเป็น 10 ปีแล้วก็ยอมรับได้ถ้าไม่ได้ทำ เปียบอกว่าเดี๋ยวผมไปกับพี่ เปียกับผมไปคุยกับพี่ณภัทร และสิ่งหนึ่งที่เปียบอกพี่ณภัทรว่าเรื่องนี้เปียจะทำโดยไม่ขอรับเงินเลยก็ได้ แล้วช่วงนั้นเปียฮอตมาก ค่าตัวน่าจะสูงที่สุดในประเทศไทยด้วย แต่ว่าเปียไม่เรียกค่าตัว ต้องขอบคุณเปียมาก” สมเกียรติ์กล่าวถึงเปีย-ธีรวัฒน์ รุจินธรรม ที่เวลาต่อมาได้ทำหน้าที่กำกับภาพให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้
ภาพ: เปีย-ธีรวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับภาพ ขณะถ่ายทำภาพยนตร์
October Sonata รักที่รอคอย เล่าเรื่องราวของ “แสงจันทร์” หญิงสาวผู้ไม่รู้หนังสือ คืนหนึ่ง เธอได้พบกับหนุ่มนักเคลื่อนไหว เขาได้อ่านนิยายเรื่องสงครามชีวิตให้เธอฟัง รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เธอหัดอ่านหนังสือ สนใจโลกกว้าง และสามารถเลือกทางชีวิตของตัวเธอเองได้ ตั้งแต่วันนั้นเธอจึงตั้งตารอที่จะเจอเขาทุกปี โดยผ่านหลายเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์สังคมไทย
สมเกียรติ์ได้กล่าวถึงเบื้องหลังการรับบท “แสงจันทร์” สาวโรงงานผู้ไร้การศึกษา ซึ่งเป็นตัวละครที่เป็นแกนสำคัญของเรื่องของ ก้อย - รัชวิน วงศ์วิริยะ ไว้ว่า “สิ่งแรกเลยคือต้องการนักแสดงที่สามารถให้เวลากับหนังได้มากที่สุด ก็เลยต้องการนักแสดงที่ค่อนข้างใหม่ นางเอกคือตัวเดินเรื่องที่น่าจะ (แคส) ยากที่สุด แต่ก็โชคดีว่าแคสมาไม่กี่คนและมีเพื่อนเขาแนะนำมา เขาไปดูเรื่อง รัก/สาม/เศร้า มา แล้วก็มาบอกว่านี่ต้องเอาก้อยมาเลย ตอนนั้นไม่มีเงินจ้างคนทำแคสติ้ง มีผมและผู้ช่วยทำแคสกันเองก็คือให้ผู้ช่วยไปหาเบอร์ติดต่อมา”
“พอมาถึงคุยกับก้อยแล้วก็มีการออดิชันดู ผมฟันธงเลยว่าต้องเป็นคนนี้แล้วล่ะ จำได้ว่าตอนที่แคสก้อยบทนี้ พอก้อยไปอ่านบทเสร็จก้อยบอกคิดว่าก้อยเล่นได้เหรอ บทมันยากมาก ผมเชื่อว่าก้อยเล่นได้แล้วทำไมก้อยคิดว่าตัวเองเล่นไม่ได้ ผมเชื่อว่าเล่นได้”
ขณะที่ ก้อย - รัชวิน วงศ์วิริยะ นักแสดงนำผู้รับบท “แสงจันทร์” หลังจากที่เธอได้มีโอกาสถ่ายทอดฝีมือด้านการแสดงให้แฟนภาพยนตร์ได้รู้จักมากขึ้น จากเรื่อง รัก/สาม/เศร้า (2551) ซึ่งส่งให้เธอได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ทำให้เธอได้รับการติดต่อให้มาทดสอบบท “แสงจันทร์” ที่เธอพูดได้เลยว่าเป็นบทบาทที่ยากและท้าทายสำหรับเธอ
“อ่านตอนแรกนี่แบบว่า โอ้โห นี่มันเป็นบทที่ Masterpiece มากนะคะ มันเป็นบทในฝันของนักแสดง ก้อยเชื่อว่าในฐานะคนเป็นนักแสดงเราได้เจอบทที่ดีขนาดนี้แล้วก็บอกตรง ๆ มันยากมาก ช่วงเวลานั้นก้อยก็ถือว่ายังใหม่ในวงการภาพยนตร์ เราก็รู้สึกว่ามันยากแต่มันก็ท้าทาย มันจะมีสักกี่ครั้งเชียวในชีวิตที่จะมีบทภาพยนตร์ดี ๆ มาถึงตัวเรา ก็รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ดีมาก แล้วพี่สมเกียรติ์ก็ให้เกียรติก้อยมาก ๆ ในการที่เลือกให้ก้อยมารับเล่นบทนี้”
ตัวละครที่ “เฝ้ารัก” และ “รอคอย”
ความท้าทายหนึ่งที่รัชวินต้องพบขณะรับบทในเรื่องนี้ คือการแสดงเป็น “แสงจันทร์” ตั้งแต่ตอนที่เป็นสาววัยรุ่นจนถึงตอนที่เป็นผู้หญิงสูงวัย พร้อมถ่ายทอดพัฒนาการของตัวละครที่เปลี่ยนไปตามวัยด้วย รัชวินเล่าถึงเรื่องราวดังกล่าวว่า “ย้อนกลับไปตอนนั้น บทมันยากจริง ๆ ค่ะ คือมันไม่ใช่เป็นแค่แสงจันทร์ที่เป็นผู้หญิงสาววัยใส ช่างฝันแล้วอยู่แบบนั้นตลอดทั้งเรื่อง มันมีการเติบโตและมีพัฒนาการของตัวละครตั้งแต่เด็กไปจนเป็นวัยรุ่น จนมีความรัก มีครอบครัว มันโตไปเรื่อย ๆ จนถึงวัยชราเลย การเติบโตของตัวละครมันไม่ได้แค่อายุเดียว มันโตขึ้น เพราะฉะนั้นทำยังไงให้คนเชื่อว่าเราเป็นแสงจันทร์จริง ๆ แล้วก็เดินทางไปพร้อมกับเรา พร้อมกับตัวละครตัวนี้”
“เราก็รู้สึกว่าการเดินทางของเขามันน่าสนใจ ตัวละครตัวนี้มันมีเสน่ห์ตรงที่มันไม่ใช่ตัวละครแบน ๆ มันมีมิติ มันเป็นตัวละครที่เป็นมนุษย์จริง ๆ ที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี รู้สึกผิดชอบชั่วดี มันคือมนุษย์จริง ๆ เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ เธอคนนี้เป็นคนดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะทำยังไงให้คนดูอินตามและเชื่อในสิ่งที่ตัวละครเป็น อันนี้เป็นสิ่งที่ยากสำหรับก้อย ถามว่าก้อยทำยังไงก็คือก้อยก็ต้องเชื่อไปเลยว่าตัวเองเป็นแสงจันทร์ ณ ตอนนั้น”
เมื่อถามถึงต้นแบบและแรงบันดาลใจที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นตัวละคร “แสงจันทร์” สมเกียรติ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมเคยอ่านเรื่องของคุณศรีดาวเรืองสมัยโลกหนังสือและก็ทึ่งมาก จากสาวโรงงานกลายมาเป็นนักเขียนและงานเขียนดีมาก เลยได้อิทธิพลมาค่อนข้างเยอะ จริง ๆ แสงจันทร์ยังมีอีกตัวละครหนึ่งของศรีบูรพาที่ผมได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่อง “แลไปข้างหน้า” เป็นการก้าวขึ้นจากคนระดับล่างจนถึงขึ้นข้างบนและไต่เต้าด้วยการศึกษา ผมต้องการให้แสงจันทร์เป็นคนที่พัฒนาด้วยความรู้และการศึกษา อันนี้ผมคิดว่ามันสำคัญ”
รัชวินไม่เพียงแต่ต้องแสดงภาพของ “แสงจันทร์” ที่มีอายุเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องถ่ายทอดให้เห็นถึงพัฒนาการจากหญิงสาวผู้ไร้การศึกษาสู่การเป็นนักเขียนวรรณกรรม ที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นทางความคิดและอุดมการณ์ รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกด้านความรัก รัชวินอธิบายว่า
“สำหรับแสงจันทร์ เหมือนเชื่อว่าความรักมันคือ Love and First Sight พอเขารักคน ๆ นี้แล้วเขาก็เลือกที่จะบูชาคน ๆ นี้ไปตลอดชีวิต ความยากสำหรับก้อยคือฉันไม่เคยมีประสบการณ์แบบแสงจันทร์มาก่อน คือตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันมีอย่างนั้นจริงเหรอ แสงจันทร์เขาเป็นคนที่โลกบวกนะ จนเขาค่อย ๆ ไปเรียนรู้ชีวิต พอเขาผิดหวังกับความรักตั้งแต่แรกจนเขามาเจอ “ลิ้ม” เหมือนตัวละครก็โตขึ้นในทางความคิด เขาก็เริ่มรู้ว่าโลกไม่ใช่สีชมพูแล้ว มันก็จะเริ่มสีเทาแล้ว”
“โชคดีที่ก้อยได้ทำงานกับผู้กำกับที่เขาเข้าใจตัวละคร เพราะว่ามันเป็นตัวละครที่มาจากบทที่พี่สมเกียรติ์เขียนด้วยตัวเอง เพระฉะนั้นเวลาที่ก้อยไม่เข้าใจหรือว่าก้อยต้องการสร้างอารมณ์ พี่สมเกียรติ์ก็จะเป็นคนที่พาก้อยไปตรงจุดนั้นได้”
“พี่สมเกียรติ์จะเปรียบเทียบความรักในยุคสมัยนี้กับในอดีตให้ฟังว่าสมัยนี้ทุกอย่างมันรวดเร็ว ฉาบฉวย หรือว่าการที่เรามีความรักที่อยู่ระยะทางห่างกันสมัยนี้มันไม่มีปัญหาเลย แต่พอเราอยู่ในยุคนั้น ลองคิดดูว่าเราไม่มีโทรศัพท์ติดต่อ ไม่มีอะไรที่เราจะรู้ความเคลื่อนไหวของคนที่เรารักว่าเขาเป็นยังไง มันทรมานใจแค่ไหน ผู้หญิงคนหนึ่งไม่มีใครอยู่ข้าง ๆ เลย แต่จิตใจจดจ่ออยู่กับการเฝ้ารอที่จะได้เจอคนรักแบบนั้นอยู่ทุกวัน นี่คือสิ่งเดียวที่หล่อเลี้ยงชีวิตเขา หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้เขายังมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อที่จะไปให้เจอวันที่ 8 ตุลาของทุกปี เราก็ยังเชื่อมั่นอยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ”
October Sonata รักที่รอคอย เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของค่าย M Pictures ผ่านการสร้างสรรค์ของบริษัท NGR ออกฉายในปี 2552 ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังมีพื้นที่สำหรับหนังที่จริงจังและเข้มข้นในเนื้อเรื่อง และท้าทายคนดูทางความคิด แม้จะทำรายได้ไม่มากนักแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของทีมงานที่ร่วมกันสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม และส่งผลให้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ มากที่สุดถึง 11 รางวัล ซึ่งเรื่องนี้สามารถกวาดรางวัลสำคัญบนเวทีในปีนั้นไปครองได้อย่างรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
“พอเราได้ทำงานกับผู้กำกับที่มีความละเอียดสูงมาก เขาใส่ใจในบทของเขา และเข้าใจตัวละครอย่างถ่องแท้ รวมไปถึงการได้ทำงานร่วมกับโปรดักชั่นที่ทุกคนละเอียดและรับผิดชอบในงานของตัวเองได้อย่างดีมาก ๆ ทำให้งานมันออกมาเป็น Masterpiece ชิ้นหนึ่ง ก้อยรู้สึกว่ามันเหมือนเราดูงานศิลปะ ก่อนที่จะมางานวันนี้ก้อยก็ลองเสิร์ชดูในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับภาพของ October Sonata ก้อยนั่งดูแล้วรู้สึกเหมือนดูภาพศิลปะสวย ๆ คือช็อตแต่ละช็อตที่มันแคปออกมาจากในหนังมันเป็นงานอาร์ตได้เลย มันสวยมาก ๆ มันทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราได้มีโอกาสร่วมงานกับคนที่มีประสบการณ์มีคุณภาพ มันทำให้สิ่งที่เราทำเราได้พัฒนาตัวเอง เราได้เติบโตขึ้นในแง่ของการทำงาน และอีกอย่างหนึ่งมันมีคุณค่าทางจิตใจ อย่างวันนี้พอได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งผ่านไป 14 ปี มันมีคุณค่าจริง ๆ นะ”
ภาพ: สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับภาพยนตร์ และ ก้อย - รัชวิน วงศ์วิริยะ นักแสดงนำภาพยนตร์ October Sonata รักที่รอคอย
October Sonata รักที่รอคอย ผลงานภาพยนตร์ไทยที่ประกอบสร้างขึ้นจากความรัก ความอดทน และแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้นของผู้กำกับ สมเกียรติ์ วิทุรานิช และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2565 จะจัดฉายที่หอภาพยนตร์อีกครั้ง ในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 15.30 น. ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา อาคารสรรพสาตรศุภกิจ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม
ชมคลิปวิดีโอเต็มช่วงสนทนาในกิจกรรม “14 ปี October Sonata รักที่รอคอย” ได้ที่ <<คลิก>>
ชมภาพบรรยากาศกิจกรรม “14 ปี October Sonata รักที่รอคอย” ได้ที่ <<คลิก>>