ตามรอย สันติ-วีณา ที่เพชรบุรี

เย็นวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี จอหนังกลางแปลงขนาด 10 เมตรของพรประเสริฐภาพยนตร์ หน่วยบริการหนังเก่าแก่ของท้องถิ่น พร้อมด้วยเครื่องฉายฟิล์มโบราณแบบเตาถ่าน ได้ตั้งตระหง่านอยู่กลางทุ่งนาแห่งการเรียนรู้ที่ชื่อ นาบุญข้าวหอม มองเลยไปเห็นภูเขาสำคัญของเมืองเพชร ทั้งเขาวัง เขาบันไดอิฐ และเขากิ่ว ตั้งอยู่รายรอบ ท่ามกลางบรรยากาศการออกร้านอย่างคึกคัก เคล้าด้วยเสียงประโคมดนตรีไทย และสายลมโชยที่พัดผ่านทิวตาลอันเรียงรายเป็นฉากหลัง


ทั้งหมดนี้มีขึ้นเพื่อต้อนรับฟิล์มภาพยนตร์ สันติ-วีณา จากหอภาพยนตร์ ผลงานที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 โดย รัตน์ เปสตันยี แห่งบริษัท หนุมานภาพยนตร์ ซึ่งได้เดินทางมาถ่ายทำที่เพชรบุรีตลอดทั้งเรื่อง และได้บันทึกภาพวิถีชีวิตชนบท รวมถึงวัฒนธรรมประเพณี ผ่านทัศนียภาพอันงดงามของเมืองเพชรในยุคก่อนกึ่งพุทธกาลไว้อย่างประณีตบรรจง จนเป็นส่วนสำคัญให้ภาพยนตร์ได้รับรางวัลระดับนานาชาติเป็นเรื่องแรกของไทย จากการประกวดภาพยนตร์แห่งเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่น


ปี พ.ศ. 2559 หอภาพยนตร์ได้บูรณะ สันติ-วีณา ขึ้นมาใหม่ หลังจากค้นพบฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งหายสาบสูญไปนานหลายสิบปี และได้ตระเวนจัดฉายทั้งในเมืองไทยไปจนถึงเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ รวมทั้งจัดทำเป็นดีวีดี ตลอดจนเผยแพร่ทางออนไลน์ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อชุบชีวิตให้ผลงานชิ้นเอกของคนไทยกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง จนกระทั่งคราวนี้จึงได้ฤกษ์สำคัญที่ สันติ-วีณา จะหวนคืนมายังพื้นที่ที่เคยให้กำเนิดภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว


 รวมพลังพาหนังเก่ากลับบ้าน 




กิจกรรมฉาย สันติ-วีณา กลางแปลงที่เพชรบุรีครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ประชาชนชาวบ้าน หากยังมีบุคคลสำคัญมาร่วมงานอย่างคับคั่ง เช่น ธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี, คนึง ไข่ลือนาม วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี, เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี รวมไปถึง ออกัส เปสตันยี ทายาทของ รัตน์ เปสตันยี ที่เดินทางมาพร้อมครอบครัว


หัวเรี่ยวหัวแรงของงานคือ จำลอง บัวสุวรรณ์ อดีตครูมัธยม ผู้ทำหน้าที่ปลุกจิตวิญญาณเมืองเพชร ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของ “กลุ่มลูกหว้า” กลุ่มการเรียนรู้นอกระบบของเยาวชนที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ก่อนหน้านี้ ครูจำลองเคยทราบข่าวที่หอภาพยนตร์บูรณะ สันติ-วีณา และเคยสั่งแผ่นดีวีดีที่หอภาพยนตร์จัดทำขึ้นมารับชม จนกระทั่งวันหนึ่ง จึงได้รับคำแนะนำจาก อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนผู้เคยชม สันติ-วีณา เมื่อครั้งที่หอภาพยนตร์นำไปฉายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมาดูซ้ำอีกครั้งเมื่อออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ในปีที่ผ่านมา 


“ภาพยนตร์เรื่องนี้มันเก็บบางอย่างของเพชรบุรีไว้แบบลึกมาก ผมเลยมาบอก โห อาจารย์จำลอง ถ้าสมมติเรามีพื้นที่หนึ่งนะ ที่เราฉาย สันติ-วีณา แล้วข้างหลังเป็นฉากที่ สันติ-วีณา เคยมาถ่ายทำ มันคงเป็นอะไรที่เมจิกมาก ๆ คงเป็นอะไรที่จินตนาการไม่ออก ว่าเราย้อนไป 70 ปี ลึกไปตรงนี้ กล้องต่าง ๆ มันเคยอยู่หลังจอที่นี่” อนุสรณ์กล่าวในกิจกรรมสนทนาก่อนเริ่มฉาย 



ภาพ: จำลอง บัวสุวรรณ์ กำลังอธิบายแผนที่ถ้ำเขาหลวง


เมื่อได้รับการจุดประกาย ครูจำลองจึงชักชวนผู้คนมาตั้งคณะก่อการ โดยประสานงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในเพชรบุรีทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงติดต่อมายังหอภาพยนตร์ จากที่อนุสรณ์เคยคาดว่าน่าจะสำเร็จใน 2-3 ปี ครูจำลองกลับสามารถรวบรวมเครือข่ายต่าง ๆ ให้มาร่วมมือกันได้สำเร็จภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี โดยนอกจากฉายหนัง ในวันนั้นยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ เช่น การทอดกล้วยทอดแบบโบราณ การรำละครชาตรี หรือแม้กระทั่งเพิงไม้ที่ทำขึ้นใหม่ โดย นริศ เจียมอุย หรือ “ครูจี๊ด” ผู้สร้างนาบุญข้าวหอม อีกเรี่ยวแรงสำคัญของงาน ซึ่งได้ลงทุนทำฝาขัดแตะให้เหมือนกับฝาบ้านของตัวละครในเรื่อง 


“จริง ๆ แล้ว ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ มันเกิดจากหลายฝ่ายมากเลย แค่บอก ๆ กัน ทุกคนก็ช่วยกันดี คนนู้นนิด คนนี้หน่อย มาช่วยกัน


“ต้องขอบคุณทางทีมงานคุณรัตน์ เปสตันยี ผู้อำนวยการสร้างด้วย ที่เลือกใช้เพชรบุรี สำหรับตัวผม มันตื่นเต้นตรงที่ว่า เฮ้ย ที่ตรงนี้เราก็เคยเห็น แต่พอไปดูจริง ๆ กลับไม่ใช่ ต้องหาใหม่ ในถ้ำเขาหลวงนี่ไม่น่าเป็นห่วง ยังได้เห็นฉากเก่า ๆ เยอะ แต่ว่านอกถ้ำนี่มันน่าตื่นตาตื่นใจมากเลย” ครูจำลองกล่าวถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้ออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำต่าง ๆ  จนกลายเป็นกิจกรรมตามรอยภาพยนตร์ซึ่งมีขึ้นในวันถัดไป 




ภาพ: การแสดงรำละครชาตรี จำลองฉากในภาพยนตร์สันติ-วีณา ก่อนการจัดฉายภาพยนตร์ในฉบับกลางแปลง


 ความทรงจำจากประจักษ์พยาน 


พอพลบค่ำ ทั้งลูกเด็กเล็กแดง หนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ ต่างมาจับจองที่นั่งกันหนาตา เพื่อรอคอยช่วงเวลาประวัติศาสตร์ เมื่อเครื่องฉายเตาถ่านเริ่มเดินเครื่องฉายภาพ สันติ-วีณา จากฟิล์ม 35 มม. ที่หอภาพยนตร์นำไฟล์ที่ได้รับการบูรณะมาพิมพ์ขึ้นใหม่ และแล้วเพชรบุรีในวันวานก็ได้เคลื่อนไหวผ่านสายตาลูกหลานชาวเพชรอีกครั้งกลางลานข้าวแห่งนี้ 


แม้ อนุฉัตร โตษยานนท์ ผู้รับบท วีณา ในวัยเด็ก ซึ่งเป็นนักแสดงเพียงคนเดียวที่หอภาพยนตร์สืบทราบว่ายังคงมีชีวิตอยู่ จะติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ แต่ในค่ำคืนนั้น ยังมีประจักษ์พยานผู้เกิดทันเห็นการถ่ายทำ สันติ-วีณา มาร่วมชมด้วยถึงสองคน 




ภาพ: สงวน ทิมวัตร


คนแรกคือ สงวน ทิมวัตร หรือ คุณตาแกละ ปัจจุบันอายุ 85 ปี สงวนเล่าว่า หนังไทยเรื่องแรกที่มาถ่ายทำที่เพชรบุรีคือ ชายสามโบสถ์ (2495) นำแสดงโดย คำรณ สัมบุญณานนท์ ซึ่งในตอนนั้นตัวเขาเองก็ได้ร่วมสังเกตการณ์และเข้าฉากเป็นตัวประกอบด้วย


สองปีถัดมา เมื่อทีมงาน สันติ-วีณา เดินทางมายังเพชรบุรี สงวนก็ไปร่วมชมการถ่ายทำเช่นเดิม ฉากที่เขาจำได้ คือฉากวีณาพาสันติหนี ซึ่งเขาชี้ว่าอยู่ตรงบริเวณเขากิ่ว ไม่ไกลจากสถานที่ฉายหนังในวันนี้ นอกจากนี้ เขายังจำได้อีกว่า มีฉากที่มาถ่ายทำที่บ้านของเขา แต่เท่าที่ได้มานั่งชมยังไม่พบฉากดังกล่าว โดยนี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ดูหนัง สันติ-วีณา 


คนที่สองคือ สามารถ นวลละออง อายุ 79 ปี เจ้าของที่ดินบริเวณนาบุญข้าวหอม และพื้นที่โดยรอบ สามารถเล่าให้ฟังว่า ในเวลานั้นเขาอายุราว 10 ขวบ บ้านของเขาอยู่ใกล้กับที่จัดงานในวันนี้ และเมื่อได้ยินว่ามีคณะมาถ่ายหนังใกล้บ้าน เขาจึงไปร่วมมุงดูการถ่ายทำ เห็นทีมงานกำลังคร่ำเคร่ง ถ่ายฉากวีณาหอบทองหมั้นหนี ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างยาวนานเกือบทั้งวัน จนกระทั่งตัวเขากลับบ้านไป 



ภาพ: สามารถ นวลละออง


เมื่อถามว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ดูหนัง สันติ-วีณา หรือไม่ สามารถตอบว่า “เคยดูครั้งหนึ่ง ผมไม่แน่ใจ น่าจะตอนอยู่ที่กรุงเทพฯ เทศกาลอะไรก็ไม่ทราบ ได้ดูจนผมลืมไปแล้ว จนเมื่อวานนี้พอเขาบอกว่าจะฉายหนัง สันติ-วีณา เลยบอกลูกว่า นี่มาดูกันหน่อยสิว่าตอนที่พ่อยืนดูเขาถ่ายนี่มันเป็นยังไงมั่ง แต่มีนิดเดียวเองที่ถ่ายตรงนี้ เขาตัดมาใส่นิดเดียว ตอนที่นางเอกขโมยทอง แล้วเดินผ่านมา เขามาถ่ายตรงนี้แวบหนึ่ง แล้วเขาก็ไปถ่ายตรงอื่นนะ แล้วก็เอามาปะติดปะต่อกัน ไม่ได้ถ่ายตรงนี้ทั้งหมด”


 สำรวจสถานที่ถ่ายทำ 



เช้าวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมตักบาตรที่นาบุญข้าวหอม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินตามรอยภาพยนตร์ที่มีฉากใส่บาตรเป็นหนึ่งในฉากสำคัญ คณะจากหอภาพยนตร์พร้อมด้วยผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่น ๆ ก็ได้ไปพร้อมกันที่ สถานี ดีจัง เขาวังเคเบิลคาร์ เพื่อขึ้นรถรางชมเมือง ออกเดินทางไปตามรอยฉากต่าง ๆ ใน สันติ-วีณา


จุดแรกเริ่มต้นที่ วัดถ้ำแกลบ หรือ วัดบุญทวี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ถ่ายทำฉากโรงเรียนของวีณาในวัยเด็ก และฉากบวชของสันติในตอนท้ายเรื่อง ครูจำลองเล่าว่า เมื่อเริ่มต้นตามหาว่าโรงเรียนในเรื่องอยู่ที่ไหน เขาได้สังเกตเห็นฉากหนึ่งในหนังที่เมื่อมองลอดหน้าต่างห้องเรียนไปจะเห็นหน้าต่างไม้เล็ก ๆ ของโบสถ์วัด ตอนแรกเขาและทุกคนก็พุ่งเป้าไปที่โบสถ์เก่า วัดสนามพราหมณ์ แต่เมื่อไปดูพระประธานในโบสถ์ ก็ไม่ตรงกันกับพระประธานในฉากบวชของสันติที่ควรจะเป็นวัดเดียวกัน 



ภาพ: เจดีย์ในวัดบุญทวี ในภาพยนตร์เทียบกับภาพเจดีย์ในปัจจุบัน


แต่แล้วด้วยความบังเอิญ ก่อนวันงานสองสัปดาห์ เขาได้รับรูปภาพทักทายสวัสดีในไลน์จากเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปวัดต่าง ๆ ในเพชรบุรี เมื่อไล่ดูจึงพบว่าพระประธานแบบที่ปรากฏในฉากบวชนั้นอยู่ที่วัดบุญทวีแห่งนี้ นอกจากนี้ ในวัดบุญทวียังมีเจดีย์บนเขา ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับที่พบในฉากเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสา โดยเฉพาะลูกกรงรอบเจดีย์ที่เป็นรูปตุ๊กตาแบบเดียวกัน ฉากนี้อยู่ในส่วนที่ถูกตัดออกจากฉบับจริง (outtake) ที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ และเพิ่งส่งให้ครูจำลองได้ดูก่อนวันงาน


 

ภาพ: ถ้ำเขาหลวง สถานที่ถ่ายทำหลักในภาพยนตร์ สันติ-วีณา


จุดที่สองคือ ถ้ำเขาหลวง ถ้ำที่มีพระพุทธรูปโบราณประดิษฐานอยู่มากมาย และมีช่องกว้างขนาดใหญ่ให้แสงอาทิตย์สามารถสาดเข้ามากระทบกับหินงอกหินย้อยที่ประดับอยู่ทั่วผนังถ้ำได้อย่างงดงาม ฉากนี้เป็นฉากหลักที่โดดเด่นที่สุดของ สันติ-วีณา ปัจจุบัน ส่วนต่าง ๆ ของถ้ำยังคงสภาพใกล้เคียงกับที่ปรากฏในภาพยนตร์ จนสามารถนำรูปมาเทียบกันได้แบบฉากต่อฉากแทบทุกมุม 


ถัดจากลงไปชมถ้ำเขาหลวง ในช่วงบ่าย ครูจำลองได้พาคณะจากหอภาพยนตร์ขึ้นเขาวัง ไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เพื่อไปชมมุมที่ทีมงาน สันติ-วีณา เคยขึ้นมาถ่ายทำ มุมหนึ่งนั้นคือ มุมที่ถ่ายให้เห็นวัดพระแก้วน้อยและพระธาตุจอมเพชรอยู่ระยะไกลในฉากเปิดเรื่อง และอีกมุมหนึ่ง เป็นตอนที่สันติในวัยเด็กกำลังนั่งเป่าขลุ่ยอยู่บนเขาวัง โดยกล้องเคลื่อนกวาดภาพฉากหลังให้เห็นเขากิ่วและเขาบันไดอิฐอยู่เบื้องล่าง ล้อมรอบด้วยภูมิทัศน์เมืองเพชรบุรีที่ยังคงเต็มไปด้วยต้นตาลและที่ราบอันกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา 


ภาพ: วัดพระแก้วน้อยบนเขาวังในภาพยนตร์เทียบกับวัดในปัจจุบัน


ทริปตามรอย สันติ-วีณา สำหรับกิจกรรมนี้ได้สิ้นสุดลงตรงที่เขาวังนี้เอง นอกจากจะได้เห็นภาพสถานที่ที่เคยปรากฏในหนัง ความเหน็ดเหนื่อยในการขึ้นเขาลงถ้ำ ยังทำให้เราจินตนาการได้ถึงความยากลำบากของทีมงานที่ต้องขนย้ายอุปกรณ์อันใหญ่โตสำหรับถ่ายทำในระบบฟิล์ม 35 มม. โดยในขณะนั้น ผู้สร้างหนังไทยเกือบทั้งหมดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ล้วนถ่ายทำด้วยฟิล์มสมัครเล่นขนาด 16 มม. ที่สะดวกสบายมากกว่า แต่คณะ สันติ-วีณา ได้เลือกที่จะลงทุนลงแรงเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการยกระดับหนังไทยให้ได้มาตรฐานสากลและส่งเข้าประกวดระดับนานาชาติ ซึ่งนอกจากผลลัพธ์ที่ได้มาเป็นรางวัล ความอุตสาหะนั้นยังนำมาซึ่งมรดกภาพเคลื่อนไหวอันมีคุณค่ามหาศาล  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนรุ่นหลังในท้องถิ่นที่พวกเขาได้มาถ่ายทำ 


อย่างไรก็ตาม แม้กิจกรรมจะจบลง วันต่อมา ขณะที่ผู้เขียนยังอยู่ที่เพชรบุรี ก็ได้รับข่าวจากครูจำลองว่า ฉากพายเรือในงานลอยกระทงที่ยังไม่ทราบว่าถ่ายทำที่ไหนนั้น เพิ่งมีผู้มาแสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กของผู้ที่ได้มาชมหนังกลางแปลงท่านหนึ่งว่า ในหนังมีฉากพายเรือที่สระพังหรือไม่ เพราะเคยได้ยินแม่เล่าให้ฟัง เย็นวันนั้น ระหว่างเดินทางกลับศาลายา ผู้เขียนจึงได้แวะไปชมสระพังที่อำเภอเขาย้อย พบว่าเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีประวัติว่าถูกขุดขึ้นโดยทหารพม่าในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ลักษณะใกล้เคียงกับที่เห็นในหนัง ต่างกันตรงขอบสระที่ทำใหม่ให้สูงขึ้นกว่าเดิม และตรงข้างสระมีศาลเจ้าพ่อวังทอง ซึ่งอาจจะเป็นศาลเดียวกับที่ปรากฏภาพขึ้นก่อนจะเข้าฉากลอยกระทง

 


ภาพ: ฉากพายเรือลอยกระทงใน สันติ-วีณา บริเวณสระพัง


กระบวนการตามรอยและปลุกความสำคัญของ สันติ-วีณา จึงยังมีภารกิจอีกมากให้ผู้เกี่ยวข้องและเห็นคุณค่าได้ดำเนินการต่อไป ในขณะเดียวกัน กิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลตอบแทนอันคุ้มค่าของการอนุรักษ์สื่อภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นหัวใจหลักของหอภาพยนตร์ที่ไม่อาจหยุดนิ่งได้เช่นกัน  


------------------------------

เขียนโดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 74 ประจำเดือน มีนาคม - เมษายน 2566