INSECTS IN THE BACKYARD เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกที่ตั้งใจสร้างเพื่อออกฉายตามโรงภาพยนตร์ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ผู้เคยมีผลงานภาพยนตร์อิสระทั้งสั้นและยาวก่อนหน้านี้จำนวนมาก แต่เมื่อธัญญ์วารินได้ยื่นคำขออนุญาตฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ภายหลังจากที่ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ มาแล้ว INSECTS IN THE BACKYARD กลับได้รับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย เนื่องจาก “มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”
ภาพยนตร์อิสระที่ว่าด้วยเรื่องราวของกะเทย ผู้พยายามมอบความสุขในครอบครัวให้แก่น้องสาวและน้องชายวัยเรียนเรื่องนี้ จึงกลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูก “แบน” จากพระราชบัญญัติพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 หรือ “กฎหมายเรตติ้ง” ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ก่อนหน้านั้นเพียง 1 ปี ส่งผลให้เกิดการถกเถียงและเรียกร้องถึงเสรีภาพในการแสดงออกของผู้สร้างงานในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างกว้างขวาง เพราะแม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีขึ้นเพื่อจัดแบ่งประเภทภาพยนตร์ให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย แต่ยังคงอำนาจให้คณะกรรมการพิจารณาในการสั่งห้ามฉายหรือตัดทอนเนื้อหาได้ ซึ่งไม่พัฒนาให้ก้าวพ้นไปจากพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 หรือ “กฎหมายเซนเซอร์” ฉบับเดิมที่ล้าหลังและใช้มายาวนานเกือบ 80 ปี
เมื่ออุทธรณ์ไม่สำเร็จ ธัญญ์วารินจึงตัดสินใจฟ้องศาลปกครอง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง INSECTS IN THE BACKYARD นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่คนทำหนังใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ
แม้ศาลปกครองจะพิพากษายกฟ้องคำร้องของธัญญ์วาริน ในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 แต่ศาลได้ชี้ว่า หากตัดฉากเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศนาน 3 วินาที ซึ่งถือเป็นสื่อลามกอนาจารผิดกฎหมายอาญาออก ภาพยนตร์ก็จะสามารถจัดฉายได้ในประเภท “ฉ20-” หรือห้ามผู้ชมที่อายุต่ำกว่า 20 ปีดู ธัญญ์วารินจึงยอมจำนนต่อคำแนะนำของศาลโดยยอมตัดภาพที่ถูกตัดสินว่าลามกอนาจาร 3 วินาทีนั้นออกไป เพื่อเป็นมนต์เสก แมลงรักในสวนหลังบ้าน ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ และออกฉายแบบจำกัดโรง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560
การต่อสู้ในศาลปกครองของภาพยนตร์ที่ถูกห้ามฉายซึ่งเท่ากับถูกตัดสินประหารชีวิตไปแล้วเรื่องนี้ จึงไม่เพียงแต่จะเป็นประวัติการณ์แห่งการไม่ยอมแพ้ต่อการถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ไทยเท่านั้น แต่ แมลงรักในสวนหลังบ้าน ซึ่งเคยตายไปแล้ว 7 ปี ยังเป็นผีดิบที่ได้ก่อผลสะเทือนสำคัญครั้งหนึ่งต่อการพิจารณาภาพยนตร์ในประเทศไทย
นอกจากมิติเรื่องการห้ามฉาย INSECTS IN THE BACKYARD ยังถือเป็นหนังไทยอิสระขนาดยาวเรื่องแรก ๆ ที่เปิดประเด็นปะทะกับขนบธรรมเนียมของสังคมที่ไม่กล้าพูดความจริงซึ่งหน้า สังคมที่ถูกครอบงำด้วยมายาคติและอคติ ภาพยนตร์ของธัญญ์วารินนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องเพศสภาพของพ่อแม่ผู้ปกครอง และการแสวงหาตัวตนของวัยรุ่นในสังคมปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยสถานะทางเพศอันมีทางเลือกได้หลากหลายกว่าชายหญิง ปัจจุบัน ธัญญ์วารินได้เพิ่มสถานะของตนเองด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นกะเทยแต่งหญิงคนแรกในรัฐสภาไทย และยังคงบทบาทนักรณรงค์ต่อสู้ให้สังคมไทยหันมาเรียนรู้และเข้าใจในประเด็นเรื่องสิทธิความหลากหลายและเท่าเทียมกันทางเพศอย่างต่อเนื่อง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2562