เสวนา Money Has Four Legs : อุปสรรคนานัปการของคนทำหนังพม่า

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 หอภาพยนตร์ได้จัดกิจกรรมสนทนาหลังชมภาพยนตร์พม่าเรื่อง Money Has Four Legs โดยได้ร่วมกับ Common Move เชิญ หม่าเอิน (Ma Aeint) โปรดิวเซอร์และผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ กับ ลอนลอน (Lone Lone) หนึ่งในนักแสดงและผู้ทำดนตรีประกอบ มาร่วมสนทนาถึงเบื้องหลังการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยกัน 


Money Has Four Legs หรือในชื่อภาษาไทยคือ เงิน 4 ขา พี่จ๋า..ขออีกเทค เป็นผลงานกำกับของ หม่องซัน (Maung Sun) ว่าด้วยความใฝ่ฝันของ เหว่ยโบน ผู้กำกับหนุ่มชาวพม่าที่อยากทำหนังแอคชั่นของตัวเองให้สำเร็จท่ามกลางปัญหาร้อยแปดพันเก้า แม้ลำพังการใช้ชีวิตกลางเมืองย่างกุ้งว่ายากแล้ว แต่เหว่ยโบนก็ไม่อยากล้มเลิกความฝันตนเอง เพราะเหตุนี้เขาและเพื่อนซี้จึงยอมดิ้นรนสุดชีวิตหาเงินก้อนใหญ่เพื่อสร้างหนังแอคชั่นของตนให้จงได้ แม้ว่าการทำหนังเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายเพียงใดก็ตาม 


จุดเริ่มเรื่อง


หม่าเอิน เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เดิมทีบทภาพยนตร์นี้เขียนขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 โดยพวกเขาส่งบทร่วมประกวดในงาน MEMORY! International Film Festival เทศกาลมรดกภาพยนตร์นานาชาติที่ในปีนั้นจัดขึ้นที่ประเทศพม่า ซึ่งประธานกรรมการคือ Michel Hazanavicius (ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง The Artist) ได้มอบรางวัลบทภาพยนตร์ชนะเลิศอันดับ 1 ให้แก่พวกเขา ชัยชนะครั้งนั้นเป็นขวัญกำลังใจให้หม่าเอินกับทีมเขียนบทตั้งใจพัฒนาบทเรื่อยมา และตั้งใจถ่ายทำให้เสร็จในปี ค.ศ. 2020 เพื่อให้ทันฉลองวาระครบรอบ 100 ปีภาพยนตร์พม่า 



ภาพ: หม่าเอิน (Ma Aeint) โปรดิวเซอร์และผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ 


สารพันปัญหาคนทำหนัง 


หม่าเอินเปิดเผยถึงสารพันปัญหาระหว่างทำหนังเรื่องนี้ว่ามีไม่น้อย เช่น ปัญหาจากคณะกรรมการกองเซ็นเซอร์ แม้ว่าบทของ Money Has Four Legs จะชนะการประกวดอันดับ 1 แต่ตามระบบเซ็นเซอร์พม่าทางผู้สร้างต้องส่งบทและตัวหนังฉบับพร้อมฉายให้ทางกองเซ็นเซอร์ตรวจ ซึ่งเมื่อทางกองฯ ตรวจบทก็เสนอให้เปลี่ยนแปลงบทหลายต่อหลายฉาก หม่าเอินและผู้กำกับจึงตัดสินใจนำประสบการณ์ หรือ ปัญหานี้ใส่ลงในฉากแรกของหนัง 


“ทุกสิ่งที่อยู่ในบทมันเกิดขึ้นในชีวิตจริงของพวกเรา” 



นี่คือถ้อยคำของ ลอนลอน ผู้เป็นทั้งน้องชายของหม่าเอินและเป็นทีมงานที่ร่วมฝ่าฟันมาด้วยกัน เขาและหม่าเอินเล่าว่านอกจากปัญหากองเซ็นเซอร์แล้ว อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของการทำภาพยนตร์เรื่องนี้คืองบประมาณการผลิตที่มีอยู่น้อยนิดจนทำให้ทีมสร้างจำต้องหาเงินลงทุนเอง หม่าเอินเผยว่าเธอต้องจำนองบ้านตนเองเพื่อหาเงินมาทำหนังและดูแลทีมงานที่มีจำนวนกว่า 70 ชีวิต


แม้ปัญหางบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจะสร้างความทุกข์ใจให้ทีมงานอยู่มากโข แต่ผลงานที่พวกเขาถ่ายทอดออกมาก็ยังสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมหลายคนในวันนั้น ผู้ชมคนหนึ่งที่หอภาพยนตร์ให้ความสนใจการถ่ายทำด้วยกล้องตัวเดียวตลอดเรื่อง หม่าเอินยอมรับว่าด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยทำให้พวกเขาต้องใช้กล้องตัวเดียวถ่ายทำเกือบหมด อย่างไรก็ตาม อุปสรรคเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ไอเดียสร้างสรรค์ของพวกเขาถูกจำกัดตามไปด้วย เช่น ฉากซ้อนภาพผู้กำกับในเรื่องเข้าไปในจอมอนิเตอร์ที่เขากำลังดูอยู่อีกที อันมีนัยสื่อให้เห็นถึงความเป็นหนังซ้อนหนังนั้น ได้ชวนให้เกิดบทสนทนาและสร้างความพิศวงให้แก่ผู้ชมได้ไม่น้อย

 


ภาพ: ลอนลอน (Lone Lone) หนึ่งในนักแสดงและผู้ทำดนตรีประกอบ (ซ้าย)


มองพม่ายุคใหม่


แม้ Money Has Four Legs เป็นหนังที่ว่าด้วยความทุกข์ยากของคนทำหนังพม่าเป็นหลัก แต่ตัวหนังก็มิได้เล่าเฉพาะชีวิตคนทำหนังเท่านั้น Money Has Four Legs ยังบันทึกภาพ เสียง และวิถีชีวิตประจำวันของชาวพม่าไว้บนจอภาพให้พวกเราได้ชมกันอีกด้วย ผู้ชมรายหนึ่งเอ่ยถามถึงวัฒนธรรมศาสนาพุทธในพม่าและเสียงประกอบภาพยนตร์อันหลากหลายที่ปรากฏอยู่ในหนังอย่างลงตัว หม่าเอินเล่าถึงไอเดียเบื้องหลังการทำงานไว้ว่า 


“ตอนทำหนังผู้กำกับและฉันคิดว่าเราจะหาวิธีการนำเสนอหนังยังไงดี เพราะในโลกยุคใหม่วัฒนธรรมพุทธเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพม่า เนื่องจากคนส่วนมากในประเทศเป็นพุทธศาสนิกชนเวลาทำอะไรในชีวิตประจำวันก็ตามก็จะเห็นศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชนชั้นกลางกับชนชั้นคนจนอีก 70% พวกเราก็ตั้งใจที่จะไฮไลต์พื้นเพทางสังคมของคนเหล่านี้ไว้ด้วยกันในหนังเพื่อแสดงให้เห็นวัฒนธรรมประจำวันของคนพม่า”


ส่วนเรื่องดนตรีประกอบนั้น ลอนลอนและหม่าเอินเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานว่าตอนที่ถ่ายทำฉากต้นเรื่องผู้กำกับอยากได้โทนหนังที่มีความคึกคัก ลอนลอนจึงใส่เพลงหลายยุคเข้าไปทั้งเพลงสมัยใหม่ เพลงยุค 40 70 80 แต่ถึงกระนั้นก็ยังรู้สึกไม่สมบูรณ์ ทางทีมงานจึงไปถามคำถามชาวพม่าทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ว่า เสียงอะไรที่คนพม่าส่วนรู้สึกว่ามันน่ารำคาญที่สุด? ซึ่งคำตอบที่ได้ก็หลากหลาย ทั้งเสียงหมาเห่า เสียงรถ เสียงพระสวด เสียงขบวนแห่บนถนน ทีมงานจึงเอาคำตอบเหล่านั้นมารวมกันทำเป็นดนตรีประกอบให้คนดูได้ชม โดยหม่าเอินอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับเมืองย่างกุ้งไว้ว่า 


“แม้ว่าย่างกุ้งจะเป็นเมืองที่มีเสียงเพลงเสมอ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีเสียงอื่นผสมผสานอยู่ด้วย อย่างเวลาคุณไปวัดพอคุณก้าวเท้าออกจากวัดคุณก็จะได้ยินเสียงจอแจของเมือง…ซึ่งนั่นล่ะคือความสัมพันธ์ระหว่างกัน นี่เป็นเหตุผลที่เราไม่สามารถทิ้งอะไรออกไปได้ ดังนั้นเราจึงตัดสินใจออกแบบการสร้างโดยรวมเสียงทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน”




แลไปข้างหน้ากับคนทำหนังพม่า


การระบาดโควิด-19 ทำให้วงการภาพยนตร์พม่าก็ได้รับความสาหัสพอ ๆ กับประเทศอื่น ดารานักแสดงรวมถึงคนทำงานกองถ่ายหลายรายต้องหารายได้เสริมด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการไปขายของออนไลน์บ้าง ออนไซต์บ้าง บ้างก็ทำร้านอาหาร บ้างก็เปิดคาเฟ่บ้าง คนทำหนังหลายคนก็ต้องไปรับทำงานโฆษณา รายการทีวี หรือรายการเกมโชว์ต่างๆ เพื่อความอยู่รอด และแม้ว่าตอนนี้โลกจะเริ่มปรับตัวกับโควิด-19 ได้แล้วแต่อุปสรรคยักษ์ใหญ่อีกหนึ่งประการที่ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์เมียนจวบจนถึงปัจจุบันคือปัญหาการเมืองภายในประเทศเอง 


ดังที่ทราบกันทั่วโลกว่าเมื่อปี 2021 มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในพม่า การรัฐประหารนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับคนทำงานการเมืองเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อแวดวงภาพยนตร์พม่าด้วย หากติดตามข่าวต่างประเทศอาจพอทราบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากองทัพพม่าออกหมายจับนักแสดง ผู้กำกับ และศิลปินหลายรายที่ออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย หม่าเอินและลอนลอนเล่าว่าผู้กำกับหลายคนตัดสินใจไม่นำหนังเข้าฉายในโรงเพราะไม่ต้องการจะจ่ายภาษีสนับสนุนรัฐบาลทหาร ทั้งสองก็เห็นด้วยต่อแนวคิดนี้เช่นกัน และนั่นก็เป็นสาเหตุให้ Money Has Four Legs ยังไม่เคยออกฉายที่พม่า




ผู้ชมรายหนึ่งถามคำถามถึงคนรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่าจากตัวภาพยนตร์ ทั้งสองอธิบายให้ฟังว่าสภาพการณ์วงการหนังพม่าขณะนี้ยังดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ทำให้โอกาสในการเข้าไปทำงานในวงการภาพยนตร์มีอยู่น้อยนิด พวกเขาสะท้อนสถานการณ์นี้ไว้ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ที่ตัวละครเด็กคนหนึ่งที่พากเพียรนำบทหนังแอคชั่นที่ตนเขียนมาเสนอผู้กำกับตามกองถ่าย โดยวาดหวังเพียงว่าสักวันหนึ่งบทของตนจะมีโอกาสได้ทำเป็นหนังบ้าง


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์การเมืองของพม่าขณะนี้ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งและสู้รบระหว่างประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยกับกองทัพเผด็จการทหาร แต่อุปสรรคนานัปการเหล่านี้ ไม่อาจหยุดยั้งให้ หม่าเอินและทีมงาน รวมทั้งคนทำหนังพม่าอีกหลายคน เลิกล้มความตั้งใจในการสร้างภาพยนตร์ ดังที่ หม่องซัน ผู้กำกับ เคยให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่เขาอยากบอกคนทำหนังรุ่นใหม่ในภูมิภาค ไว้ในเพจ Common Move เมื่อครั้งที่ Common Move นำ Money Has Four Legs มาจัดฉายในเมืองไทยเมื่อช่วงเดือนพฤษาภาคมที่ผ่านว่า “ถ้าจะเป็นคนทำหนัง จงอย่าหยุดทำหนัง”


Money Has Four Legs ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เนื่องในวาระพิเศษแห่งการครบรอบหนึ่งศตวรรษหนังพม่า เมื่อ ค.ศ. 2020 และแม้จะยังไม่เคยจัดฉายที่บ้านเกิด แต่ผลงานเรื่องนี้ก็ได้นำพาเรื่องราวของวงการหนังพม่าออกไปสู่สายตาผู้ชมมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก


โดย ปริชาติ หาญตนศิริสกุล