เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 นวลนิต วสุวัต ลูกสาวของ มานิต วสุวัต ผู้สร้างหนังไทยคนแรก ได้เดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ ซึ่งจำลองแบบมาจากโรงถ่าย “ภาพยนต์เสียงศรีกรุง”* ของพี่น้องตระกูลวสุวัต
พี่น้องตระกูลวสุวัต นำโดย มานิต วสุวัต เป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ในเมืองไทย โดยเฉพาะจากการสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวสำเร็จเป็นเรื่องแรกชื่อ โชคสองชั้น ในปี พ.ศ. 2470 และต่อมาได้สร้างภาพยนตร์เสียงในฟิล์มของไทยสำเร็จเป็นรายแรก เรื่อง หลงทาง พ.ศ. 2475 รวมทั้งก่อตั้งโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลแห่งแรกในประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2478 ซึ่งได้รับฉายาว่า “ฮอลลีวูดแห่งสยาม”
การมาเยี่ยมชมในครั้งนั้น นับเป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยได้มีโอกาสต้อนรับทายาทเจ้าของโรงถ่ายที่เป็นต้นแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ และระหว่างสนทนาจึงทราบว่า นอกจากจะเป็นสายเลือดของผู้บุกเบิกวงการหนังไทย นวลนิตเองยังเป็นศิลปินที่ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 ปี หอภาพยนตร์จึงได้ลองทาบทามให้นวลนิตสร้างสรรค์งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ เพื่อมาประดับไว้ให้สาธารณชนได้ศึกษาและชื่นชม เช่นเดียวกับผลงานของบิดา
นวลนิต วสุวัต เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ไม่นานก่อนที่พี่น้องวสุวัตจะยุติบทบาทการสร้างภาพยนตร์ลงเมื่อ พ.ศ. 2485 จากพิษภัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 และน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลให้โรงถ่ายเสียหาย เธอเริ่มสนใจศึกษาด้านศิลปะตั้งแต่เมื่อครั้งทำงานประจำอยู่ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐอเมริกา) ภายใต้องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) โดยได้สมัครเข้าร่วมเวิร์กช็อปการวาดภาพด้วยเกรียง และนำวิชามาถ่ายทอดให้แก่เพื่อนร่วมงาน
ต่อมา เมื่อย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ขณะอายุประมาณ 30 ปี นวลนิตได้ศึกษาด้านออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) อย่างจริงจัง และเริ่มต้นทำงานวาดลวดลายและระบายสีลงบนแก้ว ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ พรสวรรค์ในด้านนี้อาจเป็นสิ่งที่เธอได้รับสืบทอดทางเชื้อสายมาจากคุณปู่คือ พระยาสุนทรพิมล (เผล่ วสุวัต) ผู้มีฝีมือในการวาดเครื่องลายครามเป็นที่ประจักษ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นวลนิตรับทำงานศิลปะบนแก้วอยู่ที่ต่างแดนต่อเนื่องนานหลายปี ควบคู่กับศิลปะสำหรับตกแต่งบ้าน (home decor) ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยตั้งแต่ราวปี 2553
หลังจากได้รับการชักชวนจากหอภาพยนตร์ นวลนิตใช้เวลาเพียง 2 เดือนในการรังสรรค์ผลงานชุดแรก และนำมามอบให้หอภาพยนตร์เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประกอบไปด้วยภาพวาดสีอะคริลิก 9 ภาพ และงานประเภท home decor เป็นเก้าอี้ที่ตกแต่งขึ้นมาเป็นพิเศษอีก 1 ตัว ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความหมายสื่อถึงกิจการภาพยนตร์ของตระกูลวสุวัตที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
งานศิลปะชุดนี้เริ่มต้นด้วยภาพแรก เป็นภาพคุณพ่อของเธอ มานิต วสุวัต สวมชุดสูทนั่งไขว่ห้างอยู่บนเก้าอี้ด้วยมาดหัวเรือใหญ่ของธุรกิจภาพยนตร์ตระกูลวสุวัต โดยเขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ของบริษัทมาตั้งแต่เรื่องแรก
ภาพที่สอง เภา วสุวัต หรือ หลวงกลการเจนจิต น้องชายของมานิต ผู้มีบทบาทเป็นช่างถ่ายหนังมือเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เพียงแต่รับหน้าที่ตากล้องภาพยนตร์และเป็นกำลังสำคัญของบริษัทในด้านเทคนิค หากแต่เขายังมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง นวลนิตเล่าว่า เธอผูกพันกับคุณอาคนนี้มากเป็นพิเศษ ถึงขั้นที่เขาเคยขอเธอมาเป็นลูกบุญธรรม แต่มานิตปฏิเสธ ในภาพนี้เธอวาดภาพคุณอาเภาอยู่กับกล้องถ่ายหนัง โดยมีฉากหลังเป็นทะเลและเรือใบอันเป็นอีกสิ่งที่เขารัก
ภาพที่สาม น้ำท่วมเมืองซัวเถา เป็นภาพแนวแอบสแตร็กต์ที่นวลนิตได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานเรื่องแรกของพี่น้องวสุวัตเมื่อปี พ.ศ 2465 ขณะนั้นพวกเขาเป็นผู้ดูแลกิจการโรงภาพยนตร์ในเครือบริษัทสยามนิรามัย ซึ่งก่อตั้งโดยราชสำนัก และตระกูลวสุวัตร่วมเป็นหุ้นส่วน เมื่อเกิดน้ำท่วมเมืองซัวเถา ประเทศจีน อันเป็นข่าวใหญ่สำหรับชาวจีนในเมืองไทยขณะนั้น พี่น้องวสุวัตได้รับพระราชทานภาพถ่ายเหตุการณ์นี้จากในหลวงรัชกาลที่ 6 เพื่อนำมาลงข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ด้วยความสนใจในการทำภาพยนตร์ พวกเขาจึงทดลองนำชุดภาพถ่ายดังกล่าวมาถ่ายทำจัดฉากให้ดูเหมือนเป็นหนังข่าว เช่น เอากิ่งไม้มาเป็นฉากหน้าของภาพ เป่าลมให้สั่นไหวเหมือนเกิดพายุ และนำมาจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ของสยามนิรามัย ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวจีนที่แห่กันมาชมจนห้องขายตั๋วพัง
ภาพที่สี่ ตราสัญลักษณ์ภาพยนต์เสียงศรีกรุง ภาพวาดพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร อยู่ในวงล้อมของแถบฟิล์ม ประดับด้วยชื่อ “ภาพยนต์เสียงศรีกรุง SRIKRUNG SOUND FILM” อันเป็นหนึ่งในตราสัญลักษณ์ประจำบริษัท แต่เดิมเมื่อเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์เงียบ เรื่อง โชคสองชั้น ในปี พ.ศ. 2470 พี่น้องวสุวัตใช้ชื่อบริษัทว่า กรุงเทพภาพยนตร์บริษัท ก่อนจะเปลี่ยนชื่อตั้งแต่ในยุคที่สร้างภาพยนตร์เสียง โดยคำว่า “ศรีกรุง” นั้น เป็นชื่อที่นำมาจากวารสารศรีกรุง อันเป็นกิจการดั้งเดิมของตระกูลที่ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2456 ก่อนจะนำมาตั้งเป็นชื่อโรงพิมพ์ศรีกรุง และกิจการภาพยนตร์ในเวลาต่อมา
ภาพที่ห้า สเลตวงกลม ภาพวาดสเลต (slate) หรือ แคลปบอร์ด (clapboard) ที่สมัยก่อนเรียกกันว่า ไม้ตีตะขาบ เป็นอุปกรณ์สำคัญของกองถ่ายหนังเสียง ทำหน้าที่สำหรับเป็นกระดานขานการยิงกล้องและบันทึกเสียงแต่ละเทก ในขณะที่กระดานสเลตทั่วไปนั้นล้วนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม แต่ไม้ตีตะขาบของโรงถ่ายฯ ศรีกรุง กลับมีเอกลักษณ์เป็นรูปวงกลม และเป็นแห่งเดียวในโลกเท่าที่ค้นพบว่าใช้สเลตรูปแบบนี้ ในภาพนี้นวลนิตยังได้ใส่ชื่อผลงานของโรงถ่ายประดับไว้สองเรื่องคือ เพลงหวานใจ (2480) และ ในสวนรัก (2481)
ภาพที่หก การถ่ายทำ เพลงหวานใจ ภาพยนตร์เรื่อง เพลงหวานใจ ออกฉายปลายปี 2480 เป็นหนังเพลงฟอร์มใหญ่หรือที่ขณะนั้นเรียกว่า “หนังซูเปอร์” เรื่องแรกของบริษัท ที่ลงทุนสูงและใช้เวลาถ่ายทำนานหลายเดือน ในภาพนี้นวลนิตได้วาดภาพเบื้องหลังการถ่ายทำฉากสำคัญของเรื่อง เป็นฉากที่นางเอก มานี สุมนนัฏ กำลังแสดงบทพระราชินีประเทศซานคอสซาร์ ลงเล่นน้ำในลำห้วย โดยมีตากล้อง เภา วสุวัต และผู้กำกับ ขุนวิจิตรมาตรา กำลังถ่ายทำอยู่ในน้ำ ฉากลำห้วยนี้เป็นฉากที่สร้างขึ้นใหม่นอกโรงถ่ายฯ ศรีกรุง ซึ่งนวลนิตได้ถ่ายทอดออกมาด้วยศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์
ภาพที่เจ็ด อาคารภาพยนต์เสียงศรีกรุง ด้วยความที่เกิดก่อนโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงจะเลิกกิจการเพียง 4 ปี ความทรงจำของนวลนิตเกี่ยวกับธุรกิจภาพยนตร์ของครอบครัวจึงหลงเหลืออยู่แค่เพียงโรงภาพยนตร์ “ศาลาศรีกรุง” ที่ตระกูลวสุวัตดัดแปลงอาคารโรงถ่ายให้กลายเป็นโรงหนัง เกือบทุกเย็นหลังเลิกเรียน เธอมักจะไปเข้าชมภาพยนตร์ที่นี่อยู่เสมอ จนกระทั่งปิดตัวลงและถูกรื้อไปเมื่อปี 2509 ในภาพนี้ นวลนิตได้ผสมผสานความประทับใจให้เห็นตัวอาคารที่ยังใช้ชื่อภาพยนตร์เสียงศรีกรุง กับบรรยากาศที่ผู้คนเดินทางมาพักผ่อนและดูหนังในยุคที่อาคารแห่งนี้ผันตัวกลายเป็นโรงภาพยนตร์แล้ว
ภาพที่แปด ในโรงหนังศาลาศรีกรุง ภาพวาดถ่ายทอดความทรงจำภายในโรงภาพยนตร์ศาลาศรีกรุง ในความเป็นจริงนั้นโรงหนังแห่งนี้มักจะฉายภาพยนตร์ต่างประเทศเสียงในฟิล์มเป็นหลัก แต่ในภาพนี้ นวลนิตได้นำ หลงทาง (Going Astray) หนังเสียงเรื่องแรกของบริษัทเมื่อปี 2475 มาขึ้นจอ ด้วยฉากจูบอันเป็นที่โจษจัน จนเกิดเป็นคดีความระหว่าง มานิต วสุวัต ซึ่งฟ้องหนังสือพิมพ์รายวัน ไทยใหม่ ที่ตีพิมพ์บทความวิพากษ์หนัง หลงทาง ว่าผิดศีลธรรม นอกจากนี้ยังมีชื่อผลงานอีกเรื่องของบริษัทคือ ตื่นเขย (2481) ประดับไว้ข้างหนึ่งของโรง
ภาพที่เก้า กองถ่ายหนัง ภาพศิลปะแนวป๊อปอาร์ต ที่รวมเอาอุปกรณ์สำคัญต่าง ๆ ของกองถ่ายหนังมารวมไว้ด้วยอารมณ์สนุกสนาน ทั้งกล้อง ไฟ ม้วนฟิล์ม ดอลลี ฯลฯ ไปจนถึงเก้าอี้ผู้กำกับ
ชิ้นสุดท้าย เก้าอี้ มานี สุมนนัฏ งานศิลปะประเภท home decor ที่นวลนิตนำเก้าอี้ไม้มาตกแต่งลวดลายแนวอาร์ตเดโค และบนสุดของพนักพิงวาดเป็นรูป มานี สุมนนัฏ นางเอกคนสำคัญประจำโรงถ่าย ชื่อเดิมของเธอคือ ฉวีวรรณ ดอกไม้งาม สาวนครสวรรค์ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นดารา และมีโอกาสได้มาแสดงหนังเสียงศรีกรุงเรื่องแรกคือ พญาน้อยชมตลาด (2478) แม้จะไม่ใช่นางเอกหนังไทยคนแรก แต่เธอนับเป็นนักแสดงหนังคนแรกที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากมหาชน และเป็นคนแรกที่ได้รับสิทธิ์นั่งเก้าอี้โรงถ่ายที่มีชื่อเธอติดไว้ ตามธรรมเนียมที่ได้รับมาจากฮอลลีวูด งานศิลปะชิ้นนี้ของนวลนิตจึงถือเป็นอนุสรณ์สำคัญถึงเธอ ผู้เป็นดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย
งานศิลปะหนังศรีกรุงของ นวลนิต วสุวัต ที่มีเรื่องเล่าและจิตวิญญาณเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยเหล่านี้เป็นเพียงชุดแรกเท่านั้น โดยขณะนี้เธอกำลังสร้างสรรค์เพิ่มอีกหนึ่งชุด และทั้งหมดจะได้รับการประดับไว้ในโรงอาหารประจำอาคารสรรพสาตรศุภกิจของหอภาพยนตร์ ให้สาธารณชนที่แวะเวียนเข้ามาได้ชื่นชมและเรียนรู้ เช่นเดียวกับงานศิลปะที่เคยติดตั้งไว้ก่อนหน้าของ ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา ศิลปินหญิงร่วมสมัยในนาม juli baker and summer ผู้ที่คุณปู่ของเธอ วรุณ ฉัตรกุล ณ อยุธยา ก็เป็นคนทำหนังไทยยุคฟิล์ม 16 มม. รุ่นหลังจากที่มานิตและพี่น้องตระกูลวสุวัตเคยบุกเบิกกรุยทางไว้
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 77 ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566
*ภาพยนต์เสียงศรีกรุง สะกดด้วย ต์ ตามที่ปรากฏในป้ายโรงถ่ายและตราสัญลักษณ์ของบริษัท