หนังบ้านเดอะซีรีส์ 1: หนังบ้าน พงษ์ศักดิ์ – ลิเลียน อัสสกุล

หนังบ้าน หมายถึงภาพยนตร์ที่ถ่ายทำกันเองในครอบครัว เพื่อการสันทนาการ หรือจุดมุ่งหมายส่วนตัว ไม่ได้มุ่งหวังเชิงพาณิชย์ เป็นการบันทึกเหตุการณ์ สถานที่ บุคคล โดยใช้ฟิล์มภาพยนตร์ ปัจจุบัน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีหนังบ้านอยู่ราว 3,600 เรื่อง 


ในเดือนตุลาคมของทุกปี หน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์และสื่อโสตทัศน์ทั่วโลกจะร่วมกันเฉลิมฉลองหนังบ้าน ด้วยการจัดวันหนังบ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์หนังบ้าน


กองบรรณาธิการจดหมายข่าวหอภาพยนตร์จึงถือโอกาสใช้คอลัมน์คลังอนุรักษ์ในจดหมายข่าวฉบับประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566 นี้ เป็นฉบับแรกของบทความชุดพิเศษ หนังบ้าน เดอะซีรีส์ ที่จะบอกเล่าถึงกรุหนังบ้านที่สำคัญ ๆ ของหอภาพยนตร์มาให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้กัน โดยท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถรับชมหนังบ้านที่จะถูกกล่าวถึงในคอลัมน์นี้ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.30-17.30 น. (หยุดวันจันทร์) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชม


สำหรับฉบับแรกนี้ขอเสนอกรุหนังบ้านของ พงษ์ศักดิ์-ลิเลียน อัสสกุล ข้อมูลหนังบ้านชุดนี้เรียบเรียงจากงานชำระข้อมูลหนังบ้านโดย สรรวรส ชัยชวลิต

---------------------------





พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล เป็นนักธุรกิจอาวุโสผู้สืบทอดกิจการโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด ในกลุ่มไทยสมุทร เคยเป็นประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 22 ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2554-2556) เป็นอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเคยดำรงตำแหน่งหน้าที่อันทรงเกียรติอื่น ๆ ในสังคมอีกมากมาย ส่วน ลิเลียน อัสสกุล ภริยาลูกครึ่งเวียดนาม-ฝรั่งเศส-ลาวของพงษ์ศักดิ์ เป็นเจ้าของร้านอาหารเวียดนามเก่าแก่ชื่อดัง “เลอ ดาลัด” ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของครอบครัวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ลิเลียนมีภาพยนตร์ครอบครัวที่ถ่ายในประเทศเวียดนาม ลาว และไทยหลายม้วน ซึ่งได้มอบไว้ให้หอภาพยนตร์แล้วเช่นกัน 


พงษ์ศักดิ์และลิเลียนมอบหนังของครอบครัวกรุนี้ให้หอภาพยนตร์ไว้ เนื่องจากการไปชมนิทรรศการศิลปะงานหนึ่งที่หอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน จึงเป็นโอกาสได้รู้จักและทำให้ทราบว่าหอภาพยนตร์ รับอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ครอบครัวด้วย ซึ่งฟิล์มภาพยนตร์ที่พงษ์ศักดิ์ถ่ายเก็บไว้และนำมามอบให้หอภาพยนตร์เฉพาะส่วนที่ได้รับการชำระซ่อมแซมในกรุนี้มีทั้งสิ้น 47 ม้วน ล้วนเป็นฟิล์มสียี่ห้อโกดัก บางม้วนยังอยู่ในสภาพดี สีสวย คมชัด บางม้วนก็เสื่อมสภาพในอาการต่าง ๆ อย่างน่าเสียดาย ส่วนที่เสียหายมีความหนักเบาไม่เท่ากัน ตั้งแต่สีซีดจาง ฟิล์มหดตัว เป็นรอยทำให้ไม่สามารถเห็นภาพทั้งหมดได้ครบถ้วน ไปจนถึงดูไม่ออกว่าเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร 


ภาพยนตร์ในกรุนี้บันทึกเรื่องราวตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2507-2525 โดยพงษ์ศักดิ์เป็นผู้ถ่ายเองเกือบทั้งหมด ล้วนเป็นภาพเหตุการณ์ภายในครอบครัวและกลุ่มเครือญาติแทบทั้งสิ้น (มีภาพกิจกรรมที่โรงงานและบริษัทบ้างเล็กน้อย) และเนื่องจากสมาชิกในครอบครัว “อัสสกุล” ในขณะนั้น ยังอยู่รวมเป็นครอบครัวใหญ่ โดยมีผู้อาวุโสสูงสุดคือ นางม่อ อึ๊งเจริญ คุณย่าของพงษ์ศักดิ์ เป็นศูนย์กลางที่ทำให้ญาติพี่น้องลูกหลานมารวมตัวสังสรรค์ ทำกิจกรรม หรือไปท่องเที่ยวด้วยกันอยู่เสมอ ซึ่งเป็นโอกาสเหมาะควรที่จะถ่ายภาพยนตร์เก็บไว้รำลึกนอกเหนือจากภาพนิ่งที่ถ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว ความพิเศษน่าสนใจของกรุนี้ส่วนหนึ่งมาจากญาติพี่น้องทั้งผู้ใหญ่และเด็กหลายคนที่ปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์ของพงษ์ศักดิ์ ได้กลายเป็นบุคคลสำคัญในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยหลายด้าน โดยเฉพาะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจในเครือโอเชี่ยน กรุ๊ป (ไทยสมุทร) ในยุคปัจจุบัน 




“ความเห่อ” คือแรงผลักดันที่ทำให้พงษ์ศักดิ์ตัดสินใจซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์ 8 มม. และเครื่องฉายพร้อมจอฉายจากประเทศฮ่องกงเมื่อประมาณ พ.ศ. 2506 เพื่อเก็บบันทึกภาพเคลื่อนไหวของสมาชิกคนใหม่ในครอบครัวที่กำลังจะเกิด นั่นคือลูกชายคนแรกของพงษ์ศักดิ์และลิเลียนที่ “ไม่ใช่แค่พ่อแม่ แต่ทุกคนเห่อหมดทั้งบ้าน” เพราะเป็นหลานคนแรกของบ้านและเป็นเหลนคนแรกของคุณย่าม่อ อึ๊งเจริญ ดังนั้น ภาพยนตร์ม้วนแรก ๆ ที่ถ่ายจึงเป็นเรื่องการรับแพท (อภิชาติ อัสสกุล) ออกจากโรงพยาบาลจุฬาฯ หลังคลอด กลับมายังบ้านพัก โดยพงษ์ศักดิ์วางแผนการถ่ายทำล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี ภาพที่ปรากฏบนฟิล์มเริ่มต้นตั้งแต่คุณย่าม่ออุ้มทารกไว้กับอกเดินออกมาจากตัวอาคารโรงพยาบาล มีลิเลียน คุณแม่และน้องสาวของพงษ์ศักดิ์เดินตาม จนกระทั่งทุกคนขึ้นรถยนต์สีขาวคันโต และกล้องจับภาพตามรถยนต์เคลื่อนตัวออกไป ตัดภาพต่อมา คุณย่าอุ้มทารกแรกเกิดลงจากรถยนต์ที่จอดเทียบหน้าบันไดบ้าน และเดินเข้าบ้านไป จะให้ได้ภาพแบบนี้ ตากล้องต้องมาดักรอถ่ายในตำแหน่งที่เตรียมไว้ก่อน เพื่อให้ได้มุมมองตามที่ต้องการ จากนั้นเป็นภาพกระบวนการการดูแลทารก ตั้งแต่คุณแม่ให้นมลูก อาบน้ำ ทำความสะอาด ทาแป้งแต่งตัว เล่นกับลูก ภาพวันที่ทำพิธีแบปติสม์ให้ทารกแพทริคที่โบสถ์อัสสัมชัญ บางรัก ซึ่งแวดล้อมไปด้วยญาติพี่น้องอย่างอบอุ่น ภาพยนตร์ค่อย ๆ ให้เห็นพัฒนาการการเติบโตในช่วงขวบปีแรกของแพทตามลำดับ เห็นชัดว่าพงษ์ศักดิ์ตั้งใจถ่ายเก็บภาพอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเพื่อร้อยเรียงเป็นเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับลูก ที่น่าชื่นชมคือ มุมกล้องและคุณภาพการถ่ายทำของพงษ์ศักดิ์ซึ่งทำให้ภาพยนตร์บันทึกการเจริญวัยของลูกชายคนหัวปีนั้นเป็นภาพความทรงจำที่กระจ่างชัดเจนและสวยงามราวกับถ่ายทำโดยตากล้องมืออาชีพ ซึ่งภาพการรับมิกกี้ (อภิศักดิ์ อัสสกุล) ลูกชายคนที่ 2 กลับจากโรงพยาบาลหลังคลอดในอีก 3 ปีต่อมา พงษ์ศักดิ์ก็วางแผนรอถ่ายในลักษณะเดียวกัน แต่น่าเสียดายที่ฟิล์มเสื่อมสภาพมาก จึงได้เห็นภาพรายละเอียดน้อยกว่าภาพยนตร์ม้วนอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกภาพการพาครอบครัวไปท่องเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะชายทะเล ทำให้ได้เห็นการเติบโตของแพทและมิกกี้ ลูกชายทั้งสองตั้งแต่การสัมผัสน้ำทะเลเป็นครั้งแรก จนกระทั่งโตพอจะว่ายน้ำเป็นและเล่นสกีน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว 


นอกจากภาพความรักและความสุขในครอบครัวเล็ก ๆ ของพงษ์ศักดิ์ เรายังเห็นความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกลมเกลียว และการให้ความสำคัญกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวใหญ่ที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้งด้วยภาพงานจัดเลี้ยงวันเกิดของพี่น้อง ลูกหลานแต่ละคน ซึ่งมักจะจัดที่สนามกว้างในบริเวณบ้าน ผู้คนที่ร่วมในงานล้วนแต่เป็นญาติพี่น้องที่สนิทสนมรักใคร่กัน ภาพการไปร่วมทำบุญ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปเที่ยวต่างจังหวัดทั้งใกล้และไกลด้วยกันนับสิบชีวิต โดยประมุขของครอบครัวอย่างคุณย่าม่อ ซึ่งขณะนั้นแม้จะชราภาพพอสมควรแต่ก็ยังดูแข็งแรง ได้ปรากฏตัวร่วมเหตุการณ์อยู่ในภาพยนตร์ด้วยเสมอ ก่อนที่จะถึงแก่กรรมไปหลังจากนั้น ฟิล์มภาพยนตร์ที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวในวาระพิเศษต่าง ๆ นี้ทำหน้าที่เก็บรักษาเรื่องราวสำคัญในช่วงเวลาหนึ่งที่ครอบครัวมีสมาชิกอยู่ร่วมบรรยากาศ ร่วมประสบการณ์เดียวกันโดยพร้อมหน้ากันทั้ง 4 รุ่น ตั้งแต่ทวดถึงเหลน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่หาได้ง่ายในครอบครัวอื่น ๆ ทั่วไป




เมื่อคุณย่าจากไป ญาติพี่น้องเริ่มแยกบ้าน การรวมตัวของสมาชิกในครอบครัวใหญ่ก็น้อยลงตามธรรมชาติ อีกทั้งลูก ๆ โตขึ้น ความสนุก ความกระตือรือร้นในการถ่ายภาพยนตร์ของพงษ์ศักดิ์จึงเริ่มหมดลงไปด้วย ทั้งการส่งฟิล์มไปล้างใช้เวลานาน ทั้งไม่มีวาระจะนำมาฉายดูกัน ฟิล์มภาพยนตร์ที่ถ่ายไว้ทั้งหมดจึงถูกเก็บเข้าตู้ทิ้งไว้นานหลายสิบปี จนฟิล์มส่วนใหญ่เริ่มเสื่อมสภาพ อาการโดยทั่ว ๆ ไปคือฟิล์มหดตัว ทำให้ภาพเต้น และรายละเอียดบางอย่างในภาพยนตร์หายไปไม่สามารถดูได้อย่างชัดเจน และบางม้วนก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดเสียหายหนักจนดูไม่ออกว่าเป็นภาพเหตุการณ์อะไร มีใครอยู่ในเหตุการณ์นั้นบ้าง แต่โชคดีที่อย่างน้อยการบันทึกข้อมูลม้วนฟิล์มของพงษ์ศักดิ์ค่อนข้างละเอียด เขียนหัวข้อเรื่องและระบุวันเวลาที่ถ่ายไว้ด้วยเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ทราบได้โดยง่ายว่าเรื่องราวในภาพยนตร์ม้วนนั้นเกี่ยวกับอะไร 


ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในกรุนี้ คือภาพบันทึกพิธีรับประกาศนียบัตรจบมัธยมปลายของแพทที่สหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2525 แม้ฟิล์มจะอายุน้อยที่สุด แต่คุณภาพของฟิล์มไม่ดีนัก สีซีดจาง และฟิล์มเป็นรอยเยอะพอสมควร หากยังพอจะได้เห็นภาพบรรยากาศในงานและเห็นใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขของพงษ์ศักดิ์ซึ่งไปร่วมพิธีจบการศึกษาของลูกชายคนโต พงษ์ศักดิ์ยังจำได้ว่าลูกชายขึ้นรับประกาศนียบัตรเป็นคนแรก ๆ ไม่ใช่เพราะได้คะแนนสูงสุด แต่เป็นเพราะ “นามสกุลตัวสะกดขึ้นต้นด้วยตัว A”


ณ วันที่เข้าพบขอสัมภาษณ์ (1 เมษายน 2566) พงษ์ศักดิ์ในวัย 87 ปี ลิเลียนอายุ 83 ปีแล้ว แต่ทั้งสองท่านยังความจำดีมาก เมื่อเห็นภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกไว้ในอดีตก็ตื่นเต้นมีความสุขและช่วยกันรื้อฟื้นความทรงจำ ชี้ชวนให้ดูญาติพี่น้องที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ว่าใครเป็นใคร เด็ก ๆ หลายคนในภาพยนตร์เวลานั้น ปัจจุบันล้วนเป็นผู้บริหารคนสำคัญในกิจการต่าง ๆ อันมั่งคั่งและมั่นคงของตระกูล ฟิล์มบางม้วนที่ไม่ได้ระบุวันเวลาที่ถ่าย ลิเลียนก็สามารถคาดเดาจากแฟชั่นการแต่งกายของตัวเองในภาพยนตร์ ข้าวของ เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงรถยนต์ บ่งบอกเหตุการณ์และวันเวลาได้พอสมควร ยิ่งเห็นสิ่งของบางอย่างในภาพยนตร์ยิ่งทำให้ทั้งสองท่านมีชีวิตชีวา เพราะว่าสิ่งนั้นยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านกาลเวลามากว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม ในส่วนนี้สิ่งที่น่าสนใจนอกจากการแต่งกายอย่างงดงามและทันสมัยตามแฟชั่นของลิเลียน คือรถยนต์ BMW สีขาวที่เห็นในภาพยนตร์ ซึ่งพงษ์ศักดิ์บอกอย่างภาคภูมิใจว่าเป็นรถยนต์ BMW คันแรกของประเทศไทย ซื้อกับบริษัทยนตรกิจเมื่อ พ.ศ. 2506 




ปัจจุบัน กล้องถ่ายภาพยนตร์ 8 มม. ของพงษ์ศักดิ์ ที่ใช้บันทึกภาพครอบครัวในยุคก่อน ยังอยู่ในสภาพดี ได้ยกให้หลานชายแท้ ๆ เป็นผู้ดูแลแทน ส่วนเครื่องฉายภาพยนตร์อยู่กับ แพท-อภิชาติ อัสสกุล ฟิล์มภาพยนตร์ทั้งหมดในกรุนี้ พงษ์ศักดิ์และลิเลียนยินดีให้เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์และผู้ใช้บริการทุกคนสามารถสืบค้นเรียกดูข้อมูลเนื้อหาเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะและศึกษาเรียนรู้ได้ทั้งหมด


หากแบ่งเนื้อหาภาพยนตร์ทั้ง 47 ม้วนของกรุหนังบ้านพงษ์ศักดิ์-ลิเลียน จะสามารถแบ่งกว้าง ๆ ได้ 5 กลุ่ม ดังนี้




 กลุ่มภาพยนตร์ที่บันทึกภาพชีวิตประจำวันในครอบครัว และพัฒนาการของลูก ๆ  มีทั้งหมด 15 ม้วน หากนำมาเรียงร้อยกันตามลำดับเวลาจะเห็นภาพชีวิตของลูกชายทั้งสองของพงษ์ศักดิ์และลิเลียนตั้งแต่แรกเกิด ทำกิจกรรมในโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม จนจบมัธยมปลายที่ต่างประเทศ สิ่งที่ภาพยนตร์บันทึกไว้ได้ไม่ใช่แค่เพียงเหตุการณ์และวันเวลาเท่านั้น แต่ยังบันทึกใบหน้าแห่งความรักและความสุขของคนเป็นพ่อและแม่ที่เฝ้าดูการเจริญเติบโตทุกก้าวย่างของลูก ๆ ด้วยความภาคภูมิใจ 


 กลุ่มงานปาร์ตี้วันเกิด  สังสรรค์รวมญาติพี่น้องลูกหลานอัสสกุล มีทั้งหมด 7 ม้วน จะแสดงให้เห็นว่า ครอบครัวอัสสกุลให้ความสำคัญกับงานวันเกิดโดยเฉพาะวันเกิดของเด็ก ๆ และมักจะจัดเป็นงานปาร์ตี้กันที่บ้านพัก เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวาง เด็ก ๆ สามารถวิ่งเล่นกันได้อย่างสนุกสนาน และงานวันเกิดก็มักจะจัดอย่างเป็นกันเองเฉพาะพี่น้องลูกหลานที่สนิทสนมกัน แต่ทุกคนจะแต่งตัวกันอย่างสวยงามสมฐานะตระกูลคหบดี ฟิล์มภาพยนตร์ในกลุ่มนี้มีความสำคัญ เนื่องจากได้เห็นบุคลิกภาพของนักธุรกิจคนสำคัญหลายคนของกลุ่มโอเชี่ยน กรุ๊ป เมื่อยังเยาว์วัย ซึ่งอาจจะผิดไปจากภาพลักษณ์ความเป็นนักธุรกิจเจ้าของกิจการใหญ่โตในปัจจุบันไปอย่างมากทีเดียว


 กลุ่มท่องเที่ยวต่างจังหวัด  ต่างประเทศกับครอบครัวและญาติพี่น้อง เห็นทัศนียภาพบ้านเมือง ทั้งหมด 6 ม้วน จะบันทึกภาพการไปเที่ยวด้วยกันในหมู่ญาติพี่น้องที่เราอาจจะเรียกกันว่า “ทริปครอบครัว” สำหรับบ้านอัสสกุลนั้น พงษ์ศักดิ์ใช้คำให้เห็นภาพชัดกว่านั้นว่า “ไปไหนก็ยกโขยงกันไป ยิ่งถ้าทริปไหนมีคุณย่าไปด้วยก็ไปกันหมดทั้งบ้าน นั่งอัด ๆ กันไป” เพราะไม่ขึ้นเครื่องบิน แต่ไปโดยรถยนต์ส่วนตัว แม้จะมีรถยนต์คันใหญ่ แต่ไปแต่ละครั้งต้องใช้รถถึง 3-4 คัน 




นอกจากการเที่ยวกับหมู่ญาติแล้ว ยังมีการเที่ยวเฉพาะครอบครัวพงษ์ศักดิ์ หรืออาจจะเป็นการไปเพียงสองคนสามีภรรยา ก็จะถ่ายให้เห็นทัศนียภาพของสถานที่ที่ไปมากกว่าถ่ายเน้นที่ตัวบุคคล บางครั้งการไปเที่ยวเป็นผลพลอยได้จากการเดินทางเพื่อไปตรวจกิจการตามสาขาต่าง ๆ ของบริษัทไทยสมุทรประกันภัย แบบนั้นพงษ์ศักดิ์ก็จะขับรถจี๊ปไปกันเอง เช่น ม้วนที่ไปตามเส้นทางลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ที่เห็นภาพวัดพระธาตุหริภุญชัย ถ่ายขบวนรถแห่สาวงามที่เข้าประกวดนางงามลำพูน และทัศนียภาพบริเวณบ้านเชิงเขาดอยสุเทพ เป็นต้น


 กลุ่มครอบครัวเล็กเที่ยวชายทะเล  เล่นกีฬาทางน้ำที่พัทยา จากจำนวนม้วนฟิล์มที่ระบุสถานที่เป็นพัทยา ก็บอกได้ชัดเจนว่าชายหาดและทะเลพัทยาเป็นที่โปรดของครอบครัวพงษ์ศักดิ์มากขนาดไหน ได้เห็นภาพความแตกต่างของพัทยาและเกาะล้านเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้วกับปัจจุบัน ยุคสมัยที่ครอบครัวพงษ์ศักดิ์และลิเลียนใช้ช่วงเวลาพักผ่อนของครอบครัวที่นั่น ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเล่นสกีน้ำที่บันทึกไว้หลายม้วน ทั้งที่ลิเลียนเล่นเองจนมาถึงลูก ๆ หัดเล่นจนเก่ง นอกจากได้เห็นพัฒนาการของลูก ๆ เห็นกิจกรรมทางน้ำสุดโปรดแล้ว เรายังเห็นแฟชั่นชุดว่ายน้ำที่สวยงามเก๋โก้ของลิเลียนอยู่ไม่น้อย




 กลุ่มเกี่ยวกับกิจการและกิจกรรมที่โรงงานทอผ้ากรุงเทพ  ซึ่งจะบันทึกโรงงานและธุรกิจของครอบครัวอัสสกุล สายของ ชิน อัสสกุล คุณพ่อของพงษ์ศักดิ์เป็นผู้รับสืบทอดกิจการโรงงานทอผ้ากรุงเทพมาจากคุณปู่ ในกรุฟิล์มนี้จึงเห็นภาพกิจการและกิจกรรมของโรงงานอยู่บ้าง ทั้งภาพการทำบุญ เลี้ยงอาหารคนงาน และภาพการละเล่นในงานเลี้ยงประจำปีของโรงงาน ซึ่งพงษ์ศักดิ์เป็นผู้ถ่ายภาพยนตร์งานทั้งสองวาระนี้ด้วยตัวเอง แต่ก็มีม้วนหนึ่งที่เป็นภาพการทำงานในโรงงานซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นยุคเก่ากว่าช่วงเวลาที่พงษ์ศักดิ์เริ่มถ่ายภาพยนตร์ พงษ์ศักดิ์เองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นโรงงานทอผ้าที่ไหน และฟิล์มม้วนนี้เป็นของใคร 

------------ 

โดย กองบรรณาธิการจดหมายข่าวหอภาพยนตร์

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 77 ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566