ความทรงจำจาก รพีพร ถึง ชาลี อินทรวิจิตร และ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์

ปี 2566 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของบุรุษ 3 ท่าน ผู้ต่างเป็นศิลปินคนสำคัญของโลกบันเทิงไทย และมีเรื่องราวชีวิตที่พาดผ่านเชื่อมโยงกันหลายประการ ทั้งลืมตาดูโลกขึ้นมาไล่เลี่ยกันในเดือนกรกฎาคม 2466 และก้าวเข้ามาผจญภัยบนเส้นทางมายาตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของละครเวทีไทยสืบเนื่องไปจนถึงวงการภาพยนตร์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน รวมถึงเคยมีประสบการณ์มากมายร่วมกันและมิตรภาพที่ผูกพันแน่นแฟ้น


คนแรกคือ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ (23 กรกฎาคม 2466 - 9 กันยายน 2526) พระเอกละครเวทีแถวหน้าผู้โด่งดังจากเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ของคณะศิวารมณ์ เมื่อราว พ.ศ. 2488 ที่เขารับบทนำและร้องเพลงเอก “น้ำตาแสงไต้" ก่อนจะเข้ามาเขย่าวงการหนังไทยจากบทพระเอกในภาพยนตร์ระดับตำนานเรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย (2492) ที่ปลุกให้วงการหนังไทยฟื้นตื่นจากการหลับใหลอันยาวนานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สุรสิทธิ์มีผลงานแสดงเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 2520 รวมแล้วมากกว่า 100 เรื่อง 


คนที่สอง ชาลี อินทรวิจิตร (6 กรกฎาคม 2466 - 5 พฤษภาคม 2564) ผู้ที่ก่อนจะมาเป็นนักประพันธ์เพลงชั้นครู เคยเป็นนักแสดงละครเวทีเริ่มต้นกับคณะศิวารมณ์จากการชักชวนของสุรสิทธิ์ และเข้ามาเป็นดาราภาพยนตร์เรื่องแรก ชายสะไบ ในปี 2493 ร่วมกับสุรสิทธิ์ที่กำลังโด่งดัง ชาลีเองเคยรับบทเป็นพระเอกหนังบางเรื่องในช่วงก่อน พ.ศ. 2500 และแสดงภาพยนตร์เรื่อยมาอีกหลายทศวรรษ นอกจากนี้เขายังโดดเด่นในฐานะผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานจำนวนมาก ตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 2510 ไปจนถึง 2530 อันเป็นส่วนให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติด้านกำกับภาพยนตร์ควบคู่ไปกับด้านประพันธ์เพลง 


คนสุดท้าย สุวัฒน์ วรดิลก (14 กรกฎาคม 2466 - 15 เมษายน 2550) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ จากผลงานสำคัญมากมายโดยเฉพาะในนามปากกา “รพีพร” สุวัฒน์มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนวงการละครเวทีไทยในช่วง พ.ศ. 2491-2494 ทั้งในฐานะนักเขียนบทมือทอง และตั้งคณะละครเองชื่อ “ชุมนุมศิลปิน” เมื่อละครเวทีร้างความนิยมไปราว 2495 งานประพันธ์ของสุวัฒน์หลายเรื่องยังได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยบางเรื่องเขารับหน้าที่เขียนบทเอง นอกจากนี้เขายังเคยร่วมกำกับเรื่อง ลูกทาส (2522) ที่สร้างจากนิยายเรื่องสำคัญของตน รวมทั้งร่วมกำกับและเป็นผู้สร้างเรื่อง ฉุยฉาย ออกฉายในปี 2523



ภาพ: ชาลี กับ สุรสิทธิ์ ในกองถ่ายเรื่อง หงษ์หยก (2499) ที่ฮ่องกง


สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ กับ ชาลี อินทรวิจิตร นั้นเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่เคยร่วมวงดนตรีของ ล้วน ควันธรรม ครูเพลงผู้ประสาทวิชาเพลงให้แก่ทั้งคู่ ก่อนที่สุรสิทธิ์จะชักชวนชาลีเข้าสู่โลกการแสดง และเป็นคู่หูที่เล่นละครเวทีไปจนถึงภาพยนตร์ในยุคแรกร่วมกันอยู่หลายเรื่อง 


ในขณะที่ สุวัฒน์ วรดิลก ก็เคยเขียนถึงความหลังที่มีต่อทั้งสองคนไว้ในข้อเขียนชุด “ความทรงจำในโลกดารา” ซึ่งเป็นบทความบอกเล่าเรื่องราวยุคละครเวที ด้วยนามปากกา “รพีพร” ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารโลกดารา ตั้งแต่ พ.ศ. 2522-2524  โดยมีบทที่ชื่อว่า “สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ พระเอกยอดนิยม - ผู้มีอารมณ์ไอน้ำ” ซึ่งยาวถึงสามตอน และบท “ชาลี (สง่า) อินทรวิจิตร ผู้มีหัวใจที่สุมเอาไว้แต่ความซื่อและเมตตา” ทั้งหมดนี้ลงติดต่อกันในฉบับที่ 235-238 ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2523 ซึ่งได้เปิดเผยให้เห็นถึงมิตรภาพของสามสหายและน้ำใจสุภาพบุรุษ รวมถึงบรรยากาศแห่งวงการบันเทิงไทย ณ ขณะนั้นไว้อย่างน่าสนใจ


สุวัฒน์เล่าถึงความผูกพันระหว่างเขากับ ชาลี อินทรวิจิตร ว่าเป็นเพื่อนละแวกเดียวกัน เมื่อครั้งต่างอาศัยอยู่แถวริมคลองวัดมกุฏกษัตริยาราม และเข้ามาสนิทสนมกันสมัยเรียนอยู่ ม.5 (เทียบเท่า ม.3 ในปัจจุบัน) แม้จะอยู่กันคนละโรงเรียน เพื่อนกลุ่มนี้มีกันราว 5-6 คน มักรวมตัวเตะฟุตบอลหรือตะกร้อที่ลานหน้าวัดมกุฏฯ ไม่ก็ลงเล่นน้ำในคลองผดุงกรุงเกษม ทุกเย็นไปจนพลบค่ำ และไม่ว่าใครจะชอบการชกต่อย จีบสาว หรือเกเรวิ่งราวชักดาบอย่างไร แต่ชาลีนั้นเอาแต่ทุ่มเทอยู่กับการร้องเพลง และตั้งมั่นว่าวันหนึ่งจะเป็นนักร้องให้ได้ ก่อนที่ปี 2482 พวกเขาจะต้องพลัดพราก เมื่อทางราชการตัดถนนบริเวณนั้น บ้านแต่ละหลังจึงถูกรื้ออพยพไปคนละทิศละทาง 


สิบปีผ่านไป พ.ศ. 2492 สุวัฒน์ซึ่งในขณะนั้นเพิ่งเริ่มเขียนบทละครให้แก่คณะศิวารมณ์ ได้บังเอิญมาเจอชาลีที่กำลังเตรียมขึ้นแสดงละครเวทีที่นาครเขษม ขณะนั้นชาลีได้ย้ายออกจากคณะศิวารมณ์ตามคู่หูสุรสิทธิ์ มาอยู่กับคณะละครของ ประสาน ตันสกุล ที่แสดงประจำอยู่ที่นี่ นอกจากเป็นนักแสดง ชาลียังรับหน้าที่แต่งเพลงประกอบละครคณะนี้ โดยใช้นามปากกาว่า “รพี พรธาดา”



ภาพ: รพีพร กับ ชาลี และ สมาน กาญจนะผลิน กับ สุเทพ วงศ์กำแหง ในงานวันเกิดรพีพร



เมื่อโลกมายาพัดพาให้เพื่อนรักในวัยเด็กได้มาพบกันอีกครั้ง สุวัฒน์จึงออกปากชวนชาลีกลับมาแสดงกับศิวารมณ์ รวมทั้งสุรสิทธิ์ที่ถูกทางคณะทาบทามกลับมาด้วย แต่ชาลีอยู่ได้ไม่นานก็จากไปแสดงดนตรีเร่กับ ครูล้วน ควันธรรม อยู่พักใหญ่ ช่วงเวลานี้เองที่ทำให้สุวัฒน์ได้สนิทสนมกับสุรสิทธิ์ และต่อมาเมื่อสุวัฒน์ก้าวออกมาตั้งคณะละคร ชุมนุมศิลปิน ราวปี 2493 เขาจึงชวนให้สุรสิทธิ์มาเป็นพระเอกของคณะ ซึ่งจะแสดงประจำที่เฉลิมนคร แม้จะถูกตักเตือนแกมหัวเราะเยาะจากเพื่อนร่วมวงการคนอื่นว่า


สุรสิทธิ์นั้นเป็น “ม้าเกเร” ที่มีอารมณ์บอบบางเหมือนลวดดอกไม้ไหว เมื่อเกิดความไม่พอใจก็มักจะทิ้งงานไปกลางคัน แต่กับคณะของสุวัฒน์ ม้าพยศอย่างสุรสิทธิ์ไม่เคยเกเร เพราะเชื่อมั่นในฝีมือเขียนบท และรักในวิธีการทำงานอย่างมิตร ทั้งยังเรียกผู้ชมให้เข้ามาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง 


อย่างไรก็ตาม กลางปี 2494 ภายหลังเกิดกรณีกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทหารเรือ สุรสิทธิ์ผู้เคยเป็นนักร้องกองทัพเรือมาก่อน ได้เสนอให้สุวัฒน์จัดละครแสดงความเห็นใจทหารเรือขึ้น ชื่อเรื่อง “เจ็ดคาบสมุทร” ผลก็คือ พวกเขาโดนคำสั่งจากทางตำรวจให้ส่งบทมาตรวจ และขอให้ตัดบทที่พระเอกซึ่งเป็นอดีตทหารเรือกระชากหมวกจากตัวละครทหารบกทิ้ง แต่ละครเรื่องนี้ยังได้รับความนิยมมาก จนมีส่วนให้พวกเขาได้ย้ายไปแสดงประจำที่โรงเอกอย่างศาลาเฉลิมไทย ประเดิมด้วยเรื่อง “ฝ่ามรสุม” ที่ยังคงเชียร์ทหารเรือเช่นเดิม ละครเริ่มแสดงในเดือนพฤศจิกายน เมื่อถึงต้นเดือนธันวาคม สุวัฒน์และคณะก็ถูกตำรวจเรียกไปสอบปากคำและสั่งแก้บทไม่ให้พระเอกเป็นทหารเรือ คราวนี้ สุรสิทธิ์ประกาศกร้าวกลางโรงพักว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงบท เขาจะเลิกแสดง แต่สุดท้ายเพื่อประคับประคองให้คณะและโรงละครเดินหน้าต่อไปได้ สุวัฒน์จึงจำใจยอมเปลี่ยนบท นั่นส่งผลให้ต้องเปลี่ยนพระเอก และผู้ชมที่เคยแน่นขนัดก็ลดน้อยลงทันตา 


หลังเหตุการณ์ดังกล่าว สุรสิทธิ์ได้หันหน้าเข้าสู่วงการภาพยนตร์เต็มตัว ในขณะที่สุวัฒน์ซึ่งหน่ายกับวงการละครได้กลับไปเขียนนิยายอย่างจริงจัง แม้หลังจากนั้นจะได้ร่วมงานละครเวทีอีกบ้าง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ กระทั่งปี 2497 สุรสิทธิ์คิดสร้างภาพยนตร์ สายโลหิต จากบทละครเรื่องแรกของชุมนุมศิลปิน เขาได้ชวนสุวัฒน์ล่องเรือไปดูสถานที่ถ่ายที่บ้านเกิดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่กลับเกิดอุบัติเหตุเรือล่มต่อหน้าแฟน ๆ ที่กำลังโบกมือทักทายพระเอกจาก สุภาพบุรุษเสือไทย และก็เป็นเสือไทย-สุรสิทธิ์นี้เองที่ช่วยให้สุวัฒน์รอดตายมาได้ 


ภาพ: สุรสิทธิ์ กับรางวัลตุ๊กตาทองจาก กตัญญูปกาสิต (2501)


ปลายปี 2501 สุวัฒน์ประสบอุบัติเหตุชีวิตครั้งใหญ่ เมื่อถูกรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับขังคุกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ปีถัดมา ชาลี อินทรวิจิตร ซึ่งขณะนั้นกำลังตั้งคณะละครโทรทัศน์ชื่อ “อาศรมศิลปิน” แสดงทางช่อง 7 ได้มาเยี่ยมและขอให้สุวัฒน์เขียนบทละครคืนเดียวจบ ให้คณะนำไปแสดงเดือนละครั้ง โดยใช้นามแฝงและลักลอบส่งออกมาจากเรือนจำ สุวัฒน์ได้ขอให้นำสุรสิทธิ์มาเป็นพระเอก และเริ่มต้นเขียนเรื่องให้เข้ากับบุคลิกของสุรสิทธิ์ที่แสดงอย่างสุดฝีมืออยู่หลายเรื่อง 


ต้นปี 2505 สุวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ โดยมีชาลีเป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่มาต้อนรับอิสรภาพของเพื่อนรัก และเมื่อสุวัฒน์อยากกลับไปเขียนนวนิยาย แต่ทุกสำนักพิมพ์ปฏิเสธให้เขาใช้ชื่อจริง เขาจึงไปขอนามปากกา “รพี พรธาดา” ที่ชาลีเคยใช้แต่งเพลงละครเวที มาเป็นนามปากกา “รพีพร” ซึ่งเริ่มใช้ในนวนิยายเรื่องแรกคือ “ภูตพิศวาส” และบทละครวิทยุเรื่องแรก “ม่านน้ำตา” ที่สร้างจากชีวิตของ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ คู่รักของชาลีในขณะนั้น ในปีเดียวกันนั้นเอง สุวัฒน์ได้ท่องบทสุดท้ายของนวนิยาย “สงครามชีวิต” โดยศรีบูรพาให้ชาลีฟัง และเสนอให้นำมาแต่งเพลง ชาลีฟังแล้วประทับใจมากจนนำไปแต่งเป็นเพลง “อาลัยรัก” ซึ่งสร้างชื่อให้เขาอย่างมาก นอกจากนี้ชาลียังเคยแต่งเพลงจากสำนวนเขียนของสุวัฒน์ที่เขาชอบใจอีก เช่น ถ้าฉันจะรัก, ทะเลไม่เคยหลับ 


ทางด้าน สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เมื่อสุวัฒน์ออกจากเรือนจำมานั้น สถานะของเขาไม่ได้เป็นพระเอกอีกต่อไปแล้ว แต่สุวัฒน์ยังคงเขียนบทละครโทรทัศน์และเสนอให้สุรสิทธิ์แสดงอีก เช่น ขุนศึกมหาราช ราวปี 2506 และเมื่อสุวัฒน์หันมาสร้างภาพยนตร์เองเรื่อง ฉุยฉาย ในปี 2523 ทั้งขาดการติดต่อไปนานกับสุรสิทธิ์ที่ขณะนั้นไม่ได้รับงานแสดงเป็นหลักแล้ว แต่เขายังไปทาบทามสุรสิทธิ์มารับบทเด่นในเรื่อง เพราะไม่เห็นว่าจะมีใครเหมาะสมเท่า และนั่นก็นับเป็นผลงานเรื่องท้าย ๆ ในชีวิตของอดีตนักแสดงผู้เคยเกรียงไกร


ในเดือนพฤศจิกายน 2566 หอภาพยนตร์จะนำผลงานภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับมิตรรักศิลปินทั้งสามท่านนี้มาจัดฉายให้ชมในโปรแกรม “หนึ่งศตวรรษ สามศิลปิน จากเวทีละครถึงโลกหนังไทย” และในวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน กองทุนศรีบูรพายังได้ร่วมกับหอภาพยนตร์จัดกิจกรรม “100 ปี ชาตกาล สุวัฒน์ วรดิลก รพีพร” โดยมีการอ่านบทกวีรำลึก และสนทนากับ นันทวัน เมฆใหญ่, ชมัยพร แสงกระจ่าง, จรูญพร ปรปักษ์ประลัย และ จิรวุฒิ กาญจนะผลิน รวมทั้งฉายภาพยนตร์เรื่อง สวรรค์มืด (2501) ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fapot.or.th


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 78 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566