ห้องสมุดฯ ชวนอ่าน หนังสือด้านภาพยนตร์ศึกษา

ห้องสมุดฯ ของเรามีหนังสือด้านภาพยนตร์ศึกษา หรือ Film Studies ที่น่าสนใจและอยากชวนให้ทุกคนมาอ่านกัน ซึ่งวันนี้ห้องสมุดฯ เลือกมาแนะนำ 4 เล่ม โดยภาพรวมของหนังสือเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่งานศึกษาเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์ ซึ่งแต่ละเล่มเจาะจงในประเด็นที่แตกต่างกันไป เช่น ภาพยนตร์เฉพาะเรื่อง การรับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การผลิต ความหมายทางสังคม ผู้สร้าง อีกทั้งมุมมองเชิงพหุวัฒนธรรม ชาติพันธุ์วรรณนา เราไปรู้จักหนังสือด้านภาพยนตร์ศึกษาแต่ละเล่มกัน


Cinema of Discontent: Representations of Japan’s High-Speed Growth 

โดย Tomoyuki Sasaki 




ตั้งแต่ช่วงกลางยุคทศวรรษ 1950 จนถึงกลางยุคทศวรรษ 1970 ญี่ปุ่นประสบกับระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และได้ปฏิรูปตนเองจากประเทศที่พังพินาศด้วยสงครามไปเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เป็นสิ่งที่สร้างภาพจำของพวกเราต่อญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามมาโดยตลอด และพวกเรามีแนวโน้มที่จะมองว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งนี้เป็นเรื่องราวความสำเร็จครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น โดย Cinema of Discontent นำเสนอมุมมองที่ขัดแย้งกับแนวคิดข้างต้น พร้อมกับอธิบายอย่างละเอียดถึงความตึงเครียดที่เกิดจากการพัฒนาอย่างยิ่งใหญ่และจริงจังของระบบทุนนิยมผ่านการวิเคราะห์ภาพยนตร์อันโด่งดังที่ผลิตออกมาในยุคนั้น ซึ่งญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วขั้นสุด ภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ เช่น ผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ Kawashima Yuzo, Masumura Yasuzo, Inoue Akira, Ezaki Mio, Kumashiro Tatsumi พวกเขาได้วางบริบทให้ภาพยนตร์เหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับการเมือง เศรษฐกิจ วาทกรรมทางปัญญา และเรื่องราวทางวัฒนธรรมในสมัยนั้น โดยการวางบริบทแบบข้างต้นเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นว่า ภาพยนตร์เหล่านี้สื่อถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบทุนนิยมหลังยุคสงครามของญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมกัน การที่องค์กรมีอำนาจในการควบคุมปัจเจกชนมากขึ้น การทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวและการทำงานที่สุ่มเสี่ยง ความสงบสุขและความรุ่งเรืองที่เป็นผลมาจากการทหาร



Hollywood Films in North Africa and the Middle East: A History of Circulation 

โดย Nolwenn Mingant 




หนังสือเล่มนี้ใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ โดยครอบคลุมตั้งแต่สิ่งพิมพ์เชิงการค้า สิ่งพิมพ์รัฐบาล ไปจนถึงบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ เพื่อติดตามดูวงจรของภาพยนตร์ฮอลลีวูดทั่วทั้งแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในอดีตภาพยนตร์จากฝั่งฮอลลีวูดนั้น ผู้จัดจำหน่ายจากฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่มนำเข้ามา และกลายมาเป็นองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญต่อวัฒนธรรมภาพยนตร์ในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางมาจนถึงทุกวันนี้ ภาพยนตร์ฮอลลีวูดกลายเป็นรูปแบบความบันเทิง อันโปรดปรานของผู้คนในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เนื่องจากตอนนั้นบรรดาสตูดิโอภาพยนตร์เจ้าใหญ่ของสหรัฐอเมริกาวางรูปแบบการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไว้ได้อย่างมั่นคง หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 บริบทเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของการให้เอกราชที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เหล่าผู้จัดจำหน่ายจากสหรัฐฯ ออกจากตลาดไป อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็ยังคงเป็นที่นิยมของบรรดาผู้ชม ทั้งยังคงมีอิทธิพลและบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมภาพยนตร์ของภูมิภาคแถบนี้อยู่ รวมถึงบริบทของภาพยนตร์อียิปต์และภาพยนตร์อินเดียด้วย โดยเหล่าผู้ชมจะสัมผัสได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบตลาดหนังเถื่อนของแอฟริกาเหนือไปจนถึงโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


No Jurisdiction: Legal, Political, and Aesthetic Disorder in Post-9/11 Genre Cinema 

โดย Fareed Ben-Youssef 




การนำเสนอเนื้อหาด้วยวิธีผสมผสานระหว่างอัตชีวประวัติและการวิเคราะห์ข้อมูล โดยมุ่งค้นหาคำตอบว่าชาวอเมริกันพิการเชื้อสายฝรั่งเศส-อาหรับคนหนึ่งแสดงความรักความชื่นชอบต่อเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่คอยทำลายล้างคนผิวสีแบบตนเองอย่างไรบ้าง โดย Ben-Youssef กำหนดให้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเป็นกุญแจหลักในการทำความเข้าใจโลกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ อันเป็นผลพวงมาจากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และนำเสนอว่าในช่วงนั้นบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ตอบโต้เหตุวินาศกรรม 9/11 ด้วยการใช้ประโยชน์จากตัวละครดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคาวบอย นางมารสวยสังหาร และยอดมนุษย์ รวมถึงการศึกษาระหว่างอุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวูดกับการเมืองกระแสหลัก โดยเน้นย้ำให้เห็นว่า แม้ภาพยนตร์บางเรื่องที่มีความชัดเจนในการจัดหมวดหมู่ว่าเป็นภาพยนตร์ประเภทใดแต่ก็มีจุดมุ่งหมายที่หลากหลายได้ เช่น ความรุนแรงจากการปราบปรามโดยรัฐเป็นเรื่องปกติและวิพากษ์ถึงความรุนแรงรูปแบบดังกล่าวด้วย ส่วนเนื้อหาที่พูดถึงประเภทภาพยนตร์อย่างคาวบอย ฟิล์มนัวร์ ซูเปอร์ฮีโร่ รวมถึงภาพยนตร์ระดับโลกเรื่องต่าง ๆ นั้น ผู้เขียนแสดงความเห็นอธิบายได้ชัดเจน ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับภาพยนตร์ดาวเด่นอย่าง The Dark Knight, Sicario, Logan เป็นต้น โดยหลักการทั่วไปสำหรับภาพยนตร์แนวใหม่หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยวิธีการเล่าเรื่องสภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ มักประกอบไปด้วยฝ่ายศัตรูที่กำหนดไว้พอผิวเผิน เขตสมรภูมิอันคลุมเครือ และเส้นกั้นบาง ๆ ระหว่างผู้เคราะห์ร้ายกับตัวบงการ


Native Recognition: Indigenous Cinema and the Western 

โดย Joanna Hearne 




ผู้เขียนใช้รูปแบบการวิจัยด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงลึกจากแหล่งข้อมูลจดหมายเหตุต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนว่าการสร้างภาพลักษณ์ของชนพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์มีบทบาทสำคัญกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกา ตั้งแต่ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 ถึงศตวรรษที่ 21 ชาวพื้นเมืองมีส่วนร่วมในวงการภาพยนตร์มาโดยตลอด ในฐานะของนักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน ที่ปรึกษา ทีมงาน ผู้ชม อย่างไรก็ตามความจำเพาะและขอบเขตการมีส่วนร่วมของชาวพื้นเมืองในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ที่กล่าวไปข้างต้นนั้นก็ยังคงถูกบดบังด้วยภาพลักษณ์ของการปรากฏตัวของชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงบนจอภาพยนตร์ที่ดึงดูดความสนใจได้ในภูมิภาคตะวันตก ไม่ใช่ว่าภาพลักษณ์ของชาวพื้นเมืองจะมีความสำคัญต่อชาติฝั่งตะวันตกเท่านั้น แต่ชาวตะวันตกก็มีบทบาทสำคัญต่อเหล่าผู้สร้างภาพยนตร์ชาวพื้นเมืองเช่นกัน เนื่องจากชาวตะวันตกมักทำลายภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมมวลชนของชาวอินเดียนแดง โดยการหันมาใช้ภาพยนตร์เป็นสินค้าและมุ่งหวังว่าในอนาคตชาวพื้นเมืองยังดำรงอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นได้ ส่วนผู้สร้างภาพยนตร์ชาวพื้นเมืองได้รวมเอาอิทธิพลของสื่อทัศน์ (visual media) เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมสำหรับการหารือระดับชาติเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมและอำนาจอธิปไตยทางการเมืองของชาวพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ ด้วยวิธีการปรากฏตัวตนให้เป็นที่พบเห็นในวัฒนธรรมของมวลชน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเอาภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชนชาติพื้นเมืองอเมริกันที่อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักไว้มากมาย เช่น Ramona (1928) House Made of Dawn (1972) ไปจนถึงผลงานภาพยนตร์เงียบของ James Young Deer อีกทั้งผลงานของ Victor Masayesva ผู้กำกับภาพยนตร์แนวทดลองและเป็นชนชาติพื้นเมือง


โดย วิมลิน มีศิริ

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 78 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566