เมื่อลิฟต์เปิดออกที่โถงสว่างบนชั้น 5 ของอาคารสรรพสาตรศุภกิจ ผู้ชมปะทะกับพื้นที่แสดงงานศิลปะจัดวางที่กินเนื้อที่แทบทั้งชั้น เมื่อโถงที่อาบด้วยแสงธรรมชาตินี้ถูกปรับสภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงาน ผู้ชมได้รับการเชิญชวนให้เดินลัดเลาะไปตามเส้นทางที่วางกรอบด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. จำนวนหลายสิบเครื่อง บ้างถูกเปิดฝาออกเพื่อให้เห็นอวัยวะโลหะและกลไกภายใน บ้างยังถูกห่อรัดด้วยพลาสติกราวกับแมลงที่ถูกขังไว้ใต้ใยดักแด้ บ้างมีแผ่นกระจกสี่เหลี่ยมประกบเพิ่มเข้าไปเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมก้มลงส่อง เครื่องฉายหลายเครื่องยังมีตัวหนังสือหน่วยงานที่เป็นผู้บริจาคเขียนอยู่ เช่น USIS (United States Information Service สำนักข่าวสารอเมริกัน หรืออดีตหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์) และวิทยาลัยการปกครองของไทย บ่งบอกถึงที่มาและชวนให้จินตนาการว่าวัตถุเหล่านี้เคยถูกใช้งานในลักษณะใดมาก่อน
ที่ศูนย์กลางของเส้นทางอันคดเคี้ยวของเครื่องฉาย เราเห็นจอหนังสีขาวขนาดย่อม วางนอนอยู่กับพื้นโดยมุมด้านหนึ่งถูกยกให้เผยอขึ้น อันเป็นตำแหน่งที่ผิดธรรมชาติของจอภาพยนตร์ที่ปกติต้องขึงกับฝาผนัง ไม่ใช่ราบกับพื้นเช่นนี้ จอหนังที่ปกติต้องอยู่ในที่มืด แต่กลับถูกจัดวางในโถงสว่างไสว เป็นอีกจุดนำสายตาที่ศิลปินเชิญชวนให้ผู้ชมได้ขบคิด
งานศิลปะชิ้นนี้ชื่อว่า Leave Us to Complete the Films เป็นผลงานของ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ศิลปินร่วมสมัยและนักวิชาการศิลปะของไทยที่ขึ้นชื่อในการสร้างสรรค์งานจัดวางแบบ conceptual หรืองานที่ดูเป็นนามธรรมต่อสายตาแต่ซุกซ่อนความหมายและแนวคิดอันซับซ้อน เชิญชวนให้ผู้ชมเพ่งพินิจ ไตร่ตรองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และเปิดประสบการณ์ทางความคิดใหม่ ๆ ผ่านวัตถุและพื้นที่ งานชิ้นนี้ของนิพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีการกำเนิดฟิล์ม 16 มม. โดยหอภาพยนตร์เชื้อเชิญศิลปินให้มาร่วมขุดคุ้ยคอลเลกชันวัตถุที่เกี่ยวข้องกับฟิล์ม 16 มม. ที่เก็บรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์ และทดลองสร้างงานที่ท้าทายการรับรู้ของผู้ชม ผ่านแว่นแห่งภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ที่ยังถูกเก็บกักไว้ในวัตถุจัดแสดง
นิพันธ์กล่าวว่า เขาเป็นคนที่มาดูหนังที่หอภาพยนตร์บ่อยและมีความชื่นชอบในวัตถุฟิล์มอยู่แล้ว “สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากได้รับคำเชิญจากหอภาพยนตร์ก็คือ นี่คือโอกาสที่หายากมากที่จะได้จับต้องของที่มีมิติทางประวัติศาสตร์” นิพันธ์กล่าว “ผมเองไม่เคยเข้าไปถึงข้างในของหอภาพยนตร์จริง ๆ คราวนี้ได้มีโอกาสเข้าไปในห้องอนุรักษ์ ได้หยิบจับของบางชิ้นที่ปกติไม่น่าได้จับ
“อีกหนึ่งปัจจัยคือ ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องสถานที่ หอภาพยนตร์เป็นสถานที่หนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ มีฟังก์ชันเฉพาะ ไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์หรือวังหน้าที่เคยมีโอกาสไปทำงาน การพาตัวเองเข้าไปอยู่ใน place หรือ space มันคือการเข้าไปทดลองหาความเป็นไปได้กับสิ่งที่เราจะเจอ โถงสว่างนี้เป็นห้องที่แรงมาก ทั้งพื้น ลักษณะผิว ช่องแสง ทำให้มันเป็นพื้นที่ที่ยากพอสมควร อย่างที่บอกว่าโจทย์มันไม่ใช่แค่วัตถุสิ่งของ แต่เป็นเรื่องของพื้นที่ด้วย ต้องคิดว่าจะดีลกับพื้นที่อย่างไรในความยากนี้ มันคือความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับคนทำงานศิลปะ เพราะผมพยายามจะไม่ปิดบังลักษณะของพื้นที่ที่เป็นอยู่เลย และทำงานกับพื้นที่อย่างที่มันเป็นจริง”
นิพันธ์เสริมถึงการเจอะเจอกับเครื่องฉายฟิล์ม 16 มม. ในคลังอนุรักษ์และประวัติการได้มาของวัตถุเหล่านี้ ที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบจากโรงหนัง หรือหน่วยงานที่ทำงานด้านการเมืองและการปกครอง เช่น สำนักข่าวสารอเมริกัน หรือ USIS “เครื่องฉายหรือจอที่ได้มาจาก USIS ก่อนมันจะมาถึงตรงนี้มันก็ทำหน้าที่ของมันอย่างโชกโชนพอสมควร ตรงนั้นคือสิ่งที่คนทั่ว ๆ ไปมองไม่เห็น ผมเองก็มองไม่เห็น แต่เราจะรู้ได้ว่ามันสำคัญก็ต่อเมื่อมีการพูดถึงมัน สมมุติว่าเราไปในพื้นที่บางพื้นที่ ยกตัวอย่าง ถนนราชดำเนิน หรือเมืองฮิโรชิมะ มันไม่ได้เหมือนกับเราเดินถนนบ้านเราปกติ คือมันมีประวัติศาสตร์ในเชิงพื้นที่อยู่ อันนั้นเปรียบเทียบกับพื้นที่ แต่กับวัตถุเหล่านี้ก็เหมือนกัน เช่น พอรู้ว่าเครื่องฉายหนังหลายเครื่องมาจากวิทยาลัยการปกครอง ผมก็ไม่ได้เห็นแค่ตัววัตถุเท่านั้น”
สำหรับผู้ชมงาน Leave Us to Complete the Films เป็นงานศิลปะที่ชวนมอง ชวนฉงน และชวนค้นหา เป็นงานที่ไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัด แต่พยายามสร้างบทสนทนาและจินตนาการ เช่นเดียวกับชื่อของงาน ซึ่งนิพันธ์หยิบยืมมาจากบทสัมภาษณ์ของ สแตนลีย์ คูบริก ที่พูดถึงการที่คนทำหนังบางคนจงใจปล่อยให้ผู้ชมได้สร้างตอนจบหรือทำให้หนังสมบูรณ์ด้วยสายตาของตนเอง แทนที่จะให้บทสรุปหรือคำอธิบายทุกอย่าง
“ถามว่างานชิ้นนี้มีการให้ข้อมูลหรือเปล่า ผมว่ามันมี hint หรือร่องรอยในแต่ละชิ้นส่วนที่เอามาประกอบ ตัวเครื่องฉายไม่ได้มีเฉพาะเครื่องฉาย มีองค์ประกอบอื่น ๆ เลยไปจนถึงป้ายทะเบียน การเก็บทะเบียน เหล่านี้ถูกสร้างให้เป็น object ขึ้นมา เพียงแต่ว่าถ้าคนดูปะติดปะต่อ fragment หรือชิ้นส่วนหลาย ๆ ส่วนเข้าด้วยกันก็อาจจะ complete งานชิ้นนี้ หรืออาจจะคิดต่อ ค้นต่อ หรือไปหาข้อสรุปที่อยู่นอกเหนือเครื่องฉายหนังตรงหน้า หรือไปดูบริบทแวดล้อมของฟิล์ม 16 มม. ที่เป็นต้นเรื่องของตัวนิทรรศการนี้”
Leave Us to Complete the Films จัดแสดงจนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2567ณ โถงสว่าง ชั้น 5 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศาลายา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.30-17.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 79 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567