ไปประชุมใหญ่ ฟิแอฟ ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย

โดม สุขวงศ์



ปี 2526 ผมได้ไปร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ หรือ ฟิแอฟคองเกรส ครั้งที่ 39 ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน นับเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด หรือไม่ก็เหมือนฝัน เพราะขณะนั้นผมแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฟิแอฟเลย นอกจากเคยสังเกตเห็นว่าโลกนี้มีหน่วยงานชื่อแปลก ๆ ที่เรียกว่า film archive ในหนังสือตำราภาพยนตร์ โดยเฉพาะในหน้าที่ตีพิมพ์รูปจากภาพยนตร์ และมักระบุว่าได้รับความเอื้อเฟื้อจาก film archive ที่นั่นที่นี่ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นอย่างไร เพราะประเทศไทยไม่มีหน่วยงานนี้ เรามีหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า The National Archives ผมก็คิดว่า film archive คือหอจดหมายเหตุภาพยนตร์ และต่อมาเริ่มรู้จักว่ามีสมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติที่เรียกชื่อย่อว่า ฟิแอฟ และรู้จักหอภาพยนตร์สมาชิกของฟิแอฟจากเซกชันประจำในหนังสือรายปี International Film Guide ผมรู้สึกทึ่งกับการให้ข้อมูลคอลเลกชันของแต่ละหอภาพยนตร์ ว่ามีฟิล์มหนังกี่พันกี่หมื่นเรื่อง มีรูปนิ่งกี่แสนรูป มีหนังสือภาพยนตร์กี่หมื่นเล่ม ฯลฯ น่าอิจฉาเหลือเกิน


การได้ไปฟิแอฟคองเกรสครั้งแรกนั้น จะว่าเป็นความบังเอิญก็ได้ หรือเป็นโชคชะตาก็ได้เช่นกัน เป็นโชคชะตาเพราะผมเลือกเองแล้วว่าจะทำทุกทางให้เกิดการอนุรักษ์ภาพยนตร์ขึ้นในประเทศไทย และเป็นความบังเอิญที่ผมได้รู้จักพ่ออมล (Antony Amalanathan) พระในศาสนาคริสต์แห่งบ้านเซเวียร์ กรุงเทพฯ ท่านเป็นสมาชิกไปดูภาพยนตร์เป็นประจำที่สถาบันเกอเธ่ สมาคมฝรั่งเศส และสถาบันเอยูเอ และต่อมาพ่ออมลแนะนำให้ผมรู้จักพ่อ แอมบรอส ไอเคนเบอร์เกอร์ (Ambrose Eichenberger) ซึ่งเป็นประธานองค์การคาทอลิกนานาชาติเพื่อภาพยนตร์ (OCIC) จากสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อท่านเดินทางมาประเทศไทย และเมื่อพ่อแอมบรอสทราบว่าผมกำลังหาทางจัดตั้งหอภาพยนตร์ขึ้นในประเทศไทย ท่านได้ขอให้ผมเขียนถึงสิ่งที่ผมกำลังทำ โดยท่านบอกว่าจะนำไปหาทางช่วยเหลือ ซึ่งผมมาทราบภายหลังว่า ท่านส่งข้อเขียนของผมไปให้ คอสเม อัลเวส เนตโต (Cosme Alves Netto) เพื่อนของท่านซึ่งเป็นผู้อำนวยการภาพยนตร์สถานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ รีโอเดจาเนโร บราซิล และเป็นกรรมการบริหารของฟิแอฟ เนตโตส่งข้อเขียนนั้นต่อไปให้ แอนนา-เลนา วิบุม (Anna-Lena Wibom) ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งสถาบันหนังสวีเดน ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพฟิแอฟคองเกรส ครั้งที่ 39 ในเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน 2526 และความบังเอิญต่อมาคือ ปีนั้นเป็นครั้งแรกที่ยูเนสโกสนับสนุนเงินทุนให้ฟิแอฟเชิญตัวแทนหอภาพยนตร์จากประเทศที่กำลังพัฒนาและที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ให้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมและเข้ารับการฝึกอบรมเรื่องความจำเป็นเบื้องต้นของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ ผมทราบจากแอนนา-เลนาว่า เขาจัดสรรเงินสำหรับผู้แทนจากประเทศกำลังพัฒนาไปครบแล้ว 13 คน แต่เมื่อมีชื่อผมจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งไม่มีหอภาพยนตร์ด้วยซ้ำ เข้ามาอย่างฉุกละหุกอีกหนึ่งคน เขาต้องจัดสรรใหม่ทำให้ผมกลายเป็นคนที่ 14 



ภาพ: แอนนา-เลนา วิบุม ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์สวีเดน มาเยี่ยมหอภาพยนตร์ ที่ถนนเจ้าฟ้า ปี 2528 


เมื่อได้รับโอกาสเหมือนผมฝันไป ผมได้ใช้โอกาสนั้นเต็มที่ ผมได้เห็นกับตาว่าหอภาพยนตร์จริง ๆ เป็นอย่างไร ได้เห็นห้องปฏิบัติการซ่อมฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งสะอาดไร้ฝุ่น ได้เห็นแล็บภาพยนตร์ และที่สำคัญได้เห็นห้องเย็นเก็บฟิล์มที่อุณหภูมิ -5 องศาเซนติเกรด ผมได้รับการอบรมเรื่องการจัดการเบื้องต้นกับฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งผู้ให้การอบรมคนหนึ่งคือ ฮาโรลด์ บราวน์ (Harold Brown) จากหอภาพยนตร์ของสถาบันหนังอังกฤษ 


วันหนึ่ง พวกเราจากประเทศกำลังพัฒนาได้รับโอกาสให้ได้พบปะสนทนากับคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของฟิแอฟซึ่งเพิ่งได้รับเลือกในสมัยการประชุมนั้น ประธานคนใหม่คือ วูฟแกง เคลาว์ (Wolfgang Klaue) จากหอภาพยนตร์เยอรมนีตะวันออก ผมบอกท่านประธานว่าผมมาจากประเทศไทยซึ่งยังไม่มีหอภาพยนตร์ และผมกำลังรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ผมจึงเสนอขอให้ฟิแอฟทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไทย ให้สนับสนุนการจัดตั้งหอภาพยนตร์ในประเทศไทย อย่างน้อยผมคิดว่าการมีหนังสือจากองค์กรสากลอาจทำให้รัฐบาลไทยได้ยินเสียงของผมบ้าง ผมเชื่อว่าวูฟแกงในนามฟิแอฟได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไทย แม้ว่าผมไม่เคยเห็นหนังสือนั้น และไม่เคยรู้ว่ามีปฏิกิริยาต่อหนังสือนั้นอย่างไร


อีกวิธีการหนึ่งในการเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลไทยและสังคมไทยที่ผมคิดได้ คือการตามหาภาพยนตร์เก่าเกี่ยวกับประเทศไทยและคนไทย ผมค้นพบข้อมูลว่า เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี 2440 ท่านได้ทรงเขียนจดหมายถึงพระราชินีที่กรุงเทพฯ ว่าในวันที่เสด็จขึ้นท่าเรือในกรุงสตอกโฮล์ม มีผู้ถ่ายภาพยนตร์ไว้ ผมจึงหาโอกาสพบ รอล์ฟ ลินด์ฟอร์ส (Rolf Lindfors) ภัณฑารักษ์ของหอภาพยนตร์สวีเดน เพื่อสอบถามถึงหนังเรื่องนี้ เขาใจดีมาก ได้ค้นหนังทุกเรื่องที่ถ่ายในปี 2440 ให้ผมดู ปรากฏว่าไม่มีเรื่องของพระเจ้ากรุงสยามเสด็จสตอกโฮล์ม เขาปลอบใจผมว่าในสวีเดนยังมีหน่วยงานที่เก็บรักษาภาพยนตร์อีกบางแห่ง เช่น หอโทรทัศน์ แต่ผมไม่มีเวลาที่จะค้น ก่อนจะกลับบ้านผมได้เข้าพบแอนนา-เลนา วิบุม เธอเล่าถึงความบังเอิญที่ทำให้ผมมาที่นี่ ผมคงจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเธอก็รับฟังและขอให้ผมติดต่อส่งข่าวเรื่อย ๆ อย่าเงียบหายไปเลย และที่ผมจำขึ้นใจคือเธอบอกว่าเรื่องการจัดตั้งหอภาพยนตร์ในประเทศไทยไม่มีใครเชี่ยวชาญเท่าผม และไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่ไหนช่วยได้ แต่ละประเทศต้องทำของตนเอง



ภาพ: คาร์ลอส อาร์นัลโด, แอนนา เลนา-วิบุม และ โดม สุขวงศ์ ที่เมืองปูเน ประเทศอินเดีย  


ที่จริงการไปร่วมฟิแอฟคองเกสครั้งแรกของผมนั้นได้รู้จักผู้คนในวงการหอภาพยนตร์จากหลายประเทศ (นอกจากเพื่อนจากประเทศกำลังพัฒนา 13 คนที่จับกลุ่มกันตลอดแล้ว)  เช่น อัลเวส เนตโต จากบราซิล (ผู้เป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมต่อให้ผมไปสวีเดนได้) พี. เค. แนร์ (P.K. Nair) จากหอภาพยนตร์แห่งชาติอินเดีย เรย์ เอ็ดมุนด์สัน (Ray Edmondson) จากหอภาพยนตร์แห่งชาติออสเตรเลีย แซม คูลา (Sam Kula) จากหอภาพยนตร์แคนาดา บรีฌิต แวน เดอ เอลสต์  (Brigitte  van der Elst) เลขานุการของฟิแอฟ  และคนสำคัญคนหนึ่งที่เว้นกล่าวถึงไม่ได้เลยคือ คาร์ลอส อาร์นัลโด (Carlos Arnaldo) ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของยูเนสโกปารีส ผมเข้าใจว่าเขาคือผู้ประสานงานให้เกิดโครงการที่ให้โอกาสกับผู้แทนจากประเทศกำลังพัฒนา  


เมื่อกลับบ้าน ผมอยู่ในสภาพเหมือนแบตเตอรี่ได้รับการชาร์จประจุไฟเต็มล้น  ฝันว่าจะต้องสร้างหอภาพยนตร์ให้เหมือนกับที่เห็นในสวีเดน  ฝันถึงอาคารใหญ่โตสวยงาม ฝันถึงห้องแล็บปฏิบัติการซ่อมสงวนรักษาฟิล์ม ฝันถึงห้องเย็นเก็บฟิล์มอยู่ใต้ดิน ผมไม่ทันคิดว่าหอภาพยนตร์ของสวีเดนจัดตั้งมา 50 ปีแล้ว และพัฒนาแล้ว  แต่ผมฝันอยู่ได้ไม่นานก็ได้รับเชิญจากหอภาพยนตร์แห่งชาติอินเดียให้ไปร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาหอภาพยนตร์แห่งเอเซีย ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2527 เป็นโครงการต่อเนื่องของความร่วมมือระหว่างยูเนสโกกับฟิแอฟ ซึ่ง คาร์ลอส อาร์นัลโด เป็นกุญแจสำคัญ  



ภาพ: ฮาโรลด์ บราวน์ ปรมาจารย์ด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์ชาวอังกฤษ ขณะมาฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ เมื่อปี 2529 


สิ่งสำคัญที่สุดในการได้ไปร่วมประชุมครั้งนี้คือ การที่ผมได้เห็นหอภาพยนตร์แห่งชาติของอินเดียที่เมืองปูเน ซึ่งตั้งมา 20 ปีแล้ว ผมได้เห็นอาคารหอภาพยนตร์ที่ใช้บ้านพักแบบบังกะโลขนาดย่อม ๆ หลังหนึ่งเป็นสำนักงาน บรรจุเต็มไปด้วยหนังสือและเอกสารสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ ได้เห็นห้องปฏิบัติการซ่อมสงวนรักษาและแล็บภาพยนตร์ ซึ่งเคยเป็นแล็บภาพยนตร์ของโรงถ่ายภาพยนตร์เก่าที่เลิกกิจการไปแล้วและเจ้าของยกให้เป็นสมบัติชาติ รัฐบาลอินเดียจึงใช้เป็นที่ตั้งของสถาบันหนังอินเดีย เป็นโรงเรียนสอนวิชาภาพยนตร์และโทรทัศน์ ได้เห็นห้องเก็บฟิล์มซึ่งดูคล้ายโรงนาปลูกอยู่บนพื้นดิน ติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างบ้านสามสี่ตัวรอบอาคาร ข้างในมีชั้นเหล็กฉากสูงถึงหลังคาวางเต็มห้อง และทุกชั้นเต็มไปด้วยกระป๋องบรรจุฟิล์มนับหมื่นม้วนซึ่งบ้างก็สนิมจับ แม้ว่าขณะนั้นหอภาพยนตร์แห่งชาติอินเดียกำลังก่อสร้างอาคารใหม่ที่ใหญ่โต ดูเหมือนจะมีห้องเก็บฟิล์มอยู่ชั้นใต้ดินด้วย แต่หอภาพยนตร์แห่งชาติอินเดียที่ตั้งมา 20 ปีแล้วที่ผมเห็นนั้นได้ปลุกให้ผมตื่นจากฝันที่ค้างมาจากสวีเดน ไม่ต้องมีอาคารที่ใหญ่โตก็ได้ ไม่ต้องมีห้องเย็นอุณหภูมิติดลบก็ได้ ไม่ต้องมีหุ่นยนต์ทำงานให้ก็ได้ หอภาพยนตร์ที่อยู่ติดดินก็เป็นหอภาพยนตร์ได้


เมื่อกลับจากอินเดีย ผมซึ่งตื่นจากฝันก็มีกำลังใจเดินหน้าเรียกร้องตัวเองและประเทศไทยให้จัดตั้งหอภาพยนตร์ไทยได้ทันที  เราจึงเริ่มต้นจากอาคารร้างหลังเล็ก ๆ ในบริเวณโรงกษาปณ์เก่าที่บางส่วนได้รับการดัดแปลงใช้เป็นหอศิลปแห่งชาติอยู่แล้ว และเริ่มต้นทำงานจากงบประมาณ 0 บาท 



ภาพ: โดม สุขวงศ์ (กลาง) กับคณะจากหอภาพยนตร์  ในงานประชุมใหญ่ FIAF ปี 2560 ที่สหรัฐอเมริกา ปีล่าสุดที่เขาได้เข้าร่วม


ในระยะสองสามปีแรก คือ 2527-2530 หอภาพยนตร์ไทย ซึ่งเกิดขึ้นโดยการเพาะเมล็ดบนดินเปล่า ได้งอกงามอย่างรวดเร็วเพราะได้รับการสนับสนุนจากบุคคลและหอภาพยนตร์สมาชิกฟิแอฟและยูเนสโก ความช่วยเหลือแรก ๆ อย่างหนึ่งคือ ฟิแอฟให้โอกาสผมส่งคนไปรับการอบรมในโครงการซัมเมอร์สคูลซึ่งกำลังจะมีขึ้นที่หอภาพยนตร์แห่งชาติเบอร์ลินตะวันออก ผมส่ง ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ซึ่งลาออกจากงานประจำมาเป็นอาสาสมัครคนแรกของโครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์ไทย ไปรับการอบรมโดยทุนส่วนตัวของเขาเอง ความช่วยเหลือที่หลั่งไหลต่อมา  เช่น หอภาพยนตร์สวีเดนบริจาคสำเนาฟิล์มภาพยนตร์รัชกาลที่ 5 เสด็จถึงกรุงสตอกโฮล์ม 2440 และสำเนาฟิล์มภาพยนตร์สวีเดน เรื่อง A Handful of Rice ซึ่งถ่ายทำในสยามเมื่อปี 2483 ไอลีน เบาเซอร์ (Eileen Bowser) แห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ก บริจาคสำเนาฟิล์มภาพยนตร์ ช้าง (2470) ฮาโรลด์ บราวน์ เดินทางมาฝึกสอนเจ้าหน้าที่ถึงสองครั้ง เฮนนิง สโก (Henning Schou) และหอภาพยนตร์แห่งชาติออสเตรเลียช่วยอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ในระยะแรกที่เรายังไม่มีเครื่องมือและงบประมาณ หอภาพยนตร์สวีเดนส่งผู้เชี่ยวชาญสองคนมาสอนและติดตั้งอุปกรณ์การอนุรักษ์ฟิล์มที่บริจาคให้หอภาพยนตร์ ฮาราลด์ บรันเดส (Harald Brandes) แห่งหอจดหมายเหตุแห่งสหพันธรัฐ เมืองโคเบลนซ์ เยอรมนี มาสอนและติดตั้งเครื่องจักรล้างฟิล์มภาพยนตร์  คาร์ลอส อานัลโด แห่งยูเนสโก ซึ่งเดินทางมาเยือนเราหลายครั้ง ได้ให้คำปรึกษาด้านการขอความสนับสนุนจากยูเนสโกและหน่วยงานอื่น ๆ ในปี 2530 นับว่าหอภาพยนตร์ไทยจัดตั้งได้สำเร็จเป็นจริง แม้จะมีอาคารเดียวเล็ก ๆ มีพื้นที่ราวหนึ่งพันตารางเมตร แต่ก็สามารถดำเนินงานทุกมิติที่หอภาพยนตร์แห่งหนึ่งควรจะทำ


หลังจากไปฟิแอฟคองเกรสครั้งแรกของผมที่สตอกโฮล์มแล้ว ผมมีโอกาสไปคองเกรสอีกไม่กี่ครั้ง เนื่องจากเราไม่มีงบประมาณพอเพียง จนเมื่อเราได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในปี 2552 จึงมีงบประมาณมากพอ ซึ่งเป็นเวลาที่ผมเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของหอภาพยนตร์ทุกคนควรจะได้รับโอกาสไปร่วมฟิแอฟคองเกรส ซึ่งเปรียบเสมือนเทศกาลประจำปีหรือโอลิมปิกของหอภาพยนตร์ทั่วโลก อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิตของคนทำงานหอภาพยนตร์


ในฟิแอฟคองเกรสครั้งแรกที่สตอกโฮล์ม ผมแอบคิดว่าเดี๋ยวประเทศไทยก็จะมีหอภาพยนตร์สักแห่งหนึ่ง และสักวันหนึ่งหอภาพยนตร์ไทยก็จะเป็นเจ้าภาพฟิแอฟคองเกรสบ้าง เหมือนฝัน ปีเดียวก็มีหอภาพยนตร์ไทย แต่ไม่คิดว่าผมต้องรอถึง 40 ปี หอภาพยนตร์ไทยจึงจะได้เป็นเจ้าภาพฟิแอฟคองเกรส เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนทำงานหอภาพยนตร์ไทยทุกคนจะได้ไปฟิแอฟคองเกรสพร้อมกัน และบางทีมันอาจเป็นฟิแอฟคองเกรสครั้งสุดท้ายของผม


ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 80 ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2567