เรียนรู้อดีต-มองปัจจุบัน จากภาพยนตร์ร่วมสมัยกับโรงหนังโรงเรียน ปีการศึกษา 2567

นับตั้งแต่โครงการโรงหนังโรงเรียนริเริ่มมาอย่างยาวนาน มาถึงปีการศึกษา 2567 นี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 13 หากเปรียบเป็นอายุคนก็กำลังเติบโตพ้นจากวัยเด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เลื่อนชั้นไปเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว เด็กที่ชื่อโรงหนังโรงเรียน ภายใต้การดูแลของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการจัดฉายภาพยนตร์ให้แก่คณะนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีหัวใจคือการบ่มเพาะวิถีชีวิตแห่งการชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ในฐานะกิจกรรมทางสังคม พร้อมไปกับการเรียนรู้มารยาทในการใช้โรงภาพยนตร์อันเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกับผู้คนในสังคม ทั้งยังบ่มเพาะพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ที่นอกเหนือจากเพื่อความบันเทิงไปสู่การชมภาพยนตร์เพื่อการเรียนรู้ให้เกิดปัญญาอีกด้วย โดยตลอดการเติบโตของโรงหนังโรงเรียนที่ผ่านมา ได้ต้อนรับนักเรียนจากหลากหลายโรงเรียนมาเปิดรับประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์และเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อภาพยนตร์ 


ในปีการศึกษา 2567 นี้ โรงหนังโรงเรียนเตรียมต้อนรับเปิดเทอมใหม่ด้วยโปรแกรมภาพยนตร์ที่คัดสรรเพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละช่วงวัย โดยย้อนกลับไปสำรวจภาพยนตร์ในอดีตที่เมื่อกาลเวลาผ่านไปแล้วยังพบความร่วมสมัยบางอย่างและยังทำงานกับผู้ชมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจต่อการนำมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และต่อยอดบทสนทนา เพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมของการชมภาพยนตร์ให้แก่เยาวชนไทย ในบทความนี้จะขอแนะนำภาพยนตร์บางส่วนในโปรแกรมโรงหนังโรงเรียน ปีการศึกษา 2567 ดังนี้


ระดับชั้นปฐมวัย นำเสนอภาพยนตร์ที่เน้นการเรียนรู้ด้านสี รูปทรง ลักษณะของสิ่งของต่าง ๆ สัตว์และธรรมชาติ รวมไปถึงการรู้จักทำตามกฎกติกา ตัวอย่างภาพยนตร์ในโปรแกรม เช่น บรูด้าน้อยผจญภัย ชุดแอนิเมชันขนาดสั้นผลงานคนไทยที่พาไปรู้จักสัตว์น้ำหลากหลายชนิดมากมายสีสันใต้ท้องทะเล และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน พร้อมกับการมองเห็นคุณค่าของคนอื่นและคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวที่เหมาะสำหรับนักเรียนชั้นปฐมวัยด้วยเช่นกัน เช่น The Good Dinosaur ผจญภัยไดโนเสาร์เพื่อนรัก พาไปเปิดโลกจินตนาการสมัยที่ไดโนเสาร์ยังไม่สูญพันธุ์ รู้จักความหมายและคุณค่าของครอบครัว การก้าวข้ามความกลัว และมิตรภาพระหว่างมนุษย์กับสัตว์


ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น โปรแกรมภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้รู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่น แยกแยะสิ่งที่ดีและไม่ดี พัฒนาทัศนคติ คุณธรรม จริยธรรม และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น ภาพยนตร์เรื่อง How To Train Your Dragon อภินิหารไวกิ้งพิชิตมังกร ภาพยนตร์แอนิเมชันที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 83 ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวยอดเยี่ยมแห่งปี นำเรื่องราวของชาวไวกิ้งและมังกรในตำนานมาเล่าโดยมีแง่คิดเรื่องอคติผ่านเรื่องราวหรือความเชื่อ การรู้จักให้อภัย และมิตรภาพต่างสายพันธุ์ หรือภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Sing ร้องจริง เสียงจริง ที่ชวนเพลิดเพลินไปกับการเล่าเรื่องแนวมิวสิคัลคอเมดี แต่แฝงประเด็นเรื่องการรู้จักความฝันของตัวเองและกล้ามุ่งมั่นที่จะทำตามฝัน ความสัมพันธ์ในครอบครัว และมิตรภาพ 



ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง How To Train Your Dragon อภินิหารไวกิ้งพิชิตมังกร


ระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ภาพยนตร์สำหรับนักเรียนวัยที่เน้นความสร้างสรรค์ รู้หน้าที่ รู้จักสิทธิของตัวเอง เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสังคม ตัวอย่างเช่น Mr. Peabody & Sherman ผจญภัยท่องเวลากับนายพีบอดี้และเชอร์แมน ภาพยนตร์แอนิเมชันที่สอดแทรกความรู้วิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์โลกผ่านการผจญภัยข้ามเวลา โดยมีประเด็นลึกซึ้งถึงความสำคัญของครอบครัว ความรักระหว่างคนและสัตว์ ไปจนถึงความเห็นอกเห็นใจกัน หรือจะเป็นภาพยนตร์ที่ครองใจเด็กทุกรุ่นมายาวนานอย่างเรื่อง E.T. the Extra-Terrestrial อี.ที. เพื่อนรัก ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับระดับโลก ชวนเปิดจินตนาการถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลกผ่านจอหนัง ภายใต้ความโดดเดี่ยว เกิดเป็นมิตรภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างดาว


ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ขอแนะนำภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ปัญหาของมนุษย์และสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ความสัมพันธ์กับผู้อื่น พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและทัศนคติ ไปจนถึงพัฒนาการคิดวิเคราะห์ ในปีนี้ได้หยิบเอาภาพยนตร์เก่ามาเข้าโปรแกรมใหม่อย่างเรื่อง Billy Elliot บิลลี่ เอลเลียต ฝ่ากำแพงฝันให้ลั่นโลก ภาพยนตร์ก้าวผ่านวัย (coming of age) ที่ชวนไปสำรวจบริบทและค่านิยมในยุคสมัยหนึ่งที่อาจยังร่วมสมัยอยู่ ในประเด็นการเหยียดเพศ ค่านิยมความเป็นชายและหญิง รวมไปถึงการรู้จักความสามารถและความฝันของตัวเองเพื่อไปให้ถึงฝัน และภาพยนตร์ใหม่อีกเรื่องในโปรแกรม The Hate U Give (เดอะเฮตยูกีฟ) ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือในชื่อเดียวกันของนักเขียน แอนจี โทมัส ที่ยังคงความร่วมสมัยสะท้อนปัญหาการเหยียดเชื้อชาติสีผิว และการลุกขึ้นมาส่งเสียงต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งสอดคล้องไปกับการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมระดับสากล


ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Hate U Give


ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับผู้ชมวัยนี้ ภาพยนตร์เน้นการนำเสนอปัญหาสังคม กระตุ้นให้เยาวชนได้รู้จักคิดวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหา สาเหตุของปัญหา มุ่งพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมไปถึงการมองภาพยนตร์ในฐานะงานศิลปะ ขอแนะนำภาพยนตร์ใหม่ของโปรแกรม หมานคร ผลงานคลาสสิกของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับไทย ซึ่งเคยได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลก ปี 2547 จากผลโหวตของนิตยสารไทม์แม็กกาซีน ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ฉีกไปจากขนบทั่วไป กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้มองภาพยนตร์อย่างมีศิลปะ และยังสะท้อนประเด็นสังคมเมืองอีกด้วย และภาพยนตร์ใหม่อีกเรื่องของโปรแกรม Ingrid Goes West สติแตกแหวกโซเชียล ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของวัยรุ่นที่หลงใหลภาพสวยงามในโลกออนไลน์จนอยากมีตัวตนตามคนอื่น สะท้อนถึงปัญหาจากการใช้สื่ออย่างไม่ระวัง



ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง หมานคร


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดสรรเข้าโปรแกรมภาพยนตร์ในกิจกรรมโรงหนังโรงเรียน ปีการศึกษา 2567 ท่านสามารถดูรายชื่อภาพยนตร์และข้อมูลโปรแกรมภาพยนตร์โรงหนังโรงเรียนได้ที่เว็บไซต์ www.fapot.or.th และติดตามภาพบรรยากาศกิจกรรมได้ที่เพจโรงหนังโรงเรียน www.facebook.com/thaicinemaschool  


กิจกรรมโรงหนังโรงเรียนพร้อมต้อนรับคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์การชมภาพยนตร์ให้กับเยาวชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-ศุกร์ วันละ 2 รอบ ในรอบเช้าและรอบบ่าย จำกัดรอบละไม่เกิน 220 คน  โรงเรียนที่สนใจสามารถติดต่อจองรอบเข้าร่วมกิจกรรมหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานโรงหนังโรงเรียน เบอร์โทรศัพท์ 0 2482 2013-15 ต่อ 1308 หรืออีเมล faschoolcinema@fapot.or.th  


โดย กัลยรัตน์ ธีรกฤตยากร

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 81 ประจำเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567