หนัง "สายใต้" ในสายตาสองผู้กำกับไทยรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 หอภาพยนตร์ได้จัดกิจกรรมภาพยนตร์สโมสร “สายใต้ในสายตาคนทำหนัง” โดยเชิญ ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับภาพยนตร์ “ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง” และ เกรียงไกร มณวิจิตร ผู้กำกับภาพยนตร์ “รักนะ ซุปซุป” สองผลงานที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับภาคใต้ เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองต่าง ๆ ของทั้งในฐานะคนนอกและคนในพื้นที่ภาคใต้ กิจกรรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม "สายใต้" โปรแกรมภาพยนตร์เกี่ยวกับภาคใต้ที่หอภาพยนตร์จัดฉายตลอดเดือนพฤษภาคม 2567 


ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง หรือ Solids by the Seashore ภาพยนตร์ไทยจากปี 2566 ผลงานการกำกับของ ปฏิภาณ บุณฑริก ว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ของ ชาตี หญิงสาวชาวมุสลิมที่ต้องแบกรับความกดดันจากครอบครัว และ ฝน ศิลปินสาวผู้เดินทางลงใต้มาเพื่อจัดนิทรรศการศิลปะ ท่ามกลางเสียงคลื่นที่กัดเซาะหาดทราย ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ได้นำพาชาตีไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญ  


ด้วยความรักที่มีให้ต่อทะเล และความพยายามที่อยากจะก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่งต่าง ๆ ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และพื้นที่ ผ่านสายตาและมุมมองของคนนอกพื้นที่อย่าง อิฐ - ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้เกิดที่กรุงเทพฯ แต่เลือกที่ถ่ายทอดเรื่องราวภาคใต้ในภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรก พร้อมกับประเด็นเรื่องเขื่อนหินกันคลื่น บนพื้นที่ที่เป็นดังรอยต่อของวัฒนธรรมที่แตกต่างระหว่างเมืองพุทธและมุสลิม


ภาพ: ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับภาพยนตร์


“จุดเริ่มต้นคืออิฐค่อนข้างชอบทะเล และก่อนหน้านี้อิฐเคยมีโอกาสได้ไปทำสารคดีเกี่ยวกับเขื่อนหินกันคลื่นที่สงขลามาก่อน หลังจากนั้น ก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันสั่นสะเทือนอะไรเราบางอย่าง จนทำให้เราอยากจะสานต่อเรื่องนี้ให้มันยิ่งใหญ่มากขึ้น หรือพยายามพูดในประเด็นที่มันกว้างมากกว่าเดิม นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้น ที่เอาเรื่องเขื่อนหินกันคลื่นมาเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์”


หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงพื้นที่ในสามจังหวัด ปฏิภาณก็ได้สัมผัสเรื่องราวและเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านเพื่อนชาวมุสลิมอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ทำให้เขาได้รับรู้ถึงความเชื่อบางอย่าง และหยิบยกมานำเสนอ พร้อมกับประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมและการตัดสินคนอื่น มาใส่ไว้ในหนังเรื่องนี้ด้วย โดยนำเอาความเข้าอกเข้าใจในมนุษย์มาใช้กำกับและเขียนบทร่วมกันกับ คาลิล พิศสุวรรณ นักเขียนบทชาวมุสลิมที่ช่วยกันถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์อันซับซ้อนของสองสาวอย่างละเมียดละไม นอกจากนี้ตัวบทของเรื่องก็ยังได้รับการอ่าน และผ่านการรีวิวจากผู้คนที่แตกต่างกันอีกมากมาย เพื่อช่วยกันถอดร่าง กะเทาะเปลือกที่มันห่อหุ้มความเป็นมนุษย์อย่าง เพศ และ ศาสนา 


“ตอนที่ทำอิฐมีโจทย์หนึ่งกับตัวเองก็คือ การแปะป้ายตีตราให้คนอื่น หรือ การมีภาพในหัวที่ตัดสินคนอื่นไปก่อน อย่างการที่เรามองคนนี้เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เขาสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง หรือการมองว่าคนที่เป็น LGBTQ ควรจะมีลักษณะเป็นอย่างไร คนเชื้อชาติอื่นและศาสนาอื่นควรจะเป็นอย่างไร จริง ๆ แล้วมันก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราอยากจะให้ผู้ชมได้ลองดูว่าจะสามารถลดการตัดสิน การเหมารวมภาพในหัวตัวเองไปได้ยังไง”



ภาพ: (จากซ้ายไปขวา) เกรียงไกร มณวิจิตร, ปฏิภาณ บุณฑริก, ก้อง ฤทธิ์ดี


“ด้วยเหตุนี้อิฐก็เลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนในเท่านั้น ถึงจะสามารถเล่าเรื่องนี้ได้ เพราะอิฐไม่ได้อยากจะให้หนังเรื่องนี้มันถูกมองจากคนภายนอก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้อยากให้มันถูกมองผ่านสายตาของคนภายใน รวมถึงว่าก็ไม่ได้อยากให้หนังมันถูกสื่อสารเพื่อเชิดชูพลังความเป็นผู้หญิง และก็ไม่ได้อยากใช้สายตาของผู้ชายมองด้วย ดังนั้นมันก็เลยเป็นโจทย์ที่ว่า เราจะทำยังไงให้หนังเรื่องนี้อยู่ตรงกลาง ไร้ซึ่งการตัดสิน และมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด”


แม้ว่าโจทย์สำคัญที่ปฏิภาณตั้งใจ คือเอาการแปะป้ายหรือการตีตราเหล่านี้ออกไป แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับประเด็นทางศาสนาที่ละเอียดอ่อน อิฐได้อธิบายว่า เขาไม่ได้อยากให้คนดูรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันเป็นหนังของคนมุสลิมเพียงอย่างเดียว แต่เขาต้องการให้หนังเรื่องนี้มีความเป็นอิสระ และมีเรื่องราวที่เข้าใจได้ไม่ยากจนคนดูรู้สึกอยากจะปฎิเสธมันไป 


“เหมือนคนดูจะคิดว่าการที่มีคนมุสลิมอยู่ในหนัง จะต้องมีสัญลักษณ์อะไรบางอย่างเท่านั้น แต่จริง ๆ ถ้าเราสามารถนำเอาความรู้สึกเหล่านี้ออกไปได้ มันจะทำให้การรับรู้ หรือการตัดสินใจที่จะดูหนังมันกว้างมากขึ้นได้แต่ว่าเรื่องนี้มันก็ยังต้องใช้เวลาอีกนานเพราะมันคือเรื่องของการกระจายออกจากศูนย์กลาง ซึ่งก็ต้องใช้ความหลากหลาย มาเป็นการขยับเขยื้อนที่สำคัญต่อไปของอุตสาหกรรมภาพยนตร์”


ขณะที่ เกรียงไกร มณวิจิตร ผู้มีผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกปี 2563 เรื่อง รักนะ ซุปซุป ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวที่ฝันอยากจะทำอาหารตามรอยปู่ทวดผู้เป็นอดีตพ่อครัวใหญ่แห่งวังหลวง เขาแตกต่างจากปฏิภาณ ตรงที่เป็นชาวใต้โดยกำเนิด มาจากจังหวัดนราธิวาส และเป็นมุสลิม


ภาพ: เกรียงไกร มณวิจิตร ผู้กำกับภาพยนตร์


จากจุดเริ่มต้นของการเติบโตมาในครอบครัวที่ทุกคนชอบทำอาหาร เกรียงไกรได้คลุกคลีและสัมผัสกับวัฒนธรรมทางใต้มาอย่างลึกซึ้ง อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของ รักนะ ซุปซุป ผลงานที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวในบ้านเกิดของเขา แม้จะถูกเคลือบด้วยความเป็นภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี แต่ก็สอดไส้ด้วยวัฒนธรรมอาหารและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวมลายู


“ภาพยนตร์มันเป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจในแง่มุมต่าง ๆ ได้ อยู่ที่ว่าเราจะสื่อสารอะไรออกไป ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกสำหรับเรา สิ่งที่เราต้องทำคือหนังที่เราเข้าใจ เรามีประสบการณ์และเราเข้าใจวัฒนธรรมทางภาคใต้ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งผมก็อยากจะถ่ายทอดความเป็นมุสลิม และความเป็นพื้นที่สามจังหวัดให้ผู้คนได้เข้าใจด้วย”


หลังจาก สัปเหร่อ (2566) ผลงานจากทางอีสานของผู้กำกับอินดี้ ต้องเต - ธิติ ศรีนวล ที่สามารถกวาดรายได้ไปอย่างถล่มทลาย จนกลายเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญของวงการหนังไทย ก็ทำให้กระแสของหนังท้องถิ่นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในวงกว้าง ซึ่งเกรียงไกรก็ได้อธิบายถึงประเด็นนี้ว่ามันคือ รูปแบบการตลาดของวงการภาพยนตร์ที่กำลังเปลี่ยนไป และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตามหากลุ่มเป้าหมายหลักของตัวเองให้เจอ


“เมื่อถามว่าคนในท้องถิ่นต้องการจะชมอะไร พวกเขาก็ต้องการจะชมวิถีชีวิตในพื้นที่ของเขาเอง ผมว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ สัปเหร่อ หรือ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ สามารถเข้าไปอยู่ในตลาดใหญ่ได้ เพราะมันตอบโจทย์ในสิ่งที่คนท้องถิ่นต้องการ  มันเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ถ้ากลุ่มเป้าหมายหลักของหนังมีพลังมากพอก็สามารถเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้”




แม้ว่าการมองในเชิงธุรกิจจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การที่จะทำให้เกิดภาพยนตร์ที่ดีขึ้นได้ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาที่ดีเช่นเดียวกัน เกรียงไกรได้กล่าวถึงประเด็นเรื่อง การศึกษาและการพัฒนาทักษะการทำภาพยนตร์ในพื้นที่ทางภาคใต้ ว่าเป็นสิ่งที่ยังต้องถูกเติมเต็ม 


“ถ้าถามถึงการศึกษาด้านภาพยนตร์ ในพื้นที่สามจังหวัดแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะมันไม่มี อย่างผมไม่ได้เรียนภาพยนตร์ ผมก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง และกลุ่มเด็กภาคใต้ที่ทำหนังเรื่อง มะแอเพื่อนฉันเดอะมูฟวี่ พวกเขาก็เรียนรู้พื้นฐานอะไรต่าง ๆ ด้วยตัวเอง การไขว่คว้ามันทำให้เราต้องพยายามมากกว่าปกติ แต่ผมเชื่อว่าถ้าการศึกษาที่ดีมันไปถึง ภาพยนตร์ที่ดีมันเกิดขึ้นแน่นอน”


เรียบเรียงโดย จินต์จุฑา ธงภักดิ์