ดอกดิน กัญญามาลย์

ดาวดวงที่ 3

ชื่อในการแสดง ดอกดิน กัญญามาลย์

ชื่อ-นามสกุลจริง ดอกดิน กัญญามาลย์

วันเกิด 25 ตุลาคม พ.ศ. 2467

พิมพ์มือลานดารา 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551



ดอกดิน เกิดที่กรุงเทพมหานคร มีแววเป็นศิลปินมาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุได้ 7 ขวบ คุณพ่อพาไปฝากครูกู๋ บุนนาค ให้ฝึกสวดคฤหัสถ์ (การแสดงจำอวดในงานศพ) เคยตั้งคณะจำอวด เคยอยู่กับละครเร่คณะอมรศิลป์ ต่อมาได้แสดงจำอวดสลับฉากหน้าเวทีที่โรงภาพยนตร์เฉลิมบุรีร่วมกับ จอก ดอกจันและอยู่เรื่อยมาจนถึงละครคณะศิวารมณ์ คณะอัศวินการละคร ครั้น จอก ดอกจัน เสียชีวิต ดอกดินได้แสดงร่วมกับล้อต๊อก-สมพงษ์ พงษ์มิตร แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงก็มีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉาย ทำให้วงการละครเริ่มตกต่ำ ดอกดินจึงเลิกแสดงละคร



ดอกดิน เริ่มเข้าวงการภาพยนตร์ครั้งแรกโดยแสดงเป็นตัวประกอบในเรื่อง ทหารใหม่ จากนั้นก็เริ่มเขียนเรื่องเอง สร้างและกำกับเอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ขาวดำ เช่นเรื่อง สามเกลอถ่ายหนัง (2495) สามเกลอเจอจานผี แต่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จึงไปแสดงเป็นตัวประกอบอีกหลายเรื่องเช่น ธิดายาจก (2497 วิไลวรรณ-พันคำ) หญิงคนชั่ว (2498 วิไลวรรณ-ฉลอง) เศรษฐีอนาถา (2499 ระเบียบ-เสถียร) มังกรทอง (2500 เกอหล่าน-ส.อาสนจินดา)


ดอกดิน กลับมาสร้างภาพยนตร์อีกใช้ชื่อว่า พระนครภาพยนตร์ สร้างเป็นภาพยนตร์สีธรรมชาติ เรื่อง ดาวคลี่ นำแสดงโดย กรรณิการ์ ดาวคลี่-สิงห์ มิลินทราศัย เข้าฉายปลายเดือนมกราคม 2501 ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีก จึงกลับไปแสดงเป็นตัวประกอบโดยเฉพาะบทตัวตลกตามพระ-ตามนาง เรื่องเช่น พล นิกร กิมหงาน ตอน เวทีถล่มและพิชิตเมีย (2501 งามตา-พงษ์ลดา) แม่นาคพระโขนง (2502 สุรสิทธิ์-ปรียา) สาวดาวเทียม (2503 อมรา-สมควร) มังกรหยก (2504 วรเทพ-อภิญญา) จอมใจเวียงฟ้า (2505 จิตรกร-อรสา)


ดอกดิน วกกลับมาสร้างภาพยนตร์อีกในระบบ 16 ม.ม. เปลี่ยนชื่อเป็น กัญญามาลย์ภาพยนตร์ จากเรื่อง แพนน้อย (2506 มิตร-เพชรา) และ ฝนแรก (2506 ไชยา-เพชรา) ใช้ดาราแสดงระดับแม่เหล็ก โดยระยะแรกมอบให้ ศิริ ศิริจินดา กำกับการแสดง ต่อมาดอกดินจึงกำกับภาพยนตร์เอง เริ่มจากเรื่อง นกน้อย นำแสดงโดย มิตร-เพชรา เข้าฉายวันที่ 18 กันยายน 2507 ที่โรงภาพยนตร์คาเธ่ย์ หนังผ่านหลักล้านจนเกิดวลียอดฮิตในยุคนั้นว่า “ล้านแล้วจ้า...” และในการประกาศรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ครั้งที่ 8 ประจำปี 2510 นกน้อย ก็ได้รับ 3 รางวัลคือ ดารานำหญิงยอดเยี่ยม (เพชรา เชาวราษฎร์) ดาราประกอบชายยอดเยี่ยม (ดอกดิน กัญญามาลย์) ผู้พากย์ยอดเยี่ยม (สมพงษ์-จุรี) จากนั้นดอกดินก็ผูกขาดดาราอย่างมิตร-เพชรา ไว้กับภาพยนตร์แนวครบรสอีกหลายเรื่อง ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น สมบัติ-เพชรา ยิ่งถ้ามี ดอกดินจับคู่กับอรสาด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเรียกเสียงฮาเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น ลมหวน (2508 มิตร-เพชรา) แสงเทียน (2509 มิตร-เพชรา) นกเอี้ยง (2509 มิตร-เพชรา) ปูจ๋า (2510 มิตร-เพชรา) มดแดง (2510 มิตร-เพชรา) ดอกอ้อ (2511 มิตร-เพชรา) กบเต้น (2511 มิตร-เพชรา) ลมเหนือ (2512 มิตร-เพชรา) ไทยน้อย (2512 สมบัติ-เพชรา) ไทยใหญ่ (2513 สมบัติ-เพชรา) ม้ามืด (2513 สมบัติ-เพชรา) ไก่นา (2514 สมบัติ-เพชรา) เชียงตุง (2515 สมบัติ-เพชรา) 


ดอกดิน เริ่มสร้างภาพยนตร์ระบบ 35 ม.ม. เสียงในฟิล์มในเรื่อง ไอ้ทุย (2514 สมบัติ-เพชรา) เป็นเรื่องแรก แล้วตามด้วย สายฝน (2516 สมบัติ-เพชรา) คนกินเมีย (2517 สมบัติ-วันดี) แหม่มจ๋า (2518 สมบัติ-มยุรา) มือปืนพ่อลูกอ่อน (2518 สมบัติ-มยุรา) กุ้งนาง (2519 สมบัติ-มยุรา) แม่ดอกกัญชา (2520 สมบัติ-มยุรา) สิงห์สำออย (2520 สมบัติ-มยุรา) ไอ้ 8 นิ้ว (2521 สรพงศ์-มยุรา) แม่เขียวหวาน (2522 สรพงศ์-เนาวรัตน์) ย.ยอดยุ่ง (2523 สรพงศ์-เนาวรัตน์) นกน้อย (2524 สรพงศ์-สาลิกา) เฮงสองร้อยปี (2525 สรพงศ์-เนาวรัตน์) สาวแดดเดียว (2526 สรพงศ์-ม.ล.สุรีย์วัล)


นอกจากนี้ ดอกดิน ยังเคยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ให้บรรดาผู้สร้างรายอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง เช่น น้อยใจยา (2509 ไชยา-เพชรา) พิมพิลาไล (2509 มิตร-พิศมัย) จุฬาตรีคูณ (2510 มิตร-เพชรา) ปิ่นรัก (2510 มิตร-เพชรา) ฯลฯ