Deep South Young Filmmaker หนังสั้นสะท้อนความเป็นไปในพื้นที่จากสายตาของเด็ก ๆ สามจังหวัดชายเเดนภาคใต้

“เราเติบโตมากับคำถามมากมาย ส่วนใหญ่มักไม่มีคำตอบ เรารู้ว่าการทำหนังอาจจะไม่ทำให้เราได้คำตอบ แต่อย่างน้อยมันเป็นการทำให้เราส่งเสียงออกมาได้บ้าง” 


ศิรีน มะดากะกุล สมาชิกของทีม Dek Film กล่าวถึงหนังสั้นเรื่อง “The Ghost’s View” หนึ่งในหนังสั้น 10 เรื่องในโครงการ Deep South Young Filmmaker โครงการที่สนับสนุนให้เยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหนังสั้นเพื่อเล่าประสบการณ์ ตั้งคำถาม เสนอความคิด หรือเพียงแค่เล่าเรื่องอะไรก็ตามที่พวกเขาอยากจะเล่า หนังสั้นทั้ง 10 เรื่อง อาจจะไม่ได้เป็นหนังสั้นคุณภาพระดับรางวัล แต่สถานะของมันในฐานะภาพบันทึกความทรงจำ ความคับแค้น หรือความหวัง จึงเป็นลักษณะที่ทำให้หนังในชุดนี้โดดเด่นและจริงใจ


ตลอดปี 2562 พี่เลี้ยงในพื้นที่และคนทำหนังมืออาชีพจากกรุงเทพ เดินทางลงไปช่วยสอนและดูแลเด็กในโครงการอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ขั้นพัฒนาบทไปจนถึงงาน post-production หนังสั้นในโครงการ Deep South Young Filmmaker ฉายเปิดตัวไปที่จังหวัดยะลาและปัตตานี เมื่อวันที่ 7 และ 8 ธันวาคม และจะฉายในวันเปิดเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 23 ที่หอภาพยนตร์ ในวันที่ 14 ธันวาคมนี้  


หนังสั้นเรื่อง The Ghost’s View เป็นหนังที่พูดถึงความรุนแรงและบาดแผล โดยใช้กลวิธีแยบยลของ “หนังซ้อนหนัง” แน่นอนว่าการพูดถึงความรุนแรงตรง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในสถานการณ์อันไม่ปกติของสามจังหวัดชายแดนใต้ การย้อนกลับไปตรวจสอบความตายและความอยุติธรรม จำเป็นต้องใช้เทคนิคการเล่าเรื่องเพื่อซุกซ่อนประเด็นและแสดงความไม่พอใจ อันเป็นสิ่งที่ทีมงานทุกคนรู้สึกร่วมกัน


“เราคิดว่าหนังสามารถพูดถึงเรื่องบางเรื่องโดยไม่ต้องพูดตรงๆ แต่คนดูก็รู้อยู่แล้วว่าเราพูดถึงอะไร” ศิรีนกล่าวเพิ่ม “เราเชื่อว่าคนดูจะเข้าใจ และมันอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำที่ไม่ต้องพูดอะไรที่ตรงเกินไป”

ความคับข้องใจและความอึดอัด เป็นสิ่งที่คนดูสัมผัสได้จากหนังหลายเรื่องในโครงการนี้ เช่นเรื่อง “หยุดตรวจ” หนังระทึกขวัญขนาดสั้นที่พูดถึงเด็กหนุ่มที่ขายน้ำบูดู (น้ำหมักสำหรับรับประทานที่นิยมในภาคใต้) โดยคำว่า “น้ำบูดู” กลายเป็นรหัสที่ทางการเชื่อว่าหมายถึงสารตั้งต้นสำหรับทำระเบิด หรือเรื่อง “กะโผ๊ะ” ที่พูดถึงความเป็นอริและมิตรภาพระหว่างเด็กหนุ่มกับทหาร หรือในเรื่อง “ชีวิตในโลกใบเดียวกัน” ที่พูดถึงครอบครัวที่เผชิญหน้ากับความตายอันเป็นปริศนา


“ผมเติบโตมากับการด่านตรวจ ที่ปัตตานีมีด่านตรวจทุกไม่กี่ร้อยเมตร” ต่วนยัซดาน แซแร จากหนังเรื่อง “หยุดตรวจ” กล่าว “ในหนังเรื่องนี้ เรายังล้อเล่นกับคำว่า น้ำบูดู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หลาย ๆ อย่างของคนใต้ ทั้งเรื่องวัฒนธรรม การกินอยู่ และหลัง ๆ กลายเป็นคำประชดที่หมายถึงระเบิด ทั้ง ๆ ที่น้ำบูดูไม่มีอะไรเกี่ยวกับระเบิดเลย” 

คนทำหนังในโครงการนี้เติบโตมาในยุคที่ภาคใต้ของไทยเผชิญหน้ากับปัญหาความรุนแรงและการใช้กฎอัยการศึก สืบเนื่องจากจากเหตุการณ์ปล้นปืนใน พ.ศ.2547  แต่ไม่ใช่ว่าหนังในโครงการนี้จะมีแต่เรื่องทางลบ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หรือความไม่ไว้ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ เพราะหนังครึ่งหนึ่งจาก 10 เรื่องเป็นหนังใส ๆ ที่พูดถึงปัญหาความรัก ความไม่เข้าใจของพ่อแม่ หรือปัญหาวัยรุ่นทั่ว ๆไ ป โดยมีฉากหลังเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของสามจังหวัดชายแดนใต้ เช่นเรื่อง “หวานเย็น” หนังที่พูดเรื่องรักสามเส้า แอบชอบกันไปมาของเพื่อนสามคน เรื่อง “เรียนรู้ เพื่อรักเธอ” เป็นเรื่องรักกุ๊กกิ๊กระหว่างเด็กหนุ่มมุสลิมกับรุ่นพี่คนพุทธ หรือเรื่อง “End Game” เรื่องวันรุ่นมุสลิมที่พลาดตั้งท้องและการแก้ปัญหาของพ่อแม่


ส่วนเรื่อง “มือลาฆู” เป็นหนังสารคดีที่พาเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของวงร๊อคท้องถิ่น ชื่อวง The Pattanian ที่แสดงให้เห็นว่า จังหวัดปัตตานีเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกและเพลงฮิตของโลกมาตั้งแต่ 30 ปีก่อน และแสดงภาพที่แตกต่างจากความเชื่อที่ว่า นี่คือสถานที่อันเคร่งครัด เข้มงวดและปิดตัวเองจากโลกภายนอก

“เราอยากให้เด็ก voice ตัวเองผ่านสื่อภาพยนตร์” พิมพกา โตวิระ ผู้ริเริ่มโครงการ Deep South Young Filmmaker กล่าว “เรายังให้ความสนใจกับคุณภาพของภาพยนตร์ จึงใช้พี่เลี้ยงจากในพื้นที่และจากกรุงเทพ เพื่อให้แน่ใจว่าหนังจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยที่ยังคงเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ต้องการเล่าจริง ๆ” 


หนังในโครงการ Deep South Young Filmmaker จึงเป็นเรื่องเล่าจากแดนใต้ที่มีพลัง อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารจากคนในสู่คนใน และคนในสู่คนนอก ในขณะที่ความพยายามในการบรรลุสันติภาพยังดำเนินต่อไป ภาพยนตร์อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาความเข้าใจและทางออกของปัญหาที่ยังคาราคาซังนี้ของเมืองไทย


สำหรับผู้ที่สนใจรับชมหนังสั้นในโครงการ Deep South Young Filmmaker สามารถมาเข้าชมได้ในวันเปิดเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 23 วันที่ 14 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์  ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชม


เขียนโดย ก้อง ฤทธิ์ดี

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด