แนะนำหนังทึ่ง! My Fair Lady บุษบาริมทาง (1964)

ในบรรดาหนังเพลงคลาสสิกของฮอลลีวูด  My Fair Ladyภาพยนตร์ปี ค.ศ. 1964 นับเป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุด  ทั้งในด้านเรื่องราวที่เพลิดเพลินและบทเพลงอันไพเราะ รวมไปถึงการเป็นหมุดหมายสำคัญในเส้นทางภาพยนตร์ของ ออเดรย์ เฮปเบิร์น  นักแสดงหญิงผู้ยิ่งใหญ่และเป็นที่รักตลอดกาลของบรรดาแฟนภาพยนตร์ทั่วโลก


อย่างไรก็ตาม หมุดหมายที่ว่านั้น ไม่ได้หมายความถึงแค่การเป็นผลงานการแสดงที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของเฮปเบิร์นเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังหมายถึงเป็นบทบาทที่เคยทำให้สถานะการเป็นขวัญใจมหาชนของเธอต้องสั่นคลอนอีกด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงรอยด่างพร้อยเดียวของนางเอกผู้มีภาพลักษณ์ที่ขาวสะอาดที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวูดคนนี้


เหตุนั้นเกิดจากการที่ My Fair Lady เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากละครเพลงบรอดเวย์ที่ออกแสดงครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1956 และประสบความสำเร็จจนยืนเวทียาวนานต่อเนื่องถึง 2,717 รอบ เนื้อหาของละครกล่าวถึงเรื่องราวของ เอไลซา ดูลิตเทิล หญิงสาวขายดอกไม้ข้างถนนผู้มีสำเนียงพูดแบบชนชั้นต่ำ แต่ได้รับการฝึกฝนจาก เฮนรี ฮิกกินส์ ศาสตราจารย์ทางด้านสัทศาสตร์ จนสามารถกลายเป็นกุลสตรีที่มีกิริยามารยาทและการพูดจาแบบชนชั้นสูงได้สำเร็จ โดยผู้ที่รับบทเอไลซานั้นคือ จูลี แอนดรูว์ส สาวน้อยผู้ที่แฟน ๆ เชื่อว่าเป็นตัวเลือกเดียวหากละครได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์


          แต่เมื่อ แจ็ก วอร์เนอร์ เจ้าของบริษัทวอเนอร์ บราเดอร์ส ซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วยราคาสูงลิบ เขากลับเลือก ออเดรย์ เฮปเบิร์น ซูเปอร์สตาร์ผู้แจ้งเกิดและได้ออสการ์จาก Roman Holiday (1953) รวมทั้งโด่งดังต่อเนื่องใน Funny Face (1957) และ Breakfast at Tiffany's (1961) ฯลฯ มารับบทเอไลซาแทนที่จะเป็นตัวเลือกของผู้ชมอย่าง จูลี แอนดรูว์ส ผู้ไม่เคยมีผลงานแสดงภาพยนตร์มาก่อน


          นั่นทำให้แฟน ๆ รู้สึกถูกหักหาญน้ำใจ และพุ่งเป้ามาที่ ออเดรย์ เฮปเบิร์น ซึ่งกลายเป็นผู้โชคร้ายที่ต้องตกที่นั่งกลายเป็นจำเลยของสังคมเป็นครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่เธอเองก็คิดเช่นเดียวกันกับเสียงส่วนใหญ่ว่าบทดังกล่าวควรเป็นของแอนดรูว์ส แต่เมื่อได้รับคำตอบจากแจ็กว่า ถึงแม้เธอจะไม่รับเล่น เขาก็ไม่มีทางเลือกแอนดรูวส์อยู่ดี หากแต่จะส่งต่อให้แก่ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ อีกหนึ่งดาราใหญ่แห่งยุคที่พร้อมจะรับบทนี้ นั่นจึงกลายเป็นเหตุผลให้เฮปเบิร์นเลือกที่จะตอบตกลง


 ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อเฮปเบิร์นได้ทุ่มเทฝึกซ้อมร้องเพลงเพื่อเตรียมรับบทใหญ่ในหนังเพลงที่ว่ากันว่าถูกตั้งความหวังไว้สูงพอ ๆ กับ Gone with the Wind แต่วอร์เนอร์กลับตัดสินใจในนาทีสุดท้ายให้ มาร์นี นิกสัน นักร้องผู้ที่ร้องแทนเสียงนางเอกชื่อดังในหนังเพลงหลายเรื่อง มาร้องทับเส้นเสียงของเฮปเบิร์นในเรื่องนี้แทน ในขณะที่ เรกซ์ แฮร์ริสัน ผู้รับบทศาสตราจารย์เฮนรี ฮิกกินส์ มาตั้งแต่ฉบับละครบรอดเวย์ กลับได้รับอนุญาตให้บันทึกเสียงร้องขณะถ่ายทำจริง


          ด้วยเหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้บทบาทของเฮปเบิร์นในเรื่องนี้ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ทั้ง ๆ ที่หากลบข้อครหาซึ่งไม่ใช่ความผิดของเธอออกไป เอไลซา ดูลิตเทิล นั้นถือเป็นบทบาทการแสดงที่สมบูรณ์แบบที่สุดบทบาทหนึ่งของเฮปเบิร์นเสียด้วยซ้ำ ทั้งในครึ่งแรกที่เธอต้องแปลงโฉมและดัดสำเนียงให้สมกับเป็นสาวไพร่ผู้ไร้การศึกษา รวมถึงในครึ่งหลัง ที่เธอได้แสดงฝีไม้ลายมือและเปล่งประกายอย่างเต็มที่ ในการสวมวิญญาณเป็นสตรีสูงศักดิ์ผู้งามสง่า


          ว่ากันว่า บทลงโทษอย่างเป็นรูปธรรมแต่ไม่เป็นธรรมที่สุด คือ การที่เฮปเบิร์นไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แม้ My Fair Lady จะมีชื่อเข้าชิงถึง 12 รางวัล และชนะถึง 8 รางวัลก็ตาม และที่ตลกร้ายไปกว่านั้น จูลี แอนดรูวส์ ซึ่งภายหลังที่พลาดบทเอไลซา ได้ไปรับบทนำใน Mary Poppins กลับได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองได้  อย่างไรก็ตาม เฮปเบิร์นก็ยังคงได้ยืนอยู่บนเวทีออสการ์ในค่ำคืนนั้นอย่างงามสง่า ในฐานะผู้ประกาศและมอบรางวัลผู้แสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมให้แก่ เรกซ์ แฮร์ริสัน ซึ่งเขาได้โอบเธอไว้ตลอดการกล่าวขอบคุณ ราวกับจะบอกว่าเธอคือส่วนหนึ่งของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ รวมทั้งยังพาเธอฝ่าพ้นไปจากคำติฉินนินทาทั้งหมด เมื่อเขาปิดท้ายรายการขอบคุณ ด้วยการหันไปมองเฮปเบิร์น และกล่าวยกย่องถึง “Two fair ladies” อันเป็นการประกาศต่อสาธารณชนว่า ออเดรย์ เฮปเบิร์น นั้นคือผู้ที่เหมาะสมกับบทบาทอันเป็นที่รักของผู้ชมนี้ ไม่ต่างจาก จูลี แอนดรูวส์


          อาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ออเดรย์ เฮปเบิร์น จะกลับมาเจิดจรัสบนจอใหญ่อีกครั้งใน My Fair Lady หรือในชื่อที่เคยจัดฉายในเมืองไทยเมื่อ 55 ปีก่อนว่า บุษบาริมทาง  ขอเชิญมาพบกับเสน่ห์และนัยน์ตาอันชวนฝันของสุดยอดดาราหญิงแห่งฮอลลีวูดผู้นี้ ได้ในกิจกรรมทึ่ง! หนังโลก ณ โรงภาพยนตร์สกาลา ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ซื้อบัตรได้แล้วที่จุดจำหน่ายบัตรโรงภาพยนตร์สกาลา ราคา 120, 140 และ 160 บาท

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด