รางวัลรัตน์ เปสตันยี ความหลากหลายของเนื้อหาและสไตล์ของคนทำหนังสั้นไทย

ทั้งหนังทดลองที่ท้าทายการเล่าเรื่อง หนังที่ครุ่นคิดและหยอกล้อการเมืองไทย หนังที่เล่าเรื่องใกล้ตัวด้วยลีลาจริงจังหรือขบขัน และหนังที่เล่นกับประเด็นทางสังคมหนักหน่วง ภาพยนตร์ 80 กว่าเรื่องในสายประกวดรัตน์ เปสตันยี หรือประเภทบุคคลทั่วไป ของเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 23 แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของเนื้อหาและสไตล์ของคนทำหนังสั้นไทยร่วมสมัย และฉายแววว่าคนทำหนังเหล่านี้มีศักยภาพจะก้าวหน้าต่อไปในวงการหนังไทย หรือในฐานะคนเล่าเรื่องที่ใช้ภาพสื่อสารความคิดอย่างแหลมคม


คณะกรรมการประจำปีนี้ประกอบไปด้วย ยรรยง คุรุอังกูร  ผู้กำกับภาพยนตร์ เรื่อง 2538 อัลเทอร์มาจีบ, App War แอปชนแอป), อมิธา อัมระนันทน์  นักวิจารณ์ประจำหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และศริญญา มานะมุติ เจ้าของโรงภาพยนตร์อิสระ Bangkok Screening Room ซึ่งได้ตัดสินจากผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบทั้งหมด 14 เรื่อง เรื่องที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ เพื่อนเล่น เล่นเพื่อน (Friends With Benefits, Without Benefits) โดยสรยศ ประภาพันธ์ คนทำหนังสั้นที่มีผลงานต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกที่คว้ารางวัลรัตน์มาได้ จากหนังที่เล่าเรื่องเพื่อนสนิทสองคนในค่ำคืนหนึ่ง ที่หนึ่งในสองอยากจะเป็นมากกว่าเพื่อนสนิท กรรมการลงความเห็นว่า


“ดูเผินๆภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้อาจดูมีความเป็น “หนังแมส” มากกว่า “หนังอาร์ต” แต่กลับเป็นหนังที่ดูสนุกและเต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่ารัก น่าสนใจ และส่อถึงจินตนาการที่ไม่ได้ “แมส” เท่าไรนัก “เพื่อนเล่น เล่นเพื่อน” เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่มีขอบเขตไม่ชัดเจนระหว่างเพื่อน ระหว่างนักแสดงและผู้กำกับ ระหว่างศิลปะและความเป็นจริง และการพยายามทดสอบและก้าวข้ามขอบเขตนั้น แม้จะเป็นหนังที่มีเรื่องราวตรงไปตรงมา แต่ก็เห็นได้ชัดว่าผู้กำกับได้เลือกสไตล์การถ่ายภาพ การตัดต่อ และการแสดงเพื่อถ่ายทอดบทได้อย่างลงตัว บทสนทนาและการแสดงมีความเป็นธรรมชาติ การเล่าเรื่องผ่านภาพมีอารมณ์ขันและมีเสน่ห์ นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกประเด็นที่มีความเป็นปัจจุบันอย่างการล่วงละเมิดทางเพศมาพูดถึงอย่างมีไหวพริบ ภายในเวลาไม่ถึง 15 นาที” 


หนังที่ได้รับการพูดถึงมากอีกเรื่อง และเป็นหนังที่ได้จำนวนรางวัลมากที่สุดในงานเทศกาลครั้งนี้ คือเรื่อง Hush, Tonight the Dead Are Dreaming Loudly หนังอันเคร่งขรึมและกินใจของก้อง พาหุรักษ์ คนทำหนังสั้นมือฉมังอีกคนในวงการ หนังเรื่องนี้ได้รางวัลรองชนะเลิศ และยังข้ามไปได้รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม (ถ่ายโดยดนยา จุฬพุฒิพงศ์) และรางวัลพิราบขาว ด้วยเรื่องราวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายทางการเมือง 


กรรมการลงความเห็นว่า “หนังหยิบยกประเด็นร้อนทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกมาพูดถึง ถ่ายทอดบรรยากาศหมองเศร้าและความสูญเสียจากการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ผ่านภาพและดนตรีได้อย่างงดงาม ละเอียดอ่อน และมีความเป็นกวี  ผู้กำกับและผู้เขียนบทได้ร้อยองค์ประกอบของหนังประเภทต่างๆเข้ามาเป็นผ้าผืนเดียวกันได้อย่างประณีต"


จากหนังที่เล่าเรื่องมาสู่หนังทดลอง The Mental Traveller โดยไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ศิลปินที่ทำงานทั้งสายทัศนศิลป์ video art หนังสั้น และกำลังจะมีงานหนังยาวเรื่องแรก อดีตเคยได้รางวัลชนะเลิศสายรัตน์ และครั้งนี้ไทกิกลับมากับหนังทดลองที่สร้างความฉงนและท้าทายผู้ชมเช่นเคย จนได้รางวัลรองชนะเลิศไป หนังถ่ายทำในโรงพยาบาลจิตเวท ไม่มีเนื้อเรื่อง แต่ใช้ภาพเพื่อสร้างบรรยากาศล้วนๆ อนึ่งหนังสั้นเรื่องนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะของไทกิที่ออกแสดงไปก่อนหน้านี้ กรรมการเห็นว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูเหมือนอยู่ระหว่างความจริงและความฝัน ระหว่างสารคดีและศิลปะแบบนามธรรม  หนังพาคนดูเดินทางไปกับผู้มีอาการทางจิตในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งผ่านภาพที่ถูกเรียงร้อยและตัดต่ออย่างสวยงามและมีชั้นเชิง ถึงแม้หนังจะไม่มีบทสนทนาหรือโครงเรื่อง แต่ภาพก็ส่อให้เห็นถึงการถ่ายทำที่ใกล้ชิดจนทำให้กรรมการท่านหนึ่งตั้งคำถามขึ้นมาว่าศิลปินต้องเข้าไปคลุกคลีในโรงพยาบาลนานเท่าไรถึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าศิลปินเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้นและได้ภาพแบบนี้มา” 


นอกจากหนังชนะเลิศ และรองชนะเลิศ ยังมีหนังรางวัลชมเชยอีกสามเรื่องที่ ได้แก่ ระบาดพันธนาการ ที่พูดถึงปัญหาที่เกษตรกรในไทยต้องประสบผ่านบรรยากาศที่มืดครึ้มและเรื่องราวที่มีกลิ่นอายของทั้งตำนานพื้นบ้านและหนังผีได้อย่างน่าติดตาม นิทานคนตัวเล็ก เป็นหนังไร้คำพูดที่เล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนานผ่านภาพที่สวยงามและเปี่ยมไปด้วยความมหัศจรรย์แบบเทพนิยาย ส่วน The Blue Crow เป็นหนังสำรวจประเด็นอัตลักษณ์ ความเป็นหญิง และความเป็นอื่นผ่านเรื่องราวลึกลับและสลับซับซ้อนที่มีทั้งความดิบและความเป็นกวี


แต่ไม่ใช่เพียงรางวัลเท่านั้นที่เป็นเครื่องหมายของคุณภาพและความน่าสนใจ หนังในสายรัตน์ เปสตันยี ทุกเรื่อง ต่างมีความพยายามและความกล้าหาญในแบบของตัวเอง โดยเฉพาะการใช้หนังสั้นเพื่อส่งเสียงถึงประเด็นหรือเรื่องราวที่หนังในกระแสหลักไม่ค่อยได้พูดถึง เช่น ปัญหาโรคเอดส์ (เรื่อง Human in Vacuum) ปัญหาอัตลักษณ์ทั้งเรื่องสัญชาติและเพศสภาพ (Destination Nowhere, Return If Possible) การเฝ้ามองความวุ่นวายทางการเมืองร่วมสมัย (คืนวันศุกร์, ร่างทนทาน, สุสานดวงดาว, ศิวิไลซ์บางกอก) หรือหนังที่พูดถึงการสูญเสียและการแตกสลาย (จากไปแล้ว) 


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด