หนังสั้นแอนิเมชันในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 23 มีผู้ส่งผลงานกันมาจำนวนไม่ถึง 20 เรื่อง จนทีมงานสามารถส่งต่อให้คณะกรรมการดูเพื่อตัดสินได้โดยไม่ต้องคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย เหมือนเช่นปีที่ผ่าน ๆ มา แต่กระนั้น กลับเป็นปีที่คณะกรรมการผู้คร่ำหวอดในวงการแอนิเมชันของไทย คือ สุเทพ ตันนิรัตน์, คมภิญญ์ เข็มกำเนิด และ เปลว ศิริสุวรรณ ยอมรับว่า แตกต่างจากปีก่อน ๆ ที่ต้องคอยลุ้นว่าจะเจอผลงานที่เหมาะสมกับรางวัลชนะเลิศไหม ปีนี้ระหว่างดูกลับเจอแต่เรื่องที่ควรจะได้รางวัลอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ต้องถกเถียงกันนานหลายชั่วโมง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้พบเจอกันมานานแล้ว
ผลงานชนะเลิศรางวัลปยุต เงากระจ่าง ปีนี้ได้แก่ ธรณีประตู 1969 (The Threshold 1969) แอนิเมชันอำนวยการสร้างโดย กองพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ตั้งประเด็นถึงการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตครั้งแรกบนโลก เมื่อ ค.ศ. 1969 ซึ่งเปรียบเสมือนการที่มนุษย์ก้าวข้ามธรณีประตูไปสู่ดินแดนที่ทำให้โลกไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป ประกอบด้วยการ์ตูนสั้น 4 เรื่อง ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านของ 4 ช่วงวัย สร้างโดยผู้กำกับ 4 คนคือ “balloon” โดย ธวัชพงศ์ ตั้งสัจจะพจน์ “MOON NODE” โดย ไกรสิทธิ์ โภคสวัสดิ์ “Mortified” โดย ชานนท์ ตรีเนตร และ “CONNECT” โดย ปัญญา ผาสุกโกวิทสิริ ซึ่ง สุเทพ ตันนิรัตน์ ตัวแทนคณะกรรมการถึงกับกล่าวในการประกาศรางวัลว่า ทุกเรื่องมีคุณภาพที่ดี แต่มีเรื่องหนึ่งถือว่าดีที่สุดเท่าที่เคยตัดสินมา
รางวัลรองชนะเลิศมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ The Blue Curtain โดย ยลธิดา รณกิตติ แอนิเมชันเล่าเรื่องราวของเด็กสาวที่ตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงทางจิตใจ ซึ่งกรรมการเห็นว่า เป็นการนำเสนอเรื่องการตัดสินใจ หรือ Dilemma (ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก) ในการดำเนินชีวิตของคนได้น่าสนใจมาก ๆ
เรื่องที่สองคือ เพื่อนของฉันเป็นสัปปะหลาด (My Be(a)st Friend) โดย ภูริณัฐ ก๋าใจ ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กชายและเพื่อนในจินตนาการที่คอยผลักดันให้มีความกล้าในชีวิตจริงซึ่งกรรมการกล่าวชื่นชมในเทคนิกและวิธีการเล่าเรื่อง เพราะเป็นงานแนวสต็อปโมชันที่ไม่ค่อยได้เห็นมานาน และมีเนื้อหาโดนใจ จนเมื่อดูไปเรื่อย ๆ ทำให้ลืมไปเลยว่าเป็นแค่สต็อปโมชัน
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ผลงานที่ได้ประกาศนียบัตรชมเชย ทั้งสองเรื่องต่างพูดถึงประเด็นที่สังคมไทยกำลังพูดถึง ทั้งการบูลลี่กันในโรงเรียน ในเรื่อง Words โดย พรธีรา นิมมานะเกียรติ และการคุกคามทางเพศใน Moonlight โดย บูรณ์ เนียมหอม นับเป็นตัวอย่างที่ดีว่าสื่อแอนิเมชันก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวหนัก ๆ ออกมาได้อย่างน่าสนใจ