รางวัลช้างเผือกพิเศษ: มาตรฐานใหม่ของหนังนักเรียนไทย

จำได้ว่าในการตัดสินรางวัลช้างเผือก หรือหนังสั้นระดับนักเรียน ในเทศกาลภาพยนตร์สั้น เมื่อหลายปีก่อน คำถามหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงเป็นลำดับแรกๆ ก็คือ มีหนังที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศมั้ย เนื่องเพราะบางปี อาจจะด้วยจำนวนที่ส่งเข้ามาค่อนข้างน้อย กรรมการเห็นคล้ายๆกันว่า มันยังไม่ดีพอที่จะใช้คำว่า ‘ยอดเยี่ยม’ (จะด้วยคุณภาพ งานสร้าง ความคิดสร้างสรรค์ หรือความตาถั่วของกรรมการก็สุดแท้แต่) แต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่จนเลือกไม่ได้ นั่นเลยทำให้ต้องเปลี่ยนเวิร์ดดิ้งจาก ‘ยอดเยี่ยม’ เป็น ‘ดีเด่น’ แทน หรือบางปี ก็ไม่มีผู้ชนะเลิศด้วยซ้ำ และมีแต่รางวัลชมเชย (ซึ่งมองย้อนกลับไปก็นับว่ากรรมการใจร้ายทีเดียว)


แต่ในช่วง 4-5 ปีหลัง นอกจากนี่ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องพูดคุยถกเถียงอีกต่อไป การเลือกผู้ชนะก็กลายเป็นความยุ่งยากอีกแบบ เพราะแคนดิเดตมีมากมาย ยังไงก็ตาม ข้อน่าสังเกตโดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ก็คือ หนังหลายเรื่องไม่เพียงแค่เล่าเรื่องได้อย่างคล่องแคล่ว และสอดแทรกมุมมองความคิดที่น่าทึ่ง (และดูเหมือนความเป็นเด็กมัธยมของพวกเขาไม่ใช่ข้อเกี่ยงงอนอีกต่อไป) งานสร้างยังพิถีพิถันและประณีตจนรู้สึกว่า มันอาจจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับหนังนักเรียนระดับกระโปรงบานขาสั้นในปีต่อๆไป


ข้อน่าสังเกตอีกอย่างก็คือ หนังเกือบทั้งหมดล้วนแตะต้องประเด็นทางการเมือง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม สองสามเรื่องตั้งคำถามกลับไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมทำนองว่า ทำไมพวกเขาต้องมาแบกรับมรดกความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมายาวนาน และไม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้นซักที แต่อย่างหนึ่งที่หนังเกือบทุกเรื่องสื่อสารออกมาตรงกันก็คือ พวกเขาอึดอัดคับข้องกับสภาวะที่เหมือนกับมีอำนาจบางอย่างมากดทับอยู่ตลอดเวลา


สำหรับผลการตัดสินประจำปี 2019 พร้อมความเห็นส่วนตัว-เป็นดังนี้


รางวัลชมเชย

Kami-Oshi / จิตริน วุฒิพันธุ์ (โรงเรียนสอนภาษาภูเก็ตอะคาเดมิคส์ จังหวัดภูเก็ต)



ปมเรื่องอาจจะตื้นและง่ายไปหน่อย แต่หลังจากความขัดแย้งประทุขึ้นมา นี่ไม่ได้เป็นแค่เรื่องพ่อลูกทะเลาะกัน แต่กลายเป็นเรื่องผู้ใหญ่ปิดกั้นเด็ก มิหนำซ้ำ ตัวเองก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลอกเลียน ชอบบทสนทนาระหว่างพ่อลูกมากๆ มันถึงพริกถึงขิง และวิธีการเปลี่ยน ratio ภาพก็สื่อความหมายได้เข้าที


มาดามอโศก (Madam Asok) / ธารา เจริญเขต (โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ)



หนังตลกเลือดสาดสไตล์เควนติน ทารันติโน่ ความยาวของหนังเพียงแค่ห้านาที แต่คนทำหนังกลับเล่าเรื่องที่ซับซ้อนได้ไหลลื่นและด้วยจังหวะจะโคนที่แม่นยำ อีกทั้งตอนท้ายก็ยังหักมุมได้ยียวน


รางวัลรองชนะเลิศ

"The Odyssey" | Bcc Academic Day 2018 / ชวิศ ปานจินดา, พิท พงษ์พิทยาภา (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย)



ถ้าหากมีรางวัลวิฌ่วลเอฟเฟ็คท์ยอดเยี่ยม หนังเรื่อง the Odyssey ก็เป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คนทำหนังใช้เทคนิคพิเศษทางด้านภาพได้อย่างคล่องแคล่ว (และต้องไม่ลืมว่านี่เป็นหนังของนักเรียนมัธยม) แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์และจินตนาการ โดยปริยาย ลูกเล่นที่สุดแสนแพรวพราวก็หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ว่าด้วยเด็กหนุ่มต้องบุกฝ่าอุปสรรคนานัปการเพื่อเก็บรวบรวมอัญมณีครองพิภพ ซึ่งว่าไปแล้ว เป็นภารกิจที่ไม่แตกต่างจากหนังเรื่อง Avengers: Endgame กระนั้นก็ตาม บทสรุปของหนังก็ช่างน่าฉงนสนเท่ห์เหลือเกิน ไม่รู้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปมขัดแย้งในโลกของความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนเพียงใด (บางที ชาวกรุงเทพคริสเตียนน่าจะบอกได้) และอีกหนึ่งคำถามหลังจากดูจบก็คือ คนทำต้อง ‘เนิร์ด’ แค่ไหน-ถึงทำหนังแบบนี้ออกมาได้


อสูรกายจากความทรงจำครั้งอดีตกาล (Lost in the Universe) / กุลพัทธ์ เอมมาโนชญ์ (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา)


ปรบมือดัง ๆ ให้กับความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานของคนทำหนัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพยายามร้อยเรียงเรื่องที่ต้องบอกเล่า-ซึ่งมีลักษณะที่ค่อนข้างเป็นเศษเสี้ยว ผนวกไปกับห้วงคำนึงของตัวละครที่เต็มไปด้วยความว้าวุ่น สับสนและการครุ่นคิด และนั่นไม่ใช่เรื่องง่าย กระนั้นก็ตาม ผลลัพธ์ที่ออกมาก็นับว่าคุ้มค่า ข้อความขึ้นต้นอาจจะระบุว่ารายละเอียดต่างๆในหนังเป็นเรื่องที่สมมติขึ้น แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่ใช่เรื่องเกินกำลังความสามารถของคนดูในปะติดปะต่อโน่นนี่นั่นให้เข้ากับภาวะแตกแยกและแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย (หรือหลายฝักหลายฝ่าย) ในสังคมไทย


หนังบอกเล่าเรื่องของเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิต ณ ฟากฝั่งหนึ่งของเมืองมาตั้งแต่เกิด และนึกสงสัยว่า ผู้คนอีกฟากหนึ่งจะเป็นเช่นใด กระทั่งหยอกล้อตัวเองอยู่กับความนึกคิดว่าซักวันหนึ่ง เขาอาจจะรวบรวมความกล้าหาญ และออกไปเผชิญกับโลกที่ตัวเองไม่รู้จักซึ่งรอคอยอยู่เบื้องหน้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการก้าวข้ามเส้นแบ่งที่เหมือนกับหันหลังกลับไม่ได้-เต็มไปด้วยหลายสิ่งที่เขาต้องแลก ส่วนที่ทรงพลังมากได้แก่การใช้เพลง “เธอคือความฝัน” ของวงพราว ทว่าเป็นเวอร์ชั่นที่ ‘คัฟเวอร์’ เพื่อหนังสั้นเรื่องนี้โดยเฉพาะ และเสียงร้องอันเศร้าสร้อยและโหยหวนก็ทำให้หนังไม่ได้จบลงด้วยความหวังแต่เพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็นเสมือนการก้าวผ่านข้ามพ้นของวัยและการเติบโตขึ้นของตัวละคร ข้อสำคัญ คนดูรู้สึกและสัมผัสได้ถึงความ ‘เป็นของกันและกัน’ ระหว่างภาพและเสียงได้อย่างน่าประทับใจ


รางวัลชนะเลิศ

เธอทั้งสองจะตาบอดสี (Still blue) / พันธวัช กาญจนภิญโญ (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี)


หนังเรื่อง “เธอทั้งสองจะตาบอดสี” อาจจะทำให้หลายคนนึกถึง Where We Belong (และบางที Snap) ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี ทั้งในแง่ของฉากหลัง อันได้แก่จังหวัดจันทบุรี ตลอดจนเรื่องราวของสองสาวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต กระนั้นก็ตาม หนังของ พันธวัช กาญจนภิญโญก็มีหนทางก้าวเดินของตัวเอง ในแง่หนึ่ง หนังพูดถึงอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วและสภาวะปัจจุบันที่สุดแสนอึมครึม ไม่มีอะไรตกผลึกหรือสะเด็ดน้ำซักอย่างเดียว และวิธีการที่คนทำหนังแทรกประเด็นการเมืองเข้ามา (อันได้แก่เรื่อง คสช.ปลดล็อค และอนุญาตให้มีการเลือกตั้งได้) ก็ยิ่งตอกย้ำถึงภาวะคลุมเครือสับสน และจำกัดความไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ประโยคที่หนึ่งในสองสาวถามอีกฝ่ายว่า “ตอนนี้เราเป็นอะไรกัน” อาจจะชวนให้โยงไปไกลได้ถึงการตั้งคำถามว่า ตอนนี้เราเป็นอะไรกัน ระหว่างประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะมันทั้งใช่และไม่ใช่ในตัวมันเอง แต่ไม่ว่านั่นจะเป็นเจตนารมณ์ของคนทำหนังหรือไม่อย่างไร นี่เป็นหนังที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสองสาวที่ทั้งโรแมนติกและอ่อนหวาน และสิ้นสุดลงด้วยความซาบซึ้งตรึงอารมณ์


ปล. หนังอีกสี่เรื่องที่เข้ารอบสุดท้ายได้แก่

Mind Flayer / สิรวิชญ์ มหิทธิหาญ, วิลเลี่ยม แพร์คแนล (โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ)

Searching the Blue / กมลกานต์ สมุทรรัตนกุล (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา)

เจ้าชายดอกไม้ทะเล / ทวีโชค ผสม (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี)

สยามแลนด์ (Siamland) / ฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์ (โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน)


(ความเห็นจากโพสต์เฟซบุ๊กของ ประวิทย์ แต่งอักษร กรรมการตัดสินรางวัลช้างเผือกพิเศษ เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 23 ร่วมกับ นนทรีย์ นิมิบุตร)


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด