ความหวังของวงการหนังไทยในรางวัลช้างเผือก

สายการประกวดที่เข้มข้น ดุเดือด และสูสีที่สุดในเทศกาลภาพยนตร์สั้นช่วงหลายปีหลังที่ผ่านมา คือสายรางวัลช้างเผือก หรือหนังสั้นระดับนักศึกษา ซึ่งมีจำนวนผลงานสมัครเข้ามาร่วมประกวดมากกว่าทุก ๆ สาขารางวัล เป็นเครื่องยืนยันถึงความคึกคักของวงการหนังสั้นในรั้วมหาวิทยาลัย ที่นับวันจะยิ่งยกระดับคุณภาพขึ้นมาทัดเทียมกับบรรดามืออาชีพ รวมทั้งยังมีเวทีฉายหนังของแต่ละสถาบันที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 


เมื่อเทศกาลภาพยนตร์สั้นเปลี่ยนช่วงเวลามาเป็นช่วงปลายปี งานนี้จึงคล้ายเป็นการสรุปและรวบรวมผลงานเกือบทั้งหมดที่ทำกันในรอบปีที่ผ่านมา จากจำนวนภาพยนตร์สั้นกว่า 200 เรื่อง ทีมงานเทศกาลฯ ได้คัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 20 เรื่อง (ถือเป็นปริมาณที่มากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา) เพื่อให้คณะกรรมการประจำปีนี้ อันประกอบด้วย  ภาณุ อารี  ผู้กำกับภาพยนตร์ (มูอัลลัฟ, เบบี้อาราเบีย ฯลฯ)  กนกพร บุญธรรมเจริญ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ (แสงกระสือ, ดิว ไปด้วยกันนะ ฯลฯ) และหรินทร์ แพทรงไทย  ผู้ลำดับภาพ (Ten Years Thailand, Where We Belong ฯลฯ) เป็นผู้พิจารณาตัดสิน


แม้โดยรวมแล้วหนังสั้นนักศึกษาปีนี้จะยังคงมีรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลาย แต่จุดร่วมที่โดดเด่นจนเห็นได้ชัดเจนที่สุดของงานในปีนี้ คือการแสดงออกถึงความอึดอัดคับข้องใจของวัยรุ่น ต่อความแปลกแยกที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยเฉพาะการตั้งคำถามถึงความหมายที่แท้จริงของสถาบันครอบครัว จนอาจอนุมานได้ว่า นี่เป็นภาพแทนของปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มเด็กสาวของไทยในปัจจุบัน 


พญาวัน โดย ศุภามาศ บุญนิล จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานชนะเลิศรางวัลช้างเผือกประจำปีนี้ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่จัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว ผู้กำกับเลือกเล่าเรื่องราวของเด็กสาวที่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดในเทศกาลสงกรานต์ และต้องรับมือกับครอบครัวที่ประกอบด้วย พี่สาว ยาย และแม่ผู้พยายามสร้างบรรยากาศแห่งความสุข แต่กลับยิ่งเป็นการนำพาหายนะทางอารมณ์มาสู่ทุกคน โดยกรรมการให้เหตุผลที่มอบรางวัลชนะเลิศให้แก่ พญาวัน ว่า “ภาพยนตร์มีความโดดเด่นในแง่ของการเล่าเรื่องที่สะท้อนความเสื่อมสลายของโครงสร้างหลักของสังคมอย่างครอบครัวได้อย่างน่าสะเทือนใจ  ภายใต้การนำเสนอที่เรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยพลังแห่งภาพยนตร์”

ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ที่ได้รางวัลรองชนะเลิศปีนี้ ซึ่งมีถึง ๓ เรื่อง ก็ยังคงมีเนื้อหาพาดพิงกับความแตกร้าวในสถาบันครอบครัว เรื่องแรก เมื่อหนึ่งแล้วจึงสาม โดย ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนา จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หนังสั้นบอกเล่าประวัติศาสตร์ครอบครัวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมอันนำมาซึ่งความบอบช้ำที่ติดตรึงและส่งผ่านมาสู่ผู้ชม ดังที่กรรมการได้ให้ความเห็นว่า   “แม้ผู้กำกับภาพยนตร์ได้รื้อสร้างกระบวนการเล่าเรื่อง กระตุ้นเร้าให้ผู้ชมตีความหาความหมายอย่างเสรี  แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ผู้ชมสัมผัสได้ร่วมกันคือความเศร้าสะเทือนใจที่ถูกฉาบไว้ตลอดทั้งเรื่อง”


เรื่องถัดมา Sweet Sorrow ผลงานของ รักศิริ ทองแผ่น จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนังว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวกับพ่อผู้ออกจากบ้านไปนาน ตัดสลับกับอดีตของครอบครัวในวันที่กำลังจะแตกสลาย กรรมการกล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น “บทบันทึกส่วนตัว ที่ถูกถ่ายทอดผ่านการนำเสนอที่ทำลายเส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่งกับความจริงได้อย่างลงตัว สร้างความรู้สึกสะเทือนใจที่เกาะติดอยู่ในใจของผู้ชมแม้ภาพยนตร์จบลงแล้ว”


ผลงานรองชนะเลิศเรื่องสุดท้าย  I'm Not Your F***ing Stereotype ของฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ จากคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาตั้งแต่ยังไม่ประกาศผลเทศกาลภาพยนตร์สั้น ด้วยการคว้ารางวัลภาพยนตร์สั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากจะตั้งคำถามถึงมุมมองที่แตกต่างระหว่างลูกสาวกับแม่มุสลิมผู้เคร่งครัด ภาพยนตร์ยังข้ามเข้าไปสู่รั้วโรงเรียนด้วยการเปิดเผยให้เห็นถึงอคติต่อชาวมุสลิมในสภาพแวดล้อมของสังคมโรงเรียนพุทธ ความเห็นของกรรมการมีว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความกล้าหาญของผู้กำกับในการวิพากษ์หนึ่งในประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดของสังคมอย่างตรงไปตรงมาและแหลมคม ด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์ที่แพรวพราวร่วมสมัย”


นอกจากนี้ กรรมการยังให้รางวัลชมเชยแก่ภาพยนตร์สั้นอีก 3 เรื่อง ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันสุดขั้ว คือ  จาโบ้วเกี้ย โดย กุลภัทร กล้าธนกาญจน์ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ เล่นกับรูปแบบของภาพยนตร์ระหว่างเรื่องแต่งกับสารคดี เพื่อเล่าถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเชื้อสายจีน Sneak โดย ธัญธร วิวัฒนเดชา จากวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผลงานที่มาพร้อมกับเรื่องแนวทริลเลอร์ว่าด้วยเด็ก ๆ ที่พลัดหลงเข้าไปพัวพันกับภารกิจสำคัญของแก๊งโจร และสุดท้ายคือ หนังทดลองที่ผู้กำกับใช้ภาพและเสียงถ่ายทอดความเจ็บปวดของแม่เรื่อง แผลกดทับ โดย ปรินทร์  อินทรศร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี 


เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 23 ขอปรบมือดัง ๆ อีกครั้งให้แก่ทั้งผู้ที่ได้รับรางวัลและผู้ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทุกท่าน ทุกคนล้วนเป็นความหวังที่สำคัญของวงการภาพยนตร์ไทยในอนาคต 

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด