ปี ค.ศ. 1939 เป็นปีทองของฮอลลีวูด บรรดาสตูดิโอยักษ์ใหญ่พากันผลิตผลงานที่ไม่เพียงได้รับการยกย่องและกล่าวขวัญในตอนที่ออกฉาย แต่ยังยืนหยัดผ่านกระบวนการตรวจสอบด้วยกาลเวลา รวมแล้วนับสิบ ๆเรื่อง ไม่เคยมีปีไหนอีกแล้วที่ฮอลลีวูดจะมี ‘หนังคลาสสิก’ มากมายก่ายกองขนาดนี้ เช่น Stagecoach ของจอห์น ฟอร์ด, Wuthering Heights ของวิลเลียม วายเลอร์, Ninotchka ของเอิร์นสต์ ลูบิตสช์, Gone With the Wind ของวิกเตอร์ เฟลมิง และอื่น ๆ อีกมาก
The Wizard of Oz ออกฉายในปีนั้นเช่นกัน และถึงแม้หนังอาจจะไม่มีบารมีในแง่ของผลรางวัลมากมาย หากทว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแทบทุกสำนักที่ระบุถึงหนังเรื่องนี้ก็มักจะเอ่ยไปในทิศทางเดียวกัน ว่านี่เป็นหนังที่ ‘เป็นที่รักมากที่สุด’ ของผู้ชม (หรือ ‘the most beloved’) ส่วนหนึ่งเพราะทั้งเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงเพลงอันไพเราะเพราะพริ้งและติดหู สัมผัสส่วนที่เปราะบางอ่อนไหวของผู้ชม แต่คุณค่าที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มันเป็นหนังที่ไม่ได้สื่อสารเฉพาะกับเด็กและเยาวชน แต่ครอบคลุมไปถึงผู้ชมทุกเพศทุกวัย และนับจนบัดนี้ คุณลักษณะดังกล่าวก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
“Toto, I have a feeling we’re not in Kansas anymore” (“โตโต้ ฉันรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่ในแคนซัสอีกแล้วนะ”) ประโยคคลาสสิกนี้ถูกกล่าวขึ้นโดยเด็กสาวชื่อโดโรธี (แสดงโดยจูดี การ์แลนด์ ในบทที่ทำให้เธอโด่งดังทั่วโลก) เอ่ยกับสุนัขคู่ใจ โตโต้ เมื่อพายุทอร์นาโดพัดหอบบ้านทั้งหลังของพวกเธอจากบ้านเกิดในแคนซัส ลอยมาตก ณ ดินแดนอันสุดแสนประหลาด ดินแดนแห่งถนนอิฐสีเหลืองและพ่อมดชื่อออซ
การผจญภัยของโดโรธีเริ่มต้นขึ้น พร้อมด้วยผู้ร่วมเดินทางอันไม่สมประกอบ ได้แก่ หุ่นกระป๋องผู้แสวงหาหัวใจ หุ่นไล่กาผู้แสวงหาสมอง และสิงโตขี้ขลาดผู้แสวงหาความกล้าหาญ แม้ว่าดินแดนแห่งความมหัศจรรย์ของเมืองออซจะเต็มไปด้วยสีสันและสรรพสิ่งที่งดงามตระการตา แต่มันก็แวดล้อมด้วยอันตรายและสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย เช่นการที่โดโรธีกลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของแม่มดผู้ชั่วร้ายแห่งประจิมทิศโดยไม่เจตนา เพราะบ้านของเธอดันหล่นลงไปทับแม่มดผู้ชั่วร้ายแห่งบูรพาทิศ ผู้เป็นน้องสาวจนถึงแก่ความตาย หรือในระหว่างทางบนถนนอิฐสีเหลือง ช่วงหนึ่งที่เธอเผลอไปเด็ดแอปเปิลจากต้นด้วยความหิวโหยและถูกต้นแอปเปิลตีมือ
หนัง The Wizard of Oz เป็นหนังที่พิจารณาความหมายของคำว่า “บ้าน” และ “ครอบครัว” แต่ในขณะเดียวกัน หนังก็ไม่ได้บอกว่าความฝันเฟื่องถึงดินแดนอันไกลโพ้น และการมุ่งหวังที่จะได้ผจญภัยไปในสถานที่แปลกและแตกต่างไปจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ หลักฐานของความคิดนี้อยู่ในเพลงดังของหนัง Over the Rainbow เมื่อหนังเปิดโอกาสให้โดโรธีบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวเองผ่านเสียงเพลง ที่เป็นเสมือนตัวแทนของการหนีจากโลกของความเป็นจริงที่ไม่น่ารื่นรมย์ ไปสู่โลกที่ปลอดจากความทุกข์ร้อนและเต็มไปด้วยสิ่งสวยงาม (ฉากร้องเพลงนี้เกือบจะถูกตัดออกไปจากตัวหนัง ด้วยเหตุผลที่ฟังดูเหลวไหล นั่นคือ หลุยส์ บี. แมร์ นายใหญ่ของเอ็มจีเอ็ม เห็นว่ามันเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะให้ ‘ดารา’ ของเอ็มจีเอ็มร้องเพลงท่ามกลางฉากหลังซ่อมซ่ออย่างท้องไร่ท้องนา) โดยปริยาย หนังเรื่อง The Wizard of Oz ย้ำเตือนให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความจริงข้อหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ว่าสักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว เด็ก ๆ จะต้องเติบโตขึ้นและฝันถึงการใช้ชีวิตนอกบ้าน ตลอดจนการสำรวจตรวจสอบโลกใบที่ใหญ่โตขึ้น และนั่นไม่ใช่เรื่องที่คนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องขัดขวางหรือกีดกัน เพราะถึงที่สุดแล้ว มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติของการก้าวพ้นวัยเด็กนั่นเอง
The Wizard of Oz ยืนยงคงกระพันผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ด้วยเหตุผลที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด เพราะนอกเหนือจากการเป็นหนังที่ผู้ชมพากันตกหลุมรักอย่างพร้อมเพรียงและทั่วบ้านทั่วเมือง มันยังมีสถานะเป็นเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมที่คนอเมริกันถือเป็นธุระและหน้าที่ที่จะต้องรักษาและส่งมอบมันให้กับคนรุ่นถัดไป เพื่อว่าคุณค่าอันงดงามของทั้งตัวหนัง (และรวมไปถึงนิทานตั้งต้นของ แอล แฟรงก์ โบม) จะยังคงเปล่งประกายฉายแสง รวมทั้งเป็น ‘the best friends anybody ever had’ สำหรับผู้ชมที่มีหัวใจอันเยาว์วัยตราบนานเท่านาน
โดย ประวิทย์ แต่งอักษร