ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด : บทบันทึกอารมณ์และชีวิตพนักงานออฟฟิศ

การผสมภาพความจริงของชีวิตคนเมืองในยุคที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู เข้ากับคติความเชื่อแบบไทยเรื่องความตายและเวรกรรม แต่งเติมด้วยมุกตลกเฉพาะตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มนักแสดง ถือเป็นความโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญของ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2536 โดยผู้กำกับหน้าใหม่ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ และทำให้แม้จะผ่านไปเกือบ 30 ปี หนังของ “คนกรุง” หลากรสชาติเรื่องนี้ยังคงมีความสดใหม่ในเนื้อหาอยู่เช่นเดิม 


ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด เล่าเรื่องราวของ มานพ หนุ่มออฟฟิศผู้สุภาพเรียบร้อยแต่มักโดนเจ้านายโยนความผิดในการทำงานให้ วันหนึ่ง นพหมดสติลงในลิฟต์ ในภาวะกึ่งตื่นกึ่งฝันนั้น เขาเห็นยมทูตปรากฏขึ้นเพื่อมารับตัวเขา แต่ก่อนเหตุการณ์จะล่วงเลย นายทะเบียนจากนรกแจ้งข่าวดีว่านพยังไม่ถึงฆาต แต่มีเวลาใช้ชีวิตอยู่จนถึงบ่ายสองโมงของวันรุ่งขึ้น  เมื่อตื่นขึ้นอีกครั้ง ความรับรู้เกี่ยวกับชีวิตตัวเองของนพจึงเปลี่ยนไป เพราะเชื่อว่าตัวเองจะอยู่บนโลกนี้ได้อีกเพียงวันเดียว ความตายที่รออยู่ตรงหน้าทำให้นพเกิด “ลูกบ้า” ที่จะออกนอกกรอบที่เคยจองจำตัวเองและเห็นโลกรอบข้างแตกต่างไปจากเดิม จนกระทั่งเรื่องราวได้บานปลาย ทำให้เขาใช้ลูกบ้านี้ฮึดสู้เพื่อเอาชนะระบบและพฤติกรรมความเห็นแก่ตัวของผู้คนในสังคมก่อนที่เขาจะลาโลก 




นักแสดงหลักเกือบทุกคนในเรื่องทั้ง จรัสพงษ์ สุรัสวดี, ญานี ตราโมท, อรุณ ภาวิไล รวมไปถึง สัญญา คุณากร ผู้รับบท นพ และ อิทธิสุนทร ผู้กำกับ ล้วนเคยอยู่ในกลุ่ม “ซูโม่สำอาง” ของรายการโทรทัศน์เพชฌฆาตความเครียด ซึ่งเป็นกลุ่มตลกปัญญาชน ที่ฝึกฝนฝีมือกันมาจากละครเวทีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพยนตร์จึงมีอารมณ์ขันแบบ “ละคอนถาปัด” ด้วยการผสมผสานเหตุการณ์ปัจจุบันเข้ากับมุกเสียดสีและตลกหน้าตาย ในอารมณ์และบริบทที่แตกต่างจากตลกแบบจำอวดหรือตลกตีหัวซึ่งอยู่คู่หนังไทยมาช้านาน เมื่อผนวกกับสไตล์ที่หวือหวาและความกล้าทดลองแนวทางใหม่ ๆ ของอิทธิสุนทร ทำให้ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด กลายเป็นขวัญใจแห่งปีของนักวิจารณ์ และกวาดรางวัลทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม จากการประกวดภาพยนตร์ไทยของชมรมวิจารณ์บันเทิงประจำปีดังกล่าว ในขณะที่ตัวอิทธิสุนทรได้แจ้งเกิดกลายเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่วงการหนังไทยจับตามอง ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างสูงจากผลงานการกำกับเรื่อง โหมโรง ในเวลาต่อมา 


ภายใต้เรื่องราวสมมติที่ว่าด้วยแรงฮึดของชายหนุ่มผู้ได้รับโอกาสอย่างที่มนุษย์คนใดไม่เคยได้มาก่อน ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ยังเป็นบทบันทึกอารมณ์และชีวิตพนักงานออฟฟิศซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับการเติบโตทางธุรกิจของประเทศ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าท่ามกลางความเจริญทางวัตถุ แต่ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและกรรมยังคงอยู่ในสำนึกของคนไทยทุกยุค ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังวิพากษ์ระบบทุนนิยมที่ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองแต่คนกลับกลายเป็นเครื่องจักรไร้หัวใจ ตามเนื้อเพลงประกอบที่ใช้เปิดและปิดเรื่องที่ว่า “เมืองมันใหญ่โต แต่คนไม่ใหญ่ตาม” ซึ่งอิทธิสุนทรเป็นผู้แต่งเนื้อร้อง  ราวกับล่วงรู้จุดจบของตนเองเช่นเดียวกับตัวเอกของเรื่อง เพราะสารสำคัญของหนังนี้ ได้กลายเป็นคำพยากรณ์ดวงชะตาที่กำลังง่อนแง่นของสภาพสังคมไทยในช่วงเวลานั้น  ก่อนที่ชะตานี้จะขาดลงเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในอีก 4 ปีต่อมา


ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2562 และจะจัดฉายในวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2563 เวลา 15.00 น. และเสาร์ที่ 25 มกราคม 2563 เวลา 13.00 น. ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชม


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด