นางสาวโพระดก งานชั้นครูของ คุณาวุฒิ

นางสาวโพระดก เป็นผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2508 ของ วิจิตร คุณาวุฒิ หรือ “คุณาวุฒิ”  ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนสำคัญและศิลปินแห่งชาติด้านภาพยนตร์คนแรกของประเทศ สร้างจากบทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก หรือ “รพีพร” นักเขียนผู้เพิ่งประสบความสำเร็จจากนวนิยายเรื่อง “ลูกทาส” ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2507 โดยรพีพรได้ลองเขียนนวนิยายเรื่อง “นางสาวโพระดก” เพื่อให้เป็น “เรื่องสำหรับผู้หญิงอ่าน” เนื่องจากในเวลานั้น เรื่องแนวนี้กำลังได้รับความนิยมจากนักอ่านหญิงที่มีจำนวนมาก และเพียงแค่ตีพิมพ์ตอนแรกลงในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์ คุณาวุฒิก็ได้ติดต่อขอจองเรื่องมาสร้างเป็นภาพยนตร์


นางสาวโพระดก นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ พิศมัย วิไลศักดิ์ เล่าเรื่องราวของ โพระดก สกุณา สาวน้อยผู้ต้องผจญกับกิเลสตัณหาของมนุษย์ ทั้งจากน้องสาวของพ่อเลี้ยง ผู้ริษยาที่เธอมีส่วนในมรดก จึงคบคิดให้หลานชายจับเธอมาเป็นภรรยา ทั้ง ๆ ที่เขามีเมียลับอยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน คุณหญิงพิณ แม่ของเธอ ยังลักลอบมีสัมพันธ์กับทนายความประจำครอบครัว ต่อมา โพระดกได้ไปยังไร่กระต่ายเต้นของเพื่อนรักชื่อ สายสมร ที่ฉะเชิงเทรา และได้พบกับ ศล ทองปราย ทนายหนุ่มรูปงาม ผู้ได้รับการอุปการะจาก สายใจ แม่ของสายสมร ทั้งคู่มีความประทับใจต่อกัน เมื่อโพระดกกลับมายังกรุงเทพฯ สายใจซึ่งตรอมใจจากการที่ศลไม่รับรัก ได้สิ้นชีวิตลง ในพินัยกรรม เธอได้กำหนดให้ศลต้องแต่งงานกับสายสมร ศลจึงหนีมาสารภาพรักกับโพระดก สองสาวเพื่อนรักจึงผิดใจกัน พร้อม ๆ กับสถานการณ์ในบ้านของโพระดกที่กำลังตึงเครียด


ท่ามกลางความสัมพันธ์ของตัวละครมากมาย คุณาวุฒิได้แสดงฝีมือในการเล่าเรื่องราวอันซับซ้อนให้กระชับและเพลิดเพลิน ด้วยการรับหน้าที่ทั้งเขียนบท กำกับ และตัดต่อ และแม้จะถ่ายทำเป็นภาพยนตร์พากย์ 16 มม. ตามขนบหนังไทยในยุคนั้น แต่ นางสาวโพระดก กลับมีความแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ อย่างเด่นชัด ทั้งการไม่ใช้ดาราตลกเป็นตัวชูโรง งานสร้างที่เต็มไปด้วยความประณีตพิถีพิถัน และเทคนิคการถ่ายทำที่มุ่งเน้นการใช้ศิลปะภาพยนตร์ชั้นสูงเพื่อสื่อความหมาย อย่างเช่นในฉากที่คุณหญิงพิณกำลังจะสิ้นใจ คุณาวุฒิเลือกตัดภาพจากภายในห้องที่นางเอกกำลังร้องเพลง “โพระดก” กล่อมแม่ ออกมาเป็นภาพด้านนอก ให้ผู้ชมเห็นเพียงบ้านทั้งหลังตั้งอยู่ในความมืดท่ามกลางท้องฟ้าที่กำลังคะนอง ทันใดนั้นไฟในบ้านก็สว่างขึ้น ก่อนจะค่อย ๆ ดับลงอย่างช้า ๆ คลอไปกับเสียงเพลงโพระดกที่แม่เคยร้องกล่อมลูกเมื่อยังเด็ก ฉากการตายที่ไม่เห็นแม้แต่ภาพตัวละครร้องไห้นี้ ได้เรียกน้ำตาจากทั้งผู้ชมและผู้พากย์จนกลายเป็นที่เลื่องลือ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ภายใต้เนื้อหาที่เป็นหนังรักกระจุ๋มกระจิ๋ม คุณาวุฒิกลับสามารถสอดแทรกความเป็นนักมนุษยนิยมที่เขามีอยู่เต็มเปี่ยม ออกมาได้อย่างลุ่มลึกและลงตัว  


ในขณะนั้น คุณาวุฒิมีฉายาว่า “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” จากการคว้ารางวัลพระสุรัสวดี หรือตุ๊กตาทองมาแล้วถึง ๗ รางวัล ในหลากหลายสาขา ภายในเวลาเพียง 4 ปี แต่กลับยังไม่เคยเป็นเศรษฐีเงินล้าน เพราะหนังที่เขาลงทุนสร้างเอง ไม่เคยประสบความสำเร็จด้านรายได้เหมือนประสบความสำเร็จด้านรางวัล ในขณะที่เวลารับจ้างกำกับให้ผู้อื่น ภาพยนตร์นั้นกลับทำเงินล้านได้เป็นประจำ จนกระทั่ง นางสาวโพระดก ได้กลายเป็นผลงานเรื่องแรกที่เขาและครอบครัวลงทุนสร้างในนามบริษัทแหลมทองภาพยนตร์ และได้เงินล้านกลับคืนให้ชื่นใจ รวมทั้งทำให้เขาสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และกำกับการแสดงยอดเยี่ยมมาครองได้ ในขณะที่ภาพยนตร์ยังได้รับอีก 2 รางวัล คือ ตุ๊กตาทอง สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม โดย ชโลทร และตุ๊กตาเงิน สาขาบทเสริมยอดเด่น โดย น้ำเงิน บุญหนัก นางสาวโพระดก จึงเป็นหนังเรื่องแรกที่ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีทั้งสองทางอย่างแท้จริง


วิจิตร คุณาวุฒิ ไม่เคยปิดบังความใฝ่ฝันที่จะสร้างภาพยนตร์อันถึงพร้อมด้วยวิจิตรศิลป์และคุณค่าแห่งชีวิตธรรมดาสามัญ นอกเหนือไปจากงานพาณิชยศิลป์ที่ต้องทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว อย่างที่ปรากฏในสูจิบัตรภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า มีบทความถึง 2 ชิ้น ที่กล่าวเทียบตัวเขากับ สัตยาจิต เรย์ ผู้กำกับชั้นครูของอินเดีย ที่มุ่งเน้นถ่ายทอดสัจธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ แม้ นางสาวโพระดก จะยังไกลห่างจากอุดมคติที่เขาวาดหวังด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องรออีกเกือบถึง 20 ปี เขาจึงจะทำได้สำเร็จใน คนภูเขา (2522) และ ลูกอีสาน (2525) แต่ภาพยนตร์ 16 มม. เรื่องนี้ ได้เป็นหลักหมายและยาชูใจสำคัญ ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ผู้มีศักยภาพและอุดมการณ์สูงส่งที่สุดคนหนึ่งของไทย ลงทุนลงแรงสร้างไว้ด้วยความรัก ในช่วงที่เขากำลังรุ่งโรจน์ไปพร้อม ๆ กับดิ้นรนต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนาม และมายาคติมากมายในวงการภาพยนตร์ไทย


นางสาวโพระดก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2562 และหอภาพยนตร์จะนำมาจัดฉายให้ท่านได้ชมอีกครั้งในวันอังคารที่ 21 มกราคม 2563 เวลา 15.00 น. ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชม

 

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด