หลาย ๆ ครั้งที่ใครก็ตามตั้งคำถามกับ วูดดี อัลเลน ว่า สิ่งที่อยู่ในหนังแต่ละเรื่องของเขาพ้องพานกับชีวิตส่วนตัวมากแค่ไหน คำตอบมักจะออกมาในรูปของการปฏิเสธเสมอ แต่แฟนพันธุ์แท้ของอัลเลนคงส่ายหัว เพราะอัลเลนที่คนส่วนใหญ่รู้จักกับตัวละครที่เขาสวมบทบาทในหนังมักจะละม้ายคล้ายคลึงกันจนเจ้าตัวจะปฏิเสธอย่างไรก็ทำให้คล้อยตามได้ยาก อัลเลนจัดได้ว่าเป็นคนล้มเหลวในความสัมพันธ์ สิริรวมแล้วหย่าสองครั้ง แยกทางกับคนรักที่ดำเนินชีวิตคู่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวสองครั้ง ปัจจุบันเป็นสามีโดยถูกต้องตามกฎหมายของซุนยี เพรวิน ลูกเลี้ยงของมีอา ฟาร์โรว์ และล่าสุดตกเป็นเป้าสำคัญในกระแสต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ #Metoo อิรุงตุงนังจนหนังเรื่องล่าสุดของเขาถูกหมางเมินโดยผู้จัดจำหน่าย
ย้อนกลับไปในช่วงปลายของปี 1975 อัลเลนกำลังมีอายุจะครบสี่สิบปีบริบูรณ์ตอนที่เขากับมาร์แชล บริกแมนร่วมกันเขียนบทหนังเรื่อง Annie Hall ในช่วงเวลานั้น ผู้หญิงในชีวิตของอัลเลน (หลังจากหย่าแล้วสองครั้ง) คือไดแอน คีตัน นักแสดงสาวที่เจอกันตอนเล่นละครเวทีที่อัลเลนเขียนบทเมื่อหลายปีก่อน แต่ถึงแม้ว่าทั้งสองคนจะ ‘จูนคลื่น’ เข้าหากันได้อย่างรวดเร็ว ที่สุดแล้วอัลเลนกับคีตันก็ต้องเลิกราหลังจากเป็นแฟนกันได้ปีเศษ ๆ เท่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย
สิ่งที่ถูกบอกเล่าในหนังเรื่อง Annie Hall เกือบจะเป็นเรื่องเดียวกับที่เกิดขึ้นจริงในความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง เพราะทั้งคู่ก็แสดงเป็นตัวละครหลักสองคนในเรื่อง และบางคนถึงกับทึกทักไปว่ามันเป็นเสมือนจดหมายรักที่อัลเลนเขียนให้กับคีตัน แต่จริง ๆ แล้ว Annie Hall เป็นมากกว่านั้นในแง่ที่อัลเลนใช้หนังเพื่อตรวจสอบตัวเองทั้งในแง่ของชีวิต ความคิด ตลอดจนภูมิหลังความเป็นมา และเหนืออื่นใด หลังจากที่เขาทำแต่หนังตลกโปกฮาที่เลอะเทอะและเกือบ ๆ ไร้สาระ นี่คือความพยายามครั้งสำคัญของอัลเลนในการทำให้คนดูมองเห็นเขาในแง่มุมซีเรียสจริงจังมากขึ้น
หนังเปิดเรื่องด้วยภาพของอัลเลน หรือตามท้องเรื่องคือ อัลวี ซิงเกอร์ นักแสดงตลกหนุ่มใหญ่วัยสี่สิบ หันหน้ามาคุยกับผู้ชมตรง ๆ และไม่ช้าก็สารภาพสิ่งที่อัดอั้นในใจออกมาว่า เขากับแฟนสาวที่ชื่อ แอนนี ฮอลล์ (ไดแอน คีตัน) เพิ่งจะแยกทางกัน นอกจากยังทำใจไม่ได้แล้ว เขาไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
การเล่าเรื่องสลับเวลาไปมาของหนังเป็นลักษณะโดดเด่นของบท (และอาจจะทำให้ผู้ชมบางคนต้องกระตือรือร้นมากกว่าปกติ) หนังย้อนไปให้เราเห็นว่าอัลวีพบกับแอนนี ฮอลล์ หลังจากหย่าขาดจากภรรยาคนก่อน เท่าที่หนังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รู้จักตัวละครนี้ แอนนีไม่เหมือนภรรยาเก่าของอัลเลน ตรงที่เธอไม่มีภาพของหญิงสาวที่ฉลาดเฉลียวแบบปัญญาชน ท่าทางของเธอยังบริสุทธิ์สดใส ไม่มั่นใจในตัวเองและไม่ประสีประสากับโลกกว้าง ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองเริ่มต้นโดยที่อัลวีไม่ได้ปกปิดว่าตัวเขาเหนือกว่าทั้งในแง่ของอารมณ์และความคิด และมักจะทำให้แอนนีรู้สึกทึ่งและประทับใจในความเฉลียวฉลาดรอบรู้ของเขา ว่าไปแล้ว อัลวีใช้วิธีเดียวกันกับที่อัลเลนจีบคีตันในชีวิตจริง นั่นคือการทำตัวเป็นพี่เลี้ยงในทุกด้าน
ชีวิตคู่ของคนทั้งสองที่คนหนึ่งเป็นฝ่ายนำ อีกคนหนึ่งคอยตามดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ก่อนที่อัลวีจะทันตั้งตัว แอนนีก็ย้ายตัวเองมาอยู่ร่วมอพาร์ตเมนต์กับเขา และนั่นเปรียบเสมือนจุดจบของช่วง ‘ฮันนีมูน’ ในความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง
หนังใช้เทคนิคทางภาพต่าง ๆ ทั้งการใส่ซับไตเติลให้กับความคิดในสมอง หรือการแบ่งภาพแบบ split screen เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาวะในใจของตัวละครในบ่วงของความสัมพันธ์ที่ติดค้าง เมื่อสิ่งที่พวกเขาคิดและสิ่งที่พวกเขาพูดหรือทำ อาจจะไม่ตรงกันเสมอไป และเมื่อพวกเขาอดเปรียบเทียบคู่รักคนปัจจุบันกับคนก่อนไม่ได้ อีกทั้งหนังยังใช้ฉากกึ่งจินตนาการ เพื่อให้ผู้ชมเห็นปูมหลังของชีวิตอัลวี ทั้งสภาพครอบครัวชาวยิว-อเมริกันที่หล่อหลอมบุคลิก ความคิด และนิสัยของเขา โดยเฉพาะรสนิยมแบบปัญญาชนนิวยอร์ก ที่ทั้งน่าหลงใหลและน่าหมั่นไส้ไปพร้อม ๆ กัน
ไม่มีใครบอกได้ว่าหลังจากแอนนีจากไป อัลวีทำอย่างไรกับชีวิตของตัวเอง อัลวีบอกว่าความรู้สึกของเขาต่อสิ่งที่เรียกว่าความสัมพันธ์ก็เป็นอารมณ์ประมาณเดียวกับเรื่องตลกที่ทั้งเหลวไหลและไร้เหตุผล แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้คนก็ไม่เคยหยุดดิ้นรนแสวงหา กระทั่งไม่เคยเข็ดที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครอีกครั้ง และนั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของผู้กำกับวูดดี อัลเลน ทั้งในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และในชีวิตอันยุ่งเหยิงของเขาหลังจากนั้นเช่นกัน
เดือนกุมภาพันธ์นี้ หอภาพยนตร์ ได้นำ Annie Hall มาจัดฉายให้ท่านได้รับชมในกิจกรรมทึ่ง! หนังโลก วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 12.00 น. ที่โรงภาพยนตร์สกาลา บัตรราคา 140 และ 160 บาท ซื้อบัตรได้แล้วที่จุดจำหน่ายบัตรโรงภาพยนตร์สกาลา
โดย ประวิทย์ แต่งอักษร