ภาพยนตร์ ปิดทองหลังพระ (2482) ที่หอภาพยนตร์ได้ทำการอนุรักษ์ไว้ แม้จะหลงเหลือเพียงแค่เศษฟิล์ม แต่ถือเป็นภาพยนตร์ที่หลงเหลืออยู่เพียงเรื่องเดียวของโรงถ่ายไทยฟิล์ม โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลแห่งที่สองของประเทศ ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญในการผลิตภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์ม ของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ในช่วงก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 แม้จะมีความยาวเพียง 10 นาที แต่เมื่อนำมาเทียบกับ เศษภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา ของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ที่เหลือรอดมาเพียงเรื่องเดียวเช่นกันนั้น ได้ทำให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของสองโรงถ่ายคู่แข่งสำคัญ รวมทั้งยังปรากฏให้เห็นฉากร้องเพลง อันเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของหนังเสียงไทยในยุคแรก เศษที่เหลืออยู่ของภาพยนตร์เรื่อง ปิดทองหลังพระ ปี พ.ศ. 2482 นี้ จึงมีคุณค่าทั้งในแง่การเป็นบทบันทึกของโรงถ่ายภาพยนตร์ที่เคยยิ่งใหญ่ และเป็นซากดึกดำบรรพ์ชิ้นสำคัญ ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สามารถปะติดปะต่อภาพรวมในช่วงยุคทองของหนังเสียงไทยจากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่แค่เศษเสี้ยว
ปี พ.ศ. 2480 เมื่อกลุ่มคนหนุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอก นำโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, พจน์ สารสิน และ ประสาท สุขุม ช่างถ่ายภาพยนตร์ไทยคนแรกที่ไปเรียนถ่ายทำภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูด และเป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (American Society of Cinematographer - A.S.C.) ได้รวมตัวกันก่อตั้ง บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด และสร้างโรงถ่าย “ไทยฟิล์ม” โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลแห่งที่สองของประเทศ ที่บริเวณทุ่งมหาเมฆ พวกเขาได้กลายมาเป็นคู่แข่งในการผลิตภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มรายสำคัญของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งเปิดดำเนินการเป็นรายแรก ในขณะที่ภาพยนตร์ของผู้สร้างรายอื่น ๆ ล้วนไม่ได้บันทึกเสียงในฟิล์ม แต่ใช้นักพากย์มาพากย์สดขณะฉาย
โรงถ่ายไทยฟิล์มเริ่มผลิตภาพยนตร์เสียงออกฉายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 โดยมีผลงานมากถึง 3 เรื่องในปีแรก ได้แก่ ถ่านไฟเก่า แม่สื่อสาว และ วันเพ็ญ ก่อนจะเงียบหายไปเกือบ 1 ปี และกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นปี พ.ศ. 2483 (นับแบบปีปฏิทินปัจจุบัน) ด้วยเรื่อง ปิดทองหลังพระ และ ลูกทุ่ง แต่หลังจากนั้น บริษัทภาพยนตร์ไทยได้หมดทุนและจำต้องหยุดกิจการลง อย่างไรก็ตาม โรงถ่ายไทยฟิล์มยังมีบทบาทสำคัญต่อเนื่อง เมื่อ ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ใช้โรงถ่ายที่ว่างอยู่และบุคลากรของไทยฟิล์มสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ออกฉายใน พ.ศ. 2484 ต่อมา รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ซื้อกิจการโรงถ่าย ให้กองทัพอากาศดำเนินการภายใต้ชื่อ “กองภาพยนตร์ทหารอากาศ” ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อให้รัฐบาล และได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา ออกฉายในปี พ.ศ. 2485 ช่วงที่ประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามโลก ครั้งที่ 2 จากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุไฟไหม้อาคารแล็บล้างฟิล์มและที่เก็บฟิล์มของโรงถ่าย จนต้องยุติการดำเนินงาน ส่งผลให้ฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์ของไทยฟิล์มและกองภาพยนตร์ทหารอากาศสูญเสียไปหมดสิ้น
ปี พ.ศ. 2534 หอภาพยนตร์ได้ค้นพบฟิล์มสำเนาฉายของภาพยนตร์จากโรงถ่ายไทยฟิล์ม เรื่อง ปิดทองหลังพระ จำนวน 1 ม้วน ความยาวประมาณ 1,000 ฟุต ปะปนอยู่กับเศษฟิล์มอื่น ๆ ในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อตรวจสอบกับเรื่องย่อในสูจิบัตรของภาพยนตร์ พบว่าเป็นม้วนที่อยู่ในช่วงท้ายเรื่อง ประกอบด้วยสามฉาก ฉากแรกถ่ายนอกโรงถ่าย เป็นฉากสวนอาหารมะริดรมณีย์ ปรากฏให้เห็น ยม ผู้ร้ายของเรื่อง บังคับให้ มะริด เจ้าของสวนเรียกนางเอกคือ วัฒนา ซึ่งยมหมายปองอยู่ มาร้องเพลงบำเรอแก่เขา โดยมีวงดนตรีที่มี เอื้อ สุนทรสนาน เป็นนายวงบรรเลงจนจบเพลง ฉากนี้ตัดสลับกับฉากห้องพักนางบำเรอ ที่วัฒนาผู้มาทำงานใช้หนี้แทนชายคนรัก ใช้เป็นที่นั่งรอแขกเรียกอยู่กับเพื่อนนางบำเรอ และฉากสุดท้ายเป็นฉากในบ้าน ซึ่งมะริดกับ เถ้าแก่ฮั่วหยง คู่รักที่เพิ่งแต่งงานกัน ได้พบกับ อาจารย์สุก หมอดูและสามีเก่าของมะริด ที่จู่ ๆ ก็ปรากฏตัวขึ้น ทั้ง ๆ ที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเขาตายแล้ว โดยในบรรดานักแสดงตามบทบาทเหล่านี้ มีแค่ อบ บุญติด ผู้รับบท เถ้าแก่ฮั่วหยง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของแฟนภาพยนตร์ยุคหลัง เพราะมีผลงานยืนนานไปจนถึงยุคภาพยนตร์ 16 มม. ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2
เศษภาพยนตร์เรื่อง ปิดทองหลังพระ เป็นตัวอย่างผลงานประเภทภาพยนตร์เรื่องเพียงเรื่องเดียวของโรงถ่ายไทยฟิล์ม ในยุคบริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด ที่ยังหลงเหลืออยู่ เมื่อนำมาเทียบกับเศษภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา ซึ่งเป็นผลงานของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงที่เหลือรอดมาเพียงเรื่องเดียวเช่นกัน ได้ทำให้เห็นถึงลักษณะภาพยนตร์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของสองโรงถ่ายคู่แข่งสำคัญ รวมทั้งยังปรากฏให้เห็นฉากร้องเพลง ซึ่งเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของหนังเสียงไทยในยุคแรก และไม่อาจหาดูได้จากเศษภาพยนตร์ เลือดชาวนา
ความยาวเพียง 10 นาทีของภาพยนตร์เรื่อง ปิดทองหลังพระ ที่ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง จึงมีคุณค่าทั้งในแง่การเป็นบทบันทึกของโรงถ่ายภาพยนตร์ที่เคยยิ่งใหญ่ และเป็นซากดึกดำบรรพ์ชิ้นสำคัญ ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สามารถปะติดปะต่อภาพรวมในช่วงยุคทองของหนังเสียงไทย จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่แค่เศษเสี้ยว