ย้อนอดีต รางวัลตุ๊กตาทอง ปฐมบทแห่งการประกวดภาพยนตร์ในประเทศไทย

การประกวดรางวัลภาพยนตร์ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวงการภาพยนตร์มายาวนาน ทั้งเป็นเครื่องการันตีฝีมือและเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ที่สร้างงาน รวมไปถึงได้รับความสนใจอย่างยิ่งต่อบรรดาผู้ชมที่เฝ้าคอยตามลุ้นว่าในแต่ละปี  ภาพยนตร์เรื่องใดหรือนักแสดงคนใดจะได้รางวัลไปครอบครอง 


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

รางวัลตุ๊กตาทอง เกิดจากความคิดริเริ่มของสงบ สวนสิริ  เจ้าของนามปากกา “สันตสิริ” ผู้เป็นบรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์ชื่อ “ตุ๊กตาทอง” ซึ่งเป็นคำที่ในสมัยนั้นมักใช้เรียกรางวัลออสการ์ของฮอลลีวู้ด 


รางวัลตุ๊กตาทอง มีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 โดยแบ่งออกเป็น “รางวัลตุ๊กตาทอง”  สำหรับสาขาผู้แสดง และ “รางวัลสำเภาทอง” สำหรับสาขาผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์ในตำแหน่งต่าง ๆ  ก่อนเปลี่ยนเป็นรูปแบบรางวัลเป็น พระสุรัสวดี ซึ่งเป็นเทพีแห่งศิลปวิทยาการทั้งปวง ตั้งแต่การประกวด ครั้งที่ 2


รางวัลตุ๊กตาทองในยุคแรก จัดต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2508  ก่อนจะว่างเว้นไปอีกนานหลายปี ด้วยปัญหาเรื่องการเป็นเจ้าภาพ หลังจากนั้น สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ได้รื้อฟื้นการประกวดรางวัลตุ๊กตาทองขึ้นมาใหม่ในปี 2517 และจัดต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2561 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------




กล่าวเฉพาะในวงการภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้มีการมอบรางวัลการประกวดภาพยนตร์เกิดขึ้นมากมายจากหลากหลายสถาบัน แต่หากกล่าวถึงรางวัลที่เก่าแก่ที่สุดนั้น คือ “รางวัลตุ๊กตาทอง” 


รางวัลตุ๊กตาทอง เกิดจากความคิดริเริ่มของสงบ สวนสิริ  เจ้าของนามปากกา “สันตสิริ” ผู้เป็นบรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์ชื่อ “ตุ๊กตาทอง” ซึ่งเป็นคำที่ในสมัยนั้นมักใช้เรียกรางวัลออสการ์ของฮอลลีวู้ด โดยปี พ.ศ. 2496 สงบ สวนสิริ ได้แสดงเจตนารมณ์ผ่านข้อเขียนในนิตยสารตุ๊กตาทองว่าต้องการให้มีการประกวดภาพยนตร์ไทยขึ้นเพื่อ “ยกระดับของภาพยนตร์ไทยให้สูงขึ้นกว่าที่แล้ว ๆ มา” และ “ เพื่อส่งเสริมให้ภาพยนตร์ไทยเข้าสู่ระบบอันเหมาะสม” รวมทั้งยังจัดให้มีการประกวดแบบในการสร้างตัวรางวัลตุ๊กตาทอง ชิงเงินรางวัล 1,000 บาท


แต่สุดท้ายกว่าที่ความคิดนี้จะประสบความสำเร็จขึ้นเป็นรูปเป็นร่างได้ ก็ต้องรอนานถึง 4 ปี เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สนอง รัตนวิจัย แห่งหอการค้ากรุงเทพฯ ซึ่งได้จัดให้มีการประกวดภาพยนตร์ไทยครั้งแรกขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์แห่งการแสดงอุตสาหกรรม พานิชยกรรม และเกษตรกรรม ใน พ.ศ. 2500  อันเป็นงานประจำปีของหอการค้าฯ โดย สงบ สวนสิริ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานประกวดภาพยนตร์ และได้มีการจัดงานประกาศผลและมอบรางวัลอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. 2500 ณ เวทีลีลาศลุมพินีสถาน ในรูปแบบงานบอลรูมที่ชุมนุมดาราและบุคคลในวงการภาพยนตร์ รวมทั้งมีกิจกรรมมากมาย นับเป็นค่ำคืนแห่งประวัติศาสตร์ และเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการประกวดภาพยนตร์ในประเทศไทย 



รูปแบบของรางวัลในครั้งแรกนี้ แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ “รางวัลตุ๊กตาทอง” มีลักษณะเป็นรูปละครรำตัวพระและตัวนาง สำหรับสาขาผู้แสดง และ “รางวัลสำเภาทอง” เป็นสัญลักษณ์ของสมาคมหอการค้ารูปสำเภาทองอยู่บนเกลียวคลื่น สำหรับสาขาผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์ในตำแหน่งต่าง ๆ  ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาพยนตร์ไทยส่วนมากนั้นสร้างในระบบ 16 มม. ในการประกวดครั้งแรกจึงมีภาพยนตร์ 16 มม. ส่งเข้าประกวดถึง 48 เรื่อง ร่วมกับภาพยนตร์ระบบมาตรฐาน 35 มม. ที่มีส่งเข้ามาเพียง 4 เรื่อง การที่มีภาพยนตร์แบ่งเป็น 2 ระบบนี้ ทำให้รางวัลสำเภาทองในบางสาขา ได้แบ่งประเภทสำหรับภาพยนตร์ 16 มม. และ 35 มม. แยกออกจากกันต่างหาก  ในขณะเดียวกัน ก็มีทั้งภาพยนตร์เก่าและใหม่เข้าร่วมประกวดปะปนกัน เนื่องจากในปีแรกนี้ยังไม่มีการจำกัดปีของภาพยนตร์ 


สำหรับคณะกรรมการตัดสินนั้น ระบุว่ามีทั้งนักประพันธ์ นักวิจารณ์ นักเซ็นเซอร์ นักหนังสือพิมพ์ และผู้ที่ดูภาพยนตร์เป็นประจำ โดยรายชื่อประกอบไปด้วย พ.ท.จง แปลกบรรจง, พ.ต.ต.ปรีชา จงเจริญ, พ.ต.ต.ประสัตถ์ ปันยารชุน, แก้ว อัจฉริยกุล, ศักดิ์เกษม หุตาคม, ระบิล บุนนาค, ลมูล อติพยัคฆ์, กาญจนา ศยามานนท์ และ เถาวัลย์ มงคล ซึ่งผลการตัดสินรางวัลที่สำคัญ ๆ ในการประกวดภาพยนตร์ไทยครั้งแรกนี้ ปรากฏว่า ลือชัย นฤนาท ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ผู้แสดงนำยอดเยี่ยมฝ่ายชาย จากภาพยนตร์เรื่อง เล็บครุฑ (2500) วิไลวรรณ วัฒนพานิช ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ผู้แสดงนำยอดเยี่ยมฝ่ายหญิง จากภาพยนตร์เรื่อง สาวเครือฟ้า (2496) วสันต์ สุนทรปักษิณ ได้รับรางวัลสำเภาทอง การกำกับดีที่สุด จากภาพยนตร์เรื่อง ทางเปลี่ยว (2498) และภาพยนตร์เรื่อง เศรษฐีอนาถา (2500) ได้รับรางวัลพิเศษ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลสำเภาทองขนาดใหญ่พิเศษกว่าในสาขาอื่น ๆ 



แต่ผลการตัดสินเหล่านี้รวมไปถึงสาขาอื่น ๆ นั้น กลับรั่วไหลและถูกเปิดเผยผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารก่อนวันประกาศผล รวมทั้งรูปแบบการจัดงานและหลักเกณฑ์การตัดสินก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบปัญหานานัปการ ปีถัดมา พ.ศ. 2501 สงบ สวนสิริ ก็ยังได้รับคำเชิญชวนให้จัดงานประกวดรางวัลภาพยนตร์ไทยขึ้นอีกครั้ง จาก สนอง  รัตนวิจัย ซึ่งคราวนี้มาในนามของกรรมการอัสสัมชัญสมาคม โดยได้ร่วมจัดกับสมาคมโรงภาพยนตร์แห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย และได้มีการเปลี่ยนรูปแบบตัวรางวัลใหม่ ให้เหลือเพียงแบบเดียวเป็นรูปรางวัลพระสุรัสวดี ซึ่งเป็นเทพีแห่งศิลปวิทยาการทั้งปวง โดยการออกแบบของ จิตร บัวบุศย์ อาจาร์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่างในขณะนั้น แต่ชื่อการประกวดก็ยังคงนิยมเรียกว่าเป็นการประกวดรางวัลตุ๊กตาทองอยู่เช่นเดิม


นับจากนั้น การประกวดรางวัลตุ๊กตาทองก็ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีอุปสรรคสำคัญคือ ไม่มีองค์กรใดรับเป็นเจ้าภาพถาวร รวมทั้งไม่ได้รับการสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร  โดยการประกวดครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2502 นั้น มีสมาคมศิษย์เก่าอำนวยศิลป์ สมาคมโรงภาพยนตร์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรงภาพยนตร์ชั้นสองแห่งประเทศไทย รับเป็นเจ้าภาพ  การประกวดครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2503 สมาคมโรงภาพยนตร์แห่งประเทศไทย รับเป็นเจ้าภาพ ปีถัดมา พ.ศ. 2504 ไม่มีการประกวด เพราะไม่มีใครเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ก่อนที่คณะกรรมการจัดงานวันเมตตาจะเข้ามารับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ในการประกวดครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2505 โดยจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของงานวันเมตตา


ปี พ.ศ. 2506 หอการค้าไทยได้ก้าวเข้ามารับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประกวดรางวัลตุ๊กตาทอง และรับหน้าที่ต่อเนื่องไปอีก  2 ครั้งติดต่อกัน โดย 2 ครั้งสุดท้าย ประจำปี พ.ศ. 2507 และ พ.ศ. 2508 นั้น มีความยิ่งใหญ่และพิเศษว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน และพระราชทานรางวัลด้วยพระองค์เอง  ส่งผลให้รางวัลตุ๊กตาทองหรือรางวัลพระสุรัสวดีนี้ ได้ยกระดับสูงขึ้นเป็นรางวัลพระราชทาน


อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกวดประจำปี พ.ศ. 2508 งานประกวดรางวัลตุ๊กตาทองกลับต้องว่างเว้นไปอีกนานหลายปี ด้วยปัญหาเรื่องการเป็นเจ้าภาพเหมือนอย่างเช่นที่ผ่าน ๆ มา จนกระทั่ง ใน พ.ศ. 2516 สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ซึ่งมี สำเริง เนาวสัยศรี เป็นนายกสมาคม ได้รื้อฟื้นการประกวดรางวัลตุ๊กตาทองขึ้นมาใหม่ มีการออกแบบตัวรางวัลพระสุรัสวดีใหม่โดย ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ และมีคุณหญิงจินตนา ยศสุนทร เป็นประธานกรรมการตัดสิน โดยสมาคมฯ ได้จัดงานประกาศผลขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2517 และผู้ชนะเลิศในแต่ละสาขาจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 


การจัดงานครั้งนี้ เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในยุคที่สองของรางวัลตุ๊กตาทอง  ภายใต้การเป็นเจ้าภาพของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังจากนั้นได้ดำเนินการจัดงานต่อเนื่องมาอีกหลายปี จนถึงครั้งล่าสุด ในการประกวดรางวัลประจำปี พ.ศ. 2560 ที่ได้จัดพิธีประกาศรางวัลไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561 


____________________________________________________________________________

รางวัลการประกวดภาพยนตร์ไทยรางวัลอื่น ๆ 

รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ

รางวัลที่ริเริ่มโดยสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย เริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก เมื่อ พ.ศ. 2520  ต่อมาใน พ.ศ. 2522 สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยได้จัดงานประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำสำหรับภาพยนตร์ในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2531 เมื่อสมาคมฯ ได้ลดบทบาทลงไป

รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง

รางวัลของชมรมวิจารณ์บันเทิง ออกแบบเป็นรูปปิรามิดบนฐานกลมและสี่เหลี่ยม มีความหมายว่าเป็น ปลายปากกา เริ่มมีพิธีมอบรางวัลตั้งแต่ พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน

รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ

รางวัลการประกวดภาพยนตร์ที่จัดขึ้นโดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ภายหลังการลดบทบาทลงของสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ตัวรางวัลเป็นสัญลักษณ์ทางช้างเอกสู่ดวงดาว เริ่มจัดพิธีมอบรางวัลตั้งแต่ พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2542

รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์

รางวัลที่สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ นำรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำในอดีตกลับมาปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และนำมาใช้แทนที่รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติเดิม เริ่มจัดพิธีมอบรางวัลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 มาจนถึงปัจจุบัน


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

*หมายเหตุ ปรับปรุงเนื้อหามาจากบทความเรื่อง “60 ปี รางวัลตุ๊กตาทอง ปฐมบทแห่งการประกวดภาพยนตร์ในประเทศไทย” ในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 40 กรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2560


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด