ความจำเป็นของการดูหนังให้หลากหลายในสายตา กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน

การจัดฉายภาพยนตร์คลาสสิกหรือภาพยนตร์นอกกระแส และ เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันหลังชมภาพยนตร์ เป็นกิจกรรมที่หอภาพยนตร์ จัดขึ้นอยู่เป็นประจำ หนึ่งในนั้นคือรายการ ดูหนังคลาสสิกกับ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน หรือ “อาจารย์แดง” นักวิจารณ์ชั้นครู วัย 73 ปี ผู้บุกเบิกวงการ วิจารณ์ภาพยนตร์ของไทย และเป็นผู้แปลหนังสือ “หนังคลาสสิค” ที่ถือเป็นการ เปิดโลกภาพยนตร์ครั้งสำคัญให้แก่นักดูหนังในเมืองไทย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว 

 --------




โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู



หอภาพยนตร์ได้ชวนอาจารย์แดงมาบอกเล่าถึงประสบการณ์และทัศนคติว่าด้วย วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในเมืองไทย รวมทั้งตอบคำถามที่ว่าการดูหนังให้ หลากหลายยังคงจำเป็นอยู่ไหม ในยุคสมัยที่หนังคลาสสิกหรือหนังนอกกระแส ถูกจำกัดพื้นที่จากโรงภาพยนตร์ทั่วไปอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

จุดเริ่มต้นในการเป็นนักดูหนังของอาจารย์คืออะไร

 

ก็คงเริ่มเหมือนคนทั่วไป ที่ต่างกันก็คือตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ ผมอยู่โรงเรียนประจำที่วิทยาลัยบางแสน ชลบุรี ทางโรงเรียนเขาจะเช่าหนังต่างประเทศเป็นฟิล์ม 16 มม. ไปฉายให้ดูทุกคืนวันเสาร์ ดูกันทั้งโรงเรียน บางคนไม่ดูก็ไปทำอะไรของเขา ที่ดูจริง ๆ ก็ราว ๆ ร้อยกว่าคน

 

ตอนนั้นเขาไปเช่าที่ไหน

 

เขาจะมีศูนย์รวมบริษัทหนังฮอลลีวูดทุกบริษัทอยู่ที่ตึกอาคเนย์ วังบูรพา สมัยนั้นเขาจะสั่งหนังมา 2 ก๊อปปี้ เป็นฟิล์ม 35 มม. สำาหรับฉายตามโรงใหญ่ ในกรุงเทพฯ ซึ่งพวกนี้เขาก็จะพิมพ์คำบรรยายภาษาไทยลงไปในฟิล์มเลย กับอีกก๊อปปี้เป็นฟิล์ม 16 มม. จะส่งไปฉายต่างจังหวัด เป็นหนังพากย์ เพราะ ฉะนั้น ฟิล์ม 16 มม. พวกนี้จะไม่มีคำบรรยายภาษาไทย เราเลยต้องพยายาม ดูให้รู้เรื่องโดยสังเกตจากเทคนิคต่าง ๆ ทั้งภาพและเสียง ทำให้เรารู้ว่าศิลปะของหนังนั้นยังมีส่วนอื่น ๆ ที่สำคัญมากกว่าวัจนภาษา เราฟังภาษาที่เขาพูด ไม่รู้เรื่อง แต่เราเข้าใจจากภาษาของหนังได้

 

ใครเป็นคนเลือกหนังมาดู ครูหรือนักเรียน

 

จริง ๆ ครูไม่ได้เข้ามายุ่งเลยนะ พอเช้าวันเสาร์พวกเด็กนักเรียนจะเป็น คนเข้ากรุงเทพฯ มาเช่าหนัง ฉายตอนกลางคืน พอวันอาทิตย์ก็เอาหนังไปคืน โรงเรียนมีงบให้แต่ให้เด็กไปจัดการกันเอง ผมนี่เป็นคนเข้ามาเช่าหนังเองตั้งแต่อายุ 12  เขาจะมีลิสต์มาให้เลยว่า มีหนังเรื่องอะไรอยู่บ้าง เราก็ดูหนังมากอยู่แล้วใช่ไหม อันไหนดูแล้วชอบก็เลือกไป จำได้เรื่องแรกที่ผมเอาไปฉายก็คือเรื่องอัศวินโต๊ะกลม (Knights of the Round Table) แต่ส่วนมากหนังที่เอาไปฉายจะเป็นหนังแบบวัยรุ่น อย่างหนังเอลวิส เพรสลีย์ อะไรพวกนี้ บางทีมันก็มีหลายเรื่องที่ผมไม่เคยดู เลย แต่เคยได้ยินชื่อก็เอาไปดู

 

เริ่มเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ตอนไหน

 

ตอนปี 2511-2512 ผมก็เริ่มเขียนแล้ว ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 4 ที่ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ รู้สึกว่าผมไปสัมมนาแล้วก็เจอกับเสถียร จันทิมาธร ที่ตอนนั้น เขาเป็นคอลัมนิสต์ภาพยนตร์ชื่อดัง  ก็คุย ๆ กัน แล้วเสถียรก็บอกว่าถ้ามีอะไร เขียนก็เขียนมาให้เขาบ้างก็ได้

 

วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในเมืองไทยสมัยก่อนแตกต่างจากปัจจุบันอย่างไร

 

เอาเฉพาะการชมจากในโรงหนัง มีการคำนึงถึงความสะดวกสบายมาก ขึ้น เป็นความบันเทิงมากขึ้น ความสมบูรณ์ของภาพและเสียงมีมากขึ้น เลยทำให้คนส่วนใหญ่คิดถึงหนังเฉพาะความบันเทิง เป็นการพักผ่อนมากกว่าที่จะค้นหาสาระอะไรจากหนัง

 

อีกอย่างก็คือ เมื่อก่อนประมาณ 50 ปีที่แล้ว คนดูไม่มีการแบ่งนะดูได้หมดเลย หนังจีน หนังอินเดีย หนังฝร่ัง หนังไทย เขาดูกันหมด จนกระท่ัง มันมีอยู่ช่วงหนึ่ง ประมาณเมื่อ 40 ปีก่อน นักวิจารณ์รุ่นที่ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ในตอนนั้น ก็เกิดกระตือรือร้นสนใจหนังไทยขึ้นมา เกิดกระแสการวิจารณ์ หนังไทย จริง ๆ คือเขาคงตั้งใจดี ต้องการให้คนหันมาสนใจหนังไทย แต่มันเลยกลายเป็นการกดหนังไทยทำให้เกิดการแบ่งกันระหว่างคนดูหนังไทยและคนดูหนังฝรั่งซึ่งก่อนหน้านั้นมันไม่มี



 



หมายถึงโรงหนังก็ฉายหนังหลากหลาย ไม่ได้มีแต่หนังฮอลลีวูดเป็นหลักเหมือนทุกวันนี้ใช่ไหม

 

ใช่ อย่างหนังของฟร็องซัว ทรูว์โฟ หนังของเฟลลีนีก็เข้ามาฉายหมดเลย  คือหนังที่จะเข้ามาฉายมีสองอย่าง หนึ่งคือมีบริษัทฮอลลีวูดที่มีตัวแทนอยู่ ในเมืองไทย เขาก็ส่งหนังมาจากอเมริกา สองก็คือพวกบริษัทจำหน่ายหนัง พวกนี้เขาก็จะซื้อพวกหนังยุโรปมาฉาย หรือว่าหนังอินดี้ หนังนอกกระแสของ อเมริกา เพราะฉะนั้นคนดูหนังตอนนั้นก็เลยหลากหลาย ทีนี้พอมามีการตั้งกำแพงภาษี* ขึ้นมาปั๊บ หนังฮอลลีวูดหายไป พวกนี้ก็ทะลักเลย จนพอหนัง ฮอลลีวูดเลิกแอนตี้ ช่วงที่กลับเข้ามาทีแรกนี่ คนตื่นเต้นมาก คนหันไปดูหนัง ฮอลลีวูดกันหมดเลย พวกบริษัทที่ซื้อหนังอื่น ๆ เข้ามาก็ต้องเลิกไป  หนังชาติ ต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ หายไป

 

แล้วทำไมถึงแปลหนังสือ “หนังคลาสสิค” ออกมาเมื่อปี 2529

 

คือผมได้หนังสือ The Great Movies ของวิลเลียม ไบเออร์มา ก็สนใจ มันพูดถึงหนังหลากหลายมาก ๆ เลย หนังยุโรป หนังอะไรต่อมิอะไรพวกนี้ ผมก็รู้สึกว่าควรจะได้ดูกัน ก็เลยแปลมา ตอนนั้นหนังพวกนี้เป็นที่รู้จักไม่มาก บางเรื่องเคยดู ผมก็จะเรียบเรียงใส่มุมมองของตัวเองเข้าไปด้วย ตอนแรกผม ลงในสตาร์พิคส์ก่อน แล้วค่อยรวมเล่ม มันก็ทำให้เป็นกระแสขึ้นมา เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ที่ผมอยากทำที่สุดเลยคือเอาหนังสือเล่มนี้มาเขียนใหม่ เพราะว่าตอนเขียนมันมีเกือบครึ่งเลยที่ผมไม่ได้ดู แต่ตอนนี้ได้ดูหมดแล้ว

 

คิดว่าหนังคลาสสิกหรือหนังนอกกระแสเหล่านี้ยังจำเป็นกับผู้คนในปัจจุบันอยู่ไหม

 

ผมว่าจำเป็นนะ คือโลกมันกว้างน่ะ เราควรจะได้เห็นอะไรให้มัน ทันโลกหน่อย และไม่ใช่เฉพาะคนดู คนทำหนังนี่ ก็จำเป็นมาก ๆ ยกตัวอย่าง หนังเกาหลี เราจะเห็นชัดว่าหนังเกาหลีนี่มีความหลากหลายมากเลยนะ คือ เราหาเอกลักษณ์ของหนังเกาหลีจริง ๆ ไม่ได้ด้วยซำ้า เพราะมันมีทุกอย่างเลย มันมีหนังแบบหนังฮ่องกง หนังจีนก็มี หนังตลาดแบบอเมริกาก็มี หนังแบบญี่ปุ่น หนังแบบฝรั่งเศส มีหมดเลย เกาหลีทำได้หมดเลย ซึ่งมันทำให้เห็นว่า คนทำหนังของเขาดูหนังหลากหลายมาก หนังของเขามันก็เลยได้ทุกตลาด เข้าหาคนดูได้ทุกกลุ่มเลย

 

เพราะฉะนั้น การที่ทำให้คนได้รู้จักดูหนังหลากหลายก็ส่งผลไปถึงคนทำหนัง ให้มีโอกาสทำหนังหลากหลาย มากขึ้นด้วยใช่ไหม

 

ใช่  ผมว่าคนดูนั้นเป็นปัจจัยสำคัญของหนังเลย คือถ้าเกิดเป็นละคร เขาจะบอกเลยว่า องค์ประกอบสำคัญมี 3 อย่าง หนึ่งคือมีบท สองคือการแสดง สามมีคนดู ซึ่งหนังมันก็เหมือนกัน เวลาผมเลือกหนังมาฉายในรายการของผมที่หอภาพยนตร์ ผมก็เลือกโดยที่อยากให้คนดูได้ดูหนังที่มีความแปลกแตกต่างไปจากที่ได้ดูในโรงทั่วไป ประเด็นสำคัญคืออยากให้คนดูนึกถึงหนังมากกว่าความบันเทิง ชลิดา (ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำานวยการหอภาพยนตร์) เคยพูดไว้ว่า “จะหนังอาร์ตหนังตลาด เราก็ฉลาดดูได้

 

กิจกรรมที่มีวิทยากรมาคุยหลังหนังจบแบบนี้ ในเมืองไทย เริ่มมีเมื่อไหร่

 

ก็ประมาณปี 2511  นะ เท่าที่ผมรู้ เป็น  Film Society ของพระองค์เปรมฯ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร) ที่ผมเคยเขียนลงใน จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ อีกที่ก็ที่สมาคมฝรั่งเศส แต่ว่าจะเป็นโปรแกรมพิเศษนะ อย่างเช่น เขาเคยเอาหนังอิงมาร์ เบิร์กแมนมาฉาย  แล้วเชิญวีก็อต ซีแมน ผู้กำกับสวีเดนที่ทำเรื่อง  I’m Curious มาคุย แล้วก็มีท่านมุ้ยด้วย จริง ๆ เป็นสถานทูตสวีเดนจัด แต่เขาไปจัดที่สมาคมฝรั่งเศส  แต่ที่มาเป็นเรื่อง เป็นราวจริง ๆ ก็เป็นที่คุณโดม (โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์) มาทำที่หอภาพยนตร์ตอนที่อยู่ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า หลังจากนั้นพวกมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็เริ่มทำบ้าง อย่างธรรมศาสตร์ ศิลปากร คือฉายหนังก่อนแล้วก็พูดคุยกันหลัง หนังจบ



 




กิจกรรมแบบนี้ยังจำเป็นอยู่ไหม  ในยุคที่มีหนังออนไลน์ มากมายให้ดูที่บ้าน

ดีกว่าดูคนเดียวแน่ ๆ เพราะจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น ๆ ผมเองก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้เหมือนกัน และอย่างที่บอก ถ้าคนดูเข้าใจหนังมากกว่าความบันเทิงกันมากขึ้น คนทำเขาก็จะทำหนังอย่างหลากหลายมากขึ้น

 

เมื่อครั้งที่หอภาพยนตร์เชิญไปฉายหนังและพูดคุยกับผู้ชม ในกิจกรรมภาพยนตร์สถาน ที่เชียงใหม่และสงขลา เป็นอย่างไรบ้าง

 

คนดูของทั้งสองที่มีความพร้อมที่จะดู ที่จะร่วมเสวนา เชียงใหม่จะ มีนักศึกษามากกว่า ที่สงขลาจะมีหลากหลายเจอทั้งเณรจากโรงเรียน พระปริยัติธรรม และเด็กอายุไม่ถึงสิบขวบ ทั้งสองที่เปิดรับหนังมาก ๆ ดูกัน ได้สนุกทุกรูปแบบ

 

นอกจากกิจกรรมดูหนังคลาสสิกฯ อาจารย์ยังเคยมาสังเกตการณ์ในกิจกรรมโรงหนังโรงเรียน รวมทั้งร่วม พูดคุยกับเด็ก ๆ ในวันที่ฉายเรื่องอยากทราบความเห็นที่มีต่อกิจกรรมนี้

 

เด็ก ๆ มีมุมมองบางอย่างที่เราคิดไม่ถึง อย่างหมาภาคอีสานทำไมถึงฟัง ภาษากลางรู้เรื่อง ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับ)  เลยดูหนังของเขาได้โดยไม่มีมายาคติ ดูหนังเจ้ยแบบเดียวกับดูแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับกลุ่มเด็กเล็กชั้นประถมฯ ยิ่งสนุก เวลาวิทยากรถามอะไรขึ้นมา ก็ยกมือแย่ง กันตอบ ไม่กล้วที่จะแสดงความคิดออกมา

 

คิดว่าหอภาพยนตร์ในปัจจุบัน ควรต้องพัฒนาอะไรอีก ใน การทำหน้าที่เป็น  Cinematheque  หรือภาพยนตร์สถาน

 

จริง ๆ ก็คือทำได้ดีมาก ๆ อยู่แล้ว แต่แรงจูงใจที่จะให้คนมาดูยังไม่พอ คนส่วนใหญ่ยังคิดว่าอยู่ไกลไป ถ้ามีโปรแกรมพิเศษ ไปชักชวนเขาให้ถึงที่ ก่อน น่าจะช่วยได้บ้าง เช่นชวนเด็กนาฏศิลป์มาดูนิ้วเพชร เด็กดุริยางคศิลป์ มาดูช้าง คือให้เขารู้สึกว่าน่ีคือหนังของเขา ที่เขาควรจะได้ดู แล้วค่อยเอาอย่าง อื่นมาให้เขาดูต่อไป

 

*การขึ้นภาษีนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ของรัฐบาลไทย จากเมตรละ 2.20 บาท เป็น 30 บาท ในปี พ.ศ. 2520 ส่งผลให้บริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายหนังจากฮอลลีวูดประท้วง โดยการงดส่งหนังเข้ามาฉายในประเทศไทย





หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด