หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาเพลงไทยสากล-ขับร้อง ประจำปี 2533 ผู้เคยมาประทับรอยมือรอยเท้า เป็นดาวดวงที่ 4 ณ ลานดารา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551
ประวัติสุเทพ วงศ์กำแหง ในวงการภาพยนตร์
สุเทพ วงศ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดนครราชสีมา หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม ก็เข้ากรุงเทพมหานคร มาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง จนจบ แต่ก็ไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนมาเพราะสนใจในการร้องเพลง สุเทพเริ่มเป็นนักร้องเมื่ออายุ 19 ปีและเคยเป็นนักร้องประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ
สุเทพ เริ่มเข้าวงการบันเทิงด้วยการแสดงละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ควบคู่กัน เช่นเรื่อง บัวบานในแผ่นดินแดง (2500 สุเทพ-สุพรรณ) ก่อนอรุณจะรุ่ง (2500 ชนะ-ประภาพรรณ) แต่ชีวิตทางการแสดงก็ยังไม่ค่อยจะรุ่งโรจน์ต่างกับการเป็นนักร้อง สุเทพเริ่มต้นจะจริงจังกับการเป็นพระเอกภาพยนตร์เมื่อได้แสดงภาพยนตร์ 35 ม.ม. เสียงในฟิล์ม เรื่อง สวรรค์มืด ซึ่งก่อนหน้านั้น สุเทพก็เคยแสดงสวรรค์มืดเป็นละครสั้นประกอบเพลงทางโทรทัศน์ช่อง 4 คู่กับ สวลี ผกาพันธ์ มาก่อนแล้ว ซึ่ง เทวมิตร กุญชร ณ อยุธยา ผู้จัดการบริษัทไบเล่ย์ พอใจมากถึงขนาดตั้งบริษัทคันจราภาพยนตร์ขึ้นมาเพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะและยังคงให้สุเทพรับบทพระเอกเช่นเดิม แต่นางเอกเปลี่ยนมาเป็น สืบเนื่อง กันภัย นางสาวถิ่นไทยงามปี 2499 แทน
สวรรค์มืด ถ่ายทำที่โรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ของ รัตน์ เปสตันยี ในซอยวิทยุ โดยนอกจากสุเทพจะแสดงเป็นพนักงานเก็บขยะเทศบาลผู้มีรักแท้แล้ว ยังได้แสดงออกถึงความสามารถในการร้องเพลงประกอบภาพยนตร์อีกหลายเพลง เข้าฉายเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2501 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง-เฉลิมบุรี จากนั้นสุเทพก็แสดงเรื่อง ขบวนเสรีจีน ของคันจราภาพยนตร์คู่กับมิสคูมี่ เข้าฉายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2502 ที่โรงภาพยนตร์คาเธ่ย์ แต่ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง ก็ทำให้สุเทพผิดหวังในชีวิตการเป็นพระเอกภาพยนตร์เพราะเสียงตอบรับจากผู้ชมในยุคนั้นน้อยเกินไป สุเทพจึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อวิชาศิลปะที่กรุงโตเกียวอีกประมาณ 3 ปี
เมื่อสุเทพกลับจากกรุงโตเกียว ก็เป็นเวลาเดียวกับที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 สี กำลังสนับสนุนรายการละครโทรทัศน์ สุเทพจึงเข้ามาเป็นพระเอกละครโทรทัศน์อยู่เกือบปี โดยได้แสดงคู่กับดาราดัง เช่น วิไลวรรณ วัฒนพานิช ในเรื่อง อาลัยโตเกียว และสุเทพยังได้ร้องเพลงให้กับวงดนตรีสื่อสารสังคีต ของ นริศ ทรัพย์ประภา ซึ่งแสดงเป็นประจำทางสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้สุเทพจะหันไปเอาดีทางการร้องเพลงไทยสากลแล้ว แต่ก็ยังไม่ทิ้งงานภาพยนตร์ ยังคงปรากฏตัวแสดงภาพยนตร์และร้องเพลงในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น เงารัก (2508 สมบัติ-พิศมัย) เงิน เงิน เงิน (2508 มิตร-เพชรา) พิการรัก (สุเทพ-ชนะ-มณทิชา) สาวขบเผาะ (2515 ไพโรจน์-ผึ้ง) นอกจากนี้ สุเทพก็ยังเคยสร้างภาพยนตร์สะท้อนชีวิตศิลปินที่ตกอับในเรื่อง วิมานดารา นำแสดงโดย สมบัติ-ทัศน์วรรณ มี ชุติมา สุวรรณรัตน์ เป็นผู้กำกับการแสดง เข้าฉายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2517 ที่โรงภาพยนตร์เพชรรามา
สุเทพ เคยได้รับฉายาจาก รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่าเป็น “นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์” เป็นนักร้องชายคนแรกที่ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอาชีพนักร้อง มีผลงานเพลงเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องยาวนาน ทั้งยังได้รับเกียรติคุณต่าง ๆ มากมาย เช่น เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาเพลงไทยสากล-ขับร้อง ประจำปี 2533
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 สุเทพ ได้เดินทางมาประทับรอยมือรอยเท้า เป็นดาวดวงที่ 4 ณ ลานดารา หอภาพยนตร์
ข้อมูลจากหนังสือ ๑๐๐ ดาวบนลานดารา เขียนโดย มนัส กิ่งจันทร์