THE SHINING โรงแรมนรก

มองย้อนกลับไป The Shining ภาพยนตร์ของสแตนลีย์ คูบริก จากนิยายของสตีเฟน คิง ถูกสร้างและออกฉายก่อนเวลาอันควร เพราะคนดูและโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจารณ์หนังในปี ค.ศ. 1980 ดูเหมือนจะยังไม่พร้อมสำหรับผลงานสยองขวัญเรื่องนี้ และลงเอยด้วยความคิดเห็นที่มุ่งไปในทิศทางคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ‘น่าผิดหวังอย่างรุนแรง’ ‘หนังที่สามารถถูกลืมได้ในเวลาอันรวดเร็ว’ ‘หนังน่างุนงงและสับสน’ ‘เรื่องอืดอาดยืดยาดและขัดขวางความน่าตื่นเต้น’ นี่ยังเป็นหนังเรื่องเดียวในเก้าเรื่องหลังสุดของคูบริกที่ไม่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาใดเลย


ทว่าก็อย่างที่หน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์บันทึกไว้ หลายปีผ่านไปหนังเรื่องนี้ถูกนำมาตรวจสอบอีกครั้ง ผู้ชมและรวมถึงนักวิจารณ์หนังรุ่นถัดมากลับมองเห็น The Shining ด้วยสายตาที่แตกต่างออกไปอย่างพร้อมเพรียง แง่มุมที่เคยถูกประเมินว่าเป็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง อันได้แก่จังหวะการเล่าเรื่องที่เนิบนาบเชื่องช้า ไม่มีโมเมนต์ของการเขย่าขวัญอย่างจริง ๆ จัง ๆ กลับกลายเป็นจุดแข็งของหนังโดยปริยาย เพราะหนังไม่ได้โจมตีผู้ชมด้วยภาพและเสียงอย่างโครมครามและตื้นเขิน ผู้ชมจะไม่ได้เห็นสิ่งแปลกปลอมกระโจนออกมาจากมุมมืด หรือการทำลายความเงียบเชียบด้วยสุ้มเสียงของอะไรก็ตามอย่างไร้เหตุผล The Shining เป็นหนังสยองขวัญประเภทที่เล่นกับบรรยากาศที่หลอกหลอน ขมุกขมัวอึมครึม และสั่งสมความน่าตื่นเต้นและลุ้นระทึกจากการยั่วยุให้ผู้ชมเฝ้าคอยบางสิ่งที่ดูเหมือนจะเดินทางมาไม่ถึงสักที




เนื้อเรื่องของ The Shining จะว่าไปก็ไม่ซับซ้อน แจ็ก ทอร์เรนซ์ (แจ็ก นิโคลสัน) เป็นหนุ่มใหญ่ที่รับงานเป็นผู้ดูแลโรงแรมตากอากาศชื่อ The Overlook ในระหว่างที่โรงแรมปิดทำการช่วงฤดูหนาวยาวนานถึงห้าเดือน ในโรงแรมอันโอ่โถงและเก่าแก่แห่งนี้จะมีเพียงเขา เวนดี (เชลลี ดูวัลล์) ภรรยา และแดนนี (แดนนี ลอยด์) ลูกชายตัวน้อยใช้ชีวิตโดยลำพัง พวกเขาถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิงเนื่องจากอีกไม่นานนัก ระบบสื่อสารและคมนาคมจะใช้การไม่ได้


ส่วนที่น่าทึ่งได้แก่การที่หนังของคูบริกไม่ได้อ้าแขนต้อนรับความเป็นหนัง ‘คฤหาสน์ผีสิง’ ตามกรอบเนื้อหาของนิยายต้นฉบับของสตีเฟน คิงอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หรือพูดง่าย ๆ นิยายของคิงแทบจะไม่ปิดบังว่ากำลังเล่าเรื่องภูตผีที่สิงสถิตอยู่ในโรงแรม และมันค่อย ๆ เล่นงานตัวละครอย่างหนักหน่วงและบ้าคลั่งมากขึ้น แต่หนังของคูบริกให้ทางเลือกกับผู้ชมมากกว่านั้น เราสามารถจะมองว่า The Shining เป็นหนัง Psychological Horror ซึ่งหมายความว่าทั้งหมดทั้งมวลที่หนังบอกเล่าล้วนแล้วเป็นเรื่องการดำดิ่งสู่ความวิกลจริตของตัวละคร และไม่ใช่เพียงแค่ตัวเอกของเรื่องเพียงคนเดียว แต่รวมถึงเมียและลูกของเขาด้วย อีกทั้งภาวะปรวนแปรและบิดเบี้ยวก็มีคำตอบในเชิงจิตวิทยา หรือสมมติจะมองว่าเป็น ‘หนังผี’ ผู้ชมก็จะไม่ได้เห็นการสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของเหล่าผีสางในโรงแรมจริง ๆ จัง ๆ เรื่องผิดปกติและ ‘อำนาจเหนือธรรมชาติ’ ถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตที่รัดกุมที่สุด และดูเหมือนหนึ่งในบทบาทหน้าที่ของการเป็นหนังผีได้แก่การที่มันถูกใช้เพื่อปลดล็อกเนื้อหาในส่วนที่เหตุผลในทางวิทยาศาสตร์เดินทางไปไม่ถึงนั่นเอง

40 ปีผ่านไป The Shining ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สยองขวัญที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งตลอดกาล แฟน ๆ ของหนังเปลี่ยนผ่านสู่คนอีกรุ่น แต่การเพียรพยายามแกะรอยความหมายของสิ่งลึกลับต่าง ๆ ในหนัง–ทั้งตำแหน่งที่ตั้งของโรงแรม The Overlook ทั้งภาพปริศนาในชอตสุดท้าย หรือความหมายของห้องผีสิงหมายเลข 237 ยังคงเข้มข้นไม่เสื่อมคลาย มีหนังสารคดีเรื่อง Room 237 ที่มุ่งมั่นตีความสัญลักษณ์ต่าง ๆ ใน The Shining และยังมีหนังภาคต่อ Doctor Sleep ออกฉายเมื่อปีที่แล้ว เป็นเรื่องราวของแดนนี ลูกชายของแจ็ก ที่โตเป็นผู้ใหญ่แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับบาดแผลทางจิตใจที่เกิดขึ้นตอนยังเด็ก 


ยังไม่นับรวมถึงการที่ The Shining ถูกพาดพิงและอ้างอิงในกระแสวัฒนธรรมป็อปอย่างต่อเนื่อง เช่นใน Ready Player One  หนังปี ค.ศ. 2018 ของสตีเวน สปีลเบิร์ก ที่เหล่าตัวเอกของเรื่องหลุดเข้าไปผจญภัยในโลกของหนังเรื่อง The Shining


ทั้งหลายทั้งปวง มันตอกย้ำว่าหนังเรื่องนี้ของคูบริกทำงานหรือก่อกวนทั้งกับความรู้สึกและความนึกคิดของผู้ชมอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดหย่อน และนั่นเป็นเรื่องน่าใจหายเมื่อย้อนกลับไปนึกว่าในตอนที่หนังออกฉายครั้งแรก ผู้สันทัดกรณีกว่าครึ่งค่อนพากันมองไม่เห็นคุณงามความดีของมัน และหากเราจะถอดบทเรียนจากสิ่งที่อาจเรียกว่า ‘อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น’ สองสามเรื่องที่ชวนให้สรุปได้ก็คือ ผู้ชมไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายถูกต้องเสมอไป และผู้สันทัดกรณีอย่างนักวิจารณ์หนังก็อาจผิดพลาด ตื้นเขิน หรือ ‘ตาไม่ถึง’ เหนืออื่นใด การดำรงอยู่หรือการล้มหายตายจากไปของหนังเรื่องหนึ่ง ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของนักดูหนังทุกคน


โดย ประวิทย์ แต่งอักษร


วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2563 นี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ขอเชิญท่านรับชม The Shining ในกิจกรรมทึ่ง! หนังโลก ที่โรงภาพยนตร์สกาลา เวลา 12.00 น. บัตรราคา 140 และ 160 บาท  เปิดจำหน่ายบัตรแล้วที่จุดจำหน่ายบัตรโรงภาพยนตร์สกาลา


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด