หากมีตำราเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยอย่างจริงจัง ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการบรรจุไว้ให้ได้รู้จัก คือ เศรษฐีอนาถา หนัง 16 มม. พากย์สด ปี 2499 ผลงานการกำกับของ วสันต์ สุนทรปักษิน ซึ่งเป็นหลักหมายสำคัญในฐานะภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานประกวดภาพยนตร์ไทยรางวัลตุ๊กตาทองและสำเภาทองครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2500 อันเป็นการประกวดภาพยนตร์ระดับชาติครั้งแรกของประเทศไทย โดยสามารถเอาชนะหนังไทยเรื่องสำคัญที่เข้าประกวดในปีนั้นทั้ง สาวเครือฟ้า, เล็บครุฑ, ชั่วฟ้าดินสลาย ฯลฯ
แต่นอกเหนือจากการเข้าเส้นชัยเป็นภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมเรื่องแรกอย่างเป็นทางการ เศรษฐีอนาถา ยังเต็มไปด้วยบริบทที่น่าสนใจอีกหลายประการ และนี่คือส่วนหนึ่งที่หอภาพยนตร์รวบรวมมาให้อ่านก่อนรับชมภาพยนตร์ฉบับเต็มที่เผยแพร่ในช่องยูทูบ FilmArchiveThailand
1. ดัดแปลงจากนิยายสะท้อนชนชั้นของ สันต์ เทวรักษ์
สันต์ เทวรักษ์ เป็นนักประพันธ์คนสำคัญของวงการวรรณกรรมไทยร่วมรุ่นกับ มาลัย ชูพินิจ, กุหลาบ สายประดิษฐ์ และยาขอบ เขามีผลงานนวนิยายราว 40 เรื่อง เรื่องสั้นอีกประมาณ 500 เรื่อง จุดเด่นของงานเขียนของสันต์คือ พล็อตเรื่องที่โดดเด่น ดังที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ กล่าวไว้ว่า “สันต์ เทวรักษ์ เป็นนักเขียนที่เขียนเรื่องได้สนุก เขามีกลวิธีในการวางโครงเรื่องและการดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านสนใจติดตามเรื่องไปตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อเรื่องจบแล้วผู้อ่านก็ยังต้องการทราบต่อไปอีกว่าตัวละครที่เขาสร้างขึ้นนั้นจะดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร”
“เศรษฐีอนาถา” เป็นตัวอย่างที่ดีของคำกล่าวข้างต้น สันต์ เทวรักษ์ เขียนนิยายเรื่องนี้ออกตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยวางโครงเรื่องให้ตัวละคร ประพนธ์ ธนพิทักษ์ มหาเศรษฐีหนุ่มผู้กำลังเป็นทุกข์จากการถูก กันทิมา ช่างตัดเสื้อผู้ยากจนไม่รับรักเพียงเพราะเขาเป็นเศรษฐี ได้พบกับ นายจอน บางคอแหลม พนักงานบำรุงรักษารถไฟวัยชราขี้เมา ผู้เชื่อว่าการเป็นเศรษฐีย่อมมีความสุข ประพนธ์จึงตัดสินใจให้เงินนายจอนสิบล้านบาท เพื่อให้ได้ลิ้มรสการเป็นเศรษฐีด้วยตนเอง โดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้ให้หมดภายในหนึ่งปี แต่เขาไม่รู้ว่า แท้จริงแล้วนายจอนนั้นคือพ่อของกันทิมา หญิงสาวที่ตนหมายปอง
แม้ สันต์ เทวรักษ์ จะเคยกล่าวว่า เขาเขียนเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อสร้างความเริงรมย์แก่ผู้อ่านเท่านั้น แต่งานประพันธ์ของเขามักสอดแทรกความคิดเห็นด้านสังคม รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในยุคสมัยเอาไว้เสมอ ภายใต้เนื้อหาแนวพาฝัน “เศรษฐีอนาถา” จึงเป็นทั้งนิยายที่บันทึกมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อความสุขทางใจและทางกายของชีวิต รวมถึงสะท้อนค่านิยมในการมองเพื่อนร่วมสังคมที่อยู่ต่างชนชั้นกันของชาวกรุงเทพฯ ในยุคกึ่งพุทธกาล
ภายหลังที่นิยาย “เศรษฐีอนาถา” ได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2499 และได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีถัดมา สันต์ได้นำตัวละคร จอน บางคอแหลม มาเขียนนิยายเรื่อง สวัสดีลุงจอน ซึ่งพลิกพล็อตเรื่องออกไปเป็นแนวไซไฟ นอกจากนี้ ผลงานของเขายังเคยได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น แม่ยอดสร้อย (2505) แก้วสารพัดนึก (2514) ฯลฯ
2. ผลงานการสร้างภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวของ สุริยน ไรวา
ภาพ : จำนงค์ ไรวา (ชุดสีเข้ม) ภรรยาของสุริยน ไรวา ขณะรับรางวัลสำเภาทอง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ของเรื่อง เศรษฐีอนาถา
ในบรรดานักธุรกิจคนสำคัญของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สุริยน ไรวา ถือเป็นตำนานระดับแถวหน้า อย่างชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น “ไทคูน” คนแรกของประเทศหลังสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ชีวิตของเขาโชกโชนตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นนายตำรวจ ก่อนจะไปจับธุรกิจค้าขาย พลิกผันไปเป็นนักการเมือง จากนั้นจึงตั้งบริษัทส่งออกสินค้าหลายชนิดไปต่างประเทศ เป็นเจ้าของกิจการประกันภัย ประกันชีวิต รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารซึ่งมีเส้นสายโยงใยกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
นอกจากแวดวงธุรกิจ สุริยนยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการภาพยนตร์ เมื่อบ้านหลังงามบนเนินเขาที่ศรีราชาใกล้ ๆ กับโรงงานแป้งมันของเขา เป็นสถานที่ที่กองถ่ายหนังไทยยุค ๑๖ มม. เคยเข้ามาใช้ถ่ายทำนับร้อยเรื่อง แต่นอกจากเอื้อเฟื้อสถานที่ เขากลับต้องสวมบทบาทเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ด้วยตนเอง ใน เศรษฐีอนาถา เมื่อผู้สร้างตัวจริงในตอนแรกซึ่งขาดแคลนทุน ได้มาขอการสนับสนุนจากเขา ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเดียวที่สร้างขึ้นในนามบริษัท เอส.อาร์. ฟิล์ม (เอส.อาร์ เป็นตราสัญลักษณ์ธุรกิจต่าง ๆ ของสุริยน อันมาจากตัวย่อของชื่อและนามสกุล ในภาษาอังกฤษ) โดยมีชื่อ จำนงค์ ไรวา ภรรยาของเขาเป็นผู้อำนวยการสร้าง
แม้จะมีผลงานออกมาเรื่องเดียว แต่ เศรษฐีอนาถา ก็ถือเป็นหนึ่งในงานที่สร้างชื่อเสียงให้สุริยน แม้ภาพยนตร์จะได้รับรางวัลในปีเดียวกันกับที่เส้นกราฟทางธุรกิจอันเคยรุ่งโรจน์ของเขาจะค่อย ๆ ลดระดับลงจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2500 ก็ตาม
3. นักแสดงนำเป็นช่างไฟประจำโรงหนังศาลาเฉลิมไทย
ภาพ : เจิม ปั้นอำไพ (กลาง) ขณะถ่ายทำเรื่อง เศรษฐีอนาถา
วสันต์ สุนทรปักษิน ผู้กำกับ เศรษฐีอนาถา มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่เป็นพระเอกละครเวทีในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 และเป็นคนวงการละครคนแรก ๆ ที่ก้าวสู่วงการภาพยนตร์หลังสงคราม ทั้งในงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง กล่าวเฉพาะบทบาทผู้กำกับนั้น ว่ากันว่าเขาเป็นคนที่ซีเรียสและเคร่งครัดจริงจังมากที่สุดคนหนึ่งของยุค โดยเฉพาะเรื่องการคัดเลือกนักแสดง เขามีปณิธานแน่วแน่ว่าจะไม่เลือกเพียงเพราะเป็นดาราที่มีชื่อเสียงยอดนิยม แต่จะต้องหาคนที่เหมาะกับบทบาทตามจินตนภาพที่เขากำหนดไว้เท่านั้น
การ “แคสติ้ง” ที่พิสูจน์ให้เห็นถึง “ลูกบ้า” ของวสันต์และกลายเป็นตำนานลือลั่นที่สุดเรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการหนังไทย นั่นคือการที่เขาเลือกมอบบทเด่นของเรื่อง “เศรษฐีอนาถา” คือบทนายจอน บางคอแหลม ให้แก่ เจิม ปั้นอำไพ ช่างไฟของโรงหนังศาลาเฉลิมไทยที่ไม่เคยเป็นนักแสดงมาก่อนเลยในชีวิต ด้วยเห็นว่าเขามีบุคลิกที่ตรงกับตัวละครมากที่สุด เขาเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“เรื่อง เศรษฐีอนาถา ทำไมผมถึงต้องไปหานายเจิม ปั้นอำไพ เพราะว่าบุคลิกแกนั้น ทุกคนเมื่อดูภาพยนตร์แล้วก็ต้องยอมรับว่า คน ๆ นี้เหมาะกับคาแรกเตอร์ ที่คุณสันต์ เทวรักษ์ แกวาดไว้ในภาพของแกมาจริง ๆ
“มีคนหลายคนวิจารณ์กันว่า ทำไมไม่เอาคุณอบ บุญติด เพราะเป็นดาราตลก ผมเห็นว่าไม่จำเป็นหรอกครับ หนังตลกแบบนี้มันเป็นตลกแบบที่ว่าอยู่ในเนื้อหา ในตัวของมันเอง โดยที่บุคลิกผู้แสดงจะช่วยดึงความรู้สึกให้คนขบขัน หรือว่าคล้อยตาม”
แม้จะต้องทนต่อแรงกดดันจากการที่มีผู้ไปฟ้องนายทุนว่าเขาทำหนังช้าและใช้ฟิล์มเปลือง เนื่องจากต้องเสียเวลาปลุกปล้ำฝึกฝนนายเจิมผู้ไม่ประสาด้านการแสดงอยู่นานถึงสามเดือน แต่เขาก็ยังคงยึดมั่นในความคิดของตนเองอย่างแน่วแน่ไม่หวั่นไหว ซึ่งผลที่สุดปรากฏว่า นอกจาก เศรษฐีอนาถา จะได้รับรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมในการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติครั้งแรก นายเจิม ปั้นอำไพ ยังได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ผู้แสดงประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม (ถ้าเป็นในยุคนี้ คงจะต้องเป็นสาขาผู้แสดงนำ หากดูจากบทที่เด่นที่สุดของเรื่อง) เป็นเครื่องการันตีฝีมือและสายตาอันแหลมคมของวสันต์ในฐานะผู้กำกับ อีกทั้งตัวเขาเองก็ยังได้รับรางวัลสำเภาทอง ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง ทางเปลี่ยว ที่เขาทั้งกำกับและแสดงนำเอง
นอกจากนี้ เศรษฐีอนาถา ยังเป็นผลงานในยุคแรก ๆ ของนักแสดงคนสำคัญที่คนรุ่นหลังน่าศึกษาทั้ง เสถียร ธรรมเจริญ, ระเบียบ อาชนะโยธิน, ประภาพรรณ นาคทอง, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, ดอกดิน กัญญามาลย์, สมชาย สามิภักดิ์ ฯลฯ
4. ผลงานที่หลงเหลือของ จิตรกร สุนทรปักษิน เจ้าของฉายา เจมส์ ดีน เมืองไทย
ภาพ : จิตรกร สุนทรปักษิน ในวัยหนุ่ม
หนึ่งในบทที่เป็นสีสันของ “เศรษฐีอนาถา” คือบทลูกชายคนเล็กของ นายจอน บางคอแหลม ที่ทั้งน่ารักและยียวน ออกมาก่อกวนตัวละครผู้ใหญ่รวมไปถึงเรียกเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชมอยู่เป็นระยะ
บทเด็กชายตัวน้อยนี้นำแสดงโดย จิตรกร สุนทรปักษิน ลูกชายคนโตของ วสันต์ สุนทรปักษิน ผู้กำกับ เขาเริ่มเป็นแสดงภาพยนตร์ตั้งแต่อายุแค่ 8 ขวบจากเรื่อง พลายมลิวัลลิ์ เมื่อ พ.ศ. 2493 และมีผลงานในฐานะนักแสดงเด็กต่อเนื่องทั้ง เลือดล้างแค้น (2494) หลี่หวั่น (2498) ทางเปลี่ยว (2499) และสุดท้ายคือ เศรษฐีอนาถา (2499)
ภาพ : เจิม ปั้นอำไพ จิตรกร สุนทรปักษิน และประภาพรรณ นาคทอง
จิตรกรกลับเข้ามาแสดงภาพยนตร์อีกครั้งเมื่อโตเป็นวัยรุ่น และโด่งดังอย่างมากจากบทเด็กหนุ่มเกเรกลับใจในเรื่อง เด็กเสเพล (2503) ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นคนแรกของไทย ด้วยหน้าตาที่คมคาย และบุคลิกอันมีเสน่ห์ จนได้รับฉายาว่าเป็น “เจมส์ ดีน เมืองไทย”
อย่างไรก็ตาม ผลงานการแสดงภาพยนตร์ของจิตรกร ได้สูญหายไปเกือบหมดสิ้น เหลือไว้แต่เพียงบทบาทในวัยเด็กจากเรื่อง “เศรษฐีอนาถา” และบทพ่อของอังศุมาลินใน “คู่กรรม” ฉบับ พ.ศ. 2438 ซึ่งเขาได้รับเชิญให้กลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้งหลังจากห่างหายมานานหลายปี
“เศรษฐีอนาถา” จึงถือเป็นหนึ่งในงานแห่งการรำลึกถึง จิตรกร สุนทรปักษิน พระเอกรูปหล่อที่สาว ๆ วัยรุ่นต่างเคยหลงรักทั่วเมืองไทย ผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561
5. ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เจ้าของมอบลิขสิทธิ์ให้หอภาพยนตร์
หลังจากความสำเร็จที่ได้รับจากงานประกวดภาพยนตร์ระดับชาติครั้งแรก เรื่องราวของ “เศรษฐีอนาถา” ได้ค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไป ตามยุคสมัยที่ผลัดสู่อีกรุ่น จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2531 เจ้าหน้าหอภาพยนตร์ยุคแรกเริ่ม ได้มีโอกาสพบ วสันต์ สุนทรปักษิน ในวัย 72 ปี ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความผูกพันในฐานะญาติผู้ใหญ่ของวงการภาพยนตร์ที่มองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ โดยวสันต์ได้มอบสิ่งของเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ให้แก่หอภาพยนตร์จำนวนมาก ทั้ง รูปถ่าย บทภาพยนตร์ งานออกแบบฉากภาพยนตร์ อุปกรณ์ประกอบฉาก รวมไปถึงรางวัลที่ได้รับ
ภาพ : วสันต์ สุนทรปักษิน (ใส่หมวก) ขณะกำกับเรื่อง เศรษฐีอนาถา
นอกจากมอบของที่ตนเก็บรักษาไว้ วสันต์ยังมุ่งมั่นติดตามจนพบฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. “เศรษฐีอนาถา” ที่ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดในชีวิต และช่วยประสานงานกับเจ้าของภาพยนตร์คือ จำนงค์ ไรวา จนสามารถจัดพิธีมอบฟิล์มพร้อมลิขสิทธิ์ภาพยนตร์แก่หอภาพยนตร์ได้ เมื่อ พ.ศ. 2532 นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เจ้าของมอบลิขสิทธิ์ให้หอภาพยนตร์
ในปีเดียวกันนั้น หอภาพยนตร์ได้นำฟิล์มภาพยนตร์ “เศรษฐีอนาถา” มาจัดฉายให้สาธารณชนชมอีกครั้ง ประกอบกิจกรรมภาพยนตร์สนทนากับ วสันต์ สุนทรปักษิน โดยมีสองนักพากย์ "พรจิต" และ "จิรจิต" เป็นผู้พากย์สด และได้นำเสียงพากย์ในครั้งนั้นมาใส่ประกอบไฟล์ภาพดิจิทัลที่แปลงสัญญาณมาจากฟิล์มชุดดังกล่าว เพื่อจัดฉายในวาระต่าง ๆ รวมทั้งเผยแพร่ทางออนไลน์ในช่องยูทูบ FilmArchiveThailand
ปัจจุบัน “เศรษฐีอนาถา” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2557 และเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นลักษณะของภาพยนตร์ 16 มม. ก่อนถึงยุคทองของ มิตร-เพชรา ที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู