ปฐมเหตุและเจตนารมณ์ที่ ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร สร้าง พระเจ้าช้างเผือก ภาพยนตร์ไทยพูดภาษาอังกฤษ ออกฉายพร้อมกัน 3 ประเทศ ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ 2484 ท่ามกลางการคืบคลานเข้ามาสู่เมืองไทยของสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่ก่อหายนะไปทั่วโลก
---------
โดย “ข้าพเจ้าเอง”
*ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารหนัง: ไทย ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2544
ปฐมทัศน์ :
สิ่งที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว
วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 โรงภาพยนตร์สามแห่ง สามเมืองห่างไกลกันคนละซีกโลก คือแห่งหนึ่งในกรุงเทพ แห่งหนึ่งในสิงคโปร์ และแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ต่างเป็นที่จัดฉายรอบปฐมทัศน์โลกของภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะดูเล็ก ๆ สำหรับโลก โดยเฉพาะโลกมายา แต่สำหรับชาติเล็ก ๆ ชาติหนึ่ง ภาพยนตร์เล็ก ๆ นี้ นับเป็นความยิ่งใหญ่ของสามัญชนซึ่งสร้างภาพยนตร์นั้นขึ้นจากนิยายของตัวเอง เพื่อประกาศสันติภาพของชนชาวไทยท่ามกลางกระแสสงครามของภูมิภาคและของโลก และเสนอหลักขันติธรรมและสันติภาพแก่มนุษยชาติ
วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2544 เป็นวาระครบ 60 ปี แห่งภาพยนตร์เล็ก ๆ นั้น ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “The King of the White Elephant” มีชื่อภาษาไทยว่า “พระเจ้าช้างเผือก”
สามัญชนผู้แต่งเรื่องและสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวคือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะที่ท่านสร้างภาพยนตร์นั้น ท่านมีฐานะเป็นผู้นำสำคัญคนหนึ่งของคณะราษฎร ซึ่งยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ และกำลังดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และต่อจากนั้นได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นหัวหน้าใหญ่ขบวนการเสรีไทย เป็นผู้ประกาศสันติภาพไทย เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบุรุษอาวุโส และเมื่อปี พ.ศ. 2543 รัฐบาลไทยได้จัดฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของท่าน และองค์การยูเนสโกรับข้อเสนอของรัฐบาลไทย บรรจุชื่อท่านไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ขององค์การว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติประจำปี พ.ศ. 2543 นั้นด้วย
ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งเมื่อแรกปรากฏตัวในโลกภาพยนตร์ ออกจะถูกหยามหยันจากผู้ชมบางส่วนและนักแนะนำภาพยนตร์ในหนังสือพิมพ์ตะวันตก เช่น มองว่าเป็นหนังที่ผลิตด้วยกรรมวิทยาอย่างมือสมัครเล่นบ้าง หรือเป็นอย่างหนังบ้านบ้าง เป็นหนังลัทธิเอาอย่างหนังฮอลลีวู้ดบ้าง บ้างก็ว่าเป็นหนังอย่างเด็กแก่แดด คือ ชั้นเชิงหรือฝีไม้ลายมือการสร้างเหมือนเด็กอ่อนหัดที่ยังอมมือ แต่ดันพูดถึงเรื่องที่ลึกซึ้งใหญ่โตระดับมนุษยชาติ
เพราะระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน 100 ปีแห่งชาตกาลจึงพิสูจน์ นายปรีดี พนมยงค์ และ 60 ปี จึงพิสูจน์ผลงาน พระเจ้าช้างเผือก ของท่าน และพิสูจน์พุทธวจนภาษิตซึ่งท่านนับถือที่ว่า “อโถ สุจิณณสส ผล น นสสติ ซึ่งแปลว่า ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูนย์หาย”
บุคคลที่เคยสร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่ชาติของเราบางราย อาจจะถูกทอดทิ้ง ถูกลืม หรือแม้กระทั่งถูกกลบเกลื่อนทำลายล้าง แต่ความดีจริงของท่านจะทานทนและจักต้องปรากฏขึ้นในที่สุด
สิ่งที่ท่านก่อสร้างไว้ดีแล้วทั้งในนวนิยายและในภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ก็คือเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ใจและแรงใจอันแรงกล้าในการเสนอความคิดเห็นที่เป็นคุณธรรมและสัจธรรม เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษย์
เมื่อเป็นสัจธรรม จึงคงทนและไม่สูญหาย หากนับวันจะชัดเด่นขึ้นด้วยตัวเอง นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เองก็มีอายุยืนนานอยู่ รอดมาได้จนถึงบัดนี้ ซึ่งจะมีอายุถึง 60 ปี อันนับได้ว่าเป็นเวลาที่เป็นมงคลนิยมสากลสมควรแก่การเฉลิมฉลอง อาจกล่าวได้ว่า ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของชาติ ที่ถูกละเลย ไม่เห็นค่าไม่รู้คุณ มาเป็นเวลานาน
ทวนกระแส
นายปรีดี พนมยงค์ แต่งนิยายเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2483 ในเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับมหันตสงคราม สงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่งระหว่างมนุษย์เกิดขึ้นแล้วในทวีปยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 และฝ่ายอักษะ ซึ่งเป็นแนวร่วมของประเทศฝ่ายเผด็จการนิยม นาซีและฟาสซิสต์ ประสบชัยชนะในระยะแรก และกำลังแผ่อิทธิพลเข้าสู่เอเชีย ลัทธิอำนาจนิยมได้ขึ้นครองอำนาจในญี่ปุ่น และกำลังแผ่อิทธิพลไปในประเทศอื่น ๆ ของเอเชีย ในสยามเองฝ่ายที่เลื่อมใสลัทธิทหารนิยมและอำนาจนิยมได้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลและกำลังเผยแผ่ลัทธินี้อย่างเข้มข้น มีการปลุกกระแสชาตินิยมอย่างขนานใหญ่ โน้มไปในทางค่อนข้างหลงชาติและคลั่งชาติ รัฐบาลพิบูลสงครามมีท่าทีฝักใฝ่การสงคราม ได้สะสมกำลังทหารและขยับขยายกองทัพเกินความจำเป็น
นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งแม้จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมอยู่ในรัฐบาลคณะนี้ แต่ท่านคงไม่เห็นด้วยกับนโยบายและการกระทำต่าง ๆ ของรัฐบาล เห็นได้จากการที่ท่านพยายามป้องกัน ยับยั้งและคัดค้าน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การที่ท่านผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยความเป็นกลางออกมาสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2482 การคัดค้านการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย การพยายามยับยั้งการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศสของนักศึกษาไทยโดยเฉพาะนักศึกษาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งได้รับการปลุกกระแสจากรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ และภายหลังนำไปสู่การที่กองทัพไทยบุกเข้าไปในดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส เกิดการรบกันขึ้น และญี่ปุ่นได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย ทำให้รัฐบาลไทยออกนอกความเป็นกลางโอนเอียงไปเข้าอยู่กับฝ่ายอักษะ
กระแสลัทธิอำนาจนิยม ในบ้านเมืองไทยขณะนั้นคงไหลเชี่ยวกรากเกินกว่าที่ใครจะต้านทานได้ง่าย ๆ และกลายเป็นกระแสหลักในสังคม กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ของชาติ ฝ่ายอำนาจนิยมได้ปลุกระดมและใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ให้ชาวไทยเชื่อผู้นำและคล้อยตาม ความคิดเห็นในทางชาตินิยมแบบหลงชาติขาดการใช้สติปัญญา
ฝ่ายอำนาจนิยมได้ผลิตสื่อโฆษณา สื่อภาษาและงานศิลปกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแผ่และปลูกฝังความเชื่อไปทั่วทุกด้าน เช่น ข่าวสาร บทความทางหนังสือพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียง นิยาย บทละคร เพลง การแสดงละคร ภาพยนตร์ ไปจนกระทั่งการสร้างสรรค์งานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม เช่น การก่อสร้างอนุสาวรีย์วีรชนต่าง ๆ การก่อสร้างอาคารที่ใหญ่โต ประกาศความเข้มแข็ง เหล่านี้เป็นต้น
นายปรีดี พนมยงค์ คงจะมองทะลุตลอด หรืออย่างที่สมัยนี้เรียกว่า มีวิสัยทัศน์ ต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในชาติไทยท่ามกลางกระแสโลก และเห็นว่าประเทศกำลังเสี่ยงต่อความหายนะแห่งการเข้าไปสู่สงครามที่ไม่ชอบธรรม และเมื่อได้เห็นแจ้งเช่นนั้น ท่านก็คงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะต้องป่าวร้อง ประกาศก้องเพื่อเตือนภัย และเตือนสติให้ชนชาติไทยรู้สึกตัว ตื่นจากความไม่รู้ไม่เข้าใจ ความหลงและขาดสติ
แต่ในขณะเวลาที่กระแสน้ำกำลังไหลเชี่ยวกราก การขวางเรือโดยตรงคงเป็นไปไม่ได้และย่อมไม่ฉลาด สิ่งที่ท่านกระทำได้ก็คือการเลือกที่จะแต่งนิยายขึ้นเรื่องหนึ่ง เพื่อที่จะส่งข่าวสารที่ท่านต้องการประกาศออกไปสู่ชนชาติไทย และยิ่งไปกว่านั้นเพื่อทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนชนชาติไทย ส่งข่าวสารไปสู่ชาวโลกอีกด้วย
ท่านจึงแต่งนิยายขึ้นเป็นภาษาอังกฤษให้ชื่อเรียกว่า “The King of the White Elephant” และน่าสังเกตว่า เมื่อแต่งนิยายนี้เสร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2483 โดยที่ยังมิได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือออกเผยแพร่ ท่านได้ลงมือสร้างภาพยนตร์ขึ้นจากนิยายนั้นโดยใช้ชื่อเดียวกัน เป็นภาพยนตร์ไทยชนิดเรื่องแสดง พูดภาษาอังกฤษตลอดเรื่อง และนำออกฉายในตลาดเหมือนภาพยนตร์บันเทิงเพื่อการค้าปกติ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 หลังจากที่ได้ตีพิมพ์หนังสือนิยายเรื่องนี้ออกจำหน่ายก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย คือ เดือนกุมภาพันธ์
หนามยอกหนามบ่ง
บางคนอาจจะสนใจใคร่รู้เหตุผลว่า ทำไม นายปรีดี พนมยงค์ เลือกที่จะสื่อสารเจตนาของท่านในรูปของนิยายและภาพยนตร์ แทนที่จะเขียนเป็นบทความวิชาการหรือเป็นบทรายงาน ดังที่ท่านถนัดและเคยทำมาตลอดก่อนหน้านั้น (รวมทั้งต่อมาหลังจากนั้นซึ่งไม่ปรากฏท่านได้แต่งนิยายหรือสร้างภาพยนตร์ขึ้นเลย) ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า นายปรีดี พนมยงค์ เคยแสดงเหตุผลในงานที่ท่านแต่งนิยายและสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้หรือไม่และอย่างไร แต่หากลองสันนิษฐานดูเหตุผล น่าจะเข้าใจได้ว่า การที่ท่านแต่งเป็นนิยาย แล้วลงมือสร้างเป็นภาพยนตร์ทันทีนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าโดยจุดมุ่งหมายหลักแล้ว ท่านประสงค์จะสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ขบวนการสร้างภาพยนตร์ โดยปกติจะต้องมีเรื่องขึ้นก่อน เรื่องนั้นอาจจะเป็นนิยายที่มีอยู่แล้วหรือเป็นบทละครที่มีอยู่แล้ว จากนั้นจึงนำมาเป็นบทภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากสื่อภาษาเขียนมาเป็นภาษาของภาพยนตร์ อันแสดงด้วยกรรมวิธีของภาพยนตร์ และที่สุดคือบทถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งเปรียบเสมือน แบบแปลนหรือพิมพ์เขียวของการก่อสร้างหรือประดิษฐ์เป็นภาพยนตร์ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า นายปรีดี พนมยงค์ ตั้งใจแต่งนิยายนี้ขึ้นเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ขั้นต้นของขบวนการท่านต้องเขียนขึ้นเป็นนิยายก่อนและหากศึกษาลึกลงไปถึงการถ่ายทอดเรื่องราวจากนิยายไปเป็นภาพยนตร์ ซึ่งท่านเป็นผู้ดัดแปลงเองนั้น จะพบว่าเกือบจะไม่มีการดัดแปลงอะไรเลย โดยเฉพาะโครงสร้างการดำเนินเรื่อง นอกจากตัดตัวละครที่สำคัญออกไปตัวหนึ่ง คือ อาสนะภิกขุ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ตัวละครนี้ เป็นสื่อที่จะอรรถาธิบายอย่างละเอียดถึงความเชื่อและหลักคิดทางพุทธศาสนา บทนี้เต็มไปด้วยคำพูดและอรรถาธิบาย ซึ่งยากที่จะถ่ายทอดเป็นภาษาภาพยนตร์ที่กระชับ และท่านคงเลือกที่จะตัดออกไป
เมื่อข้าพเจ้าลงความเห็นไปในทางว่า นายปรีดี พนมยงค์ มุ่งจะสร้างภาพยนตร์เป็นเป้าหมายหลักมากกว่าที่จะแต่งนิยายเช่นนี้ เหตุผลก็คือ การที่ท่านจะสื่อสารหรือป่าวร้องป่าวประกาศไปยังคนทั่วไป ไปยังคนจำนวนมากหรือมหาชน ไม่ว่าคนในชาติ รวมตลอดจนถึงคนต่างชาติหรือตลอดทั่วทั้งโลก ท่านย่อมจะเห็นว่าการสื่อสารในเวลานั้น ที่จะทรงอิทธิพลและเผยแผ่เข้าถึงมหาชนทั่วทั้งโลกได้ ไม่มีอะไรเกินภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงหรือภาพยนตร์ที่ทำมาจากนิยาย มีพระเอกนางเอกมีผู้ร้ายอันนับเป็นสื่อมหรสพมหาชนและเป็นยอดนิยมหรือครองใจคนทั่วโลกอยู่ในเวลานั้น
และต้องเข้าใจว่า นายปรีดี พนมยงค์ และคนรุ่นเดียวกับท่าน เกิดและเติบโตคู่กันมากับสื่อภาพยนตร์ซึ่งกลายเป็นสื่อที่ครองโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 กล่าวคือ ภาพยนตร์เกิดขึ้นในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2438 และเข้ามาสู่สยามในปี พ.ศ. 2440 ภาพยนตร์ในฐานะสื่อได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพียงเวลาไม่กี่สิบปี ก็พัฒนาขึ้นถึงขีดสูงสุด เป็นงานศิลปะที่มีศาสตร์ของตนสลับซับซ้อน ระดับเดียวกับสื่อศิลปะอื่น แต่สื่อศิลปะอื่น ๆ เช่น ดนตรีจะต้องใช้เวลานับพันปีจึงพัฒนาได้เช่นนั้น
คนในรุ่นเดียวกันกับ นายปรีดี พนมยงค์ จึงย่อมชื่นชมและสนิทแนบกับสื่อภาพยนตร์ และต้องไม่ลืมว่า ในเวลาเดียวกันนั้น ในบรรดาสื่อที่คณะรัฐบาลผู้เลื่อมใสในลัทธิอำนาจนิยมของไทย ได้ทำการสื่อสารและครอบงำสังคมไทยอยู่นั้น สื่อที่พวกเขาใช้ได้ผลก็คือ นิยาย บทละคร บทเพลงและภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงหรือดำเนินเรื่อง มีพระเอกนางเอกและผู้ร้ายนั่นเอง คนไทยในเวลานั้น ถูกปลุกใจปลุกวิญญาณให้รักชาติ หลงใหลชาติ ชิงชังเพื่อนบ้าน จากบรรดาละครและภาพยนตร์เหล่านี้ เช่น เลือดทหารไทย (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2478) ค่ายบางระจัน (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2482) สมัครแนวหน้า (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2483) การแก้หนามยอกจึงต้องใช้หนามบ่ง
ออกสู่สากล แต่ถึงคนไทย
ข้อที่อาจสงสัยต่อไปอีก คือ นายปรีดี พนมยงค์ แต่งนิยายนี้เป็นภาษาอังกฤษและเมื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ยังคงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในภาพยนตร์ทั้งเรื่อง เหตุผลที่มีผู้อธิบายกันอยู่ ก็คือ ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาสากล เป็นภาษาของชาติมหาอำนาจ และใช้กันกว้างขวางทั่วโลก ท่านจึงเลือกแต่งนิยายและทำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะสื่อสารของท่านให้แพร่หลายและกว้างขวางไปทั่วโลก อีกประการหนึ่ง ท่านต้องการจำหน่ายภาพยนตร์ออกสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เพียงจำหน่ายอยู่ภายในประเทศ เพื่อที่จะได้เงินรายได้คุ้มการลงทุน
ผู้อ่านในปัจจุบันอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่ใช่วิธีการทำอักษรบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ (หรือภาษาอื่น ๆ) ที่เรียกว่า subtitle หรือไม่ก็ใช้วิธีการพากย์เป็นภาษาอื่น ๆ บันทึกลงในฟิล์ม ควรเข้าใจว่าในเวลานั้น การทำอักษรบรรยายยังไม่เป็นที่นิยม และการพากย์บันทึกลงฟิล์มก็อาจจะยังยุ่งยากทางเทคนิคหรืออาจมีข้อไม่สะดวกบางประการ ท่านจึงไม่เลือกวิธีใดในทั้งสอง สำหรับคนไทย แม้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองที่สอนอยู่ในโรงเรียนมัธยม แต่ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นใดมิได้มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนไทยในเวลานั้น ค่าที่เรามิได้เป็นอาณานิคมของต่างชาติ จึงเชื่อว่าน่าจะมีคนไทยเพียงหยิบมือเท่านั้นที่รู้ภาษาอังกฤษ นิยายและภาพยนตร์ภาษาอังกฤษของ นายปรีดี พนมยงค์ คงจะเข้าถึงคนไทยเพียงน้อยนิด และส่วนใหญ่คนเหล่านั้นก็คือคนชั้นนำหรือชั้นสูงในสังคม
ดูเหมือนว่า ท่านคงขบคิดถึงปัญหาเหล่านี้รอบด้านแล้ว และตีแตกแล้ว คือน่าเชื่อว่าท่านคงประสงค์จะสื่อสารความคิดเห็นของท่าน และให้งานของท่านเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชาติไทย สื่อสารไปยังโลกโดยเฉพาะโลกของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งนอกจากจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักแล้ว ยังเป็นฝ่ายที่ทำสงครามเพื่อความเป็นธรรมด้วย
หนังสือนิยาย “The King of the White Elephant” จึงได้รับการตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษและจำหน่ายออกไปในต่างประเทศ และภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษชื่อเรื่องเดียวกัน ก็ได้รับการนำออกฉายครั้งแรก หรือที่เรียกว่า รอบปฐมทัศน์โลก พร้อมกันในสามเมืองใหญ่ กำหนดวันเดียวกัน คือ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ในกรุงเทพ โรงภาพยนตร์ Happy Theatre ในสิงคโปร์ และ โรงภาพยนตร์ Belmont ในนิวยอร์ก
การที่ท่านผู้สร้างภาพยนตร์ จัดฉายรอบปฐมทัศน์โลกพร้อมกันสามเมือง ซึ่งห่างจากกันคนละซีกโลกนี้ น่าจะเป็นเจตนาประโคมให้เอิกเกริกอย่างหนึ่ง และเมืองสิงคโปร์นั้นก็คือประตูเข้าสู่ประเทศอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคม ส่วนนิวยอร์กเป็นกลางใจของประเทศสหรัฐอเมริกาทีเดียว น่าสังเกตว่า หนังสือ “The King of the White Elephant” มิได้มีการตีพิมพ์ฉบับแปลเป็นภาษาอื่นใดหรือแม้ภาษาไทยเลย จนกระทั่ง พ.ศ. 2533 จึงมีการแปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์ออกเผยแพร่พร้อมภาษาอังกฤษอีกครั้ง
แต่สำหรับโลกภาพยนตร์ เมื่อออกฉายครั้งแรกรอบปฐมทัศน์โลกในกรุงเทพ ที่ห้องฉายเล็กโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 คงฉายเป็นภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษตามปกติ แต่ต่อมาเมื่อเข้าฉายตามโปรแกรมปกติ ตั้งแต่วันที่ 10 ถึง 16 เมษายน ปรากฏว่าได้จัดฉายในแบบพากย์ไทย โดยนักพากย์ฝีปากเอกขณะนั้น คือ “ทิดเขียว” (นายสิน สีบุญเรือง) ซึ่งใช้วิธีการพากย์หรือพูดเสียงของบทเจรจาทั้งหมดเป็นภาษาไทย และพากย์กันสด ๆ ในห้องพากย์ ซึ่งอยู่ข้าง ๆ ห้องฉายในโรงภาพยนตร์ นี่แสดงว่าหลังจากเปิดฉายปฐมทัศน์แล้ว ท่านเจ้าของภาพยนตร์คงเห็นว่า ผู้ชมภาพยนตร์ชาวไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงภาพยนตร์ของท่านได้ จึงต้องจัดให้มีการพากย์ขึ้น หรือมิเช่นนั้นก็เป็นไปได้ว่า อาจมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่า เมื่อออกฉายในประเทศไทยจะใช้วิธีการพากย์ไทย และเช่นนี้ก็คงจะมีการทำบทพากย์ไทยไว้แล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าผู้ชมชาวไทยจะไม่สามารถชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อความโฆษณาฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันสมัยนั้น ซึ่งป่าวร้องว่า พากย์โดย “ทิดเขียว” ยังอวดสรรพคุณว่า ไม่เพียงแต่พระเจ้าช้างเผือก หรือพระเจ้าจักรา กษัตริย์อโยธยา จะพูดภาษาไทยเป็นปกติแล้ว พระเจ้าหงสา กษัตริย์หงสาก็พูดไทยชัดด้วย อีกทั้งช้างม้าที่ยกทัพมาปรากฏโฉมในหนังก็พูดภาษาไทยได้หมดด้วย และต่อมาเมื่อภาพยนตร์ออกไปฉายตามต่างจังหวัด ทั่วประเทศ ก็เชื่อว่า เป็นการฉายแบบพากย์ไทยสด ๆ และช้างม้าพลอยพูดได้ไปด้วยกันทั้งนั้น
อ่านตอนอื่น ๆ ได้ที่